ทำไมไทยถึงยังไม่หลุดพ้นจาก "กับดักรายได้ปานกลาง" ?

ทำไมไทยถึงยังไม่หลุดพ้นจาก “กับดักรายได้ปานกลาง” ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ธนาคารโลก (World Bank) ริเริ่มการจัดกลุ่มประเทศตามระดับรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศรายได้สูง, ประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง, ประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ, และประเทศรายได้ต่ำ
  • ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง เพราะ มีทรัพยากรที่พร้อมและมีการเติบโตที่รวดเร็ว แต่กลับไม่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้ และติด “กับดักรายได้ปานกลาง” มาแล้วถึง 40 ปี
  • สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง คือ 1. เไทยเป็นแต่ผู้รับผลิตมาโดยตลอด 2. คุณภาพการศึกษาที่ล้าหลัง และ 3. เป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยเยอะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

จากกระแสย้ายประเทศในสื่อออนไลน์ขณะนี้ที่หลายคนมีความต้องการย้ายประเทศออกจากไทยเพื่อค้นหาคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ทั้งเรื่องรายได้ อาชีพ และวิถีชีวิตในต่างแดน และรู้สึกว่าจริง ๆ ไทยก็ถือเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและปัจจัยบวกอีกมากมายที่สามารถหนุนเศรษฐกิจได้ แต่ทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถก้ามข้ามผ่าน “กับดักรายได้ปานกลาง” ไปได้ วันนี้พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟังกัน.. 

ธนาคารโลกแบ่งกลุ่มประเทศตามระดับรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศออกเป็น 4 กลุ่ม

ธนาคารโลก (World Bank) ได้เริ่มจัดกลุ่มประเทศเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งในปัจจุบันแทบทุกประเทศทั่วโลกต่างได้รับการจัดกลุ่มฐานะประเทศของตนว่าเป็นประเทศรายได้ต่ำหรือรายได้สูง โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม จากการวัดจาก “รายได้ประชาชาติต่อประชากร” (Gross National Income หรือ GNI Per Capital หรือ รายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ ซึ่งแต่ละปีก็จะมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกในแต่ละช่วงเวลา 

โดยเกณฑ์การแบ่งกลุ่มประเทศในปัจจุบันทางธนาคารโลก (World Bank) ได้แบ่งเกณฑ์เอาไว้ ดังนี้

  • กลุ่มประเทศรายได้สูง (High Income Countries) จะต้องมีรายได้ต่อคนต่อปีมากกว่า 12,535 ดอลลาร์ หรือราว 376,050 บาท
  • กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ (Upper Middle Income Countries) จะต้องมีรายได้ต่อคนต่อปีอยู่ระหว่าง 4046 – 12,535 ดอลลาร์ หรือราว 121,380 – 376,050 บาท
  • กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระเับต่ำ (Lower Middle Income) จะต้องมีรายได้ต่อคนต่อปีอยู่ระหว่าง 1,036 – 4,045 ดอลลาร์ หรือราว 21,080 – 121,380 บาท
  • กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (Low Income Country) คือ ประเทศที่มีรายได้ต่อคนต่อปีต่ำกว่า 1,036 ดอลลาร์ หรือประมาณ 31,080 บาท

* สมมติให้ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 30 บาท

ตัวอย่างเช่น ประเทศที่ถูกจัดกลุ่มรายได้สูง (High Income Country) คือ ประเทศที่คนมีรายได้เฉลี่ยมากกว่า 12,535 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือประมาณ 376,050 บาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 31,340 บาทต่อคนต่อเดือนขึ้นไป เช่น สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น

ส่วนประเทศที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper Middle Income Country) คือ ประเทศที่คนมีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4,046 – 12,535 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือประมาณ 121,380 – 376,050 บาทต่อคนต่อปี หรือประมาณ 10,120 – 31,340 บาทต่อคนต่อเดือน เช่น บราซิล แอฟริกาใต้ จีน อินโดนีเซีย รวมถึงไทยเราด้วย

ประเทศไทยติด “กับดักรายได้ปานกลาง” มาแล้วกว่า 40 ปี

สำหรับประเทศไทยเองในอดีต เราเคยเป็นประเทศที่มีรายได้ต่ำมาก่อน ก่อนที่ภายหลังจะถูกขนานนามว่าเป็นเสือตัวที่ 5 แห่งเอเชีย ต่อจากประเทศสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน เนื่องจากช่วงปี 1960 ไทยมีนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยใช้ความได้เปรียบของไทยในด้านภูมิศาสตร์และค่าแรงราคาถูก 

ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบนี้ทำให้มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยและช่วยให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาอย่างมากและต่อเนื่อง จนระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือ GDP Growth เคยสูงสุดถึง 12-13% (เทียบกับปัจจุบันประมาณ 2-3%) และถูกจัดกลุ่มให้อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1980 ก่อนจะค่อย ๆ พัฒนาจนยกระดับเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2010 จนถึงปัจจุบัน

แต่ด้วยการสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ บทบาทของเทคโนโลยีโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เศรษฐกิจไทยเริ่มเติบโตช้าลงตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินโลกปี 2010 เป็นต้นมา และไม่มีวี่แววว่าจะสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ จึงทำให้ไทยถูก เรียกว่า “ประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง” (Middle Income Trap) ที่นักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank ได้คิดค้นขึ้นครั้งแรกในปี 2007 เพื่อนำมาอธิบายปรากฎการณ์ที่ประเทศเคยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถพัฒนาต่อจนยกระดับตนเองไปสู่ประเทศรายได้สูงได้ นับจนถึงวันนี้ถึงตรงนี้ประเทศไทยติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางมาแล้วกว่า 40 ปี 

4 เสือแห่งเอเซียกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูง

เมื่อเราเอาไทยมาเปรียบเทียบกับ 4 เสือแห่งเอเชียที่เคยมีระดับทางเศรษฐกิจไม่ต่างจากไทยในช่วงเริ่มต้นทศวรรษ 1960 ที่มีรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศอยู่ที่ประมาณ 110-500 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปท่ามกลางเศรษฐกิจไทยที่โตช้าลงเรื่อยๆ แต่ 4 เสือไม่ใช่เพียงประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศศูนย์กลางในแต่ละด้านที่โดดเด่นที่สุดของโลก โดยรายได้ของคนในประเทศของ 4 เสือในปัจจุบันเทียบกับเมื่อช่วง 1960 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 100-200 เท่า ส่วนไทยเพียงแค่ 60 เท่าเท่านั้น

รายได้ของคนในประเทศของทั้ง 4 เสือแห่งเอเชียที่เพิ่มสูงขึ้นหลายร้อยเท่า เนื่องจากมีรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกัน โดยใช้ญี่ปุ่นเป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังแทบทุกด้าน 

ทั้งการผลักดันให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้คิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นของตนเอง ส่งเสริมและช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็กให้ดำเนินกิจการอยู่รอดภายใต้การแข่งขันของโลกทุกยุคสมัย พัฒนาคุณภาพการศึกษาและแรงงานในประเทศให้ทันต่อกระแสโลก และมุ่งเป้าให้มีความเชี่ยวชาญในหลายด้าน เช่น การเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ศูนย์กลางการขนส่งและกระจายสินค้าทั่วโลก เป็นต้น จนทุกวันนี้ทั้ง 4 เสือมีเทคโนโลยี นวัตกรรม และแบรนด์เป็นของตนเอง รวมทั้งคุณภาพของคนก็ติดระดับโลก

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ไทยยังไม่หลุดจาก “กับดักรายได้ปานกลาง”

หากเปรียบเทียบไทยกับทั้ง 4 เสือแห่งเอเชียแล้ว ก็จะพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไทยติดกับดักรายได้ปานกลางและไม่สามารถย้ายไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงสักที นั่นคือ

1. ไทยเป็นแต่ผู้รับผลิตมาโดยตลอด

ที่ผ่านมาไทยเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสินค้ามาโดยตลอด ทำให้ขาดการพัฒนาเทคโนโลยีและคิดค้นนวัตกรรมใช้เป็นของตนเอง ทั้งที่ในอดีตมีนักลงทุนและบริษัทต่างชาติเข้ามาในประเทศจำนวนมาก แต่ด้วยการทักษะและแรงจูงใจในการเรียนรู้และประยุกต์ใช้เทคโนโลยี จึงทำให้เมื่อเวลาผ่านไปสินค้าไทยกลายเป็นสินค้าที่โลกไม่ต้องการ สินค้าที่โลกต้องการกลับไม่สามารถผลิตได้ 

2. คุณภาพการศึกษาที่ล้าหลัง

คุณภาพการศึกษาที่ล้าหลังและขาดการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับทักษะโลก จนกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก เห็นได้จากการเข้าศึกษาระหว่างคนรวยคนจน คนเมืองและคนชนบท 

3. ไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยเยอะ

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียแต่รายได้ของประเทศยังไม่สูง นั่นหมายความว่า ไทยเป็นประเทศที่แก่แล้วแต่ยังไม่รวย ต่างจาก 4 เสือแห่งเอเชียที่รวยก่อนแก่ หรือเรื่องการพัฒนาเมืองทำให้เป็นเมืองเดินได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตดังที่หลายคนเคยเดินทางไปท่องเที่ยวใน 4 ประเทศนี้ก็จะพบความแตกต่างเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของความเป็นเมืองที่แตกต่างกับไทยอย่างสิ้นเชิง

และด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้จึงทำให้ไทยไม่สามารถยกระดับเศรษฐกิจของตัวเองได้ และปัจจุบันถูกเปลี่ยนชื่อจาก (ว่าที่) เสือตัวที่ 5 แห่งเอเชียเป็นลูกเสือของเอเชียไปซะแล้ว (Tiger Cub Economies)

สุดท้าย แม้ว่าการจัดกลุ่มรายได้ของประเทศด้วยตัวชี้วัดอย่าง GNI Per Capital หรือรายได้เฉลี่ยของคนในประเทศ  อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุด เพราะประเทศใดจะรวยหรือจนก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย บางประเทศมี GNI Per Capital ต่ำ แต่คนในประเทศกลับมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้เพียงพอกับค่าครองชีพ ดังนั้น หากประเทศไทยให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมรอบด้านที่น่าอยู่ เศรษฐกิจไทยก็อาจจะก้าวข้ามไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้สูงในอนาคตได้เช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย