Pfizer BioNTech บริษัทคิดค้นวัคซีน

ทำความรู้จัก “Pfizer และ BioNTech” ผู้คิดค้นวัคซีนที่กำลังเป็นความหวังของโลก

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • Pfizer และ BioNTech คือ สองบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก เกี่ยวกับการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ที่กำลังรอการอนุมัติให้ใช้อย่างเป็นทางการ
  • ความร่วมมือกันของทั้งสองบริษัท เริ่มต้นตั้งแต่ระยะแรกที่มีการระบาด แต่ผลประกอบการของทั้ง Pfizer และ BioNTech มีทิศทางที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในชั่วโมงนี้ถ้าพูดถึงวัคซีนต้านโควิด-19 พี่ทุยคิดว่าความร้อนแรงคงหนีไม่พ้นวัคซีนที่บริษัท “Pfizer และ BioNTech” ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา ที่ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้วัคซีนวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer และ BioNTech แบบฉุกเฉินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันนี้พี่ทุยก็เลยอยากพาทุกคนไปรู้จักกับบริษัท “Pfizer และ BioNTech” สองบริษัทผู้พัฒนาวัคซีนที่กำลังเป็นความหวังของทุกคนกัน

ทำความรู้จักกับ Pfizer กันก่อน

บริษัท Pfizer ก่อตั้งเมื่อปี 1849 ที่เมืองนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐฯ จากความร่วมมือกันระหว่าง Charles Pfizer ร่วมกับ Charles F. Erhart ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้อง ที่ใช้เงินทุนที่ยืมมาจากคุณพ่อของ Charles Pfizer เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการทำธุรกิจเคมีภัณฑ์พร้อมเปิดตัว Santonin (ซานโทนิน) ยารักษาโรคพยาธิลำไส้เป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรก

หลังสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ Pfizer หันมาเน้นธุรกิจสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม และเมื่อปี 1880 ก็ผลิต Citric acid หรือกรดมะนาว อันเป็นสารตั้งต้นการผลิตน้ำอัดลมซึ่งบริษัทก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

ผลจากสงครามโลกครั้งที่ 1 บริษัทเผชิญกับปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับ Citric acid ซึ่งต้องนำเข้าจากยุโรป จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อปี 1919 บริษัทก็แก้ปัญหาได้ หลังนักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีการผลิตวัตถุดิบดังกล่าวด้วยวิธีการหมัก ที่ในอนาคตจะเป็นรากฐานที่ใช้ในการผลิตยาฆ่าเชื้อโรคที่เรียกว่า “Penicillin” (เพนนิสซีลิน) ซี่งใช้รักษาอาการติดเชื้อให้ทหารในสงครามโลกครั้งที่ 2 และในช่วงเวลาเดียวกันบริษัทก็เพิ่มกำลังการผลิตวิตามิน C, B2 และ B12 จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการวิตามิน

แต่แล้วราคา Penicillin ก็ตกต่ำ และบริษัทจึงได้คิดค้นยาฆ่าเชื้อชนิดใหม่ที่ชื่อ Terramycin เมื่อปี 1950 และเป็นจุดเปลี่ยนทิศทางบริษัทจากผู้ผลิตสารเคมีไปเป็นบริษัทวิจัยค้นคว้ายารักษาโรค จากนั้นก็ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าเปิดตัวยารักษาโรคต่อเนื่อง เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาอาการลำคออักเสบและความดันโลหิตสูง และหนึ่งในนั้นก็มียาที่ขายดีที่สุดในโลกตลอดกาลที่ชื่อว่า “Lipitor” เป็นยารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยการลดคลอเลสเตอรอลนั่นเอง

นับตั้งแต่เข้าสู่ตลาดในปี 1997 จนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2017 สร้างรายได้ให้ Pfizer ไปแล้วกว่า 150,100 แสนล้านดอลลาร์

จุดกำเนิดของ BioNTech อยู่ในช่วงที่ยา Lipitor กำลังโลดแล่น

ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ยา Lipitor ได้รับความนิยม ก็มีบริษัท Biotechnology ที่ชื่อว่า BioNTech ถูกก่อตั้งขึ้นที่เมืองไมนซ์ (Mainz) ทางตอนกลางของประเทศเยอรมนี ในปี 2008 โดยอูลร์ ซาฮิน (Ugur Sahin) และ ออซแลม ตูเรจี (Ozlem Tureci) คู่สามีภรรยานักวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำงานด้านมะเร็งวิทยาและโรคติดเชื้อ ซึ่งบริษัทมุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาและผลิตเทคโนโลยีเพื่อการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีแบบ messenger RNA หรือ mRNA

เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มขึ้นในเดือนมกราคมปี 2020 Sahin เห็นโอกาสพัฒนาวัคซีน โควิด-19 จากเทคโนโลยีแบบ mRNA ที่กำลังใช้เพื่อพัฒนาการรักษามะเร็ง จึงมอบหมายให้นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทใช้เทคโนโลยีดังกล่าวเร่งพัฒนาวัคซีน และได้ร่วมมือกับ Pfizer เพื่อพัฒนาวัคซีนเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ทั้งสองบริษัทก็ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดมาแล้วตั้งแต่ปี 2018

ปัจจุบันหุ้นของบริษัท Pfizer จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ NYSE มีขนาด Market Cap ที่ 6.9 ล้านล้านบาท ส่วนบริษัท BioNTech จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq มีขนาด Market Cap 935,700 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2020)

รายได้กำไรของ Pfizer และ BioNTech เป็นอย่างไร ?

Pfizer

ปี 2017 รายได้ 1.57 ล้านล้านบาท กำไร 6.39 แสนล้านบาท (ได้ประโยชน์จากการปรับอัตราภาษีรายได้ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์)
ปี 2018 รายได้ 1.60 ล้านล้านบาท กำไร 3.34 แสนล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 1.55 ล้านล้านบาท กำไร 4.88 แสนล้านบาท

BioNTech

ปี 2017 รายได้ 2,084 ล้านบาท ขาดทุน 2,904 ล้านบาท
ปี 2018 รายได้ 4,515 ล้านบาท ขาดทุน 1,700 ล้านบาท
ปี 2019 รายได้ 3,646 ล้านบาท ขาดทุน 6,012 ล้านบาท

ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนมาเป็นระยะ แต่ในช่วงที่สำคัญนั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา ก็คือ ข่าวการเปิดเผยประสิทธิภาพวัคซีนที่พัฒนาโดย Pfizer และ BioNTech เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งมีประสิทธิภาพ 90% และในวันที่ 18 พฤศจิกายน เปิดเผยผลขั้นสุดท้ายได้ประสิทธิภาพที่ 95%

เมื่อข่าวเปิดเผยออกมาในวันที่ 9 พฤศจิกายน ราคาหุ้น Pfizer ปรับขึ้น 7.69% ส่วน BioNTech ปรับขึ้น 13.91% และในวันที่ 18 พฤศจิกายน ราคาหุ้น Pfizer ปรับขึ้น 0.78% และ BioNTech ปรับขึ้น 4.04%

แต่หากมองภาพรวม ราคาหุ้นของทั้งสองบริษัทจะพบความแตกต่างอย่างชัดเจนโดยราคาหุ้น Pfizer แกว่งตัวในกรอบมาตลอด ก่อนจะปรับตัวขึ้นมายืนเหนือกรอบได้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนของหุ้น Pfizer นับตั้งแต่ต้นปี 2020 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2020 อยู่ที่ 6.51% สวนทางราคาหุ้น BioNTech ที่เป็นปรับตัวขึ้นมาตลอดทั้งปี เพราะนักวิเคราะห์คาดว่าหากวัคซีนผ่านการอนุมัติให้ใช้ได้ก็จะส่งผลให้บริษัทพลิกกลับจากขาดทุนเป็นกำไรทันที ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปี 2020 ถึงวันที่ 11 ธันวาคม 2020 จึงอยู่ที่ 282.35%

การแพร่ระบาดของโควิด-19 กดดันสภาพเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ที่เห็นเด่นชัดเลย ก็หนีไม่พ้นการท่องเที่ยว การเดินทางระหว่างประเทศ และการส่งออก ซึ่งส่งผลให้ลดการจ้างงาน ทำให้รายได้ลดลง การจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงตามไปด้วย และก็ส่งผลกลับไปยังรายได้ของบริษัทที่ลดลง เรียกได้ว่าเป็นผลกระทบแบบโดมิโน

Pfizer BioNTech บริษัทคิดค้นวัคซีน

ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer และ BioNTech แบบฉุกเฉิน ท่ามกลางรายงานว่าการพิจารณาดังกล่าวได้รับแรงกดดันจากทำเนียบขาว โดยก่อนหน้านี้คณะที่ปรึกษาของ FDA ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมีมติ 17 ต่อ 4 เสียง แนะนำให้ใช้วัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer และ BioNTech แบบฉุกเฉิน

พี่ทุยได้หาข่าวมาแล้วพบว่าสัปดาห์หน้ายังต้องติดตามผลการประชุมของคณะที่ปรึกษาที่จะพิจารณาให้คำแนะนำการใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท Moderna ต่อ FDA สหรัฐฯ ว่าจะออกมาอย่างไร เพราะหากได้รับอนุมัติก็จะช่วยให้ปริมาณวัคซีนที่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น ใช้เวลาเข้าถึงผู้คนลดลง ปัจจัยที่กดดันสภาพเศรษฐกิจก็จะคลี่คลายรวดเร็วยิ่งขึ้น

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile