พี่ทุยว่าเราต้องเคยได้ยินคำว่าติด “เครดิตบูโร” เพราะมีการ “ค้างชำระหนี้” หรือ “ขึ้น Blacklist เครดิตบูโร” กันมาบ้าง บางทีก็จากที่เพื่อนคุยกันหรือเจ้าหน้าที่ธนาคารพูดถึงก็มีเหมือนกัน แล้วเครดิตบูโรคืออะไร ? แล้วทำไมเราต้องสนใจด้วยล่ะ ?
“เครดิตบูโร” เป็นชื่อองค์กรเอกชนองค์กรหนึ่งที่จะคอยเก็บประวัติการใช้สินเชื่อจากทั้งธนาคารและสถาบันการเงิน ว่าเรากู้เท่าไหร่ จ่ายตรงมั้ย ? โดยเวลาที่เราชำระสินเชื่อคืนให้กับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินก็จะส่งข้อมูลให้กับเราว่า เราจ่ายตรง จ่ายช้า หรือว่าค้างจ่าย
แล้วถ้าเราเกิดจ่ายไม่ตรงหรือว่าค้างจ่ายขึ้นมา เครดิตบูโรก็จะขึ้นสถานะตัวเราว่าเป็นอย่างไร ความเข้าใจผิดอย่างนึงก็คือหลายๆคนคิดว่าเครดิตบูโรทำหน้าที่อนุมัติสินเชื่อให้กับเรา แต่จริงๆเครดิตบูโรทำหน้าที่เก็บข้อมูลเท่านั้น แต่เวลาที่สถาบันการเงินจะอนุมัติสินเชื่อหรือให้ใครยืมเงิน เค้าก็จะมาดูประวัติการใช้บริการสินเชื่อก่อนว่าเป็นยังไงบ้าง ?
ลองคิดดูว่ามีคนมากู้ยืมเงินสองคน คนนึงไม่เคยมีประวัติเสียเลยกับ อีกคนจ่ายหนี้ไม่ตรงบ้างล่ะ เบี้ยวหนี้บ้างล่ะ เราจะอยากให้ยืมเงินหรือเปล่า ? ใจเค้าใจเราเน้าะ
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราติดสถานะ “ค้างชำระหนี้” หรือว่าชำระล่าช้าที่ “เครดิตบูโร” ?
สิ่งนึงที่กระทบแน่ๆ ก็คือ เวลาที่เราจะไปขอสินเชื่อหรือว่าจะทำบัตรเครดิตอะไรก็ตามง่ายๆ ก็คือ ถ้าเราจะเป็น “หนี้ในระบบ” จะทำให้เราเป็นได้ยากขึ้นมากๆ วงเงินหรือสินเชื่อต่างๆ สถาบันการเงินก็จะอนุมัติยากขึ้น รวมไปถึงอาชีพบางอาชีพหรืองานบางตำแหน่งก็มีการตรวจประวัติเครดิตบูโรก่อนรับเข้าทำงานเช่นกัน
ทางออกสำหรับคนที่มีประวัติ “ค้างชำระหนี้” ไปแล้วก็คือ ทำเครดิตตัวเองให้ดีใหม่ ชำระให้ตรง ชำระให้ครบอย่างสม่ำเสมอ แล้วจากนั้น 36 เดือนหรือ 3 ปี สถานะเราจะกลับไปเป็นปกติเอง #นานฝุดๆตั้ง3ปีแหน่ะ
พี่ทุยอยากจะเตือนว่าการเป็นหนี้เราควรชำระให้ตรงเสมอ อย่างแรกคือจะได้ไม่ต้องมีประวัติ “ค้างชำระหนี้” เผื่ออนาคตเราต้องใช้บริการสินเชื่อ อย่างที่สอง เราจะได้ไม่ต้องเสียเบี้ยปรับใดๆประหยัดรายจ่าย แล้วที่สำคัญถ้าติดเครดิตบูโรขึ้นมาใช้เวลาตั้ง 3 ปีกว่าจะทำให้สถานะดีขึ้น พี่ทุยว่าได้ไม่คุ้มเสียจริงๆเลยนะ