เส้นทาง “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์” ทำไมถึงฟื้นตัวได้ไวจากวิกฤตโควิด-19

เส้นทาง “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์” ทำไมถึงฟื้นตัวได้ไวจากวิกฤตโควิด-19

4 min read  

ฉบับย่อ

  • สิงคโปร์เป็นเกาะที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีที่ตั้งตรงจุดทางผ่านของเส้นทางการค้าสมัยโบราณ และในศตวรรษที่ 17 มหาอำนาจตะวันตกอย่างอังกฤษเข้าควบคุมสิงคโปร์เพื่อใช้เป็นฐานการค้าและจุดแวะพักเรือที่เดินทางจากอินเดียไปจีน
  • ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จักรวรรดิญี่ปุ่นเข้ายึดสิงคโปร์ มีการสังหารหมู่คนเชื้อสายจีนในสิงคโปร์ไปกว่า 100,000 คน แต่พอหลังสงครามในปี 1945 อังกฤษก็เข้ามาควบคุมสิงคโปร์อีกครั้งและให้อิสรภาพอย่างสมบูรณ์ในปี 1963 โดยหลังจากนั้นสิงคโปร์ได้รวมกับมาเลเซีย ก่อนที่จะถูกกีดกันจนแยกตัวออกมาปกครองตัวเองในปี 1965 
  • ลี กวนยู และพรรค PAP ได้สร้างความมั่นคงทางการเมืองในสิงคโปร์ สร้างระบบการศึกษาที่มีการค้าเป็นตัวนำ ทลายปัญหาเรื่องเชื้อชาติ ใช้การลงทุนเป็นกุญแจสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศโดยมีเครื่องมือ คือ เทมาเสก โฮลดิงส์ และ GIC 
  • สิงคโปร์มีการปรับตัวในวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 โดยเปลี่ยนจากเน้นลงทุนเป็นการพยายามเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ อีกทั้งในปี 2020 ที่เศรษฐกิจถดถอยหนักที่สุดจากไวรัสโควิด-19  สิงคโปร์ใช้เวลาเพียง 1 ปี ก็สามารถพลิกเศรษฐกิจให้กลับมาเติบโตอีกครั้งได้ถึง 7.2% พร้อมกับ   มีแผนในการสร้างสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคในอนาคต

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความปั่นป่วนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งไวรัสโควิด-19 สงครามรัสเซียกับยูเครน หรืออัตราเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มขึ้น ทำให้หลาย ๆ ประเทศต้องมีการปรับตัวกันกันอย่างหนักหน่วง บางประเทศอาจต้องใช้เวลาปรับตัวนาน หรือบางประเทศอาจใช้เวลาเพียงแค่นิดเดียว อย่างเช่น สิงคโปร์ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์การปรับตัวอย่างโชกโชนมาตั้งแต่อดีต และในโอกาสนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังถึง “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์” ว่าประเทศเกาะเล็ก ๆ  ได้เจอเรื่องราวอุปสรรคอะไรที่ทำให้ต้องปรับตัว และใช้วิธีการแบบไหนให้สามารถผ่านพ้นจนพัฒนามาเป็นสิงคโปร์แบบทุกวันนี้ได้

ที่ตั้งของสิงคโปร์และเส้นทางการค้า

สิงคโปร์ที่แต่ก่อนรู้จักกันในชื่อ “เทมาเส็ก (Temasek)” เป็นเกาะที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ระหว่างมาเลเซียและเกาะสุมาตราของอินโดนีเซีย ซึ่งบริเวณนี้ให้คิดภาพตามว่าเป็นบริเวณที่แผ่นดินมาเลเซียกับเกาะสุมาตราขนานกันแล้วมีทะเลคั่นกลาง โดยเราจะเรียกตรงนี้ว่าช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นช่องแคบยอดฮิตที่มีเรือสินค้าผ่านไปผ่านมาอย่างคับคั่งในสมัยโบราณ แล้วเผอิญว่าสิงคโปร์ดันตั้งอยู่ปากทางของช่องแคบ ทำให้กลายเป็นเมืองท่าสำคัญในแถบนี้ที่มีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาตั้งรกรากพร้อมแสวงหาโอกาสทางการค้า

ปรับตัวครั้งที่หนึ่ง : การเข้ามาของมหาอำนาจจากตะวันตก

จุดเปลี่ยน “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์” เริ่มช่วงศตวรรษที่ 17 โลกได้เข้าสู่กระแสที่ยุโรปเริ่มสำรวจดินแดนโพ้นทะเล จนเดินทางมาถึงบริเวณหมู่เกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วก็พบกับขุมทรัพย์อันล้ำค่าที่เรียกว่าเครื่องเทศ โดยมหาอำนาจในช่วงนั้นอย่างฮอลันดาก็เข้ามาจับจองและผูกขาดการค้าเครื่องเทศ พร้อมควบคุมเส้นทางการค้าในแถบช่องแคบมะละกา จนมาในช่วงศตวรรษที่ 19 ก็มีมหาอำนาจรายใหม่อย่างอังกฤษเริ่มเบียดเข้ามาเป็นคู่แข่งฮอลันดาในการคุมช่องแคบมะละกา เพราะในช่วงนั้นอังกฤษเริ่มแทรกซึมเข้าสู่อินเดียและต้องการเปิดเส้นทางการค้าจากอินเดียไปจีนซึ่งจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอังกฤษมหาศาล ดังนั้น อังกฤษจึงจำเป็นต้องเข้าควบคุมช่องแคบมะละกาอันเป็นทางผ่านระหว่างอินเดียไปจีนให้ได้แบบเบ็ดเสร็จ โดยอังกฤษได้เล็งสิงคโปร์เป็นฐานที่มั่นแรก ซึ่งใช้วิธีเจรจากับเจ้าเมืองสิงคโปร์เพื่อแลกกับการที่อังกฤษสามารถเข้ามาตั้งฐานการค้าของตัวเองได้

แน่นอนว่าการขยายอิทธิพลของอังกฤษ ทำให้ฮอลันดาเริ่มไม่พอใจ แต่อีกด้านหนึ่งก็กลัวอังกฤษที่นับวันจะยิ่งมีอำนาจเพิ่มขึ้นทุกที ทำให้ฮอลันดาเรียกอังกฤษมาตกลงกันเพื่อแบ่งเขตอิทธิพลบริเวณช่องแคบมะละกา ซึ่งตกลงกันได้ว่า ทางใต้ของช่องแคบให้เป็นเขตฮอลันดา ส่วนทางเหนือของช่องแคบให้เป็นเขตอังกฤษ โดยผลจากสัญญานี้ทำให้อินโดนีเซียตกเป็นของฮอลันดา ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์ตกเป็นของอังกฤษในที่สุด จากที่ตั้งของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ปากทางของช่องแคบมะละกาแบบพอดิบพอดี อีกทั้งยังมีท่าเรือพร้อมแบบเสร็จสรรพ ทำให้อังกฤษตัดสินใจสร้างสิงคโปร์ให้กลายเป็นเมืองท่าเสรี ซึ่งปรากฏว่าดันประสบความสำเร็จมหาศาล การค้าเสรีกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดพ่อค้าทั้งจากจีน อินเดีย และอาหรับ เข้ามาทำการค้าจนสิงคโปร์กลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกในช่วงนั้น

แต่ด้วยการเข้ามาของคนมากหน้าหลายตา ทำให้วัฒนธรรมในสิงคโปร์มีความหลากหลายมาก อีกทั้งอังกฤษยังสนใจแต่มูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้จากสิงคโปร์ แต่ไม่ได้สนใจพัฒนาด้านสังคม ทำให้เกิดการประท้วงและจราจลต่อต้านการปกครองของอังกฤษอยู่หลายครั้ง แต่ก็โดนอังกฤษปราบอย่างรุนแรงแทบทุกครั้ง ซึ่งสิงคโปร์ก็อยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น

ปรับตัวครั้งที่สอง : การเข้ามาของจักรวรรดิญี่ปุ่น

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นได้บุกยึดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในแถบนี้ไปทำสงคราม โดยเฉพาะในแถบมาเลเซีย สิงคโปร์ ที่เป็นแหล่งผลิตยางและดีบุกอันดับต้นๆ ของโลก อีกทั้งยังเป็นฐานสำคัญของอังกฤษในภูมิภาคนี้ และในปี 1942 ญี่ปุ่นก็สามารถยึดครองสิงคโปร์และมาเลเซียได้ แต่การปกครองของญี่ปุ่นนั้นเรียกได้ว่าแย่และโหดกว่าอังกฤษหลายขุม โดยเฉพาะในสิงคโปร์ที่ทหารญี่ปุ่นได้สังหารหมู่คนเชื้อสายจีนไปกว่า 100,000 คน ซึ่งยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวนี้ได้ดำเนินไปเป็นเวลา 3 ปี จนในปี 1945 ญี่ปุ่นที่แพ้สงครามก็ต้องถอนตัวออกจากสิงคโปร์

ปรับตัวครั้งที่สาม : อิสรภาพจากอังกฤษและการกีดกันของมาเลเซีย

หลังการจากไปของญี่ปุ่น อังกฤษก็ได้เข้ามาควบคุมสิงคโปร์อีกครั้ง แต่การเข้ามาครั้งนี้ก็เพื่อวางรากฐานและเตรียมความพร้อมในการให้อิสรภาพสิงคโปร์ในอนาคต เพราะอังกฤษที่บอบช้ำจากสงครามไม่มีเงินทุนที่จะมายึดติดกับเหล่าอาณานิคม อีกทั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เทรนด์ของการมีอาณานิคมกำลังจะกลายเป็นเรื่องที่ถูกต่อต้าน ซึ่งสุดท้ายอังกฤษก็ได้ให้อิสรภาพกับสิงคโปร์แบบสมบูรณ์ในปี 1963

พอได้รับอิสรภาพ สิงคโปร์ก็ได้เข้าไปรวมกับมาเลเซีย แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อโลกกำลังอยู่ในช่วงตึงเครียดจากสงครามเย็นระหว่างฝ่ายสหรัฐอเมริกาที่เป็นผู้นำอุดมการณ์ประชาธิปไตยและฝ่ายสหภาพโซเวียตที่เป็นผู้นำอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ อีกทั้งยังมีขั้วอำนาจที่สามอย่างจีนซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์เข้ามาผสมโรงด้วย (คอมมิวนิสต์โซเวียตกับจีนคนละแนวทางและไม่ค่อยถูกกัน จีนเลยแบ่งเป็นอีกฝ่าย) ซึ่งเผอิญว่าในสิงคโปร์มีคนเชื้อสายจีนเป็นประชากรส่วนใหญ่และแนวคิดคอมมิวนิสต์ก็เริ่มมาแรงในสิงคโปร์ ทำให้มาเลเซียเริ่มหวั่นๆ ว่าหากยังรวมสิงคโปร์ไว้กับตัวเองแบบนี้ ในอนาคตต้องเกิดปัญหาทั้งเรื่องเชื้อชาติและเรื่องคอมมิวนิสต์ขึ้นในมาเลเซียแน่นอน 

และแล้วมาเลเซียก็ได้กีดกันสิงคโปร์ให้ออกไปสร้างประเทศด้วยตัวเอง โดยในปี 1965 สิงคโปร์ได้รับอิสรภาพจากมาเลเซีย ท่ามกลางความสับสนงุนงงของทั้งตัวผู้นำและประชาชนว่าประเทศเกาะเล็ก ๆ ที่แยกออกจากมาเลเซียและแทบไม่มีทรัพยากรจะเดินต่อไปทางไหนในอนาคต และจุดหักเหของ “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์” ก็เกิดขึ้นด้วยการมาถึงของ ลี กวนยู

ลี กวนยู : พรรค PAP : การสร้างระบบการเมืองที่ไม่เหมือนใคร

ตัวละครหลักสำคัญอีกตัวที่จะไม่เล่าถึงไม่ได้เลย คือ พรรค PAP (People’s Action Party) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นในปี 1954 ช่วงที่อังกฤษเข้ามาวางรากฐานในสิงคโปร์ โดยมีผู้นำคือ ลี กวนยู เด็กหนุ่มดีกรีจบกฎหมายจากอังกฤษ โดยลี กวนยูและพรรค PAP มีบทบาทในการนำสิงคโปร์ให้เข้าไปรวมกับมาเลเซีย ก่อนที่จะถูกกีดกันออกมา และหลังจากเป็นอิสระจากมาเลเซีย พรรค PAP ที่เป็นรัฐบาลสิงคโปร์ในตอนนั้น เรียกได้ว่า มีปัญหาให้ชวนปวดหัวเต็มไปหมด ทั้งปัญหาสังคมที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติหรือปัญหาเศรษฐกิจที่จะเอาทรัพยากรจากไหนมาพัฒนาประเทศ

ลี กวนยู ที่เป็นผู้นำจึงเริ่มเดินหมากตัวแรกไปที่การสร้างความมั่นคงทางการเมืองก่อน โดยเชื่อว่าสิงคโปร์ที่มีพรรค PAP และลี กวนยูเป็นหัวเรือ ย่อมนำพาสิงคโปร์ให้ผ่านพ้นปัญหาเหล่านี้ไปได้ ดังนั้น พรรค PAP จึงใช้กลยุทธ์ทั้งการข่มขู่พรรคอื่นๆ ใช้อำนาจรัฐหาเสียงให้ตัวเอง หรือการยุให้พรรคต่างๆ แตกคอกันเอง ทั้งหมดนี้เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองและบั่นทอนกำลังของพรรคฝ่ายค้านไม่ให้มีอำนาจมากพอที่จะต่อกรกับพรรค PAP (ซึ่งทำให้กลายเป็นพรรคที่ครองตำแหน่งรัฐบาลมาจนปัจจุบัน) อีกทั้งพรรค PAP ไม่ค่อยส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง และพยายามเซนเซอร์สื่อที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งการครองอำนาจของพรรค PAP ทำให้สิงคโปร์ถูกวิจารณ์อย่างเละเทะจนปัจจุบันว่า เป็นประเทศที่มีลักษณะเผด็จการแบบอ่อนๆ ที่ผูกขาดอำนาจโดยพรรค PAP แต่ยังไงก็แล้วแต่ สิงคโปร์กลับเป็นประเทศที่แทบไม่มีปัญหาการคอร์รัปชั่น และสามารถเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีอย่างน่าเหลือเชื่อในปัจจุบัน เมื่อการเมืองเริ่มมั่นคงแล้ว คราวนี้พี่ทุยจะพาไปดูว่า ลี กวนยูและพรรค PAP ใช้วิธีการแบบไหนในการสร้างความเจริญให้กับสิงคโปร์

ระบบการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การค้าและอุตสาหกรรม

การศึกษาของสิงคโปร์ก่อนที่จะเป็นอิสระจากอังกฤษนั้น เป็นการศึกษาเพื่อตอบโจทย์การปกครองของอังกฤษ ที่เน้นวิชาสามัญทั่วไป เพื่อสร้างคนไปทำงานด้านเสมียน โดยลี กวนยู คิดว่าสิงคโปร์ในตอนนี้นั้น (หลังแยกจากมาเลเซีย) ต้องใช้จุดเด่นที่มีมาตั้งแต่โบราณคือที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อันเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการค้ามาใช้ขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้น ต้องเปลี่ยนระบบการศึกษาที่จะตอบโจทย์กับโมเดลเหล่านี้และเน้นสร้างแรงงานที่สิงคโปร์ขาดแคลนอย่างพวกช่างเทคนิคและช่างฝีมือ โดยในขั้นแรกมีการสร้างค่านิยมให้คนสิงคโปร์ที่ต้องมีความขยัน เอาจริงเอาจังกับการเรียนและการทำงาน อีกทั้ง ลี กวนยูยังเคยบอกอีกว่า  “ระบบการศึกษาในสิงคโปร์ต้องไม่มีการเล่นพรรคเล่นพวก ทุกคนจะก้าวหน้าได้ด้วยความสามารถของตัวเองเท่านั้น”  รวมถึงไม่ได้เน้นเพียงแค่เรื่องเรียน แต่ยังมีการเน้นเรื่องระเบียบวินัยและความประพฤติแบบเข้มงวดอีกด้วย โดยมีการคุมเข้มว่า “นักเรียนที่จะเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ต้องมีใบรับรองความประพฤติ” เป็นการบีบให้บรรดานักเรียนต้องตั้งใจเรียน พร้อมประพฤติตัวให้ดี ไม่เกเรและไม่ก่อความวุ่นวาย ซึ่งเป็นการวางรากฐานค่านิยมของประชากร สุดท้ายเมื่อเห็นว่าสิ่งเหล่านี้ได้ฝังแน่นอยู่ในนิสัยคนสิงคโปร์แล้ว จึงมีการประกาศยกเลิกเรื่องใบรับรองความประพฤติในปี 1978

ระหว่างที่สร้างค่านิยม ก็ได้มีการปรับระบบการศึกษาให้เข้ากับความต้องการของสิงคโปร์ โดยเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นจุดสำคัญ มีการปรับหลักสูตรลดวิชาสามัญที่ไม่ตรงกับความต้องการของประเทศลง และมีการใช้แนวคิด “การค้านำการศึกษา” โดยก่อนที่รัฐบาลจะสร้างหลักสูตรอะไรก็แล้วแต่ จะต้องไปคุยกับบริษัทเอกชนก่อนว่าต้องการแรงงานอะไร จำนวนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งพอมีการพูดคุยกันเสร็จสรรพแล้ว รัฐบาลก็จะไปปรับการศึกษาและทำหลักสูตรให้สร้างแรงงานที่ตลาดต้องการออกมา

โดยตอนแรกอาจมีการทำหลักสูตรระยะสั้นในวิชาชีพต่างๆ ที่จะสร้างแรงงานให้ออกมาใช้งานได้อย่างรวดเร็วตามความต้องการของอุตสาหกรรมนั้นๆ อีกด้านหนึ่งก็มีการปรับเป็นหลักสูตรระยะยาวเพื่อสร้างแรงงานคุณภาพในอนาคต ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรังสรรค์ทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทนสิ่งที่ขาดหายไปอย่างทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้แนวคิดของลี กวนยูและพรรค PAP ที่ว่า “มนุษย์นี่แหละคือประตูด่านแรกที่จะขับเคลื่อนสิงคโปร์ให้ก้าวไปข้างหน้าแบบมั่นคง” 

การผนวกสังคมอันหลากหลายให้เป็นหนึ่งเดียว

อย่างที่พี่ทุยเคยเล่าไปว่า สิงคโปร์เป็นจุดศูนย์รวมของคนหลากหลายเชื้อชาติทั้งจีน มาเลย์ อาหรับ อินเดีย (แต่ส่วนใหญ่จะเป็นจีน) ดังนั้น ความแตกต่างทางวัฒนธรรมก็เป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันมาโดยตลอด ซึ่งลี กวนยูและพรรค PAP มีการแก้ปัญหาโดยการสร้างค่านิยมใหม่ที่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติอะไร แต่ถ้าอยู่ในสิงคโปร์ทุกคนก็คือคนสิงคโปร์ มีการสนับสนุนให้ทุกคนพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางและให้คงการพูดภาษาแม่ของตัวเองไว้ด้วย ทุกเชื้อชาติมีโอกาสและสิทธิที่เท่าเทียมกันในสังคม อีกทั้งต้องได้รับมาตรฐานการศึกษาที่เหมือนกัน เพื่อเป็นฟันเฟืองร่วมกันในการพัฒนาประเทศ

การลงทุน : กุญแจสู่ความมั่งคั่งของสิงคโปร์

เมื่อใช้จุดเด่นในอดีตอย่างการเป็นเมืองท่าที่เป็นศูนย์กลางการเดินเรือผนวกกับการสร้างระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์กับการค้าและอุตสาหกรรม ซึ่งได้สร้างความมั่นคงรวมถึงกำไรในระดับหนึ่งให้กับสิงคโปร์แล้ว แต่ทว่า ก็เป็นกำไรที่พอแค่ให้สิงคโปร์อยู่ได้ด้วยตัวเองเท่านั้น ยังไม่ใช่การยกระดับประเทศอะไรมากมาย รัฐบาลจึงคิดแล้วว่าควรจะนำกำไรนั้นไปลงทุนเพื่อเพิ่มเม็ดเงินที่สิงคโปร์จะได้รับให้มากขึ้น และแล้วในปี 1975 รัฐบาลก็ได้ตั้งบริษัทเทมาเสก โฮลดิงส์ (Temasek Holdings) ที่มีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ถือหุ้นรายเดียว โดยตัวของบริษัทนี้จะเป็นกองทุนของรัฐบาลที่จะเข้าไปลงทุนในที่ต่าง ๆ ซึ่งมีการแบ่งสัดส่วนคือ

1. ลงทุนในสิงคโปร์ 50% โดยจะเน้นเข้าไปถือหุ้นในธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น Singapore Airlines, โทรคมนาคมแห่งชาติสิงคโปร์, บริษัทขนส่งเดินเรืออย่าง Neptune Orient Lines 

2. ลงทุนในต่างประเทศอีก 50% โดยจะเน้นเข้าไปถือหุ้นในแถบเอเชียเป็นหลัก ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนย่อย ๆ ได้ทั้งการลงทุนในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐาน การเงิน สื่อสารมวลชน รวมถึงธุรกิจใหม่ๆ ที่จะมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นให้เงินทุนสิงคโปร์กระจายเข้าสู่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อครอบงำและสร้างสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคให้ได้มากที่สุด

อีกทั้งในปี 1981 ยังมีการตั้งบริษัทเพื่อการลงทุนแห่งสิงคโปร์ (Government of Singapore Investment Corporation : GIC) โดยจะเป็นตัวเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ เงินตราต่างประเทศ ตลาดเงิน อสังหาริมทรัพย์ และกองทุนในประเทศต่าง ๆ ซึ่งทุกอย่างล้วนอยู่ในแผนและการควบคุมของรัฐบาล เรียกได้ว่า เทมาเสก โฮลดิงส์ และ GIC ได้สร้างเม็ดเงินมหาศาลให้กับสิงคโปร์แบบเกินคาดเลยทีเดียว ในตอนแรก เทมาเสก โฮลดิงส์ มีเงินทุนเริ่มต้น 350 ล้านดอลลาร์ แต่ในปี 2022 นั้น มีสินทรัพย์รวมในระดับ 300,000 ล้านดอลลาร์ 

และแล้วหลังจากรัฐบาลสิงคโปร์ได้เริ่มลงทุนอย่างจริงจัง ทำให้ภายในระยะเวลา 20 ปี นับตั้งแต่ปี 1981 เป็นต้นมา เครื่องมือทั้งสองของรัฐบาลสิงคโปร์ ก็ได้สร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศเกาะเล็ก ๆ ก้าวไปสู่ประเทศที่มีเงินทุนหนา เศรษฐกิจเติบโตรวดเร็ว และมีความทันสมัยที่สุดในภูมิภาค

ปรับตัวครั้งที่สี่ : ก้าวผ่านวิกฤตเศรษฐกิจ

ตั้งแต่ช่วงปี 1970 เป็นต้นมา สิงคโปร์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและพุ่งสูงขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงปี 1990 แต่แล้วก็ได้เจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งของไทยในปี 1997 ซึ่งกระทบไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเงินของสิงคโปร์ลงทุนอยู่ จากวิกฤตคราวนี้ สิงคโปร์มีการปรับตัวโดยลดการลงทุนในภูมิภาคลง และเน้นหันไปเปิดการค้าเสรีกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมากขึ้นอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อินเดีย และยุโรป ซึ่งจากจุดเด่นที่เป็นศูนย์กลางการค้า การเดินเรือ การเงิน และการบินอยู่แล้ว ทำให้สิงคโปร์ดึงดูดประเทศเหล่านี้ให้เข้ามาติดหนึบได้ไม่ยาก และสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตค่าเงินบาทครั้งนี้ได้อย่างรวดเร็วแม้จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ปรับตัวครั้งที่ห้า : วิกฤตไวรัสโควิด-19 ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงที่สุดของ “ประวัติศาสตร์สิงคโปร์”

ในช่วงปี 2020 ที่ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดอย่างหนักทั่วทั้งโลก ซึ่งเป็นปีที่สิงคโปร์มีภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่สุด โดยมีการหดตัว 5.2% เพราะต้องมีการปิดประเทศเพื่อควบคุมโรค ทำให้การเดินทาง การขนส่ง และการลงทุนที่สร้างรายได้ให้สิงคโปร์มาโดยตลอดต้องหยุดชะงัก ในภาวะวิกฤตนี้ รัฐบาลได้มีการจำกัดการเดินทางและการรวมกลุ่ม ซึ่งด้วยพื้นฐานตั้งแต่อดีตของสังคมสิงคโปร์ที่มีความเข้มงวดเรื่องระเบียบวินัยสูงมาก ทำให้สามารถควบคุมพร้อมจัดการฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครบอย่างรวดเร็ว และสามารถฟื้นตัวได้ในปี 2021 ที่เศรษฐกิจเริ่มโตกลับคืนมา 7.2% เรียกได้ว่า สิงคโปร์ที่ผ่านการปรับตัวมาอย่างโชกโชน เจอวิกฤตแบบไหนก็ยังสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้รวดเร็วอยู่เสมอ จนล่าสุดได้เปิดประเทศเเละยกเลิกการใส่หน้ากากในที่สาธารณะ

การก้าวสู่อนาคตของสิงคโปร์

ในปัจจุบันและอนาคต ที่เทคโนโลยีแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของมนุษย์ การปรับตัวแม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเกินไปสำหรับสิงคโปร์ผู้ที่ช่ำชองในการปรับตัวได้ทุกสถานการณ์ รวมถึงมีการวางแผนก้าวสู่อนาคตอย่างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Smart Nation ที่จะขับเคลื่อนการค้าสิงคโปร์ด้วยระบบดิจิทัล, การผลักดันเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy), การเพิ่มศักยภาพ SMEs ของตัวเอง, การตั้งกลุ่ม AFAS (Alliance for Action) ที่จะเป็นฐานยกระดับอุตสาหกรรมสิงคโปร์ในอนาคต, และการวางตัวเองให้เป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของภูมิภาค ทั้งหมดนี้ต่างถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งสำคัญอันมีค่าสูงสุดที่สิงคโปร์ได้สร้างเอาไว้ตั้งแต่อดีตอย่างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ ซึ่งพร้อมเป็นกลไกที่จะนำพาสิงคโปร์ก้าวสู่โลกอนาคตได้ทุกรูปแบบ

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย