การเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติของกลุ่ม "G7" ส่งผลดีกับบริษัทไหนบ้าง ?

การเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติของกลุ่ม “G7” ส่งผลดีกับบริษัทไหนบ้าง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ที่ประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการคลังกลุ่มประเทศ “G7” ได้บรรลุข้อตกลงเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกที่อัตรา 15% เพื่อป้องกันบริษัทข้ามชาติโยกย้ายผลกำไรไปสู่ประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลในระดับต่ำกว่า และเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลก
  • ข้อตกลงนี้ประกอบไปด้วย 2 หลักการ ประกอบไปด้วยหลักการแรก (Pillar 1) คือบังคับใช้กับบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเกินกว่า 10% โดย 20% ของส่วนที่เกินจะถูกเฉลี่ยและเสียภาษีในประเทศที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ ส่วนอีกหลักการ (Pillar 2) กำหนดว่าอัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำอยู่ที่ 15% หากบริษัทยังเสียภาษีต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำของภาษีนิติบุคคลทั่วโลก รัฐบาลของประเทศที่บริษัทแม่ถือสัญชาติก็สามารถเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มจนถึงขั้นต่ำของภาษีนิติบุคคลทั่วโลกหรือที่ 15% เพื่อป้องกันการโยกย้ายกำไรไปอยู่ในประเทศที่เสียภาษีอัตราต่ำกว่า
  • การบังคับใช้ในระดับโลกยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็นที่ต้องเจรจาให้แล้วเสร็จ เช่น ภายในสหภาพยุโรปเองที่มีสมาชิกหลายประเทศเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราที่ต่างกัน โดยประเทศไอร์แลนด์มีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ 12.5% ส่วนฝรั่งเศสเรียกเก็บอยู่ที่ 31% จึงทำให้มีประเทศที่เสียประโยชน์และขีดความสามารถการแข่งขันในเวทีระดับโลก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อววานี้กลุ่มประเทศ “G7” ก็ได้บรรลุข้อตกลงที่จะจัดเก็บภาษีกับบริษัทข้ามชาติ นี่ข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์ในการปฏิรูประบบภาษีทั่วโลกเพื่อให้เหมาะสมกับโลกยุคดิจิทัล วันนี้พี่ทุยจะดูกันว่าทำไม G7 ถึงต้องจัดเก็บภาษีนี้ และจะมีผลกับบริษัทไหนบ้าง ไปดูกันเลย  

กลุ่ม “G7” (Group of Seven) คืออะไร ?

Group of Seven เป็นกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ประกอบไปด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ก่อนหน้านี้เคยเป็นกลุ่มประเทศ G8 ที่มีรัสเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศสมาชิกแต่จากการผนวกดินแดนไครเมีย ทำให้รัสเซียถูกเพิกถอนจากการเป็นสมาชิก

ทำไมกลุ่ม “G7” จึงต้องมีภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก ?

เมื่อโลกเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี เขตแดนระหว่างประเทศก็เลือนลางลงโดยเฉพาะโลกการเงินระหว่างประเทศ รัฐบาลหลายประเทศประสบปัญหาการเก็บภาษีบริษัทระดับโลกที่มีแหล่งรายได้จากทั่วโลกโดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Facebook และ Google เป็นต้น

ในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้ก็เปิดสาขาในหลายประเทศซึ่งมีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่าประเทศตนเอง และโยกย้ายผลกำไรไปยังประเทศดังกล่าวโดยไม่คำนึงถึงแหล่งที่มาของรายได้

นี่เป็นเหตุให้เกิดการตั้งภาษีนิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำขึ้นมาโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้บริษัทจ่ายภาษีในประเทศที่บริษัทสร้างรายได้ และป้องกันการโยกย้ายผลกำไรไปสู่ประเทศที่มีอัตราภาษีนิติบุคคลในระดับต่ำกว่า

ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ภายใต้สมัยของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้คัดค้านการบังคับใช้ภาษีในลักษณะนี้ในหลายประเทศและตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้า แต่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน และคณะบริหารกลับเดินหน้าในประเด็นดังกล่าวซึ่งได้เสนออัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลกที่ 21% อย่างไรก็ตามหลังผ่านการเจรจาอย่างเข้มข้นจึงมีการตกลงกันได้ที่ 15%

ข้อตกลงนี้จะถูกนำมาใช้อย่างไร ?

ข้อตกลงนี้ประกอบไปด้วย 2 หลักการ ประกอบไปด้วยหลักการแรก (Pillar 1) คือบังคับใช้กับบริษัทที่มีอัตรากำไรสุทธิเกินกว่า 10% โดย 20% ของส่วนที่เกินจะถูกเฉลี่ยและเสียภาษีในประเทศที่บริษัทดำเนินกิจการอยู่ 

ส่วนอีกหลักการ (Pillar 2) กำหนดว่าอัตราภาษีนิติบุคคลทั่วโลกขั้นต่ำอยู่ที่ 15% หากบริษัทยังเสียภาษีต่ำกว่าอัตราขั้นต่ำของภาษีนิติบุคคลทั่วโลก รัฐบาลของประเทศที่บริษัทแม่ถือสัญชาติก็สามารถเก็บภาษีนิติบุคคลเพิ่มจนถึงขั้นต่ำของภาษีนิติบุคคลทั่วโลกหรือที่ 15% เพื่อป้องกันการโยกย้ายกำไรไปอยู่ในประเทศที่เสียภาษีอัตราต่ำกว่า

โดยสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างประเทศที่ได้ประโยชน์จากข้อตกลงครั้งนี้ ซึ่งรัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นและนำไปใช้ในกิจการสาธารณะเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

ด้าน OECD หรือองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ยอมรับระบอบประชาธิปไตย เศรษฐกิจการค้าเสรีและพัฒนาเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปและโลก เปิดเผยออกมาเมื่อเดือนที่แล้วว่ารัฐบาลของชาติสมาชิก 30 ประเทศ ได้ตกลงร่วมกันเบื้องต้นเกี่ยวกับแนวคิดการเก็บภาษีขั้นต่ำแล้ว แต่ยังไม่ได้มีการตกลงถึงอัตราภาษีขั้นต่ำ

มีอะไรบ้างที่เราต้องติดตามหลังจากนี้ ?

การประชุมกลุ่มประเทศ G20 ที่จะเกิดขึ้นในปลายเดือนมิถุนายนเป็นสิ่งที่จะตัดสินว่าข้อตกลงครั้งนี้ของ Group of Seven ได้รับการยอมรับจากประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาขนาดใหญ่หรือไม่ ด้าน OECD ที่แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกต่อประเด็นดังกล่าวแต่คาดว่าจะยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงอย่างเป็นทางการได้อย่างน้อยจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคม

ด้านประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งต้องการการให้สภาคองเกรสอนุมัตินโยบายปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลในประเทศจาก 21% ไปที่ 28% เพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล อาจรับอานิสงส์ทางอ้อมจากข้อตกลงครั้งนี้ทำให้นโยบายขึ้นภาษีนิติบุคคลในประเทศผ่านสภาง่ายขี้น

Source: OECD

อย่างไรก็ตามการบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าวในระดับโลกยังมีรายละเอียดอีกหลายประเด็นที่ต้องเจรจาให้แล้วเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นภายในสหภาพยุโรปเองที่มีสมาชิกหลายประเทศเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลในอัตราที่ต่างกัน เช่น ประเทศไอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราภาษีนิติบุคคลที่ 12.5% ส่วนฝรั่งเศสเรียกเก็บอยู่ที่ 31% ดังนั้นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของประเทศไอร์แลนด์ซึ่งมีแนวโน้มจะเสียประโยชน์จึงออกมาเรียกร้องให้ข้อตกลงคำนึงถึงประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กด้วย เนื่องด้วยขนาดเศรษฐกิจทำให้มีขีดจำกัดในการแข่งขันกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่

นอกจากนั้นยังต้องมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเจรจารวมไปถึงข้อตกลงนี้จะครอบคลุมกองทุนและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาฯ หรือไม่ เมื่อใดที่ควรจะบังคับใช้อัตราภาษีใหม่และต้องมั่นใจว่าจะสอดคล้องกับการปรับอัตราภาษีของสหรัฐฯ

บริษัทเทคโนโลยีเป็นบริษัทที่ได้ประโญชน์จากเรื่องนี้

บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ติดตามข้อตกลงนี้อย่างใกล้ชิดซึ่งจะช่วยให้การเสียภาษีมีความชัดเจนมากขึ้นต่างออกมาตอบรับการบรรลุข้อตกลงนี้ในเชิงบวก

โฆษกของ Amazon กล่าวว่าบริษัทเชื่อมั่นว่ากระบวนการที่นำโดย OECD จะช่วยให้ระบบภาษีระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ ข้อตกลงของ G7 นับเป็นขั้นตอนที่น่ายินดีในการพยายามบรรลุเป้าหมาย

ด้าน Nick Clegg รองประธานฝ่ายกิจการระดับโลกของ Facebook กล่าวใน Twitter ว่าข้อตกลงนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญสู่ความแน่นนอนของธุรกิจและสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบภาษีโลก

ส่วนโฆษกของ Google ออกมากล่าวเช่นกันว่าบริษัทสนับสนุนการทำงานเพื่อปรับปรุงระบบภาษีระหว่างประเทศ บริษัทหวังว่าประเทศต่าง ๆ จะทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างข้อตกลงที่สมดุลและยั่งยืนซึ่งจะเสร็จสมบูรณ์ในไม่ช้า

อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้จะเป็นปัจจัยเชิงลบต่ออัตรากำไรสุทธิของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เช่นเดียวกับนโยบายปรับอัตราภาษีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งนักลงทุนต่างแสดงความกังวลนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปลายปี 2020

พี่ทุยมองว่าผลกระทบต่อหุ้นเทคโนโลยีจะมากน้อยเพียงใด จะขึ้นอยู่กับการตอบรับของตลาดต่อผลการประชุมกลุ่ม G20 ช่วงปลายเดือนมิถุนายน เช่นเดียวกับการเจรจาในที่ประชุม OECD ซึ่งจากข่าวชี้ว่าจะทราบผลอย่างเร็วที่สุดในเดือนตุลาคมนี้ และที่สำคัญต่อบรรยากาศการลงทุนไม่แพ้กันเลย ก็คือการอนุมัติการปรับอัตราภาษีนิติบุคคลในประเทศของสหรัฐฯ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย