ถ้าคนไทยแก่ตัวลง ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหนดี ภาครัฐมีสวัสดิการบ้านพักคนชราที่ให้ที่อยู่อาศัยฟรีด้วยนะ (ถ้าเข้าเกณฑ์ที่รัฐกำหนด) บ้านพักคนชราของรัฐ อยู่ฟรี อยู่จังหวัดไหนบ้าง ไปดูกัน
แก่แล้วไปไหนดี ? เปิดพิกัด บ้านพักคนชราของรัฐ อยู่ฟรี ถ้าเข้าเกณฑ์
กรมกิจการผู้สูงอายุ มีศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ (ศพส.) หรือบ้านพักคนชราของรัฐ อยู่ฟรี พร้อมให้การดูแล อยู่ใน 12 จังหวัด ให้บริการด้านที่พักอาศัยแก่ผู้สูงอายุแบบเต็มเวลา และรูปแบบ Day Center 1 แห่ง
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางแค จังหวัด กรุงเทพ
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบางละมุง จังหวัด ชลบุรี
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์ จังหวัด เชียงใหม่
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านทักษิณ จังหวัด ยะลา
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุภูเก็ต
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุขอนแก่น (รูปแบบ Day Center)
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านบุรีรัมย์
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดลำปาง
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดสงขลา
- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดปทุมธานี
อยากอยู่ บ้านพักคนชราของรัฐ ต้องมีคุณสมบัติยังไง?
ผู้สูงอายุที่มีความประสงค์เข้าใช้บริการในศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ ต้องมีคุณสมบัติ ตามนี้
- มีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย
- ไม่เป็นผู้ต้องหาว่ากระทําผิดอาญาและอยู่ระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรืออยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล
- ไม่เป็นโรคติดต่อตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558
- มีความสมัครใจ
- สามารถช่วยเหลือตนเองในกิจวัตรประจําวัน
- ไม่มีอาการทางจิตที่รุนแรง หรือมีพฤติกรรมด้านลบที่จะส่งผลกระทบต่อผู้อื่น
- ไม่ติดสารเสพติด หรือติดสุรา
- กรณีคนเร่ร่อน ถูกทอดทิ้งหรือคนไร้ที่พึ่ง ต้องผ่านกระบวนการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งพ.ศ. 2557 ก่อน
- ต้องเป็นผู้ประสบปัญหาความเดือดร้อนอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
- มีฐานะยากจน
- ไม่มีที่อยู่อาศัย
- ขาดผู้อุปการะ หรือผู้ให้ความช่วยเหลือดูแล
สวัสดิการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 40,000 บาท ของผู้สูงอายุ
ผู้สูงอายุที่ยังอยู่ในบ้านตัวเอง มีสิทธิได้ค่าซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ 40,000 บาท
คุณสมบัติขอรับค่าซ่อมแซมบ้านผู้สูงอายุ
- มีฐานะยากจน หรือรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
- ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ หรือได้รับแต่ไม่เพียงพอ
- ที่อยู่อาศัย ไม่มั่งคง ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยกับการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ
- กรณีที่อยู่อาศัยและ/หรือที่ดินที่เป็นที่ตั้งของที่อยู่อาศัยไม่ได้เป็นของผู้สูงอายุ หรือทายาท ต้องอาศัยอยู่จริงไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย
- สามารถยื่นได้ที่กรมกิจการผู้สูงอายุ หรือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.)
โดยงบประมาณในการดําเนินการ เป็นค่าดําเนินการปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ รวมทั้งค่าบริหารจัดการและค่าตอบแทนในอัตราเหมาจ่ายหลังละไม่เกิน 40,000 บาท โดยถัวจ่ายทุกรายการ
เอกสารสำคัญที่ต้องใช้
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- หนังสือยินยอมให้ปรับปรุงบ้าน
ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ 3,000 บาท
ปี 2567 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะดำเนินการโครงการใหม่ “ครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นครอบครัวที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ให้เป็นครอบครัวอุปถัมภ์ผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน และไม่มีผู้ดูแลหรือ มีแต่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้
ด้วยการสนับสนุนงบประมาณเดือนละ 3,000 บาทให้แก่ ลูกหลาน เครือญาติ หรือคนในชุมชน ที่ดูแลผู้สูงอายุเปราะบางแล้วไม่มีใครดูแล เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์พัฒนาการและสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ จะให้การสนับสนุนจนกว่าผู้สูงอายุจะเข้มแข็งขึ้นหรือเสียชีวิต ปีแรกตั้งงบประมาณรองรับ 1,100 ราย จากนั้นจะประเมินผลและตั้งงบฯรองรับเพิ่มเติมต่อไป
อ่านเพิ่ม