“กองทุนรวมตราสารหนี้” ชื่อนี้ใคร ๆ ก็ต้องนึกถึงความปลอดภัยพร้อมผลตอบแทนที่ค่อนข้างคงที่ แต่เมื่อดู NAV (ราคา) ของ “กองทุนรวมตราสารหนี้” แล้วจะเห็นว่ามีบางวันหรือบางช่วงที่ราคาติดลบ เช่น ช่วงแรกที่ โควิด-19 ระบาดแล้วราคากองทุนรวมตราสารหนี้ปรับตัวลงกันหนักเลยทีเดียว
พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนกำลังสงสัยกันอยู่ว่าทำไม NAV (ราคา) ของกองทุนตราสารหนี้ถึงติดลบได้ วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปไขข้อข้องใจกัน
ทำไม “กองทุนรวมตราสารหนี้” ถึงติดลบ ?
ก่อนจะรู้สาเหตุก็ต้องรู้จักวิธีการคิด NAV ของกองทุนตราสารหนี้กันก่อน
ตราสารหนี้เป็นสินทรัพย์การเงินที่ถูกซื้อขายกันทุกวันทำการในตลาดได้เหมือนกับหุ้น เมื่อมีตลาดก็เลยทำให้ตราสารหนี้มีราคาตลาด ซึ่งก็คือราคาที่ซื้อขายกันจริง ๆ และทุกสิ้นวันทำการ กองทุนรวมจะประกาศมูลค่าทรัพย์สินสุทธิหรือ NAV ของกองทุน โดยคำนวณจากราคาตอนปิดตลาด (ราคาตลาดที่อัปเดตล่าสุดนั่นเอง) วิธีนี้เรียกว่า Mark to Market
ซึ่งราคาตลาดของตราสารหนี้ที่กองทุนเอามาใช้เพื่อ Mark to Market มักได้รับอิทธิพลจาก 2 ปัจจัยหลัก ๆ คือ
1.การปรับอัตราดอกเบี้ย
พี่ทุยขอสมมติให้ตราสารหนี้ของบริษัท A จ่ายอัตราผลตอบแทน 3% อยู่มาวันหนึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แล้วบริษัท A จะออกตราสารหนี้ใหม่ที่มีความเสี่ยงและอายุเท่ากัน ก็ต้องให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า เพื่อให้ตราสารหนี้ตัวใหม่ขายออก
ด้วยเหตุนี้นักลงทุนในตลาดตราสารหนี้เลือกลงทุนตราสารหนี้ที่จะออกใหม่ ส่วนตราสารหนี้เดิมจะได้รับความสนใจน้อยลง ราคาก็เลยปรับตัวลง ดังนั้นมูลค่าตราสารหนี้ที่กองทุนรวมถือครองอยู่เลยลดลง ทำให้ NAV ของกองทุนตราสารหนี้ลดลง
ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยลดอัตราดอกเบี้ย ผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ออกใหม่ก็ต้องลดลง นักลงทุนก็จะสนใจลงทุนตราสารหนี้เดิมมากกว่าตราสารหนี้ที่กำลังออกมาใหม่ ราคาตราสารหนี้เดิมจึงเพิ่มขึ้น ดังนั้น NAV ของกองทุนตราสารหนี้จึงเพิ่มขึ้น
2.สถานะการเงินของบริษัท และสภาพเศรษฐกิจ
ตราสารหนี้ก็คือตราสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ การซื้อขายคือการเปลี่ยนความเป็นเจ้าหนี้ สมมติว่าบริษัท A มีฐานะการเงินแย่ลง เช่น กำไรตกฮวบ มีหนี้เกินกว่าทุนมากเกินไป อาจผิดชำระหนี้ได้ ราคาของตราสารหนี้ที่บริษัท A ที่ออกไปก่อนหน้านี้ก็จะลดลง
ในทางกลับกันถ้าบริษัท A มีฐานะการเงินดีขึ้น ราคาของตราสารหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น NAV ของกองทุนก็จะขึ้นหรือลงตามสถานะการเงินของบริษัทที่กองทุนลงทุนในตราสารหนี้อยู่
ส่วนสภาพเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกับราคาตราสารหนี้ในลักษณะเดียวกับสถานะการเงินของบริษัท นั่นคือหากเศรษฐกิจของประเทศที่บริษัท A ทำธุรกิจอยู่เกิดซบเซา แน่นอนว่าราคาตราสารหนี้ของบริษัท A ต้องลดลง เช่นเดียวกับราคาตราสารหนี้ของอีกหลายบริษัทที่ทำธุรกิจในประเทศนั้นก็จะลดเหมือนกัน
ซึ่ง NAV ของกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้เหล่านี้ก็จะลดตามไปด้วย กลับกันถ้าเศรษฐกิจเติบโต ราคาตราสารหนี้ก็จะปรับตัวขึ้น ทำให้ NAV ของกองทุนเพิ่มขึ้น
อ่านแล้วอาจดูซับซ้อนไปหน่อย แต่วันนี้พี่ทุยมีคำแนะนำมาฝากสำหรับใครที่กำลังคิดจะลงทุนกองทุนตราสารหนี้แล้วอยากให้ NAV มีโอกาสติดลบให้น้อยที่สุด
วิธีซื้อ “กองทุนรวมตราสารหนี้” ให้ติดลบน้อยที่สุด
- ไม่เลือกกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งอยู่ในประเทศที่กำลังมีปัญหาเศรษฐกิจ (สภาพเศรษฐกิจ)
- เลือกกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในตราสารหนี้อันดับความน่าเชื่อถือสูงหรือเกรดลงทุน (Investment grade) หลีกเลี่ยงตราสารหนี้เกรดเก็งกำไร (High yield) (สถานะการเงินของบริษัท)
- ช่วงไหนที่ดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น พี่ทุยจะเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น ส่วนช่วงดอกเบี้ยขาลงก็จะเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว (การปรับอัตราดอกเบี้ย)
- แต่ถ้าถึงขั้นเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ วิกฤตโควิด-19 พี่ทุยก็จะเลือกกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล เพราะพันธบัตรรัฐบาลมีความน่าเชื่อถือและสภาพคล่องสูงที่สุด ราคาจึงได้รับผลกระทบน้อยที่สุด (สถานะการเงินของบริษัท และสภาพเศรษฐกิจ)
จะเห็นว่าคำแนะนำทั้งหมดที่พี่ทุยเอามาฝากกันมีจุดประสงค์เพื่อลดความเสี่ยง และอย่างที่พี่ทุยบอกไปว่ากองทุนคำนวณ NAV โดยใช้ราคาตลาด แม้จะเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้ตามคำแนะนำไปแล้ว ก็อาจมีบางวันที่ตลาดมีความกังวลต่อปัจจัยระยะสั้นจนทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลงก็เป็นไปได้
แต่… พี่ทุยเชื่อว่าถ้าใช้แนะนำไปเลือกองทุนตราสารหนี้แล้ว ก็จะช่วยลดโอกาสที่จะเจอกับ NAV ติดลบไปได้มากเลยทีเดียว
รับชมวิดีโอ สินทรัพย์การเงิน มีอะไรบ้าง ? ได้ที่นี่
Comment