เกิดอะไรขึ้น ? "Fed" ทำให้ตลาดหุ้นร่วง และ Bond Yield พุ่งสูงขึ้น

เกิดอะไรขึ้น ? “Fed” ทำให้ตลาดหุ้นร่วง และ Bond Yield พุ่งสูงขึ้น

5 min read  

ฉบับย่อ

  • “Fed” มีการปรับคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐ ปี 2021 เพิ่มขึ้นมาเป็น 7.0% จากเดิม 6.5%
  • จากการประชุม มีคณะกรรมการ 13 จาก 18 ท่าน มองว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2023 ขณะที่ค่ากลาง (Median) สะท้อนว่าคณะกรรมการเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง ภายในปี 2023
  • ส่วนแผนการลด QE แม้ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน แต่ประธาน Fed บอกว่าจะพิจารณาลดการซื้อสินทรัพย์เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมาย
  • อัตราการว่างงาน ปี 2022 จะกลับไปที่ระดับก่อนการแพร่ระบาด ดังนั้น แผนการลด QE อาจได้พูดคุยกันอย่างจริงจังในช่วงปลายปี 2021 และจะเกิดขึ้นจริงในปี 2022

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เดือนมิถุนายน ปี 2021 เป็นเดือนที่ตลาดการเงินทั่วโลกต่างตั้งตารอการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งถึงแม้จะคาดว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในรอบนี้ แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นักลงทุนในตลาดต่างจับตามองว่า “Fed” จะมีการสื่อสารแนวทางนโยบายการเงินและมาตรการซื้อพันธบัตร (QE) ในอนาคตอย่างไร

เมื่อคืนนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประชุมไปเรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งเปิดเผยผลการประชุมประมาณการเศรษฐกิจ และแนวทางการดำเนินนโยบายการเงิน บทความนี้พี่ทุยได้สรุปการประชุม มุมมองของตลาดการเงิน และผลกระทบต่อสินทรัพย์การเงินมาให้อย่างครบถ้วน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย..

ผลการประชุม “Fed”

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) รอบเดือนมิถุนายนนี้ คณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% และยังดำเนินมาตรการซื้อพันธบัตรเดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์เป็นไปตามคาดการณ์

การประชุมรอบนี้มีการเปิดเผยประมาณการทางเศรษฐกิจจากคณะกรรมการ FOMC ซึ่งคาดว่า

  • GDP ปี 2021 จะเติบโต 7.0% เพิ่มขึ้นจากประมาณการรอบเดือนมีนาคม ซึ่งอยู่ที่ 6.5%
  • อัตราการว่างงานปี 2021 ยังคงเดิมที่ 4.5% ปี 2022 ลดลงจาก 3.9% มาที่ 3.8%
  • อัตราเงินเฟ้อปี 2021 PCE เพิ่มมาที่ 3.4% จาก 2.4% Core PCE เพิ่มมาที่ 3.0% จาก 2.2% ส่วนปี 2022 คาด PCE ที่ 2.1% และ Core PCE ที่ 2.1% สะท้อนมุมมองเดิมว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในปีนี้เป็นเพียงเรื่องชั่วคราว

“Fed” เซอร์ไพรส์ตลาด อาจขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์

นอกจากเปิดเผยประมาณการทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเปิดเผยมุมมองอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการผ่าน Dot Plot อีกด้วย ซึ่งพบว่ามีคณะกรรมการ 13 จาก 18 ท่าน ที่มองว่าควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในปี 2023 ซึ่งการประชุมเดือนมีนาคมมีจำนวน 7 ท่าน ขณะที่ค่ากลาง (Median) สะท้อนว่าคณะกรรมการเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ครั้ง ภายในปี 2023 สำหรับปี 2022 แม้ค่ากลางจะบ่งชี้ว่ายังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ย แต่คณะกรรมมองว่าควรปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในปีดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 4 ท่าน เป็น 7 ท่าน

อีกประเด็นที่ตลาดให้ความสนใจมาตลอด ก็คือ เมื่อไหร่เฟดจะหยุดการใช้มาตรการซื้อพันธบัตร หรือที่รู้จักกันในชื่อย่อว่า QE ซึ่งจากแถลงการณ์ยังไม่มีการกล่าวถึง 

อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ตลาดได้ให้เพิ่มเติมอยู่ในการให้สัมภาษณ์หลังการประชุมของ Jerome Powell ซึ่งก็ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้มากเท่าไหร่ เพียงแต่บอกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่การประชุมเมื่อเดือนธันวาคม และยังคงรอการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนให้เป็นไปตามเป้าหมายของคณะกรรมการ คาดว่าจะฟื้นตัวต่อไปจนสามารถประกาศแผนลดการซื้อพันธบัตรในการประชุมในอนาคต

ดังนั้นการประชุมครั้งต่อไปคณะกรรมการจะได้รับข้อมูลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและจะแจ้งให้ทราบก่อนจะเปิดเผยการตัดสินใจ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

เพียงแค่มุมมองต่ออัตราดอกเบี้ยนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่จะตึงตัวมากขึ้น (Hawkish) และมากกว่าที่ตลาดคาดไว้ด้วย เพราะผิดไปจากการสื่อสารของเฟดก่อนหน้านี้ที่บอกว่าจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปอย่างน้อยจนถึงปี 2023 การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลโดยตรงต่อตราสารหนี้ส่งให้ Bond Yield ปรับตัวขึ้น (ราคาปรับลง) ส่วนตลาดหุ้นก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนทางการเงิน (ดอกเบี้ย) ที่เพิ่มขึ้น มูลค่าจึงลดลงเช่นกัน ด้านราคาทองคำจะถูกกดดันจาก Bond Yield ที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการลงทุนตลาดตราสารหนี้ในอนาคตจะมีความน่าสนใจมากกว่าการลงทุนในทองคำ

ส่วนแผนการลด QE แม้ยังดำเนินมาตรการต่อไปอีกเดือนละ 120,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่การสื่อสารของประธานเฟดก็ยังไม่ได้ให้กำหนดการที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามอาจตีความได้ว่าแผนการลดนี้กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า จากการที่กล่าวว่าจะพิจารณาลดการซื้อสินทรัพย์เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้าหมาย 

เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูที่ประมาณการเศรษฐกิจจะเห็นอย่างชัดเจนว่ามีการปรับเพิ่มประมาณการมาโดยตลอดนับตั้งแต่การประชุมเดือนธันวาคม โดยเฟดสื่อสารมาตลอดว่าให้ความสำคัญต่อตลาดแรงงานเป็นหลักโดยเฉพาะจำนวนผู้มีงานทำ ซึ่งไม่มีในประมาณการเศรษฐกิจแต่สามารถใช้อัตราการว่างงานเป็นตัวเลขเทียบเคียงได้ ประมาณการปี 2022 อัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 3.8% นับเป็นระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ก็มีความเป็นไปได้สูงมากที่จำนวนผู้มีงานทำจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับก่อนการแพร่ระบาด ดังนั้นแผนการลด QE อาจได้พูดคุยกันอย่างจริงจังราวปลายปี 2021 และจะเกิดขึ้นจริงในปี 2022

การเซอร์ไพรส์ของ “Fed” ส่งผลยังไงต่อตลาดหุ้น

การสื่อสารของเฟดทั้งประเด็นอัตราดอกเบี้ยและแผนการซื้อสินทรัพย์ (QE) ได้สะท้อนมุมมอง Hawkish มากกว่าที่ตลาดคาดไว้ และเป็นการส่งสัญญาณว่าเฟดอาจดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2021 นี่จึงเป็นสาเหตุให้นักลงทุนกังวลหันมาถือเงินสด ส่งผลให้ตลาดหุ้นร่วงทันที พร้อม Bond Yield พุ่งขึ้น มุมมองเงินเฟ้อที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และค่าเงินดอลลาร์แข็ง ซึ่งกดดันราคาทองร่วงแรงให้ตกลงเช่นกัน

อนาคตของตลาดหุ้นหลังจากนี้จะเป็นยังไงต่อไป ?

ในระยะสั้นตลาดหุ้นจะร่วงรับข่าวการประชุมเฟด ขณะที่มุมมองในครึ่งปีหลังนั้นตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีผลตอบแทนที่ไม่หอมหวานเหมือนปีที่แล้วอย่างแน่นอน และจะยิ่งผันผวนมากขึ้นเมื่อเฟดเริ่มลดการซื้อพันธบัตร นอกจากนี้ยังมีอีกหลายความเสี่ยงที่ตลาดหุ้นต้องเผชิญ อัตราเงินเฟ้อที่ก็ยังวางใจไม่ได้ รวมไปถึงประเด็นการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลทั้งในสหรัฐฯ และระดับโลกที่กำลังเข้าสู่กระบวนการพิจารณาบังคับใช้ ดังนั้นการกระจายสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดเพื่อรับความเสี่ยงที่กำลังเข้ามาในอนาคตอันใกล้นี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย