ส่องประวัติ Brian Chesky เจ้าของ Airbnb กับการพาธุรกิจฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

ส่องประวัติ Brian Chesky เจ้าของ Airbnb กับการพาธุรกิจฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ

5 min read  

ฉบับย่อ

  • Brian Chesky เป็นคนที่สนใจด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ นั่นจึงทำให้เขาเข้าเรียนต่อด้านศิลปะและการออกแบบ และได้พบกับ Joe Gebbia ผู้ที่จะกลายมาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Airbnb ในอนาคต 
  • Airbnb เกิดขึ้นมาจากตอนที่เขาจำเป็นต้องจ่ายค่าเช่าห้อง จึงทำให้เกิดไอเดียที่อยากจะแชร์ที่อยู่อาศัยของพวกเขาให้แขกได้เข้ามาพักอาศัยเพื่อสร้างรายได้สำหรับจ่ายค่าห้อง ซึ่งกว่าที่จะเป็น Airbnb ประสบความสำเร็จอย่างในทุกวันนี้ก็ต้องผ่านการถูกปฏิเสธจากนักลงทุนมากมาย
  • ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาได้เป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ถึงแม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างรุนแรง แต่ทาง Airbnb ก็สามารถออกแบบนโยบายและวิธีการที่จะรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ Brian เองก็ได้แสดงให้เห็นวิศัยทัศน์ที่กว้างไกลทั้งในช่วงระหว่างโควิดและหลังโควิดด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ไหนใครเป็นสายเที่ยวสายเดินทางบ้าง? ใครที่ไปเที่ยวบ่อย ๆ จะต้องรู้จัก Airbnb แน่นอน เพราะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่นักเดินทางหลายคนเลือกใช้บริการสำหรับการพักผ่อน แต่จะมีใครบ้างที่รู้ที่มาที่ไปของ Airbnb ว่ามันเกิดขึ้นมาจากอะไร วันนี้พี่ทุยจึงอยากพาทุกคนไปรู้จักกับ Airbnb ผ่าน Brian Chesky CEO ของ Airbnb และเป็นผู้ที่ริเริ่มแพลตฟอร์มนี้ขึ้นมา ว่ากว่าจะมาเป็น Airbnb นี้ต้องผ่านอะไรบ้าง! 

ชีวิตวัยเด็กของ Brian Chesky CEO ของ Airbnb

Brian Chesky หรือชื่อเต็ม Brian Joseph Chesky  เกิดเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 1981 ที่เมือง  Niskayuna ในรัฐ New York สหรัฐฯ เขาเป็นลูกคนโตของ Deborah และ Robert H. Chesky ทั้งคู่เป็นนักสังคมสงเคราะห์และทำงานช่วยเหลือสังคมในด้านต่าง ๆ  นอกจากนี้เขายังมีน้องสาวอีก 1 คนชื่อว่า Allison 

Brian มีความสนใจด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก ๆ เขามักจะวาดภาพเลียนแบบภาพศิลปะต่าง ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้เขายังใช้ช่วงเวลาในวัยเด็กของเขาในการออกแบบรองเท้าและของเล่นด้วย ด้วยความชื่นชอบในศิลปะและการออกแบบทำให้ในช่วงเวลาต่อมา  Brian เริ่มสนใจด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและภูมิทัศน์ 

ในช่วงเวลาต่อมา Brian ก็ได้พัฒนาความชื่นชอบของตัวเองต่อ โดยในปี 1999 เขาได้เข้าศึกษาที่  Rhode Island School of Design (RISD) ซึ่งที่นี่เองก็ทำให้เขาได้สานต่อความรักในการออกแบบและงานศิลปะด้วย ถัดมาในปี 2004 เขาได้สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม ซึ่งขณะที่เขาเรียนอยู่นั้น เขาก็ได้รู้จักกับ Joe Gebbia ซึ่งต่อมาก็จะเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Airbnb ด้วย 

กว่าจะมาเป็น Airbnb

หลังจากเรียนจบ Brian ได้เริ่มทำงานเป็นนักออกแบบอุตสาหกรรมและนักยุทธศาสตร์ที่ 3DID ที่ Los Angeles รัฐ California หลังจากทำงานได้ไม่นาน ในปี 2007 เขาก็ได้ย้ายไป San Francisco พร้อมกับ Joe Gebbia และพวกเขาทั้งคู่ก็ได้แชร์ห้องกันในอพาร์ตเมนต์ ระหว่างที่ทั้งคู่พักอาศัยอยู่ร่วมกันในห้องนั้น พวกเขาก็ได้เกิดไอเดียที่จะแชร์ห้องของพวกเขาให้คนอื่นได้เข้ามาพัก เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ต้องจ่ายค่าเช่าห้อง

ประจวบเหมาะกับระหว่างนั้นมีการประชุม Industrial Designers Society of America พอดี ซึ่งห้องพักของโรงแรมต่างก็เต็มและไม่มีที่เพียงพอสำหรับผู้ที่จะมาประชุม เขาจึงใช้ไอเดียของเขาในการสร้างรายได้จากปัญหาตรงนี้

พวกเขาจึงได้ซื้อที่นอนลมสำหรับแขกที่จะมาพักสำหรับ 3 ที่ และได้ให้บริการอาหารเช้ากับแขกที่มาพักด้วย เริ่มแรกพวกเขาเก็บค่าเข้าพักในราคา 80 ดอลลาร์ต่อคืน ต่อมาพวกเขาได้ตั้งชื่อไอเดียนี้ของพวกเขาว่า “Airbed and Breakfast”  และนี่เองก็ยังถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจ Airbnb อีกด้วย 

ในปี 2008 พวกเขาก็ได้ Nathan Blecharczyk อดีตนักเรียนและวิศวกรจาก Harvard  แถมยังเป็นอดีตรูมเมทของพวกเขาด้วย ได้มาช่วยก่อสร้างธุรกิจของพวกเขาให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

หลังจากที่ธุรกิจของเขาได้เริ่มต้นขึ้น พวกเขาก็ได้แบ่งหน้าที่กัน โดย Brian ได้กลายมาเป็นผู้นำและ CEO ของ Airbnb โดยหน้าที่หลักของเขาคือรวบรวมหรือหาเงินทุนเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจของพวกเขาที่พึ่งเริ่มต้นกันได้ไม่นาน 

ในช่วงนี้ธุรกิจของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด กระแสตอบรับแทบจะติดลบ ธุรกิจของพวกเขาไม่เป็นที่รู้จักเลย ต่อมาในงาน SXSW (South by Southwest Conference & Festivals) พวกเขาก็ได้พยายามเปิดตัวธุรกิจของพวกเขาอีกครั้ง อย่างไรก็ดีผลตอบรับก็ไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่ มีคนสนใจเพียงแค่คนเดียวเท่านั้น

ต่อมาในปีเดียวกันนี้เองพวกเขาก็ได้นำธุรกิจของพวกเขาไปนำเสนอกับนักลงทุนอีกครั้ง โดยพวกเขาได้ออกแบบให้การจองและเข้าใช้บริการง่ายมากขึ้นผ่านแพลตฟอร์มที่พวกเขาพัฒนา ถึงอย่างนั้นนักลงทุนต่างก็ไม่มั่นใจในธุรกิจของพวกเขาและปัดตกไปในที่สุด พวกเขาถูกปฏิเสธกว่า 8 ครั้ง ทว่าการลงทุนพัฒนาธุรกิจของพวกเขากลับสร้างหนี้สินจำนวนมากกับพวกเขาไปพร้อมกันด้วย

Brian Chesky ผุดไอเดียขายซีเรียล ต่อลมหายใจ Airbnb

หลังจากความล้มเหลวของพวกเขา ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องคิดหาวิธีที่จะหาเงินมาเพื่อใช้หนี้สินที่เพิ่มขึ้น พวกเขาจึงเกิดไอเดียที่จะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้แก่พวกเขา พวกเขาจึงได้ใช้ความรู้ด้านการออกแบบที่เรียนมา ออกแบบและจำหน่ายซีเรียลรุ่นพิเศษ ชื่อว่า Obama O’s และ Cap’n McCains ซึ่งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนั้น

โดยพวกเขาได้ส่งซีเรียลพวกนี้ไปให้บล็อกเกอร์และนักรีวิวมากมาย นั่นจึงทำให้ผลตอบรับซีเรียลของพวกเขานั้นถือว่าดีมาก ๆ มีผู้คนให้ความสนใจและจำหน่ายหมดในเวลาอันรวดเร็ว 

การทำกล่องซีเรียลรุ่นพิเศษนี้ทำให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาสามารถประสบความสำเร็จได้ ความสำเร็จตรงนี้ของพวกเขาจึงถูกใช้เป็นข้อพิสูจน์และข้อเสนอแนะต่อธุรกิจของพวกเขา โดยเขาได้ยกความสำเร็จดังกล่าวมานำเสนอนักลงทุนพร้อมกับ Airbnb โดยพวกเขาเชื่อว่า ถ้าหากเราทำให้คนซื้อซีเรียลของพวกเขาได้ ก็ย่อมสามารถทำให้คนเข้าใช้บริการ Airbnb ของพวกเขาด้วยเช่นกัน

ในที่สุดความพยายามของพวกเขาก็ไปเข้าตา Paul Graham นักลงทุนที่สนใจธุรกิจของพวกเขา จึงได้ชักชวนให้ทั้งสามคนเข้าร่วมกับ Y Combinator ซึ่งเป็นที่ที่เปิดโอกาสให้กับบริษัทสตาร์ทอัพได้นำเสนอไอเดียและมอบเงินลงทุนธุรกิจให้กับบริษัทเหล่านี้ 

ในปี 2009 มีที่พักเข้าร่วมลงทะเบียนกับ Airbnb กว่า 2,500 แห่ง ต่อมาในปี 2011 ยิ่งเป็นปีที่ประกาศให้เห็นถึงความสำเร็จของ Airbnb มากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากมีคนจองที่พักกับ Airbnb กว่า 1 ล้านครั้ง

นอกจากนี้ Airbnb ยังได้รับรางวัลจาก SXSW ทำให้ Airbnb ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจาก Silicon Valley นั่นจึงทำให้พวกเขาได้รับเงินลงทุนกว่า 112 ล้านเหรียญสหรัฐฯ Airbnb จึงมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว

ต่อมาในช่วงฟุตบอลโลกปี 2014 มีผู้จองที่พัก Airbnb มากกว่า 125,000 คน และในเดือน มี.ค. 2015 Airbnb ก็มีมูลค่าพุ่งสูงถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ในปี 2016 Airbnb ได้เข้าร่วมเป็นผู้สนับสนุนกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนในปี 2016 ที่เมืองริโอเดจาเนโร บราซิลด้วย

จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากว่าจะมาเป็น Airbnb ที่ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นกันนี้ ทั้งสามคนจะต้องต่อสู้เพื่อผ่านอุปสรรคมากมาย ถึงแม้ว่าธุรกิจของพวกเขาจะไม่ได้รับความสนใจในช่วงแรก แต่พวกเขาก็ไม่ได้ย่อท้อแต่อย่างใด และก็พร้อมที่จะเริ่มต้นใหม่เสมอ

อ่านเพิ่ม

Airbnb ในช่วงโควิด-19

อย่างที่ทราบกันดีตั้งแต่โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกก็ส่งผลให้เศรษฐกิจและหลายธุรกิจต้องชะลอตัวหรือหยุดชะงักไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจประเภทที่เกี่ยวกับการเดินทางและการท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเช่นกัน

Airbnb เองก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยตั้งแต่ พ.ค. 2020 ถึง มี.ค. 2021 เกือบทุกพื้นที่ที่เปิดให้บริการ Airbnb มีจำนวนผู้ให้เช่าลดลงอย่างน้อย 10% อย่างใน Jersey City รัฐ New Jersey รายชื่อ Airbnb ลดลงกว่า 61% เลยทีเดียว 

สืบเนื่องจากช่วงก่อนปัญหาโควิด-19 รัฐบาลและนิติบัญญัติบางรัฐกดดันเรื่องการปราบปรามพวกห้องเช่าระยะสั้นอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลที่ว่าบางที่เปลี่ยนให้อาคารทั้งหลังเป็นโรงแรม Airbnb ที่ผิดกฎหมาย

ภายหลังที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งทำให้มีข้ออ้างในการปราบปรามได้ง่ายขึ้น โดยใช้เหตุผลที่ว่าเพื่อการลดโอกาสในการติดเชื้อ นั่นยิ่งทำให้บางพื้นที่ ผู้ให้เช่าต้องสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ดีหากเทียบกับธุรกิจท่องเที่ยวอื่น ๆ Airbnb ถือได้ว่ามีกลยุทธ์ที่น่าสนใจและสามารถรับมือได้ค่อนข้างดีกว่าธุรกิจประเภทเดียวกันอื่น ๆ โดยวิธีการของ Airbnb คือ เริ่มเลิกจ้างพนักงาน 25%

อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์การเข้าพักบางอย่าง เพื่อให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ทั้งการจำกัดจำนวนคนเข้าพักในแต่ละสถานที่ไม่เกิน 16 คน และห้ามการจัดปาร์ตี้ในที่พัก ซึ่งต่อมาแม้โควิดจะบรรเทาลง แต่ Airbnb ก็ได้เรียนรู้ว่ามาตรการนี้ช่วยลดการรบกวนเพื่อนบ้านได้ ลดความเสียหายจากการคึกคะนองในปาร์ตี้ได้อีกด้วย จึงเปลี่ยนให้เป็นกฎถาวรของ Airbnb เลย

นอกจากนี้ยังมีการลดค่าใช้จ่ายด้านดุลยพินิจและการลงทุน การปรับเงินเดือนผู้บริหารให้ลดลง และการระงับการก่อสร้างอาคารทั้งหมด นี่จึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมากต่อ Airbnb โดยทางผู้บริหารจึงเลือกที่จะตัดค่าใช้จ่ายตั้งแรกและยอมที่จะเสียก่อน ทั้งนี้ก็เพื่อลดความสูญเสียที่จะได้รับในระยะยาวที่จะได้รับจากโควิด-19

โดยสิ่งหนึ่งที่ Brian เรียนรู้จากเหตุการณ์ครั้งนี้คือ เขามองว่าช่วงเวลาวิกฤต คือช่วงเวลาที่ต้องเร่งรีบ ในขณะที่คนอื่น ๆ ชะลอการตัดสินใจ แต่ในฐานะนักธุรกิจจะต้องตัดสินใจทุกอย่างอย่างเร็วที่สุด

แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องอิงตามหลักการด้วยเช่นกัน ในฐานะผู้นำเขาไม่สามารถที่จะนำทางทุกคนแบบไม่มีทฤษฎีหรือหลักการได้ ที่สำคัญไปกว่านั้นสิ่งที่ต้องแสดงออกมาอย่างแน่วแน่เลยคือความมั่นใจ ถ้าหากผู้นำแสดงความมั่นใจออกมาให้กับคนที่อยู่ข้างหลังเห็นแล้วก็ยิ่งทำให้ผู้ตามเชื่อมั่น ท้ายที่สุดเราก็จะสามารถผ่านวิกฤตต่าง ๆ ไปได้ในที่สุด 

หลังจากโควิด-19

ภายหลังที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น ผู้คนเริ่มกลับไปสู่สังคมออฟฟิศอีกครั้ง แต่ Brian กลับมองเห็นถึงปัญหาในจุดนี้ และเขาคิดว่าการทำงานออฟฟิศจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในช่วงหลังโควิด

เขาออกนโยบายที่สามารถให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้และจะไม่มีค่าปรับใด ๆ โดยเขามองว่าตลอดระยะเวลาในช่วงโควิดที่ผ่านมา การทำงานแบบ Work Form Home ไม่ได้ลดประสิทธิภาพของงานลงแต่อย่างใด

แถมยังช่วยเปิดโอกาสให้คนที่มีความสามารถแต่ไม่มีโอกาสได้เดินทางมาทำงานที่ออฟฟิศสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ยิ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของงานมากขึ้นด้วย เขามองว่านี่ถือได้ว่าเป็นการปรับตัวที่สำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา 

จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมานั้นยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า Brian ในฐานะผู้นำของ Airbnb สามารถรับมือกับวิกฤตได้ดี และออกแบบนโยบายหรือวิธีการดำเนินการทั้งในช่วงระยะเวลาระหว่างโควิด รวมถึงหลังโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ พี่ทุยเองก็คิดว่าถ้าหากบริษัทต่าง ๆ เรียนรู้วิธีการรับมือกับวิกฤตของ Airbnb และนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมกับแต่ละที่ ก็น่าจะช่วยให้เรารับมือกับวิกฤตได้ดีมากขึ้นแน่นอน!

อ้างอิง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย