ในเดือน มิ.ย. 2022 พี่ทุยได้ยินมาว่า มีหลายองค์กรในไทยเริ่มเรียกพนักงาน “กลับออฟฟิศ” กันตามปกติแล้ว จากเดิมที่ให้ทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home (WFH) ในช่วงการระบาดโควิด-19
หรือในต่างประเทศก็เพิ่งมีข่าวดังสนั่นโลกออกมา ว่า อีลอน มัสก์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Tesla และ SpaceX ที่ร่อนเมลไปถึงพนักงานในบริษัท บอกว่า ทุกคนต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แปลง่าย ๆ ก็เหมือนกับว่าต้องกลับมาทำงานออฟฟิศเต็มเวลานั่นแหละ เพราะถ้าทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ก็แปลว่าต้องอยู่ออฟฟิศวันละ 8 ชั่วโมง ไม่อย่างนั้นก็คงต้องลาออกไป
ขณะที่บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เจ้าอื่น ๆ ยังไม่ได้บังคับให้พนักงานทั้งหมดกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ เพราะต้องการรักษาคนเก่ง ๆ ไว้ ในช่วงเวลานี้ที่มีภาวะการลาออกครั้งใหญ่ หรือ Great Resignation เช่น Amazon, Apple, Alphabet และ Meta ที่อนุญาตให้บางตำแหน่งทำงานทางไกลได้ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานและสถานที่ทำงาน
พี่ทุยก็เลยอยากชวนเพื่อน ๆ มาคิดตามกันว่า ตกลงแล้ว เทรนด์การทำงานของโลกหลังจากนี้มันจะเป็นยังไง กลับมาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนก่อนโควิด เหมือนว่าโลกนี้ไม่เคยมีการ work from home มาก่อน หรือเปลี่ยนไป work from anyway ได้เลย และในไทยเองล่ะ เทรนด์การทำงานจะเป็นยังไง โดยดูจากข้อมูลผลสำรวจที่บริษัทวิจัยหรือสื่อใหญ่ระดับโลกเคยทำไว้
เกิดอะไรขึ้นบ้างในตลาดการทำงานยุคหลังโควิด
Great Resignation กำลังมา หลังการเรียกพนักงาน “กลับออฟฟิศ”
เห็นเทรนด์โลกเป็นแบบนี้แล้ว พี่ทุยก็เริ่มอยากรู้ว่า แล้วในไทยล่ะจะเป็นยังไง ซึ่งพี่ทุยก็ไปเจอข้อมูลที่ Weber Shandwick นำเสนอเอาไว้เกี่ยวกับปัญหาการลาออกครั้งใหญ่ และการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถ
โดยในข้อมูลนี้ ระบุว่า สหรัฐฯ เจอปัญหาการลาออกครั้งใหญ่ของคนทำงานนับล้านคนมาก่อนในปี 2021 และเทรนด์นี้ก็เริ่มมาถึงเอเชียช่วงปลายปี 2021 เมื่อมีรายงานว่าเกิดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถในมาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่ในจีนก็เกิดการประท้วงครั้งใหญ่จากปัญหาสถานที่ทำงานที่ไม่เอื้ออำนวย
มาถึงตรงนี้ พี่ทุยมองว่า ตอนนี้ในประเทศใหญ่ ๆ เช่น สหรัฐฯ เห็นภาพปัญหา Great Resignation ชัดเจน ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่นำมาสู่ปัญหานี้ก็คือ การให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศเต็มเวลา
ดังนั้นเรื่องนี้ก็จะเป็นแรงกดดันที่ทำให้บริษัทไม่กล้าตัดสินใจให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศเต็มเวลา แต่ในเวลาเดียวกันก็มีบริษัทที่พบปัญหาว่าถ้ายังให้พนักงานทำงานทางไกลอยู่ก็จะกระทบกับประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรได้
การหาจุดสมดุลร่วมให้เจอเพื่อความต้องการของพนักงานและบริษัทจึงเป็นสิ่งสำคัญ ยกเว้นว่า บริษัทนั้นจะเป็นที่ต้องการทำงานของคนทั่วโลกจนไม่จำเป็นต้องง้อใคร อยากจะเรียกกลับมาทำงานออฟฟิศเต็มเวลา ก็คงไม่มีใครไปทำอะไรได้
ส่วนถ้ามาดูในไทย เวลานี้ปัญหาการลาออกครั้งใหญ่ อาจจะยังไม่ได้ชัดเจนมากขนาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหลายองค์กรก็ยังใช้ระบบการทำงานแบบไฮบริดในช่วงที่ผ่านมา สอดคล้องกับที่รัฐบาลยังประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือในช่วงที่ยังปิดประเทศอยู่
แต่พอเริ่มกลับมาเปิดประเทศแบบตอนนี้แล้ว ก็มีบางองค์กรที่เริ่มกลับมาทบทวนการกลับมาทำงานในออฟฟิศ 100% แล้ว ฉะนั้น ปัญหาการลาออกครั้งใหญ่จะเกิดรึเปล่า ก็คงต้องดูในช่วงครึ่งหลังของปี 2022 เป็นต้นไป เพราะจะเป็นช่วงที่เห็นภาพได้ชัดที่สุด ซึ่งภาระหนักก็คงตกอยู่ที่นายจ้างและฝ่าย HR ขององค์กรที่จะต้องวางระบบการทำงานให้ดี
พี่ทุยมองว่า คงต้องดูที่เนื้องานที่ทำเป็นหลักว่าจำเป็นต้องทำงานในสถานที่ที่จัดไว้รึเปล่า หรือเป็นงานประเภทที่อยู่ตรงไหนก็ทำได้ และจะรักษาสมดุลทางความรู้สึกถ้าบางคนทำงานในออฟฟิศ เพื่อมาจุดที่ win win ทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง
อ่านเพิ่ม