สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ณ เวลานี้ นับว่าโหดร้ายเอาการอยู่มาก เพราะไม่เพียงแต่ต้องเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นแล้ว ล่าสุดดูเหมือนจะมี “วิกฤตอาหารโลก” เกิดขึ้นตามมาอีก หลังจากที่ดัชนี “ราคาอาหารโลก” ในเดือน มี.ค. 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 13% จากเดือน ก.พ. ในปีเดียวกัน จนถือเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่มีการจัดเก็บข้อมูลมา
จนล่าสุดแม้แต่เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก ถึงขั้นออกโรงเตือนดัง ๆ ว่า “โลกเข้าสู่ภาวะวิกฤตทางอาหารแล้ว” พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เหตุใดจึงเกิดเรื่องนี้ขึ้นและแนวโน้มในอนาคตจะเป็นอย่างไร วันนี้พี่ทุยมีคำตอบให้
“วิกฤตอาหารโลก” ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
เหตุที่ราคาอาหารทั่วโลกแพงขึ้นมาอย่างรวดเร็วนั้น เกิดมาจากราคาวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาใช้ทำอาหารปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวสาลีในเดือน มี.ค.ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 31% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2564 หรือจะเป็นข้าวโพดที่ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 32% ในช่วงเวลาเดียวกัน
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลพวงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนคือปัจจัยหลักที่ทำให้ราคาวัตถุดิบทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
เพราะต้องเข้าใจว่าทั้งรัสเซียและยูเครนต่างก็เป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกวัตถุดิบทางการเกษตรเพื่อนำไปประกอบอาหารที่รายใหญ่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น ข้าวสาลีที่คิดเป็น 30% ของตลาดโลก น้ำมันพืชจากเมล็ดทานตะวันที่คิดเป็น 80% ข้าวโพดที่คิดเป็น 19%
การสู้รบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในสมรภูมิภาคตะวันออกของยูเครน ได้ทำให้การเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตต่าง ๆ เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพด ไม่สามารถทำได้ อีกทั้งการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปขายในต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำก็ต้องหยุดชะงักลงจากการถูกเรือรบของรัสเซียเข้าปิดล้อม
ดังนั้นหลายประเทศที่เคยพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากยูเครนและรัสเซีย อาทิ มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
ซึ่งบางประเทศ เช่น เลบานอน ถึงขั้นต้องร้องขอความช่วยเหลือเงินกู้จากธนาคารโลกมูลค่ากว่า 150 ล้านดอลลาร์ (ราว 4,800 ล้านบาท) เพื่อนำมาอุดหนุนค่าอาหาร โดยเฉพาะขนมปังและธัญพืช ให้แก่ประชากรของตนเองกันเลยทีเดียว
ด้านโครงการอาหารโลก หรือ World Food Programme ระบุว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป อาจนำไปสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง ประเทศต่าง ๆ จะค่อย ๆ ขาดเสถียรภาพ และการอพยพ กลายเป็น วิกฤตอื่น ๆ ต่อไปอีก
ราคาปุ๋ยแพง
นอกจากสินค้าเกษตรจะแพงแล้ว ราคาปุ๋ยซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญเพื่อใช้ปลูกพืชก็แพงขึ้นด้วย เนื่องจากรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบเพื่อใช้ทำปุ๋ยรายใหญ่ อาทิ โพแทส และซัลเฟส แต่ภาวะสงครามส่งผลกระทบต่อระบบการขนส่งปุ๋ยดังกล่าวไปต่างประเทศ
อีกทั้งด้วยราคาก๊าซที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้นตาม เนื่องจากก๊าซเป็นต้นทุนสำคัญในการผลิตแอมโมเนียในปุ๋ย
อ่านเพิ่ม
- หาก “รัสเซียบุกยูเครน” จะส่งผลอะไรกับเศรษฐกิจไทยบ้าง ?
- [สรุป] มาตรการ “คว่ำบาตรรัสเซีย” ของชาติตะวันตก – ทำไมรัสเซียยังเดินหน้าบุกยูเครน
- รู้จัก Gazprom บริษัทน้ำมันและก๊าซที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย
โลกร้อนทำให้ผลผลิตการเกษตรตกต่ำ
ไม่ใช่ภาวะสงครามอย่างเดียวที่ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น แต่อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง เนื่องจากภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศในหลายประเทศแปรปรวนหนัก ดังนั้นการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจในหลาย ๆ ประเทศจึงเกิดความเสียหายขึ้น
ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะเมื่อย้อนดูข้อมูลดัชนีราคาอาหารโลกก็เริ่มมีทิศทางเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนจะเกิดภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนแล้ว
“วิกฤตอาหารโลก” นำไปสู่ภาวะความอดอยากและเสี่ยงจลาจล
ไม่ต้องบอกก็รู้กันดีอยู่แล้วว่า อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพวกเราทุกคน
ดังนั้นการที่ราคาอาหารแพงขึ้น แต่ที่มาของรายได้ยังคงเท่าเดิมหรือน้อยลง ย่อมส่งผลโดยตรงต่อการเข้าถึงอาหาร และนำไปสู่ปัญหาความอดอยากและขาดสารอาหาร ซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการทางร่างกายและสติปัญญาของประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางกว่า 13 ล้านคนทั่วโลก
ปรากฏการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งก็รวมถึงไทยเราด้วย เพราะนอกจากอาหารแพงขึ้นแล้ว ยังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันกับช่วงเวลาราคาพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย
ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้น หลายประเทศกลับยังไม่ฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้ขาดรายได้ และต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้
ดังนั้นภาวะวิกฤตราคาอาหารที่แพงขึ้นจึงไม่ต่างอะไรกับน้ำมันที่สาดเข้าไปในกองเพลิงให้ลุกโชนหนักขึ้น จึงไม่แปลกที่จะเริ่มเห็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อผู้นำรัฐบาลในการจัดการที่ล้มเหลวในประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น อาทิ ศรีลังกา ปากีสถาน เปรู และอียิปต์
หนทางสู่อนาคตยังดูมืดมัว
แม้ในขณะนี้หลายประเทศ0ะเริ่มตื่นตัวกับภาวะวิกฤตราคาอาหารโลกมากขึ้น แต่พี่ทุยกลับคิดว่าหนทางในอนาคตกลับยังดูมืดมัวยิ่งนัก เพราะผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกคาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกพักใหญ่จากความยืดเยื้อของสงครามรัสเซีย-ยูเครน
และไหนจะเพิ่งมีข่าวร้ายจากอินโดนีเซียว่าที่ของดส่งออกน้ำมันปาล์มชั่วคราว เพื่อเก็บไว้ใช้บริโภคในประเทศตนเองก่อน ซึ่งความเคลื่อนไหวของอินโดนีเซียรอบนี้ย่อมสั่นสะเทือนต่อระดับราคาอาหารโลกแน่นอน เพราะอินโดนีเซียคือผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก อีกทั้งน้ำมันปาล์มยังเป็นวัตถุดิบสำคัญที่นำไปใช้ผลิตเป็นน้ำมันพืช และวัตถุดิบการสำหรับแปรรูปอาหารหลายชนิด
จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมธนาคารโลกถึงออกมาเตือนว่า โลกได้เข้าสู่ภาวะวิกฤตอาหารแล้ว และยังคาดการณ์อีกด้วยว่าราคาอาหารโลกอาจเพิ่มขึ้นสูงถึง 37% เลยด้วยซ้ำ
วิกฤตการณ์ราคาอาหารที่แพงขึ้นจึงนับเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ทุกประเทศต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะเสี่ยงที่จะเข้ามาซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ดังนั้น พี่ทุยมองว่าเราต้องติดตามปัญหานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะปัญหานี้เหมือนคลืนใต้น้ำที่ใกล้ตัวเราเข้ามาทุกวัน
อ่านเพิ่ม