เข้าสู่ช่วงปลายปีกันแล้ว เชื่อว่ามนุษย์เงินเดือนทุกคนเริ่มมองหาเครื่องมือลดหย่อนภาษีกันแล้ว กองทุน RMF และ SSF ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกยอดฮิต แต่ก็มีปัญหาว่าเลือกกองทุนได้ไม่ค่อยน่าพอใจเลย ปีนี้พี่ทุยเลยขอแชร์ เทคนิคเลือก RMF SSF ให้ทุกคนได้ทั้งลดหย่อนภาษีและลงทุนไปด้วยอย่างสบายใจ ถ้าพร้อมแล้วไปดูเทคนิคทีละขั้นตอนกันเลย
ทำความรู้จักกองทุน RMF และ SSF
พี่ทุยขอบอกว่า กองทุน RMF และ SSF แม้จะเป็นกองทุนที่มีเพื่อลดหย่อนภาษีเหมือนกัน แต่เงื่อนไขแตกต่างกันอย่างชัดเจน ซึ่งมีความแตกต่างที่น่าสนใจ ดังนี้
- กองทุน RMF ต้องถือขั้นต่ำ 5 ปี และขายออกได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และกองทุน SSF ต้องถือไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ
- กองทุน RMF ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี หรืออย่างน้อยปีเว้นปี กองทุน SSF ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
- และกองทุน RMF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อรวมประกันบำนาญและกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น
- กองทุน SSF ซื้อได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมประกันบำนาญและกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น
ทั้งกองทุน RMF และ SSF มีให้เลือกลงทุนได้ทุกหลักทรัพย์ ลงทุนได้ตลอดทั้งปี และไม่มีเงินลงทุนขั้นต่ำ
เทคนิคเลือก RMF SSF ให้ได้ทั้งลดภาษีและลงทุนอย่างสบายใจ
คงเป็นไปไม่ได้เลยที่ใครจะเลือกกองทุนได้ดีที่สุดทุกครั้ง เพราะทั้งปัจจัยที่ส่งผลต่อกองทุน ความเสี่ยงที่รับได้ ผลตอบแทนที่ต้องการ แต่ละคนก็ยังแตกต่างกัน แต่เทคนิคจะช่วยให้เลือกกองทุนที่เหมาะสมกับตัวเอง ถือลงทุนระยะยาวอย่างสบายใจ ไม่เจอกับอาการ “รู้งี้” แล้วมาเสียดายทีหลัง
เลือกเป้าหมายให้เหมาะกับความเสี่ยงที่รับได้
แน่นอนว่ากองทุน RMF และ SSF ต่างมีหน้าที่หลักไว้ลดหย่อนภาษี แต่ผู้ที่ซื้อก็ต้องคิดเพิ่มว่ามีเป้าหมายอื่นอีกหรือไม่ แล้วสำคัญมากแค่ไหน
เช่น ต้องการแค่ลดหย่อนภาษี ผลตอบแทนได้เล็กน้อยก็พอ เน้นรักษาเงินลงทุน แปลว่ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรเลือกกองทุนลดหย่อนที่ลงทุนในตราสารหนี้โดยเฉพาะเงินฝาก พันธบัตร และหุ้นกู้คุณภาพดี (Investment Grade)
ถ้าอยากได้การลดหย่อนภาษี มีผลตอบแทนเรื่อย ๆ ไม่หวือหวา ก็อยู่ในกลุ่มรับความเสี่ยงได้ปานกลาง ควรเลือกกองทุนผสม มีให้เลือกทั้งลงทุนในประเทศและต่างประเทศ
แต่ถ้าไหน ๆ ก็ได้ลดหย่อนภาษีแล้ว อยากได้ผลตอบแทนเด่น ๆ ด้วย รับความเสี่ยงได้สูง ก็ต้องเลือกกองทุนหุ้น มีให้เลือกทั้งลงทุนในประเทศและต่างประเทศ แถมยังมีที่ไปลงทุนเฉพาะเจาะจงอุตสาหกรรมอีกด้วย เช่น เทคโนโลยี, Healthcare
เทคนิคเลือก RMF SSF เน้นมุมมองการลงทุนระยะยาว
กองทุน RMF ต้องถือไปจนถึงเกือบเกษียณ ส่วนกองทุน SSF ถือขั้นต่ำ 5 ปี แสดงว่าถ้าจะตัดสินใจซื้อกองทุนก็ต้องเลือกด้วยมุมมองลงทุนระยะยาวเป็นหลัก
เทคนิคข้อนี้เหมาะกับกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้สูง เพราะผลตอบแทนของหุ้นแต่ละกลุ่มจะมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน เช่น ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมา กองทุนหุ้นเทคโนโลยีหรือกลุ่ม Growth ให้ผลตอบแทนดีกว่าหุ้นกลุ่ม Old Economy เช่น การเงิน, พลังงาน, สินค้าอุปโภคบริโภค
แสดงว่าถ้ารับความเสี่ยงได้สูง แล้วกำลังมองหากองทุน RMF และ SSF ที่ลงทุนในหุ้น ก็อาจลองดูกลุ่มที่เป็น Megatrends หรือประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตสูง
ดูผลตอบแทนและความผันผวนย้อนหลัง
การดูผลตอบแทนย้อนหลังไม่ใช่การการันตีอนาคต แต่อย่างน้อยก็ช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้เจอกองทุนเหมาะกับตัวเองมากขึ้น
การใช้ผลตอบแทนย้อนหลังต้องเปรียบเทียบระหว่างกองทุนประเภทเดียวกัน ห้ามเปรียบเทียบข้ามสินทรัพย์ เช่น กองทุนหุ้นเทคโนโลยีเทียบกับกองทุนหุ้นการเงิน โดยเปรียบเทียบแต่ละช่วงเวลา 3 เดือน, 6 เดือน, 1 ปี, 3 ปี และ 5 ปี ยึดหลักว่ากองทุนอาจไม่ต้องเป็นอันดับตลอดเวลา แต่เกาะอันดับต้น ๆ เวลาขึ้นก็ขึ้นมากกว่ากลุ่ม เวลาลงก็ลงน้อยกว่ากลุ่ม
นอกจากนี้แนะนำว่าควรดูความผันผวนหรือ SD ประกอบด้วย เน้นมองหากองทุนที่มีความผันผวนต่ำกว่ากลุ่มเดียวกัน โดยสามารถหาข้อมูลความผันผวนได้จากเวปไซต์เปรียบเทียบกองทุน
หรือจะให้ลึกกว่านั้นก็ใช้ค่า Sharpe ratio ที่เป็นการเอาผลตอบแทนเปรียบเทียบกับความผันผวนว่าคุ้มค่าหรือไม่ ยิ่งตัวเลขนี้ยิ่งมากกว่ากว่ากองทุนในกลุ่มเดียวกันยิ่งน่าสนใจ ซึ่งก็มีในเวปไซต์เปรียบเทียบกองทุน
ทำความรู้จักกองทุนที่เลือกให้ดี
แม้จะเลือกกองทุนที่น่าสนใจได้แล้วก็ตาม แต่ยังมีบางรายละเอียดของกองทุนที่อาจเอามาใช้ตัดสินใจเลือกได้ดียิ่งขึ้น
- เลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมต่ำ
นี่เป็นปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้ผลตอบแทนย้อนหลัง เพราะผลตอบแทนเป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่ค่าธรรมเนียมต้องเสียแน่นอน
ถ้าเกิดคัดกองทุนแล้วยังเหลือกองทุนที่มีผลตอบแทนและความผันผวนดีใกล้เคียงกัน ก็ต้องเลือกกองทุนที่มีค่าธรรมเนียมน้อยกว่า เพราะจะมีผลต่อผลตอบแทนในระยะยาว
- ป้องกันความเสี่ยงค่าเงินหรือไม่?
ถ้าเป็นกองทุนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ ก็ต้องรับผลจากค่าเงินบาทด้วย ถ้าเงินบาทอ่อนค่าเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศก็เป็นผลดีต่อผลตอบแทนกองทุน ถ้าเงินบาทแข็งค่าเทียบกับเงินสกุลต่างประเทศจะเป็นผลเสียต่อผลตอบแทนกองทุน
ทิศทางค่าเงินเป็นสิ่งที่คาดเดายากมาก ดังนั้นถ้าไม่ต้องการเจอกับช่วงที่ค่าเงินอาจส่งผลเสียต่อกองทุน ก็ต้องเลือกกองทุนที่มีการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน
เทคนิคเลือก RMF SSF ให้เลือกที่เหมาะกับตัวเอง
หลายคนอาจมีปัญหาว่าแล้วจะซื้อกองทุนตอนไหนดี เรื่องนี้ก็สำคัญต่อเรื่องจิตใจเหมือนกัน เพราะทั้งที่อาจเลือกกองทุนที่ดีในระยะยาวได้แล้ว ถ้าซื้อแบบไม่สบายใจแล้วเจอจังหวะราคากองทุนปรับตัวลงต่อหลังจากนั้น ก็อาจไม่อยากซื้อกองทุนอีก
ดังนั้นอาจใช้เทคนิคง่าย ๆ ที่เหมาะกับความสบายใจของตัวเอง เช่น บางคนชอบลงทุนช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลง บางคนไม่ได้ตามข่าวก็เลือกเทคนิค DCA ทยอยซื้อทุกเดือน บางคนชอบดูกราฟก็ใช้ลงทุนด้วยสายเทคนิคอล
แต่ที่สำคัญที่สุด ควรหากองทุนลดหย่อนภาษีแต่เนิ่น ๆ อย่าเร่งซื้อตอนกำลังใกล้สิ้นปี อาจทำให้ไม่มีเวลาหากองทุนที่ดี และไม่ได้ใช้เทคนิคซื้อกองทุนที่เหมาะกับตัวเอง
พี่ทุยขอแนะนำว่าถ้าใครยังมีปัญหาสภาพคล่องแถมฐานภาษีต่ำ รายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ควรจ่ายภาษีดีกว่าเอาสภาพคล่องมาเก็บไว้นานในกองทุนลดหย่อนภาษี เช่นเดียวกับผู้ที่รับความเสี่ยงไม่ได้เลยอาจไปใช้ประกันชีวิตหรือประกันบำนาญเป็นเครื่องมือลดหย่อนภาษีแทน
สุดท้ายแม้จะเลือกกองทุนได้ดีขนาดไหน ก็อย่าลืมกระจายความเสี่ยงและติดตามพอร์ตการลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วย