ธุรกิจส่งพัสดุไทย เจ้าไหนจะเป็นผู้ชนะ ?

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ตลาดขนส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซทั่วโลก คาดว่าจะเติบโตปีละ 22.6% ต่อปี จากนี้จนถึงปี 2032 โดยในปี 2024 มูลค่าตลาด คาดว่าจะอยู่ที่ 471.19 ล้านดอลลาร์​ ซึ่งเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นภูมิภาคที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลก อยู่ที่ 43% 
  • SF Express ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใน Kerry Express ที่เตรียมรีแบรนด์เป็น KEX ในอนาคต ก็เป็นหนึ่งในบริษัทขนส่งอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นจีน A-Share 
  • ผู้เล่นรายสำคัญในตลาดขนส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซของไทย ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย, Kerry Express, Flash Express, DHL และ J&T Express

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ใครเป็นแบบพี่ทุยบ้าง เรื่อง CF สินค้าออนไลน์ ไม่มีพัก มีขนส่งมาหย่อนของถึงบ้านแทบจะทุกวัน จนสุนัขที่บ้านรักพี่ขนส่งมากกว่าเจ้าของแล้ว ถ้าอ่านตาม แล้วพยักหน้ากันถ้วนหน้า ก็ไม่แปลกใจอะไร เพราะ ธุรกิจส่งพัสดุไทย เติบโตสุด ๆ ตีคู่มากับการช้อปปิงออนไลน์ที่บูมมาก ๆ เช่นกัน

ซึ่งธุรกิจส่งด่วนในไทย ก็คึกคักมาก และแข่งขันกันดุเดือดสุด ๆ มีผู้เล่นใหม่ ๆ เข้ามาในตลาดต่อเนื่อง และล่าสุด ผู้เล่นเจ้าดังอย่าง Kerry Express ล่าสุดก็เพิ่งประกาศว่าจะรีแบรนด์ใหม่เป็น KEX (ซึ่งเหมือนกับชื่อย่อที่ใช้เทรดใน SET) ภายใน 9 เดือนหลังจากนี้ โดยการเป็นรีแบรนด์ หลังจาก​ SF Express ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรในจีนและเอเชีย เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

วันนี้พี่ทุยเลยอยากพามาดูสงครามส่งพัสดุไทยและระดับโลกกันหน่อยว่า จะดุเดือดแค่ไหน

ธุรกิจส่งพัสดุไทย ใครเป็นเจ้าตลาด

ต้องบอกว่าคนไทยช้อปออนไลน์เป็นชีวิตจิตใจ ปี 2023  ผลสำรวจพบว่า ไทยมีสัดส่วนผู้ซื้อสินค้าผ่าน Social commerce สูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 91% เมื่อเทียบกับสถิติปี 2022 ที่ 88% โดยที่มูลค่าตลาดขนส่งพัสดุด่วน ปี 2022 สูงถึง 85,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอาจทะลุ 1 แสนล้านบาทภายในปี 2024

รายชื่อผู้เล่นในตลาด ธุรกิจส่งพัสดุในไทย 

  • ไปรษณีย์ไทย ส่วนแบ่งตลาด 23.5%
  • Kerry Express หรือ KEX ส่วนแบ่งตลาด 20.1%
  • Flash Express ส่วนแบ่งตลาด 17.4%
  • DHL ส่วนแบ่งตลาด 16.5%
  • J&T Express ส่วนแบ่งตลาด 13.9%

ที่มา : ผลสำรวจ Thailand’s Future Shopper 2023 โดย Wunderman Thompson Thailand 

ธุรกิจขนส่งพัสดุด่วนในภูมิภาคอาเซียน บูมแค่ไหน

จากรายงาน Southeast Asia E-Commerce Logistics Market Report 2024 ที่จัดทำโดย parcelmonitor โดยสำรวจตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศหลัก ๆ คือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย คาดการณ์ประเด็นสำคัญ ๆ ดังนี้  

  • ปี 2025 ภูมิภาคอาเซียน จะมีรายได้จากตลาดอี-คอมเมิร์ซ ประมาณ 211,000 ล้านดอลลาร์ เป็นหนึ่งในตลาดอี-คอมเมิร์ซที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในโลก 
  • ผู้บริโภคบนช่องทางดิจิทุลในภูมิภาคนี้ จะอยู่ที่ 402 ล้านคน ในปี 2027 คิดเป็น 88% ของประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปในภูมิภาค 
  • 91% ของผู้บริโภคอาเซียน พร้อมจะเปลี่ยนไปใช้บริการอี-คอมเมิร์ซคู่แข่ง ถ้าบริการลูกค้าไม่ดี 
  • จุดหมายปลายทางที่คนไทยนิยมให้ส่งของมากที่สุด คือ บ้าน 82% รองลงมาคือ ที่ทำงาน ตามด้วยในร้านค้า และล็อคเกอร์จัดเก็บพัสดุ 
  • 80% ของผู้บริโภค ต้องการให้ร้านค้าแจ้งระยะเวลาที่คาดว่าจะจัดส่งให้ชัดเจน 
  • นักช้อปชาวไทยเข้มงวดกับเรื่องเวลาจัดส่งมากที่สุด โดย 73% ระบุว่า ถ้าส่งล่าช้า 1-2 วัน ก็ยอมรับไม่ได้แล้ว ขณะที่ค่าเฉลี่ยที่ทั้งอาเซียนจะรับไม่ได้ คือล่าช้า 3-4 วัน 

ส่อง ธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซทั่วโลก

คาดการณ์ การเติบโตของตลาดโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้าอี-คอมเมิร์ซทั่วโลก +22.6% ต่อปี

ธุรกิจส่งพัสดุไทย เจ้าไหนจะเป็นผู้ชนะ ?

ส่วนแบ่งตลาดโลจิสติกส์ของแต่ละภูมิภาคในปี 2022

  • เอเชียแปซิฟิก 43%
  • อเมริกาเหนือ 25%
  • ยุโรป 22%
  • ละตินอเมริกา 7%
  • ตะวันออกกลางและแอฟริกา 3%

การช้อปปิงสินค้าออนไลน์นั้น มีอิทธิพลต่อการเติบโตของตลาดขนส่งพัสดุค่อนข้างมาก ยิ่งคนช้อปออนไลน์เพิ่มขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีความจำเป็นต้องให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์มากขึ้นตาม และความต้องการของคนชอป ก็คือ จัดส่งเร็ว ประหยัด และเชื่อถือได้ ซึ่งก็ทำให้ผู้ประกอบการที่ก้าวขามาในธุรกิจนี้ ต้องแข่งขันกันตอบสนองความต้องการหลักๆ เหล่านี้ให้ได้

ตัวอย่างชื่อ ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ อี-คอมเมิร์ซ รายใหญ่ในโลก 

  • Amazon (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ) 
  • DHL International GmbH. (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเยอรมนี)
  • FedEx Corporation (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ) 
  • JD Logistics (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกง : จีน H-Share) 
  • SF Express (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเซินเจิ้น : จีน A-Share) 

พี่ทุยต้องบอกว่า แบรนด์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของโลก มีมากกว่านี้อีก แต่ที่หยิบยกมานี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่าง ที่คนเห็นชื่อแล้วพอจะร้องอ๋อเท่านั้น โดยที่ SF Express ที่เข้ามาถือหุ้น Kerry Express ในไทย ก็จัดว่าเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ในโลกรายหนึ่งเช่นกัน 

จะเห็นได้ว่า ตอนนี้ ในไทยเองก็มีผู้เล่นในธุรกิจโลจิสติกส์ระดับโลกที่เข้ามาอยู่แล้ว ซึ่งถ้าดูจากรายชื่อเจ้าตลาดที่มีส่วนแบ่งตลาดสูง ๆ อาจจะยังมีผู้เล่นระดับโลกไม่มาก แต่อันที่จริงแล้ว ก็มีผู้เล่นในตลาดโลกรายอื่นที่เข้ามาแล้ว เพียงแต่ยังมีส่วนแบ่งตลาดไม่ได้สูง

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบธุรกิจไทยในตลาด ก็คงจะประมาทไม่ได้ เพราะว่า ในอนาคตก็มีโอกาสที่จะมีหน้าใหม่ ๆ ระดับโลก เข้ามาบุกตลาดเมืองไทยได้อีก อาจจะเป็นรูปแบบมาร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายเดิมที่อยู่ในตลาด หรือเข้าซื้อกิจการไปเลย หรือ อาจจะเข้ามาจัดตั้งบริษัทลูกในไทยก็ได้

เทรนด์ธุรกิจโลจิสติกส์อี-คอมเมิร์ซ ปี 2024

โดย FedEx ได้สรุปเทรนด์สำคัญในปีนี้ออกมาทั้งหมด 3 เทรนด์ คือ 

1. Generative AI 

นักชอป โดยเฉพาะ Gen Z ใช้ AI เพื่อเปรียบเทียบราคา ค้นหาดีล รับข้อเสนอที่เกี่ยวข้องหรือผลิตภัณฑ์แนะนำ รวมทั้งค้นหารีวิว 

2. Social Commerce 

ช่องทางการค้าขายผ่านโซเชียลมีเดีย (Social commerce) ส่งผลกระทบหลัก ๆ กับธุรกิจขนาดเล็ก ในปี 2024 และหลังจากนี้ โดยในปี 2023 ยอดขายบน Social commerce​ อยู่ที่ประมาณ 8.5 ล้านล้านดอลลาร์

ขณะที่ 39% ของวัยทำงานซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และคาดว่าจะมี 41 ล้านคน ที่ซื้อสินค้าผ่าน TikTok Shop ในปี 2024 สำหรับตัวอย่าง Social commerce ได้แก่ Facebook Shop, TikTok Shop, Instragram, Pinterest

3. Digital payments

ผู้คนมีแนวโน้มข่ายสิ่งต่าง ๆ ผ่านออนไลน์อย่างรวดเร็ว โดยมีแรงขับเคลื่อนมาจากบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now, Pay Later : BNPL) ทั้งนี้ พบว่า 53% ของผู้คนสในสหรัฐฯ ใช้ดิจิทัล วอลเล็ต เป็นช่องทางชำระเงิน มากกว่าช่องทางชำระเงินแบบดั้งเดิม 19% ของผู้คนในสหรัฐฯ ใช้บริการ BNPL ในช่วงเดือน มิ.ย.​2022 – มิ.ย. 2023

ความท้าทาย ธุรกิจส่งพัสดุไทย

ปัจจัยท้าทายธุรกิจโลจิสติกส์อี-คอมเมิร์ซ​ทั่วโลก 

  • ความกังวลเรื่องความปลอดภัยและการละเมิดข้อมูลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
  • ระดับมลภาวะในอากาศที่เพิ่มขึ้น
  • ต้นทุนการจัดเก็บสินค้าเพิ่มขึ้น 
  • มีพื้นที่จัดเก็บสินค้าเหลือว่างมากขึ้น 
  • ความเสี่ยงจากการฉ้อโกง และการไม่ชำระเงินเพิ่มขึ้น 

แนวโน้มการพัฒนาของธุรกิจโลจิสติกส์ อี-คอมเมิร์ซ

  • การนำ Internet of Thing (IoT) มาใช้ในการติดตามการส่งสินค้า การบริหารคลังสินค้าและระบบขนส่ง คาดการณ์การซ่อมบำรุง เป็นต้น
  • การใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติ (Automate) สำหรับการจัดส่งไปยังสถานที่ขั้นสุดท้าย ทดแทนบางพื้นที่ยานพาหนะเข้าไม่ถึง ต้องเดินเท้าเข้าไป  
  • การใช้ Artificial Intelligence (AI) วิเคราะห์ข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเส้นทางการขนส่ง การจัดการสินค้าคงคลัง และประสิทธิภาพโดยรวมของห่วงโซ่อุปทาน 
  • การใช้ Blockchain เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและน่าเชื่อถือ เนื่องจากคุณสมบัติ Blockchain คือ เป็นระบบบัญชีแบบแยกส่วน จัดเก็บข้อมูลชุดเดียวไว้หลายๆ จุด ไม่ได้รวมไว้ที่ศูนย์กลาง ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ จึงช่วยให้เกิดความโปร่งใส ติดตามการเดินทางของสินค้าตั้งแต่การผลิตได้จนถึงการจัดส่ง และป้องกันการปลอมแปลงได้ ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไว้วางใจมากขึ้น

สุดท้ายนี้ใครจะอยู่ ใครจะไปในวงการนี้ ก็คงต้องวัดที่ใครสามารถบริการลูกค้าได้ถึงใจสุด ๆ ซึ่งการที่ในตลาดมีคู่แข่งมากมายแบบนี้ ผลดีก็ตกอยู่ผู้บริโภคอย่างเรานั่นเอง

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile