rcep คืออะไร

[สรุปโพสต์เดียวจบ] “RCEP” คืออะไร? – สรุปความสำคัญของเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

3 min read  

ฉบับย่อ

  • อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP ที่นับว่าเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการรวมข้อตกลงการค้าการลงุทนอื่น ๆ มากกว่า 71 ข้อตกลงเข้าไว้ด้วยกัน
  • ในแง่ของขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 28% ของจีดีพีโลก เทียบกับ CPTPP ที่คิดเป็น 15% สหภายุโรปที่ 24.7% และ NAFTA ที่ 25.5% ขณะที่ในแง่ของขนาดตลาด RCEP มีประชากรมากกว่า CPTPP 4.5 เท่า และมากกว่า EU 5 เท่า และเป็นภูมิภาคที่มีเม็ดเงินลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศถึง 16% ของเม็ดเงินทั้งหมด
  • คำถามสำคัญ คือ ไทยจะกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศต่อไปอย่างไรดี ในมุมหนึ่งหากเทียบกับประเทศอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างอยู่ในข้อตกลงกับทั้ง CPTPP และ RCEP ขณะที่สหรัฐอเมริกามีท่าทีผ่อนปรนลงสำหรับนโยบายการค้าของโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“RCEP” คืออะไร ?

วันนี้พี่ทุยจะมาชวนอัปเดตข่าวใหญ่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระดับโลกเมื่อสุดสัปดาห์ให้ทุกคนฟัง นั่นคือการลงนามร่วมกันในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP – อาร์เซ็ป) ที่ลงนามกันไปวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 หรือเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (หลังจากเจรจากันมาตั้งแต่ปลายปี 2555 หรือ 8 ปีที่แล้ว) ซึ่งประกอบด้วย 15 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน (ASEAN) 10 ประเทศและคู่เจรจาอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (น่าเสียดายที่อินเดียถอนตัวเมื่อปีที่ผ่านมา)

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ต่างมีข้อตกลงการค้าการลงทุนระหว่างกันอยู่แล้ว โดยมีมากถึง 71 ข้อตกลง แบ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรี 27 ข้อตกลงและสนธิสัญญาการลงทุน 44 สนธิสัญญา ซึ่งนำไปสู่ความแตกต่างหลากหลายของข้อตกลง สิ่งที่อาร์เซ็ปพยายามทำคือรวมข้อตกลงต่าง ๆ เข้ามาเป็นข้อตกลงเดียวกันภายใต้มาตรฐานเดียว และนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ต้องใช้เวลาพูดคุยตกลงกันเกือบทศวรรษ

RCEP สำคัญอย่างไร ?

RCEP จะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

ความสำคัญแรกที่พี่ทุยจะชวนให้ทุกคนดูอย่างแรก คือ อาร์เซ็ปจะกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก! เริ่มต้นตั้งแต่ขนาดของเศรษฐกิจรวมกันจะเท่ากับ 27.7% ของ GDP โลก* ในปี 2562 (ต้องขอบคุณพี่ใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่นที่เข้าร่วม) เทียบกับเขตการค้าเสรีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลง CPTPP** ที่ 11 ประเทศที่มีขนาดรวมกัน 15% ของ GDP โลกเท่านั้น สหภาพยุโรป (EU) ที่มีขนาด 24.7% ของ GDP โลก และ เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ที่มีขนาด 25.5% ของ GDP โลก

ที่มา: รวบรวมจาก worldbank.org

* GDP ที่แท้จริง ณ ราคาคงที่ปี 2010
** หากรวมสหรัฐอเมริกา

RCEP มีประชากรใหญ่มาก

ความสำคัญที่ 2 ที่พี่ทุยจะชวนดูคือถ้าเราดูขนาดของตลาดหรืออุปสงค์ที่เราจะมีโอกาสไปค้าขายด้วยสะท้อนจากจำนวนประชาชนในประเทศสมาชิกของแต่ละข้อตกลง กลับกลายเป็นว่าอาร์เซ็ป มีประชากรมากกว่าข้อตกลง CPTPP 4.5 เท่า และใหญ่กว่าสหภาพยุโรป (EU) 5 เท่า ประเด็นนี้พี่ทุยคิดว่าในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าความใหญ่ของ GDP โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังถดถอย กลยุทธ์อย่างการขายคนจน (Selling to the Poor) ที่เน้นการขายของถูกแต่ขายให้เยอะ แทนที่จะเป็นขายของดีให้คนมีเงินตามปกติ อาจจะเป็นทางรอดของธุรกิจในยุคต่อไป

RCEP อาจเป็นผู้นำการฟื้นตัวของการลงทุนในเศรษฐกิจโลก

ความสำคัญที่ 3 คือ อาร์เซ็ปอาจจะเป็นผู้นำการฟื้นตัวของการลงทุนในเศรษฐกิจโลก จากข้อมูลของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ชี้ให้เห็นว่าอาร์เซ็ป เป็นเป้าหมายของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) อยู่แล้วในปัจจุบัน โดย 16% ของการลงทุนสุทธิอยู่ในภูมิภาคนี้ แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ในปีนี้คาดว่าตจะทำให้การลงทุนตกต่ำลง 15% ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ แต่เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่การลงทุนตกลง 30-40% ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาร์เซ็ป จะกลายเป็นกลุ่มประเทศผู้นำที่อาจจะฟื้นตัวในแง่ของการลงทุน

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยตอนนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญในระยะสั้นสำหรับอาร์เซ็ป ที่จะขยายตลาดการค้าการลงทุนออกไป แต่ในระยะต่อไปการลงทุนโดยตรงระหว่างกันในกลุ่มยังมีพื้นที่ให้เติบโตได้อีกค่อนข้างมาก จากปัจจุบันที่มีการลงทุนระหว่างกัน (Intra-regional investment) เพียง 30% ของการลงทุนโดยตรงทั้งหมดในอาร์เซ็ปและอาเซียนจะเป็นผู้นำในด้านนี้ได้ เนื่องจาก 40% ของการลงทุนในอาเซียนมาจากอาร์เซ็ปอยู่แล้ว

จับตาเวทีการเจรจาของสหรัฐฯ

ความสำคัญประเด็นสุดท้าย พี่ทุยอยากชวนมองไปข้างหน้าเล็กน้อย สิ่งที่ต้องจับตามองคือการกลับมาในเวทีการเจรจาอีกครั้งของสหรัฐอเมริกาภายหลัง โจ ไบเดน ได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแทนโดนัลด์ ทรัมป์ แน่นอนว่าหลายง่ายคาดว่านโยบายการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 

อย่างไรก็ดี ถ้าดูจากข้อตกลงและประเทศสมาชิก เราจะเห็นความตึงเครียดระหว่าง 2 มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 2 ค่าย ค่ายหนึ่งคือ CPTTP ที่อาจจะมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้เล่นหลัก (แม้ว่าจะมีการลงนามไปแล้ว แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศที่ยังมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลกคงจะยังมีอำนาจต่อรองอยู่มาก) ขณะที่อีกค่ายหนึ่งคืออาร์เซ็ปที่มีจีนเป็นผู้เล่นหลักและปัจจุบันเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้ว

ประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ?

หากให้สรุปปิดท้ายตรงนี้ พี่ทุยกำลังคิดว่าประเทศไทยจะกำหนดนโยบายการค้าระหว่างประเทศต่อไปอย่างไรดี ในมุมหนึ่งหากเทียบกับประเทศอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างอยู่ในข้อตกลงกับทั้ง CPTPP และอาร์เซ็ป นั่นแปลว่าประเทศเหล่านี้จะเข้าถึงตลาดมากน้อยเพียงใดในอนาคต เพราะแม้ว่าในปัจจุบันไทยจะมีข้อตกลงการค้าส่วนใหญ่กับสมาชิก CPTPP (ขาดเพียงเม็กซิโกและแคนาดา โดยแคนาดากำลังเจรจาอยู่) แต่คงบอกได้ยากว่าในอนาคตข้อตกลงเหล่านี้จะมีพัฒนาการไปและแตกต่างจากข้อตกลงการค้าเสรีเดิมในปัจจุบันอย่างไร และไทยจะเสียโอกาสตรงนี้ไปหรือไม่

ประเด็นนี้ศูนย์วิจัยกสิกรวิเคราะห์เพิ่มเติมไว้ว่า ในระยะข้างหน้าไทยจะได้รับอานิสงส์ทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น โดยผลทางตรงจะมาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป ขณะที่ผลทางอ้อมจะมาจากการที่ประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่จะลดกำแพงภาษีระหว่างกันเป็นครั้งแรกและไทยยังคงเป็นตัวเลือกหลักของฐานการผลิตที่สำคัญในฝั่งเอเชีย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ยังได้เปรียบ อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 

อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่งอาร์เซ็ป อาจเอื้อประโยชน์กับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่เดิมยังไม่มีข้อตกลงระหว่างกันมากกว่าและอาจจะไม่เปลี่ยนภาพโครงสร้างการค้าของไทยมากนัก เนื่องจากผลบวกทางตรงเพิ่มเติมจากการเปิดเสรีการค้ามีจำกัด เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่นั้นได้ลดภาษีไปแล้วตามกรอบข้อตกลงเดิม ขณะที่ผลบวกทางอ้อมก็กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดิม ซึ่งตรงนี้ไทยต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะพัฒนาสินค้าใหม่หรือตลาดใหม่อย่างไรดี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply