ธนบัตรที่เราใช้อยู่กันทุกวัน นานวันมันก็เก่า ขาด ชำรุด ซึ่งปัญหาตามมาคือเรานำไปใช้ซื้อของไม่ได้ แต่ ๆๆ ไม่ได้แปลว่าแบงก์ขาด ๆ จะหมดมูลค่าไป วันนี้พี่ทุยรวม 8 รูปแบบ แบงก์ขาด เก่า ชำรุด แบบไหนเอาไปแลกคืนได้ แล้วได้เงินคืนเต็มจำนวนมั้ย ไปดูกัน
8 รูปแบบ แบงก์ขาด เก่า ชำรุด อย่าเพิ่งทิ้ง ดูก่อนแบบไหนถึงแลกคืนได้
ถ้ามีธนบัตรที่ชำรุดอยู่ในครอบครอง สามารถเอาไปแลกเงินคืนได้ โดยจำนวนเงินที่ได้คืน ขึ้นอยู่กับลักษณะที่ชำรุด
1. ธนบัตรที่ขาดแล้วนำมาติดเทปใสให้ต่อกัน โดยเป็นเลขประจำธนบัตรฉบับเดียวกันทั้งหมด
- แลกคืนได้ทันที
- มูลค่าที่แลก : แลกได้เต็มราคาของธนบัตร
2. ธนบัตรขาด แต่เนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน
- แลกคืนได้ทันที
- มูลค่าที่แลก : แลกได้เต็มราคาของธนบัตร
3. ธนบัตรขาดวิ่น แหว่ง แต่เนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน
- แลกคืนได้ทันที
- มูลค่าที่แลก : แลกได้เต็มราคาของธนบัตร
4. ธนบัตรขาด แหว่งเนื้อธนบัตรเหลืออยู่น้อยกว่า 3 ใน 5 ส่วน แต่มากกว่าครึ่ง
- ต้องเขียนคำร้อง ณ ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะส่งต่อไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา
- มูลค่าที่แลก : แลกได้เต็มราคาของธนบัตร ผ่านการโอนเข้าบัญชีหรือธนาณัติ
5. ธนบัตรที่ขาดแล้วนำมาติดเทปใสให้ต่อกัน แต่เลขประจำธนบัตรคนละเลข (ไม่เกิน 2 ท่อน)
- ต้องเขียนคำร้อง ณ ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะส่งต่อไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา
- มูลค่าที่แลก : แลกได้เต็มราคาของธนบัตร ผ่านการโอนเข้าบัญชีหรือธนาณัติ
6. ธนบัตรเก่าจนเลือน แต่รู้ว่าเป็นชนิดใด
- ต้องเขียนคำร้อง ณ ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะส่งต่อไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา
- มูลค่าที่แลก : แลกได้เต็มราคาของธนบัตร ผ่านการโอนเข้าบัญชีหรือธนาณัติ
7. ธนบัตรขาดครึ่งตรงกลาง
- ต้องเขียนคำร้อง ณ ธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจะส่งต่อไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยพิจารณา
- มูลค่าที่แลก : แลกได้ครึ่งราคาของธนบัตร ผ่านการโอนเข้าบัญชีหรือธนาณัติ
8. ธนบัตรเป็นก้อนติดกัน ถูกไฟไหม้ แมลงกัด ปลวกกิน
หรือเก็บไว้แล้วเปื่อยจนติดกันเป็นก้อน อันดับแรกห้ามแกะเอง
- ต้องเขียนคำร้อง ณ ธนาคารพาณิชย์ โดยให้เจ้าหน้าที่ธนาคารออกเอกสารหลักฐาน จากนั้นให้นำธนบัตรไปส่งที่ ‘สายออกบัตรธนาคาร’ (กอบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยตนเอง เพื่อขอตรวจพิสูจน์
- มูลค่าที่แลก : ธนบัตรจะถูกแยกออกมาตรวจพิสูจน์เป็นรายฉบับ หากใบไหนเนื้อกระดาษเหลือเกินกว่า 3 ใน 5 ส่วนจะได้รับเงินคืนเต็มมูลค่า ผ่านช่องทางการโอนและธนาณัติแลกได้
แบงก์ขาด ชำรุดแลกได้ที่ไหนบ้าง
หากเพื่อน ๆ มีธนบัตรเก่า ขาด ชำรุด สามารถนำไปแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ ทั้งสิ้น ที่
- ธนาคารออมสินทั่วประเทศ ทุกวันทำการ จันทร์ – ศุกร์
- ธนาคารพาณิชย์ทั่วประเทศ เฉพาะวันพุธ (ยกเว้นสาขาย่อยและสาขาในห้างสรรพสินค้า)
วิธีการแลก แบงก์ขาด ชำรุด
แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 แลกเปลี่ยนที่เคาน์เตอร์ธนาคารได้ทันที
- สำหรับธนบัตรที่มีเนื้อธนบัตรเหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน จะสามารถแลกเปลี่ยนได้คืนเต็มตามราคาหน้าธนบัตรได้ทันที
กรณีที่ 2 ต้องเขียนคำร้อง
กรณีที่ 2.1 นำธนบัตรที่ชำรุด ขาด ให้เจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อนำส่งธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป
- สำหรับธนบัตรชำรุดครึ่งฉบับ ธนบัตรต่อท่อนผิด และธนบัตรขาดวิ่นที่มีเนื้อน้อยกว่า 3 ใน 5 ส่วน
- ผู้ขอแลกจะต้องเขียนคำร้องขอแลกเปลี่ยน พร้อมแนบธนบัตรชำรุดยื่นต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร เพื่อนำส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณา
- เมื่อพิจาณาเสร็จสิ้น ทาง ธปท. จะโอนเงินค่าแลกเปลี่ยนเข้าบัญชีออมทรัพย์ หรือทางธนาณัติ ตามที่ผู้ขอแลกระบุไว้ในคำร้อง
กรณีที่ 2.2 ผู้ขอแลกต้องนำธนบัตรส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยตนเอง
- สำหรับธนบัตรชำรุดรูปแบบไฟไหม้เกรียม สัตว์หรือแมลงแทะ หรือเปื่อยติดกันเป็นปึกจำนวนมาก
- ผู้ขอแลกต้องนำธนบัตรไปแสดงต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารเพื่อขอออกหลักฐาน จากนั้นให้นำธนบัตรส่งไปส่งที่ ‘สายออกบัตรธนาคาร’ (กอบ.) ธนาคารแห่งประเทศไทย ด้วยตนเอง เนื่องจากธนบัตรเหล่านี้ อาจได้รับความเสียหายระหว่างจัดส่ง
แบงก์ขาด ชำรุดแบบไหน ไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้
ถ้าเป็นกรณีเหลือธนบัตรเพียงเสี้ยวเดียว (น้อยกว่าครึ่ง) แบบนี้จะไม่สามารถแลกเป็นธนบัตรใหม่ได้ เพราะอาจจะมีคนเอาอีกส่วนมาแลกซ้ำได้อีก
แลกเงินขาด ชำรุดที่ธนาคารกี่วันได้
หากเป็นกรณีแบงก์ขาด เหลืออยู่เกินกว่า 3 ใน 5 ส่วน จะสามารถแลกเปลี่ยนได้คืนเต็มตามราคาหน้าธนบัตร ที่เคาน์เตอร์ธนาคารได้ทันที
แต่ถ้าเสียหายมากกว่านี้ ก็ต้องเขียนคำร้อง ตามที่ระบุข้างต้นใช้เวลา 2-3 สัปดาห์
ดังนั้น ใครที่มีแบงก์ขาด ธนบัตรชำรุด ก็อย่าเพิ่งนำไปทิ้ง สามารถนำไปให้แลกคืนได้ โดยจะเต็มจำนวนไหม ก็ขึ้นกับว่าแบงก์เราชำรุดขนาดไหน “อย่าให้ใครมาหลอกว่าใช้ไม่ได้หรอก แล้วเอาแบงก์เก่าเราไป”
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ แผนกตรวจพิสูจน์ธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย โทร. 0-2356-8736-7 ศูนย์จัดการธนบัตร ธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนภูมิภาค ทั่วประเทศ
อ่านเพิ่ม