รู้จัก 3 มหาเศรษฐี “ผู้ผูกขาดแห่งสหรัฐอเมริกา” Rockefeller, Carnegie และ JP Morgan

รู้จัก 3 มหาเศรษฐี “ผู้ผูกขาดแห่งสหรัฐอเมริกา” Rockefeller, Carnegie และ JP Morgan

6 min read  

ฉบับย่อ

  • John D. Rockefeller, J.P. Morgan และ Andrew Carnegie มหาเศรษฐีทั้ง 3 รายนี้ เคยโลดแล่นอยู่ในยุคเดียวกันเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เพื่อช่วงชิงความมั่งคั่งจากการเป็น “ผู้ผูกขาดแห่งสหรัฐอเมริกา” ในธุรกิจซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในยุคนั้น
  • หลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 สหรัฐฯ ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยแนวคิดทางธุรกิจที่เกิดจากนวัตกรรมในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน การขนส่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกภายในช่วงเวลาไม่ถึง 50 ปี
  • แม้การผูกขาดจะส่งผลกระทบต่อชาวสหรัฐฯ จำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง John D. Rockefeller, Andrew Carnegie และ J.P Morgan ต่างเป็นผู้บุกเบิกความยิ่งใหญ่ให้กับสหรัฐฯ ทุกวันนี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ก่อนที่อเมริกาจะเป็นประเทศที่ภาคธุรกิจแข่งขันสูงอย่างทุกวันนี้ ในยุคสมัยหนึ่งดินแดนแห่งนี้ คือโอกาสของ “ผู้ผูกขาดแห่งสหรัฐอเมริกา” อย่างแท้จริง วันนี้พี่ทุยจะพามาดูแนวทางที่ใช้ในการทำธุรกิจกว่าที่จะมาเป็น 3 ผู้ผูกขาดแห่งยุคของสหรัฐอเมริกาในตอนนั้น

Rockefeller, Carnegie และ JP Morgan มหาเศรษฐี 3 คนนี้ เคยอยู่ในยุคเดียวกันเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว

หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ John D. Rockefeller รู้จักกับชื่อ J.P. Morgan และคุ้นหูกับชื่อ Andrew Carnegie แต่รู้หรือไม่ว่า มหาเศรษฐีทั้ง 3 รายนี้ เคยโลดแล่นอยู่ในยุคเดียวกันเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว เพื่อช่วงชิงความมั่งคั่งจากการผูกขาดในธุรกิจซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในยุคนั้น

หลังจากที่ Rockefeller สร้าง Standard Oil ให้ขึ้นมายิ่งใหญ่ เขายังต้องการที่จะเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดในสหรัฐอเมริกา ซึ่งวิธีที่เขาใช้ในขณะนั้นก็คือการไล่ซื้อกิจการของคู่แข่งเข้ามาเพื่อกำจัดทิ้ง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ใช้ครั้งแรก ๆ ในประวัติศาสตร์เพื่อผูกขาดธุรกิจ แต่การไล่ซื้อกิจการอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอที่จะทำให้ Rockefeller ผูกขาดได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะเดิมทีเขายังจำเป็นต้องพึ่งพาการขนส่งน้ำมันทางรถไฟจากสองผู้ให้บริการเดินรถไฟที่ใหญ่สุดของประเทศอย่าง Vanderbilt และ Scott ที่หันมาร่วมมือกันยกเลิกสัญญาขนส่งน้ำมันให้กับ Rockefeller

นั่นจึงเป็นที่มาให้ Rockefeller ตัดสินใจลงทุนมหาศาลเพื่อสร้างท่อส่งน้ำมันกระจายไปทั่วประเทศกว่า 4,000 ไมล์ ทำให้ Standard Oil ยึดครองส่วนแบ่งการตลาดได้ถึง 98% ของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐอเมริกา และยังเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกในเวลานั้น ขณะเดียวกันก็ทำให้กิจการรถไฟหลายแห่งของสหรัฐอเมริกาในยุคนั้นต้องล้มละลายอีกด้วย สุดท้ายแล้ว Scott พยายามจะเข้ามาแข่งขันในธุรกิจโรงกลั่นกับ Rockefeller แต่ก็ต้องพ่ายแพ้และจากโลกนี้ไปด้วยความผิดหวัง

การจากไปของ Scott ทำให้ผู้ช่วยของเขาในเวลานั้นอย่าง Andrew Carnegie เสียใจอย่างมาก เพราะ Scott คือผู้ที่ปลุกปั้นเขาขึ้นมาจากพนักงานธรรมดาในบริษัทรถไฟเมื่ออายุ 12 ปี จนขึ้นมาเป็นผู้จัดการบริษัทในวัย 24 ปี แม้จะเติบโตมากับ Scott แต่ Carnegie สามารถสร้างธุรกิจผลิตเหล็กกล้าขึ้นมาได้ด้วยการสนับสนุนจาก Scott เมื่อยังมีชีวิตอยู่ จนสามารถสร้างโรงผลิตเหล็กกล้าแห่งแรกขึ้นมาได้ในเมืองพิตต์สเบิร์ก มีกำลังการผลิตถึง 225 ตันต่อวัน เดิมทีลูกค้าหลักของ Carnegie คือบริษัทรถไฟที่ใช้เหล็กในการขยายเส้นทาง แต่เมื่ออุตสาหกรรมรถไฟหยุดชะงัก Carnegie ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย

Carnegie เริ่มเห็นโอกาสครั้งใหม่เมื่อชาวอเมริกาหลายหมื่นคนกำลังหลั่งไหลเข้าสู่เมืองใหญ่เพื่อหางานทำ อาคารขนาดใหญ่หลายแห่งถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเหล่านี้ ทำให้เหล็กกล้าของ Carnegie กลับมาเป็นที่ต้องการอย่างมาก แม้ Carnegie จะร่ำรวยขึ้นมหาศาลจากการเพิ่มขึ้นของอาคารขนาดใหญ่นับแสนทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา แต่หากเทียบทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว เขายังมีน้อยกว่า Rockefeller ถึง 7 เท่า สุดท้าย Carnegie ตัดสินใจดึงหนึ่งในผู้ขายถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐอเมริกาอย่าง Henry Frick เข้ามาร่วมบริหารงาน จนธุรกิจของ Carnegie เติบโตขึ้นกว่า 2 เท่า ภายใน 2 ปี

แต่การตัดสินใจดึง Frick เข้ามาร่วมด้วยในครั้งนี้ กลับทำให้เกิดโศกนาฏกรรมขึ้นถึงสองครั้ง คือ กรณีเขื่อนเหนือเมือง Johntown พังลงมาจนเกิดความเสียหายทั้งเมือง เนื่องจากการรุกล้ำพื้นที่เขื่อนของ Frick รวมถึงการว่าจ้างทหารรับจ้างมาช่วยควบคุมการประท้วงของคนงานโรงเหล็ก จนเกิดการต่อสู้และมีผู้เสียชีวิตขึ้นในที่สุด ในขณะที่ Carnegie กำลังพยายามไล่ตาม Rockefeller อย่างไม่ลดละ J.P Morgan ก็ร่ำรวยขึ้นมาจากการไล่ซื้อกิจการที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถไฟ และนำมาเปลี่ยนการบริหารงานใหม่ พร้อมกับกำจัดคู่แข่งออกไปด้วยพร้อม ๆ กัน โดยการเข้าซื้อกิจการที่กำลังแข่งขันกันอยู่นั้นทั้งหมด ทำให้ Morgan กลายมาเป็นหนึ่งใน“ผู้ผูกขาดแห่งสหรัฐอเมริกา” กับกิจการรถไฟของประเทศ

สิ่งที่ทำให้ Rockefeller และ Carnegie หันมาสนใจ J.P Morgan คือการถือกำเนิดของธุรกิจไฟฟ้า หลังจาก Thomas Edison คิดค้นหลอดไฟขึ้นมาได้สำเร็จ ทำให้ J.P Morgan ตัดสินใจเข้าลงทุนกับ Edison พร้อมใช้บ้านตัวเองทดลองติดหลอดไฟเหล่านั้น และพัฒนาขึ้นมาเป็นโรงปั่นไฟขนาดใหญ่ รวมถึงการรวมเอาเทคโนโลยีไฟฟ้ากระแสสลับของ Nikola Tesla เข้ามาด้วย ก่อนที่ J.P Morgan จะขึ้นมาเป็นเจ้าของบริษัท Edison Electric อย่างเต็มตัว และเปลี่ยนชื่อเป็น General Electric หรือ GE ที่อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากร่ำรวยขึ้นมาอย่างมาก J.P Morgan ได้พัฒนาวิธีการทำธุรกิจของเขาจากการสร้างกลยุทธ์ทางการเงิน จนเป็นที่รู้จักในชื่อว่า Morganization ซึ่งก็คือการเข้าครอบครองบริษัทที่แข่งขันกันอยู่ และทำการควบรวมให้เหลือบริษัทเดียว เพื่อผลกำไรที่สูงสุดจากการผูกขาด ท้ายที่สุด ทั้ง Rockefeller, Carnegie และ Morgan ต่างใช้แนวทางนี้ในการดำเนินธุรกิจ จนทำให้ทั้งสามคนกลายมาเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ในยุคนั้น และว่ากันว่ามีทรัพย์สินรวมกันถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับค่าเงินปัจจุบัน

แต่! งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา เมื่อ Theodore Roosevelt ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ พร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากแนวคิดของ Henry Ford ทำให้ 3“ผู้ผูกขาดแห่งสหรัฐอเมริกา” ต้องหันมาร่วมมือกันเพื่อรักษาอาณาจักรของตนเองไว้

สหรัฐอเมริกาในยุคหลังศตวรรษที่ 19

หลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 สหรัฐฯ ยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ด้วยแนวคิดทางธุรกิจที่เกิดจากนวัตกรรมในยุคนั้น ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำมัน การขนส่ง สิ่งเหล่านี้ทำให้สหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกภายในช่วงเวลาไม่ถึง 50 ปี แต่อย่างที่ทราบกันไปแล้วว่าธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ตกอยู่ในการควบคุมของกลุ่มคนเพียงหยิบมือ โดยเฉพาะสามมหาเศรษฐีผู้ผูกขาดอย่าง John D. Rockefeller, Andrew Carnegie และ J.P Morgan ทั้งสามคนขับเคี่ยวแข่งขันกันทางธุรกิจอย่างเข้มข้น ชนิดที่ไม่คิดจะยอมให้กันแม้แต่น้อย ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งคือ ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนของชาวอเมริกันที่ถูกถ่างออกไปเรื่อย ๆ ขณะที่รัฐบาลในยุคก่อนหน้านั้นก็ต่างเพิกเฉยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ในปี 1896 นักการเมืองหนุ่ม William Jennings Bryan พยายามลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจผูกขาดเหล่านี้ ด้วยการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยชูนโยบายหลักคือความเท่าเทียม และเป็นกระบอกเสียงให้กับคนจน แต่ท้ายที่สุดเขาก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับ William McKinley ซึ่งเป็นตัวแทนให้กับฝ่ายคนรวยในประเทศ ซึ่งมันยิ่งช่วยให้อำนาจผูกขาดของ Rockefeller – Carnegie – J.P Morgan เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม และพยายามรุกเข้าไปยังธุรกิจของคู่แข่งมากขึ้น

อย่าง Rockefeller ที่เดิมทีมุ่งธุรกิจน้ำมัน ก็เริ่มขยายธุรกิจเหล็ก ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ Carnegie จนท้ายที่สุด J.P Morgan ได้เล็งเห็นถึงโอกาสของการทำดีลที่จะควบรวมธุรกิจเหล็กของ Carnegie และ Rockefeller เข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นหนึ่งในธุรกิจเหล็กที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นบริษัทแรกของโลกที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นั่นก็คือ ‘U.S. Steel’

ในปี 1901 หลังจาก William McKinley ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเนื่องเป็นวาระที่สอง เขาได้เดินทางไปกล่าวสุนทรพจน์ ณ เมืองบัฟฟาโล และนำมาซึ่งการลอบสังหาร McKinley โดยอดีตคนงานโรงงานซึ่งเคยทำงานอยู่ในบริษัทในเครือของ U.S. Steel โดยการลอบสังหารในครั้งนั้นส่งผลกระทบอย่างมากต่ออำนาจผูกขาดในสหรัฐฯ เพราะคนที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทนที่ McKinley คือชายผู้มีนามว่า ‘Theodore Roosevelt’

หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 26 ของสหรัฐฯ Roosevelt ส่งสัญญาณไปยังเหล่าผู้ผูกขาดทันทีว่า ยุคสมัยของการผูกขาด จบลงแล้ว! Roosevelt เดินหน้าฟ้องร้องบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ต่อศาลรัฐบาลกลาง ในกรณีของการผูกขาดธุรกิจ ซึ่งธุรกิจเดินรถไฟของ J.P Morgan เป็นบริษัทขนาดใหญ่รายแรกที่ต้องพังทลายลงไป Roosevelt ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม และดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อเนื่องสมัยที่สองแบบไม่ยากเย็นนัก หลายธุรกิจผูกขาดถูก Roosevelt เล่นงานไม่หยุดหย่อน เหลือแต่เพียง Standard Oil ของ Rockefeller ที่ยังคงอยู่ต่อไปได้อีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่ Henry Ford พัฒนาแนวคิดการผลิตระบบสายพาน จนสามารถสร้างรถยนต์ส่วนบุคคลให้มีราคาถูกลงมาได้สำเร็จ แต่ปัญหาคือ Ford จะไม่สามารถขายรถยนต์ของเขาได้ เพราะติดปัญหาเรื่องสิทธิบัตรการผลิตรถยนต์ของสหรัฐฯ คือ A.L.A.M ซึ่งจะอนุญาตให้บริษัทที่ได้รับอนุญาตภายใต้สิทธิบัตรนี้เท่านั้นที่สามารถผลิตรถยนต์ออกจำหน่ายได้ หรือก็คือการผูกขาดอย่างหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ

ท้ายที่สุดประเด็นของการผูกขาดทั้งในส่วนของ Standard Oil และ A.L.A.M ต่างต้องเข้าสู่ชั้นศาลเพื่อหาข้อยุติ สำหรับ Standard Oil แล้ว ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ผูกขาดธุรกิจมากที่สุดบริษัทหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ด้วยการพยายามใช้ข้อมูลวงในเพื่อกำหนดราคาน้ำมัน พยายามกำจัดคู่แข่งจากการไล่ซื้อกิจการ Rockefeller ได้พยายามโต้แย้งว่า เขาเข้ามาช่วยสร้างงานให้กับชาวอเมริกัน และช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาทำมันเป็นเพียงแค่การลงทุน แม้คนอื่นจะเรียกว่าการผูกขาด จากพยานกว่า 400 คน และสำนวนคดีนับหมื่นหน้า

ในที่สุด Standard Oil ถูกตัดสินว่าละเมิดกฎหมายต่อต้านการผูกขาดของสหรัฐฯ ทำให้บริษัทต้องถูกแบ่งย่อยออกมาเป็น 34 บริษัทหลังจากนั้น ผลของคดี Standard Oil กลายเป็นมาตรฐานให้กับคดีผูกขาดอื่น ๆ ซึ่งก็รวมถึงปัญหาระหว่าง Henry Ford และ A.L.A.M. ในขณะนั้นด้วย สุดท้ายผลการตัดสินระบุให้ Ford สามารถผลิตรถยนต์ออกมาแข่งขันได้สำเร็จ และนับเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สำคัญครั้งหนึ่งของโลก

‘ระบบสายพาน’ ของ Ford ทำให้เขาผลิตรถยนต์ได้มากกว่าโรงงานอื่น ๆ ถึง 8 เท่า ด้วยเวลาที่เท่ากัน และช่วยให้ Ford สามารถกำหนดเวลามาตรฐานการทำงานขึ้นมาได้ที่ 8 ชั่วโมงต่อวัน และ 5 วันต่อสัปดาห์ แม้การผูกขาดจะส่งผลกระทบต่อชาวสหรัฐฯ จำนวนมาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าทั้ง John D. Rockefeller, Andrew Carnegie และ J.P Morgan ต่างเป็นผู้บุกเบิกความยิ่งใหญ่ให้กับสหรัฐฯ ทุกวันนี้

แม้ผู้ผูกขาดในยุคก่อนจะพ่ายแพ้ในชั้นศาล แต่ธุรกิจที่แตกย่อยออกมาหลายต่อหลายแห่งก็ยังคงเติบโตขึ้นมาเป็นบริษัทชั้นนำของโลกจนถึงทุกวันนี้ เราได้เห็นบริษัทอย่าง Exxon Mobil, Chevron รวมถึง BP ที่ยังเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมพลังงานของโลก J.P Morgan ในฐานะ Investment Bank ที่ใหญ่ที่สุดของโลก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย