ทำไมนักลงทุนทั่วโลกสนใจ "ตราสารหนี้จีน" ?

ทำไมนักลงทุนทั่วโลกสนใจ “ตราสารหนี้จีน” ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ตลาดตราสารหนี้จีนมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ กว่า 50% ของตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนสูงกว่า 2.5% อยู่ในตลาดตราสารหนี้จีน โดยรัฐบาลท้องถิ่นเป็นผู้ออกตราสารหนี้มากที่สุดด้วยสัดส่วน 25% ตามมาด้วยรัฐบาลกลางที่ 20%
  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนสูงกว่าพันธบัตรประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) ไม่ว่าจะเป็นประเทศเยอรมนีที่สูงกว่าถึง 3.6% ตามด้วยญี่ปุ่นที่ 3.1% และสหรัฐฯ 1.5%
  • อัตราการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) ของตราสารหนี้จีนต่ำกว่าของสหรัฐ ทั้งในปี 2020 และ 2019
  • 60% ของตราสารหนี้จีนถูกให้ระดับความน่าเชื่อถือที่ AAA โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศ แต่ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับนักลงทุนต่างชาติไม่ได้
  • รัฐบาลเลยเริ่มลดการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเชื่อถือ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

จีนกำลังขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกด้วยการเติบโตประมาณ 6% ต่อปี แต่ตลาด “ตราสารหนี้จีน” ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นที่นิยมแค่กับนักลงทุนในจีนเท่านั้น 

แล้วทำไมพี่ทุยถึงบอกว่าตอนนี้ นักลงทุนทั่วโลกกำลังสนใจตราสารหนี้จีน และนักลงทุนแบบเราต้องให้ความสนใจมั้ย พี่ทุยจะมาสรุปแบบเข้าใจง่าย ๆ ให้ฟังกัน

ภาพรวมตลาด “ตราสารหนี้จีน”

พี่ทุยพามารู้จักกันก่อนว่าตราสารหนี้ของประเทศจีนมีอยู่ 3 ประเภท ได้แก่

1. Onshore RMB
คือ ตราสารหนี้จีนที่ซื้อขายในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ (Mainland) ในสกุลเงินหยวน (CNY)

2. Offshore Foreign Currency
คือ ตราสารหนี้จีนที่ซื้อขายในต่างประเทศด้วยสกุลเงินต่างชาติ เช่น ดอลลาร์ ฮ่องกงดอลลาร์

3. Offshore RMB
คือ ตราสารหนี้จีนที่ซื้อขายในฮ่องกงด้วยสกุลเงินหยวน (CNH)

ที่ผ่านมามีเพียงตลาดตราสารหนี้จีน Offshore (ประเภทที่ 2-3) เท่านั้นที่นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงได้อย่างสะดวกสบาย

ตราสารหนี้มากกว่าครึ่งนึงของโลกที่มีผลตอบแทนสูงกว่า 2.5% อยู่ที่ตลาดตราสารหนี้จีน และตราสารหนี้ที่มีผลตอบแทนดี ๆ นักลงทุนต่างชาติสนใจส่วนใหญ่ก็อยู่ที่ตลาดตราสารหนี้จีน Onshore RMB (ประเภทที่ 1)

ซึ่งผู้ออกตราสารหนี้ในตลาด Onshore RMB (ประเภทที่ 1) 60% คือ หน่วยงานรัฐ และใน 60% นี้แบ่งออกเป็นรัฐบาลท้องถิ่นที่เป็นคนออกตราสารหนี้มากที่สุด (25%) ตามมาด้วยรัฐบาลกลาง (20%)

อย่างที่พี่ทุยบอกไปว่ามีตราสารหนี้จีนที่นักลงทุนต่างชาติเข้าถึงได้มีแค่ Offshore ประเภทที่ 2-3 และจีนก็อยากให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึง Onshore RMB ประเภทที่ 1 ได้ด้วย

ปี 2017 จีนเลยสร้างระบบที่ชื่อว่า Northbound เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้าถึง Onshore RMB นี่กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดตลาดตราสารหนี้ Onshore RMB ที่มีขนาด 18 ล้านล้านดอลลาร์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากตลาดตราสารหนี้สหรัฐฯ และใหญ่กว่าตลาดตราสารหนี้จีน Offshore (ประเภทที่ 2 และ 3 รวมกัน) ประมาณ 30-40 เท่า

ในระยะยาวตลาดตราสารหนี้จีน น่าสนใจแค่ไหน ?

พี่ทุยพาย้อนมาเล่าภาพรวมถึงตลาดตราสารหนี้เอเชียกันสักหน่อย อย่างในอินโดนิเซียและมาเลเซีย เค้ามีนักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาล (ตราสารหนี้) มากกว่า 20% ส่วนญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย มีต่างชาติถือ 13-14%

ซึ่งสัดส่วนการถือนี้มากกว่าที่นักลงทุนต่างชาติถือตราสารหนี้จีนซะอีก (ของจีนต่ำกว่า 3%) นั่นหมายความว่ายังมีช่องว่างดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติได้อีกเพียบ

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนที่จะทำให้มีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ Onshore RMB (ประเภทที่ 1) ผ่านระบบ Northbound ที่เปิดขึ้นมา คือ การที่ตราสารหนี้จีนได้เข้าคำนวณในดัชนีตราสารหนี้โลกที่สำคัญทั้ง 3 ดัชนี ประกอบไปด้วย

  1. Bloomberg Barclays Global Aggregate Bond Index (ในเดือน เม.ย. 2019)
  2. JP Morgan GBI-EM Index (ในเดือน ก.พ. 2020)
  3. FTSE World Government Bond Index (WGBI) (ในเดือน ต.ค. 2021)

นักวิเคราะห์คาดว่าการเข้าคำนวณใน FTSE WGBI จะทำให้มีเงินไหลเข้าตลาดพันธบัตรจีน (ตราสารหนี้จีน) มากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สัดส่วนการถือครองพันธบัตรโดยนักลงทุนต่างชาติอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 20%

คุณสมบัติที่น่าสนใจของตราสารหนี้จีน

ถึงแม้จะเข้าไปคำนวณในดัชนีหลัก แต่ถ้าผลตอบแทนไม่น่าสนใจก็คงไม่สามารถดึงดูดเงินลงทุนเพิ่มเติมได้มากไปกว่าที่นำไปเข้าคำนวณ

แต่ด้วยผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลจีนที่สูงกว่าพันธบัตรของประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Markets) นั้นสูงกว่าเยอรมนี (3.6%) ญี่ปุ่น (3.1%) และสหรัฐฯ (1.5%) ก็น่าจะดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ (ผลตอบแทนเป็น % นี้ รวมผลของความกังวลว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว)

ทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้จีน Onshore RMB (ประเภทที่ 1) จะเคลื่อนไหวตามปัจจัยนโยบายการเงินในประเทศ ทำให้มีความสัมพันธ์ (Correlation) กับตลาดการเงินต่ำ จึงมีคุณสมบัติด้านการกระจายความเสี่ยงที่ดึงดูดเงินลงทุนจากตลาดการเงินโลก

ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ตลาดตราสารหนี้จีน Onshore RMB (ประเภทที่ 1) มีค่าเฉลี่ยความสัมพันธ์ (Correlation) กับดัชนีตราสารหนี้โลก อยู่ที่ 0.2 และในช่วงที่เป็นสงครามการค้า หรือช่วงโควิด-19 ค่าความสัมพันธ์นี้ต่ำแบบติดลบ

ส่วนตลาดตราสารหนี้ Offshore Foreign Currency (ประเภทที่ 2) จะเคลื่อนไหวตามปัจจัยนโยบายการเงินโลก ทำให้ได้รับอิทธิพลหลักจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะช่วยเพิ่มผลตอบแทนและทางเลือกการลงทุนในช่วงที่มีนโยบายการเงินทั่วโลกปรับลดอัตราดอกเบี้ย

ความเสี่ยงด้านการผิดชำระหนี้ เป็นยังไง ?

การผิดชำระหนี้ของตราสารหนี้ทั้งหมด (รวม 3 ประเภท) ไล่เรียงตามปี

ปี 2021 (ม.ค. – พ.ค.) อยู่ที่ 15,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทในธุรกิจอสังหาฯ
ปี 2020 อยู่ที่ 29,800 ล้านดอลลาร์
ปี 2019 อยู่ที่ 25,900 ล้านดอลลาร์

พี่ทุยอยากเล่าให้ฟังว่า ปกติแล้วการผิดนัดชำระหนี้ ไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่หรือน่าแปลกใจ เพราะโควิด-19 ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ ประกอบกับรัฐบาลจีนลดการช่วยเหลือด้านการเงินต่อบริษัทที่ไม่มีความสำคัญต่อระบบการเงิน เพื่อต้องการให้ตลาดตราสารหนี้จีนโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเงินลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

และเมื่อเทียบอัตราการผิดนัดชำระหนี้ (Default Rate) ของตราสารหนี้จีนที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond) ที่ซื้อขายในตลาด Onshore RMB (ประเภทที่ 1) กับทั่วโลกพบว่า

ปี 2020 อยู่ที่ 1.8%
ปี 2019 อยู่ที่ 1.6%

ส่วนตราสารหนี้จีนในตลาด Offshore (รวมประเภทที่ 2-3) 

ปี 2020 อยู่ที่ 1.9%
ปี 2019 อยู่ที่ 0.5%

เปรียบเทียบกับตราสารหนี้สหรัฐที่ให้ผลตอบแทนสูง (High Yield Bond)

ปี 2020 อยู่ที่ 6.8%
ปี 2019 อยู่ที่ 2.6%

ส่วนเรื่องอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้จีน ยังไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้นักลงทุนต่างชาติได้ ซึ่ง 60% ของตราสารหนี้จีน ถูกให้ระดับความน่าเชื่อถือที่ AAA โดยบริษัทจัดอันดับในประเทศ

ซึ่งตราสารหนี้ส่วนใหญ่ออกโดยรัฐวิสาหกิจ และจากที่พี่ทุยบอกไปว่าช่วงหลัง รัฐบาลจีนลดการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจที่ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ (ทำให้ไม่มีความสำคัญต่อระบบการเงินจีน) ทำให้เริ่มมีข่าวว่ารัฐวิสาหกิจจีนผิดชำระหนี้

และนี่ถือว่าเป็นแนวทางของรัฐบาลจีน ที่ทำให้ตราสารหนี้จีนโกอินเตอร์ไปในระดับโลก

แม้จะมีความน่ากังวล แต่ด้วยขนาดตลาดใหญ่และจำนวนตราสารหนี้ที่มากก็ยังมีโอกาสจากตราสารหนี้ที่น่าเชื่อถือให้นักลงทุนได้ค้นหาอีกมากมาย

การสร้างสมดุลของกระแสเงินลงทุน

จากที่พี่ทุยเล่าว่าจีนเค้าเปิดระบบ Northbound ให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนตราสารหนี้จีน Onshore RMB (ประเภทที่ 1)

ล่าสุดปี 2021 นี้ จีนก็ทำในทางกลับกัน คือ สร้างระบบเชื่อมต่อให้นักลงทุนจีนเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ Offshore RMB ที่ซื้อขายในฮ่องกง (ประเภทที่ 2 และ 3) ใช้ชื่อว่า Southbound ซึ่งเปิดหลังจากที่เปิด Northbound มา 4 ปี

ตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดประกาศเพิ่มเติมมาแบบเป็นทางการ แต่น่าจะทำให้นักลงทุนจีนได้เข้าถึงตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์หลายชนิด ทั้งตราสารหนี้จีนสกุลเงินหยวน และตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศที่ซื้อขายในตลาดฮ่องกง

ระบบเชื่อมต่อใหม่อย่าง Southbound จะเข้ามาช่วยบรรเทาปัญหาค่าเงินหยวนที่แข็งเกินไป และยังช่วยรักษาสถานะของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางการเงินของโลกได้อีกด้วย

อยากลงทุน “ตราสารหนี้จีน” แบบง่ายที่สุด ต้องทำยังไง ?

พี่ทุยต้องบอกว่า ในตอนนี้เรายังตอบไม่ได้ว่าตราสารหนี้จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดตราสารหนี้หลักของโลกได้หรือไม่ แต่อย่างน้อย 4 ปีที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติก็เพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้จีนเข้าพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงเข้ามาเรื่อย ๆ

สำหรับนักลงทุนไทยสามารถลงทุนในตราสารหนี้จีน พี่ทุยชี้เป้ามา 2 กองทุน คือ

  • KT-CHINABOND-A ลงทุนในกองทุน BGF China Bond Fund (share class) “D2” USD
  • MCBOND ที่ลงทุนในกองทุน BGF China Bond Fund (share class) “I2” Hedged USD 

จะเห็นว่าทั้ง 2 กองทุนต่างก็ลงทุนในกองทุนหลักกองเดียวกัน เพียงแต่กองทุน KT-CHINABOND-A เลือกกองทุนหลักชนิดที่ไม่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลดอลลาร์และหยวน

ส่วนกองทุน MCBOND เลือกกองทุนหลักชนิดที่มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างสกุลดอลลาร์และหยวนนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย