คนโบราณทวงหนี้กันอย่างไร ? 5 วิธีทวงหนี้สไตล์เมโสโปเตเมีย

คนโบราณทวงหนี้กันอย่างไร ? 5 วิธีทวงหนี้สไตล์เมโสโปเตเมีย

3 min read  

ฉบับย่อ

  • หนี้สินเป็นสิ่งที่อยู่คู่ผู้คนทุกยุคทุกสมัย การทวงหนี้จากลูกหนี้ก็เช่นกัน แม้แต่ในอารยธรรมแรกเริ่มของโลกอย่างเมโสโปเตเมีย 
  • วิธีการทวงหนี้ที่ปรากฏในจารึกคูนิฟอร์ม ได้แก่ การทวงถามอย่างผู้ดี การเสนอให้ผ่อนจ่าย การฝากข้อความตามหาลูกหนี้ที่หนีหาย การเรียกเก็บจากบุพการี และการประจานลูกหนี้ให้อับอาย เมื่อนำวิธีที่ว่ามารวมกับการบังคับใช้กฎหมาย การทวงหนี้สไตล์เมโสโปเตเมียจึงประสบความสำเร็จ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หากเป็นหนี้แต่ว่ามีกำลังในการผ่อนชำคืนก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าเกิดอาการเบี้ยวหนี้ขึ้นมา เจ้าหนี้ก็ต้องมีการไปตาม “ทวง” เป็นธรรมดา ทว่าในปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดขอบเขตการทวงหนี้ ดังนั้นการข่มขู่ทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่ตั้งโพสต์ประจานหน้าโซเชียลจึงเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เจ้าหนี้ทั้งหลายคงคิดว่าเป็นเรื่องไม่ยุติธรรมสำหรับตน แต่ใครเลยจะรู้ว่า ย้อนกลับไปหลายพันปีที่แล้วในดินแดน “เมโสโปเตเมีย” เจ้าหนี้ยุคโบราณเองก็ต้องเผชิญปัญหา “ทวงหนี้” ไม่แตกต่าง พวกเขามีวิธีจัดการกับพวกหนีหนี้อย่างไรนั้น วันนี้พี่ทุยจะมาบอกเล่าให้พวกเราได้ฟังกัน

รู้จักเมโสโปเตเมีย

เมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) เป็นชื่อเรียกดินแดนที่อยู่ระหว่างแม่น้ำไทกริส (Tigris) และยูเฟรตีส (Euphrates) ในเอเชียตะวันตก หรือก็คือประเทศอิรัก อิหร่าน ซีเรีย และตุรกีในปัจจุบัน

พื้นที่ดังกล่าวถูกเรียกว่าดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันไพบูลย์ (Fertile Crescent) เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์จากผืนดินลุ่มแม่น้ำ เมโสโปเตเมียถือเป็นอู่อารยธรรมแรกเริ่มของโลก สันนิษฐานว่ามีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้มาไม่ต่ำกว่า 10,000 ปี

นอกจากนี้คำว่าเมโสโปเตเมียยังหมายรวมถึงอารยธรรมโบราณที่ถือกำเนิดในดินแดนดังกล่าว โดยมีอารยธรรมที่สำคัญได้แก่ สุเมเรียน (Sumerian) อัสซีเรียน (Assyrian) อัคคาเดียน (Akkadian) เอลาไมต์ (Elamite) ฮิตไทต์ (Hittite) ฯลฯ ซึ่งต่อมาอารยธรรมเหล่านี้ได้แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก

ระบบเงินตราเมโสโปเตเมีย

ชาวเมโสโปเตเมียเป็นนักประดิษฐ์ที่คิดค้นระบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปฏิทินดาราศาสตร์ การนับเลขฐาน 60 การใช้ตัวอักษรบันทึกเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เป็นต้น พวกเขาคิดค้นระบบเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าและชำระหนี้เช่นเดียวกัน

ย้อนกลับไปราว 3,000 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อครั้งที่อาณาจักรซูเมอร์ (Sumer) ของชาวสุเมเรียนรุ่งเรืองในดินแดนพระจันทร์เสี้ยว พวกเขาได้ผลิตเงินตราเพื่อใช้ในระบบเศรษฐกิจ เหรียญเงินกดประทับยุคแรกมีชื่อเรียกว่าเชเคล (Shekel) 1 เชเคลมีค่าเท่ากับ 60 มินา (Mina) หน่วยแลกเปลี่ยนที่ย่อยลงมา หน่วยเงินที่ว่าถูกใช้ต่อมาอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นต้นกำเนิดเงินตราในอารยธรรมตะวันตก

หนี้สินในเมโสโปเตเมีย

ชาวสุเมเรียนเป็นชนชาติแรกของโลกที่มีแนวคิดเรื่องหนี้สิน แนวคิดดังกล่าวถูกส่งต่อไปยังอารยธรรมอื่น ๆ ในดินแดนพระจันทร์เสี้ยว สำหรับชาวเมโสโปเตเมีย การเป็นหนี้ไม่ได้หมายความแค่ข้อผูกมัดระหว่างบุคคลเท่านั้น พวกเขาเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนติดหนี้บุญคุณเทพเจ้าที่บันดาลให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

ด้วยเหตุนั้นชาวเมโสโปเตเมียจึงสร้างซิกกูแรต (Ziggurat) ศาสนสถานขนาดใหญ่ไว้บูชาเทพเจ้า รวมถึงมอบเงินและของมีค่าให้นักบวชถวายเทพไม่เคยขาด

หนี้สินในเมโสโปเตเมียแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ภาษีที่ต้องจ่ายให้รัฐ เงินบริจาคให้นักบวชและศาสนสถาน และหนี้ส่วนบุคคล การซื้อขายสินค้าด้วยเงินเชื่อถือเป็นเรื่องปกติในดินแดนนี้

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากเมโสโปเตเมียมีกฎหมายระบุชัดเจนถึงโทษทัณฑ์ของผู้บิดพลิ้วการชำระหนี้ ประมวลกฎหมายฮัมบูราบี (The Code of Hammurabi) บทบัญญัติกฎเกณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกได้กล่าวถึงการลงโทษลูกหนี้ที่ไม่มีเงินจ่ายว่า

“หากชายใดมีหนี้สิน เขาผู้นั้นต้องขายภริยา บุตรชาย และบุตรสาวเพื่อนำเงินมาใช้หนี้ หรือส่งคนเหล่านั้นไปใช้แรงงานในบ้านเจ้าหนี้เป็นเวลา 3 ปี เมื่อถึงปีที่ 4 พวกเขาจะเป็นอิสระ”

แม้จะฟังดูไม่ยุติธรรมกับลูกเมียเท่าใดนัก แต่การตรากฏหมายอย่างชัดเจนก็เป็นการป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ค้างชำระเอาเปรียบเจ้าหนี้ได้โดยง่าย

การ “ทวงหนี้” สไตล์เมโสโปเตเมีย

อารยธรรมเมโสโปเตเมียรุ่งโรจน์ในดินแดนเอเชียตะวันตกตั้งแต่ 5,000 ปีจนถึง 332 ปีก่อนคริสตกาล การจะหาหลักฐานเกี่ยวกับหนี้สินจากคำบอกเล่าของผู้คนจึงเป็นไปไม่ได้

โชคยังดีที่คนเหล่านี้รักการจดบันทึกยิ่งกว่าสิ่งใด ชาวเมโสโปเตเมียคิดค้นคูนิฟอร์ม (Cuneiform) ตัวอักษรรูปลิ่มเพื่อใช้ในการเขียน ปัจจุบันจารึกคูนิฟอร์มบนแผ่นดินตากแห้งนับพันชิ้นถูกนำมาชำระความใหม่ คนรุ่นหลังจึงได้รับรู้เรื่องราวน่าสนใจในอดีตมากมาย

แม้แต่การทวงหนี้ก็ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนเช่นเดียวกัน เจ้าหนี้ยุคโบราณมีวิธีทวงเงินคืนอย่างไรนั้น พี่ทุยสรุปมาให้ฟัง 5 วิธี ดังนี้

1. การทวงถามอย่างผู้ดี

เจ้าหนี้ที่ดีต้องไม่กดดันลูกหนี้มากเกินควร คำกล่าวนี้ถูกพิสูจน์ในจารึกคูนิฟอร์มชิ้นหนึ่งที่กล่าวถึงลูกหนี้ 3 คนที่หลบหนีออกจากเมืองอัสซูร์ (Assur) กว่า 30 ปีที่แล้ว

แน่นอนว่าหากถูกเบี้ยวหนี้มานานกว่า 3 ทศวรรษ เจ้าหนี้คงอยากกระชากคอคนเหล่านี้ใจจะขาด ทว่าแทนที่จะข่มขู่อย่างที่ควรเป็น เจ้าหนี้ทั้งสองกลับเขียนข้อความอย่างละมุนละม่อมว่า

ได้โปรด กลับมาเถิด เรารู้ว่าพวกท่านกำลังยุ่งอยู่กับธุรกิจการงาน แต่อย่าลืมคืนเงินให้กับเรา และเราสัญญาว่าจะไม่ทำสิ่งใดให้พวกท่านรู้สึกไม่ดีเป็นอันขาด”

แม้จะไม่มีใครรู้ว่าความในใจของเจ้าหนี้ยามเขียนข้อความลงบนแผ่นดินเป็นอย่างไร แต่การทวงถามอย่างสุภาพชนก็คงทำให้พวกเหนียวหนี้ยอมใจอ่อนบ้างไม่มากก็น้อย

2. การเสนอให้ผ่อนจ่าย

หากการเรียกเงินคืนรวดเดียวเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การผ่อนจ่ายอาจทำให้ลูกหนี้สบายใจในการชำระเงินมากกว่า

ชาวเมโสโปเตเมียถือว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้มีความสัมพันธ์ฉันท์น้องพี่ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการคิดดอกเบี้ยทบต้นให้ต้องกังวล จารึกอัคคาเดียนชิ้นหนึ่งได้ระบุถึงข้อเสนอของเจ้าหนี้ มีเนื้อความว่า

ข้าได้มอบเงิน 2 เชเคลกับอีกหนึ่งส่วนสี่ให้กับท่าน พี่ชายข้า โปรดคืนเงินบางส่วนให้กับเราก่อนเถิด”

ข้อความนี้ยังคงความสุภาพเช่นเดียวกับจารึกชิ้นแรก เราคงได้แต่หวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้ลูกหนี้พิจารณา หันมาใช้เงินคืนเจ้าหนี้ที่น่าสงสารสักนิดก็เป็นได้

3. ฝากข้อความตามหาลูกหนี้หาย

หลายครั้งที่ลูกหนี้ค้างชำระหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ฝ่ายเจ้าหนี้ที่เศร้าสร้อยจึงต้องหาทางตามตัวเขาหรือเธอกลับมาให้ได้ จารึกชิ้นหนึ่งได้กล่าวถึงความพยายามของเจ้าหนี้ในการตามหาผู้หลบหนีว่า

แผ่นดินเหนียว (จารึก) ของเราถูกส่งไปกับคาราวานสินค้ากองแล้วกองเล่า แต่ไม่มีใครได้ข่าวคราวของพวกท่านเลยสักคน…”

น่าเสียดายที่ไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าผู้บันทึกข้อความได้เงินคืนตามต้องการหรือไม่ ทว่าความพยายามในการส่งข่าวผ่านกองคาราวานในยุคที่ไม่มีโทรศัพท์ใว้สื่อสารก็เป็นเรื่องน่ายกย่องในหน้าประวัติศาสตร์การทวงหนี้อยู่ดี

4. เรียกเก็บเงินจากบุพการี

เช่นเดียวกับในปัจจุบัน การกู้ยืมสมัยโบราณจำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกันในกรณีที่ลูกหนี้หนีหาย จารึกคูนิฟอร์มมากมายระบุถึงการถามไถ่บุพการีของลูกหนี้ที่หายไป จารึกอัสซีเรียชิ้นหนึ่งมีการใช้คำกล่าวเชิงข่มขู่กับลูกหนี้ที่ได้รับข้อความว่า

ถ้าพวกเจ้าคนใดคนหนึ่งไม่มาตามสัญญา รับรองได้เลยว่าเงินของบิดาเจ้าจะหมดไป” 

คำกล่าวนี้อาจตีความได้ว่า เจ้าหนี้พร้อมจะเอาความกับบิดาหากไม่ได้เงินคืนในส่วนที่ค้างชำระ

5. ประจานให้อับอาย

หากความสุภาพใช้การไม่ได้ผล เจ้าหนี้เมโสโปเตเมียก็พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเล่นงานลูกหนี้ แม้แต่การประจานต่อหน้าประชาชี ดังที่ปรากฏข้อความในจารึกดังต่อไปนี้

หากไม่ (คืนเงิน) แล้วละก็ เราจะแจ้งความถึงเจ้าเมืองและสันติบาล พวกเขาจะประจานให้พวกเจ้าต้องอับอายขายหน้าสมาคมพ่อค้า”

ถ้าวิธีที่ว่าถูกนำมาใช้จริง ลูกหนี้ที่ถูกประจานจะไม่มีที่ยืนในแวดวงธุรกิจซึ่งถือเป็นหัวใจในสังคมเมโสโปเตเมียอีกต่อไป เราจึงได้แต่หวังว่าลูกหนี้จะกลับใจ คืนเงินครบจำนวนให้เจ้าหนี้แต่โดยดี

จากเรื่องราวทั้งหมดที่ว่ามานี้ พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนคงเห็นแล้วว่าเจ้าหนี้ยุคโบราณเองก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากพวกเรา แม้จะมีข้อกำหนดกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด แต่ลูกหนี้ไร้ความรับผิดชอบก็ยังคงหาทางบิดพลิ้วหนีหนี้อยู่ร่ำไป

อย่างไรก็ตาม มีการพบหลักฐานการจ่ายเงินคืนครบตรงเวลาเช่นกัน ชาวเมโสโปเตเมียเขียนจารึกคล้ายใบเสร็จรับรองการจ่ายหนี้ทุกครั้ง รวมถึงระบุรายชื่อพยานในการชำระเงินอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ในกรณีที่ทวงหนี้ด้วยตัวเองไม่สำเร็จ จารึกมากมายได้ระบุถึงข้อตกลงในการส่งตัวลูกหนี้ที่หนีหายกลับมาใช้หนี้ที่บ้านเกิดเมืองนอน แสดงให้เห็นว่าการทวงหนี้เมื่อหลายพันปีที่แล้วมีประสิทธิภาพอย่างน่าประทับใจ

และหากใครกำลังถูกลูกหนี้เบี้ยวจ่ายอยู่ละก็ ลองประยุกต์วิธีโบราณที่ยกตัวอย่างมานี้ บางทีเคล็ดลับจากเจ้าหนี้เมโสโปเตเมียอาจได้ผลดีเกินคาดก็เป็นได้

คนโบราณทวงหนี้กันอย่างไร ? 5 วิธีทวงหนี้สไตล์เมโสโปเตเมีย

อ่านเพิ่ม

อ้างอิง

Ferguson, Niall. The Ascent of Money: A Financial History of the World. New York: The Penguin Press, 2008.
Graeber, David. Debt: The First 5,000 years. New York: Melville House Publishing, 2011.
Oppenheim, A. Leo. Letters from Mesopotamia: Official, Business, and Private Letters on Clay
Tablets from Two Millennia. Chicago: University of Chicago Press, 1967.

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย