ไทยไม่ผลิตธนบัตรที่มีค่าสูงกว่า 1000 บาท

ทำไม ไทยไม่ผลิตธนบัตรที่มีค่าสูงกว่า 1000 บาท

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • การเพิ่มธนบัตรใหม่ที่มีมูลค่าแพงขึ้นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยตรง เพียงแต่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในแง่ของการใช้จ่ายของประชาชนให้เกิดความสะดวกมากขึ้น
  • การออกแบงก์ใหม่ช่วยป้องกันปัญหาแบงก์ปลอมที่แพร่ระบาดได้ดี เพราะสามารถเพิ่มเทคนิคป้องกันการปลอมได้มากขึ้น
  • แบงค์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงไม่ได้เป็นปัจจัยก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นหรือธุรกิจมืดเสมอไป
  • ไทยยังไม่มีแนวคิดออกแบงก์ใหม่ที่แพงกว่า 1,000 บาทในเร็ว ๆ นี้ เพราะมูลค่าที่มีอยู่ ณ ปัจจัยเหมาะสมกับขนาดเศรษฐกิจและการใช้สอยของประชาชนแล้ว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

แม้จะมีหลายสิ่งเปลี่ยนไป แต่ธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดของสกุลเงินบาทก็ยังคงเป็น 1000 บาท มา 3 ทศวรรษแล้ว ทั้งที่ราคาข้าวของในท้องตลาดก็ขึ้นราคาไปตั้งเท่าไหร่มิรู้เท่าไหร่ แต่ทำไม ไทยไม่ผลิตธนบัตรที่มีค่าสูงกว่า 1000 บาท เพื่อสู้เงินเฟ้อเลย

ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อเล่นงานอย่างหนักจนต้องงัดมาตรการต่าง ๆ ออกมารับมือกันจ้าละหวั่น ไม่ว่าจะเป็น การขึ้นดอกเบี้ย การควบคุมราคาสินค้าและราคาพลังงาน ไปจนถึงการเร่งเยียวยากลุ่มเปราะบาง

ทว่าหนึ่งในวิธีรับมือเงินเฟ้อที่ทำกันในหลายประเทศ แต่กลับไม่ค่อยพบเห็นนักในบ้านเราคือ พิมพ์ธนบัตรใหม่ที่มูลค่าสูงขึ้น

อย่างล่าสุดอาเจนตินาได้พิมพ์ธนบัตร มูลค่าใบละ 10,000 เปโซ (ราว 6,339 บาท) ออกมา มูลค่าแบงค์ใบละ 2,000 เปโซ (ราว 1,200 บาท) ซึ่งมีมูลค่าสูงสุดในปัจจุบันถึง 5 เท่าตัว ขณะที่ญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้า โดยเตรียมออกธนบัตรฉบับใหม่มูลค่า 10,000 5,000 และ 1,000 เยน (ราว 2,336 1,168 และ 116 บาท ตามลำดับ) ออกมาใช้ในต้นเดือน ก.ค. 2567 นี้

ทำไม ไทยไม่ผลิตธนบัตรที่มีค่าสูงกว่า 1000 บาท

ปัจจุบันประเทศไทยของเรายังไม่มีความคิดที่จะเพิ่มแบงค์ใบใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น โดยมูลค่าต่อใบสูงสุดที่มีอยู่ในท้องตลาดคือ 1,000 บาท และออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2535 หรือเมื่อ 32 ปีที่แล้ว

เหตุผลที่ยังไม่ออกแบงค์ใบใหม่ที่แพงกว่า 1,000 บาท เลยหลังจากนั้นนั่นก็คือ มูลค่าเงินต้องสัมพันธ์กับปริมาณการใช้จ่ายของประชาชนด้วย ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ในฐานะผู้ดูแลและกำกับการผลิตแบงค์ ก็มองว่าเป็นมูลค่าที่เหมาะสมกับขนาดเศรษฐกิจและการดำรงชีพของประชาชนแล้ว

นอกจากนี้ ยิ่งเมื่อมีปัจจัยด้านเทคโนโลยีอย่างการโอนเงินด้วยแพพลิเคชั่นและเงินสกุลดิจิทัล ยิ่งทำให้ปัจจัยการถือครองธนบัตรใบที่มีมูลค่าสูง ๆ ไม่จำเป็นเสมอไป คงเหลือไว้แต่ธนบัตรใบย่อย ๆ เพื่อจับจ่ายซื้อของในชีวิตประจำวัน

ทำไมหลายประเทศทั่วโลก พิมพ์ธนบัตรใหม่ที่มูลค่าสูงขึ้น 

การพิมพ์แบงก์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น เป็นทางเลือกที่หลายประเทศเลือกทำเมื่อเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ แล้วการพิมพ์แบงก์ใหม่ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาวะเงินเฟ้อได้อย่างไร วันนี้พี่ทุยหาคำตอบมาให้แล้ว

1. ลดภาระการถือครอง เพิ่มความสะดวกทางการค้าและลงทุน

แน่นอนว่าเมื่อราคาข้าวของเครื่องใช้แพงขึ้นอย่างหนัก การใช้เงินในจำนวนมากขึ้นเพื่อหาซื้อสินค้าและบริการก็ย่อมต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ยิ่งเมื่อเป็นสินค้าหรือบริการที่มีราคาแพงด้วยแล้ว ผู้ซื้อและผู้ขายอาจต้องใช้เงินเป็นฟ่อน ๆ เพื่อทำธุรกรรมกันเลยทีเดียว

ยกตัวอย่างเช่นจะออกไปซื้อของที่ร้านค้าสักแห่งหนึ่ง ประชาชนต้องพกธนบัตรไปทีคราวละมาก ๆ เพื่อให้พอใช้จ่ายในแต่ละครั้ง

ภาวะดังกล่าวสร้างภาระต้นทุนให้แก่ทั้งฝั่งตัวผู้ซื้อและผู้ขายในเวลาเดียวกัน เพราะผู้ซื้อต้องพกเงินไปเป็นจำนวนมาก แถมยังเสี่ยงต่อการถูกปล้น หรือ ขโมยจากผู้ไม่หวังดีอีก ในขณะที่ฝั่งผู้ขายก็ลำบากต้องนั่งนับแบงก์และเหรียญในการทำธุรกรรมในแต่ละครั้ง

ดังนั้นหนึ่งในวิธีแก้ที่หลายประเทศทำเมื่อเห็นว่าเริ่มคุมระดับเพดานราคาสินค้าไม่อยู่แล้วก็คือการออก “ธนบัตร หรือ แบงค์ ฉบับใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น” แทนไปเลย  โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ประสบกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง การออกธนบัตรใบใหม่ที่แพงขึ้นถือว่าจำเป็นมาก 

ยกตัวอย่าง เช่น อาเจนตินาที่กำลังประสบกับเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกือบถึง 290% การที่มูลค่าสินค้าและบริการแพงขึ้นอย่างรวดเร็ว การมีแบงค์ใหม่ก็น่าจะทำให้ประชาชนเกิดความคล่องตัวมากขึ้น ขณะที่เมียนมาก็เพิ่งมีการออกธนบัตรใบละ 20,000 จ๊าด (ราว 348 บาท) เมื่อปลายปีที่แล้ว เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อและค่าเงินในประเทศตกต่ำอย่างหนัก

แม้จะไม่ได้แก้ปัญหาเงินเฟ้อโดยตรง แต่ก็ถือเป็นการบรรเทาปัญหาด้วยการเพิ่มความสะดวกให้กับประชาชนผู้ใช้

2. ป้องกันการปลอมแปลง

เหล่านักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินมองว่า นอกจากการมีธนบัตรฉบับใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำธุรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง ๆ ยังช่วยแก้ปัญหาแบงค์ปลอมที่ระบาดหนักอีกด้วย

เหมือนเช่นที่ญี่ปุ่นได้ออกธนบัตรฉบับใหม่ ราคาใบละ 10,000 5,000 และ 1,000 เยน (ราว 2,336 1,168 และ 116 บาท ตามลำดับ) เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว 

เหตุก็เพราะว่าธนบัตรใบเดิมที่ใช้อยู่มีการปลอมแปลงมากจนเกินจะจัดการไหว ดังนั้นการออกแบงค์ฉบับใหม่ไปเลยจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า แถมยังสามารถเพิ่มเทคนิคป้องกันการปลอมที่ซับซ้อนมากขึ้นได้อีกด้วย

ไทยไม่ผลิตธนบัตรที่มีค่าสูงกว่า 1000 บาท เพราะกลัวคอร์รัปชั่นหรือไม่?

พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนอาจคงจำกันได้ในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมามีนักการเมืองพรรคหนึ่งออกมาหาเสียงด้วยแนวคิดการยกเลิกแบงก์ 1,000 บาท เพราะเชื่ออย่างสนิทใจว่า การโกงการทุจริตและธุรกิจมืดทั้งหลายมักซื้อขายด้วยเงินสดมูลค่าสูง ๆ เพื่อเลี่ยงการตรวจสอบในทางบัญชี

แนวคิดสุดแหวกแนวของนักการเมืองดังกล่าวสร้างความแปลกประหลาดใจให้กับใครหลายคนทีเดียว แต่นั่นก็ไม่ใช่คนแรกในโลกที่คิดแบบนั้น เพราะเคยมีการทำจริงมาแล้วที่อินเดีย แต่ทว่าผลลัพธ์กลับย่ำแย่ลงกว่าเก่า เนื่องจากการทุจริตและธุรกิจมืดก็ยังไม่หายไปไหน 

ดังนั้นการมีธนบัตรฉบับใหม่ที่แพงขึ้นจึงไม่เกี่ยวอะไรกับการจะทำให้เกิดปัญหาทุจริตหรือธุรกิจผิดกฎหมายที่มากขึ้น 

ดังนั้นแล้วการออกธนบัตร หรือ แบงค์ใบใหม่ที่แพงขึ้นก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นตามบริบทและเงื่อนไขของประเทศนั้น ๆ เป็นที่ตั้ง และแบงก์มูลค่าสูงขึ้นก็ไม่ได้ช่วยแก้เงินเฟ้อ เพียงแต่เมื่อต้องเผชิญเงินเฟ้อแล้วก็จำเป็นต้องออกแบงก์มูลค่าสูงขึ้นเพื่อความสะดวกของประชาชน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile