รู้จัก SHEIN แบรนด์เสื้อผ้าจากจีนที่กำลังถูกแบนในไทย

รู้จัก SHEIN แบรนด์เสื้อผ้าจากจีนที่กำลังถูกแบนในไทย

3 min read  

ฉบับย่อ

  • โลกปัจจุบันกระแสการใช้เสื้อผ้าที่เข้าสู่ยุคของ Fast Fashion ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น Fast Fashion คือเสื้อผ้าตามกระแส ไม่เน้นคุณภาพ เพราะใส่เพียงไม่กี่ครั้ง ในทางกลับกันก็ใช้เวลาออกแบบไม่นาน มีแบบใหม่อยู่เสมอ
  • SHEIN เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2008 ในปี 2012 ขยายธุรกิจสู่เสื้อผ้าผู้หญิง จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา จึงเปลี่ยนทิศทางไปสู่วงการ Fast Fashion ตั้งแต่ปี 2017 รายได้ก็พุ่งติดจรวดจนเมื่อเดือน พ.ค. 2021 SHEIN เป็นแอปพลิเคชันชอปปิงที่มียอดดาวน์โหลดผ่าน App Store ในสหรัฐฯ แซงหน้า Amazon ไปแล้ว
  • กระแส #แบนshein เกิดจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานและสวัสดิการ และการละเมิดลิขสิทธิ์ นอกจากนี้ยังประเด็นสินค้าไม่ตรงปกซึ่งอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกแบรนด์ที่ขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

โลกปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วไม่เว้นแม้แต่กระแสการใช้เสื้อผ้าที่เข้าสู่ยุคของ Fast Fashion ซึ่งส่งให้มีบริษัทเติบโตขึ้นมาโดดเด่น ในจำนวนนี้มีแบรนด์เสื้อผ้า SHEIN ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่วัยรุ่น อย่างไรก็ตามการเป็นบริษัทเสื้อผ้า Fast Fashion ทำให้มีข่าวด้านลบออกมาไม่น้อยจนมีกระแส #แบนshein ในโลกโซเชียล ซึ่งบทความนี้พี่ทุยจะมาสรุปสาเหตุกระแสดราม่านี้ให้ได้อ่านกัน

รู้จัก SHEIN

SHEIN (ชีอิน) เริ่มต้นธุรกิจเมื่อปี 2008 ที่เมืองหนานจิง (Nanjing) ด้วยการเป็นแพลตฟอร์ม e-Commerce เสื้อผ้า มุ่งเน้นส่งออกชุดแต่งงานผลิตในจีนไปยังประเทศฝั่งตะวันตก ในปี 2012 ขยายธุรกิจสู่เสื้อผ้าผู้หญิงพร้อมด้วยเว็บไซต์ SheInside.com จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในอีก 3 ปีต่อมา เมื่อผู้ก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ Xu Yangtian (Chris Xu) ตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางไปสู่วงการ Fast Fashion ซึ่งเป็นเสื้อผ้าตามกระแส ไม่เน้นคุณภาพ เพราะใส่เพียงไม่กี่ครั้ง ในทางกลับกันก็ใช้เวลาออกแบบไม่นาน มีแบบใหม่อยู่เสมอ ในเวลาเดียวกันก็เปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น “ชีอิน” พร้อมย้ายที่ตั้งบริษัทไปยังเมืองกว่างโจว (Guangzhou)

บริษัทตัดสินใจจ้างดีไซเนอร์และสร้างเครือข่ายซัพพลายเออร์สินค้าขนาดใหญ่ระหว่างโรงงาน ทำให้ “ชีอิน” สามารถจับกระแสแฟชันฝั่งตะวันตกและผลิตเสื้อผ้าพร้อมส่งออกในเวลาเพียงไม่กี่วัน สูตรแห่งความสำเร็จนี้ทำให้ตั้งแต่ปี 2017 รายได้ก็พุ่งติดจรวด จนเมื่อเดือน พ.ค. 2021 “ชีอิน” เป็นแอปพลิเคชันชอปปิงที่มียอดดาวน์โหลดผ่าน App Store ในสหรัฐฯ แซงหน้า Amazon ไปแล้ว

Fast Fashion กับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรม Fast Fashion ปล่อยมลพิษมากเป็นอันดับที่ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊ส โดยมีส่วนกับ 20% ของน้ำเสีย และ 10% ของการปล่อยแก๊สคาร์บอนทั่วโลก แน่นอนว่าก็ต้องใช้ทั้งน้ำและพลังงานอย่างมาก

“ชีอิน” ยืนยันว่า บริษัทได้เลือกใช้วัสดุรีไซเคิลเเละเทคโนโลยีที่ลดการใช้พลังงาน รวมถึงมีโครงการรีไซเคิลเพื่อจูงใจให้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัสดุหมุนเวียนมากขึ้น อย่างไรก็ตามคำพูดเหล่านี้ยังเป็นแค่คำกล่าวอ้างเนื่องจากไม่มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส

แม้ว่า “ชีอิน” จะปล่อยคอลเลคชันที่เน้นการใช้วัตถุดิบอย่างไม่สูญเปล่า พร้อมกับเผยว่าจะผลักดันไปสู่คอลเลคชันที่ได้รับความนิยม แต่ท่ามกลางการผลิตเสื้อผ้าหลายล้านชิ้นต่อปีทำให้การปล่อยคอลเลคชันนี้ดูเล็กไปเลยอีกทั้งยังดูไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหานี้อีกด้วย

ในแง่ของวัสดุที่ “ชีอิน” เปิดเผยมาว่า เลือกวัสดุสิ่งทอที่ถูกรีไซเคิล เช่น เส้นใยโพลีเอสเทอร์รีไซเคิล แต่ในตอนนี้เสื้อผ้า 52,000 แบบ มีเพียง 64 แบบที่ผลิตจากเส้นใยโพลีเอสเทอร์รีไซเคิล ถ้าว่ากันตามตรงจากราคาแล้วเป็นไปได้ยากที่จะใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งเสื้อผ้าแต่ละตัวถูกบรรจุในถุงพลาสติก Zip-Top ดังนั้นด้วยปริมาณการผลิตมหาศาลจึงก่อเกิดปัญหาด้านขยะพลาสติกอีกด้วย

ปัญหาการใช้แรงงานและสวัสดิภาพการทำงาน

นอกจากนี้ ยังมีข่าวลือจำนวนมากในโลกโซเชียลเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำและการใช้แรงงานเด็ก ซึ่งแม้เว็บไซต์ของ “ชีอิน” จะยืนยันว่า ไม่มีการใช้แรงงานที่ไม่สมัครใจหรือแรงงานเด็ก แต่ก็ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียดและโปร่งใสเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ส่งผลให้ “ชีอิน” มี Fashion Transparency Index ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลด้านสิทธิมนุษยชนและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของบริษัทด้านแฟชั่นและค้าปลีก จัดทำโดยองค์กรไม่แสวงหากำไร Fashion Revolution อยู่ที่ 0 คะแนน รวมกับแบรนด์ดังระดับโลกอย่าง Tom Ford, Fila และ Dolce & Gabbana

รู้จัก SHEIN แบรนด์เสื้อผ้าจากจีนที่กำลังถูกแบนในไทย

รวมถึงยังมีรายงานจากการลงพื้นที่สำรวจแหล่งผลิตโดย Sixth Tone ในเมืองกว่างโจว พบว่า แม้กระทั่ง “ชีอิน” เองก็ไม่รู้ว่าเสื้อผ้าถูกผลิตขึ้นที่ใด เพราะจะมีเพียงโรงงานไม่กี่โรงงานที่รับออเดอร์โดยตรง จากนั้นจึงส่งออเดอร์ไปให้โรงงานในหมู่บ้านเดียวกันเป็นทอด ๆ เนื่องจากไม่มีทางที่โรงงานเดียวจะผลิตทัน ซึ่งลักษณะโรงงานก็เป็นบ้านเรือนหรือห้องแถวที่อยู่ติดกันมากจนเอื้อมมือจับกันได้ ซึ่งเรียกอาคารแบบนี้ว่า Handshake Building และแน่นอนว่าโรงงานเหล่านี้ก็ไม่ได้จดทะเบียนอย่างถูกกฎหมายเช่นกัน

เมื่อมีออเดอร์เข้ามาก็จะต้องทำงานแต่ละกะถึง 15 ชั่วโมง เพราะมีเวลาก่อนเส้นตายส่งสินค้าจะมาถึงเพียง 7 วัน ซึ่งปกติจะมีเวลามากถึง 14 วัน จึงไม่น่าแปลกใจนักที่จะเห็นคนงานทำงานกันจนถึง 3 ทุ่ม ในห้องที่ร้อนระอุพร้อมสภาพแวดล้อมไม่ปลอดภัย

แม้ว่าค่าจ้างในจีนจะเพิ่มขึ้นจนหลายอุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปเวียดนามแล้ว แต่โรงงานในเมืองกว่างโจวเหล่านี้ ยังคงเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกเช่นเดิม เนื่องจากการเลือกใช้แรงงานที่มาจากคนในครอบครัวหรือลูกจ้างชั่วคราว ทำให้ลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการลงได้ 

SHEIN กับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์

อุตสาหกรรม Fast Fashion ต้องการไอเดียใหม่รับการออกคอลเลคชันใหม่อย่างรวดเร็ว แม้จะจ้างดีไซเนอร์แต่ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะทำงานตอบความต้องการได้อย่างสมบูรณ์ การหยิบยืมแนวคิดไปจนถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาจึงเกิดขึ้น โดยมีศิลปินหลายคนถูก “ชีอิน” นำผลงานไปใช้โดยไม่มีการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ รวมถึงแบรนด์แฟชันทั้งขนาดเล็กและใหญ่ต่างก็โดนลอกเลียนแบบเช่นกัน เช่น Emma Warren Design เเละ Dr. Martens ประเด็นนี้จึงกลายเป็นกระแสในโลกออนไลน์มองว่า “ชีอิน” มีเจตนาที่จะขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทางปัญญาอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นสินค้าไม่ตรงปกซึ่งอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับทุกแบรนด์ที่ขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์

จากข้อมูลต่าง ๆ ข้างต้นยังคงต้องรอการพิสูจน์หรือการเปิดเผยความจริงจากทาง SHEIN อีกครั้ง เเต่ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร พี่ทุยว่าก็ไม่ควรมีแบรนด์เสื้อผ้าใดที่สร้างผลกระทบต่อทั้งมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย