ส่องแนวโน้ม "ค่าเงินเยน" 2022 ทำไมจึงอ่อนค่าอย่างมาก ?

ส่องแนวโน้ม ค่าเงินเยน 2022 ทำไมจึงอ่อนค่าอย่างมาก ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ความแตกต่างของนโยบายการเงินระหว่างสองประเทศส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของเม็ดเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนก็เคลื่อนไหวตามกระแสของเม็ดเงินเหล่านั้น
  • Fed ดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวเพื่อชะลอเงินเฟ้อที่ร้อนแรง ส่วน BOJ ยังต้องใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เป็นผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2022
  • หากค่าเงินอ่อนจะส่งผลดีต่อภาคส่งออก แต่ในช่วงที่ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น กลับส่งผลให้ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เข้าปี 2022 ค่าเงินเยน อ่อนค่าอย่างรวดเร็ว จาก 115 เยนต่อดอลลาร์ และอ่อนค่าลงมาเรื่อย ๆ จนต้นเดือน ก.ย. ก็ทะลุ 140 เยนต่อดอลลาร์ นับว่าเป็นการอ่อนค่าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี เป็นการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์ประมาณ 26%

ซึ่งเป็นผลจากการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อแก้ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูง ขณะเดียวกันก็สร้างปัญหาต่อการทำ Yield curve control ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งเป็นนโยบายการเงินผ่อนคลายที่ต้องการลดต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

พี่ทุยขอพาไปศึกษาหาสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินเยนอ่อนค่า และแนวโน้มค่าเงินที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในอนาคต

ก่อนอื่นเลยพี่ทุยต้องพาไปรู้จักกับ Yield curve กันก่อน

Yield curve คือ เส้นที่แสดงให้เห็นผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับเทียบจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีอายุต่างกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่การกู้ยืมระยะยาวจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าการกู้ยืมระยะสั้น ดังนั้นเส้น Yield curve หรือเส้นอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ในสภาวะปกติจึงมีลักษณะโค้งชันขึ้นจากซ้ายไปขวา

BOJ ใช้มาตรการ Yield curve control ควบคุมต้นทุนทางการเงิน

ในสภาวะปกติแรงซื้อขายจากนักลงทุนในตลาดจะเป็นสิ่งกำหนดว่าตราสารหนี้แต่ละช่วงอายุควรมีผลตอบแทนเท่าใด แต่เมื่อปี 2016 BOJ ได้ก้าวเข้ามาแทรกแซงตลาดตราสารหนี้ญี่ปุ่นด้วยการทำ yield curve control โดยควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ไว้ที่กรอบระหว่าง -0.25% ถึง 0.25%

ฉะนั้นตามธรรมชาติของการกู้ยืมเงินที่หนี้ระยะยาวจะจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหนี้ระยะสั้น และถ้า BOJ คุมดอกเบี้ยตราสารหนี้ระยะยาวไว้ที่ 0.25% ตราสารหนี้ระยะสั้นก็จะจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่า 0.25% ผลที่ได้คือ การลดต้นทุนทางการเงินได้ทั้งหนี้ระยะยาวและสั้น ภาคธุรกิจจะได้กู้ยืมเงินที่ BOJ อัดฉีดผ่านมาตรการ QE ออกมาใช้

นโยบายการเงินตึงตัวของสหรัฐฯ ดึงดูดเงินจากทั่วโลกเข้าสหรัฐฯ

แต่แล้วก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการที่ Fed เริ่มดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวทั้งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวมไปถึงเปิดเผยว่าจะดึงสภาพคล่องออกจากระบบด้วยมาตรการ QT ทำให้ “เม็ดเงินจากทั่วโลกไหลกลับไปยังสหรัฐฯ” และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond yield) ของญี่ปุ่นปรับตัวขึ้น

BOJ ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างไร ?

ด้วยมาตรการ Yield curve control ทำให้ BOJ เดินหน้าซื้อพันธบัตรด้วยปริมาณไม่จำกัดเพื้อควบคุมไม่ให้ Bond yield ของพันธบัตรอายุ 10 ปี เพิ่มขึ้นเกินกว่า 0.25% โดยเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2022 BOJ ก็ใช้มาตรการอีกครั้งหลังมีแรงขายพันธบัตรญี่ปุ่นส่งให้ Bond yield ไปแตะระดับ 0.25% โดยในที่สุดก็ปรับตัวลงมาที่ 0.21%

เช่นเดียวกับในเดือน มิ.ย. BOJ ก็เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นมูลค่า 16.20 ล้านล้านเยน และในเดือน ก.ย. เมื่อค่าเงินเยนยังทรุดตัวลงอีก ก็มีข่าวว่า BOJ จะเพิ่มการซื้อพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5-10 ปี มูลค่า 5.5 แสนล้านเยน เพื่อกดให้ผลตอบแทนเคลื่อนไหวต่ำกว่าเพดาน 0.25%

นโยบายที่ต่างกันระหว่าง Fed และ BOJ เป็นสาเหตุ ค่าเงินเยน อ่อนค่า

อย่างที่พี่ทุยบอกว่าไปว่าสาเหตุหลักเกิดจากการใช้นโยบายการเงินตึงตัวของ Fed ส่งให้สินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์มีความน่าสนใจมากขึ้นและดึงดูดเม็ดเงินจากทั่วโลก ด้านญี่ปุ่นซึ่งเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่วนเงินเฟ้อก็ยังไม่พุ่งสูงพอที่ BOJ จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อชะลอความร้อนแรง เม็ดเงินลงทุนจึงออกจากญี่ปุ่นไปหาสินทรัพย์ในสกุลเงินดอลลาร์

นอกจากนี้เมื่อนักลงทุนรู้ว่ามีมาตรการ Yield curve control ที่รับซื้อตราสารหนี้ไม่อั้น ก็ยิ่งส่งเสริมให้นักลงทุนเทขายตราสารหนี้แล้วไปลงทุนนอกประเทศได้อย่างไม่ต้องคิดหน้าคิดหลังมาก เพราะ BOJ รับซื้อไม่จำกัดปริมาณที่ Bond yield ไม่เกิน 0.25% นั่นหมายความว่านักลงทุนสามารถขายพันธบัตรได้โดยรู้ด้วยว่ายังไงราคาขายก็จะไม่แย่ไปกว่า Bond yield ที่ 0.25% (Bond yield ขึ้น ราคาพันธบัตรร่วง)

และญี่ปุ่นก็นับเป็นไม่กี่ประเทศที่เดินหน้าตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ -0.1% แม้เทรนด์ทั่วโลกจะเป็นดอกเบี้ยขาขึ้นก็ตาม

เท่ากับว่ายิ่งเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนนำเงินลงทุนออกจากประเทศญี่ปุ่นได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่ BOJ ก็ยังไม่สามารถใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อดึงดูดเม็ดเงินได้ เพราะสภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่แข็งแกร่งเหมือนอย่างที่สหรัฐฯ เป็นอยู่

ความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินเยน ย่อมมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจ

อดีตที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้รับประโยชน์จากค่าเงินเยนอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลดอลลาร์ เพราะจะช่วยให้อุตสาหกรรมหลักของประเทศอย่างยานยนต์ที่ส่งออกไปทั่วโลกมีรายได้มากขึ้นเมื่อเปลี่ยนจากสกุลดอลลาร์เป็นเงินเยน

แต่ในช่วงเวลานี้ที่ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ การที่เงินเยนอ่อนค่ากลับส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจเนื่องจากต้นทุนสินค้านำเข้าทุกชนิดก็จะเพิ่มขึ้น ภาระค่าครองชีพก็สูงขึ้นเช่นกัน และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งก็ไม่อยู่ในภาวะที่ BOJ จะดำเนินนโยบายใดได้ จะมีเพียงแต่รัฐบาลเท่านั้นที่มีการออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน

การเปลี่ยนแปลงค่าเงินอย่างฉับพลันและรุนแรงแบบนี้ ทางการญี่ปุ่นก็ยอมรับว่า ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและไม่พึงปรารถนา ปัญหาก็คือญี่ปุ่นมีทางเลือกสำหรับการแก้ปัญหานี้อยู่น้อยมาก

โดยทางญี่ปุ่นเองก็มีแรงจูงใจจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาน้อยมาก เพราะตัวเลขเงินเฟ้อในประเทศไม่สูง และเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในสภาพอ่อนแอ การเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินเยนก็ทำได้จำกัด

แนวโน้ม ค่าเงินเยน ในอนาคต

สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนยังเป็นปัจจัยหลักที่ส่งให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์เคลื่อนไหวในราคาที่สูงเช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ Fed จึงต้องดำเนินนโยบายการเงินตึงตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ BOJ ก็คงไม่สามารถขยับนโยบายการเงินจากผ่อนคลายเป็นตึงตัวได้เช่นกัน

ดังนั้นสำหรับปี 2022 ค่าเงินเยนจึงยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อไปและน่าจะลงเอยด้วยการเคลื่อนไหวในระดับที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับปี 2021 และแนวโน้มจะเปลี่ยนไปก็ต่อเมื่อ Fed หรือ BOJ เปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงิน

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยที่มีแพลนจะไปเที่ยวญี่ปุ่น พี่ทุยขอบอกว่าช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่น่าทยอยแลกเงินเยนเก็บไว้ด้วยนะ เพราะค่าเงินเยนก็อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทเหมือนกัน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย