ทำไม "ราคา Bitcoin" อาจลดลงถึง 20,000 ดอลลาร์ ?

ทำไม “ราคา Bitcoin” อาจลดลงถึง 20,000 ดอลลาร์ ?

5 min read  

ฉบับย่อ

  • ราคาของ Bitcoin เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีนี้ตามความต้องการที่มากขึ้น จนราคา Bitcoin ทำสถิติสูงสุดเมื่อเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ก่อนเริ่มปรับตัวลดลง
  • แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบันและในระยะข้างหน้า ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแผนที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 ส่งผลให้เงินทุนเริ่มไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น รวมทั้งกดดันให้ราคา Bitcoin ปรับตัวลดลงเช่นกัน
  • Bitcoin เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีวัฏจักรราคาขึ้น-ลง และมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามกับสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ
  • การแบน Bitcoin ในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างจีน จะทำให้ปริมาณความต้องการ Bitcoin ทั่วโลกลดลง กดดันราคา Bitcoin ลดลงด้วยเช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

บิตคอยน์ (Bitcoin) นับว่าเป็นเงินสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับกระแสความนิยมมากที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าตลาดที่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าตลาดคริปโททั้งหมด และอย่างที่นักลงทุนรู้กันว่า “ราคา Bitcoin” ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานั้นสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามปริมาณความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จนเมื่อช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา ราคา Bitcoin ทำสถิติราคาสูงสุดที่ 63,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึง 1,500% เทียบกับช่วงปี 2560 ที่ราคา Bitcoin ยังไม่ถึงระดับ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐ

แล้วหลังจากที่ทำจุดสูงสุดไป “ราคา Bitcoin” ก็ค่อย ๆ ปรับระดับลงมาตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในเดือนเมษายนจาก 63,000 ดอลลาร์สหรัฐ ลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ 47,000 ดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม และล่าสุดก็ลงมาอยู่ที่ประมาณ 35,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมาแล้วกว่า 90% ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน และเป็นระดับราคาที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 เดือน 

ซึ่งการปรับตัวลดลงอย่างหนักก็ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจมีความเป็นไปที่ราคา Bitcoin จะปรับตัวลดลงถึงระดับ 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ จากที่พี่ทุยลองติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้ว่า Bitcoin ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 3 ปัจจัย หลัก

3 ปัจจัยที่ทำให้ “ราคา Bitcoin” ลดลง

1. ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีแนวโน้มอาจจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาด

จากความร้อนแรงของเศรษฐกิจโลก หลังจากบรรดาประเทศมหาอำนาจมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนมากขึ้น จนเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบกว่า 10 ปี เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ล่าสุดจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อที่วัดจาก Personal Consumption Expenditures (PCE) หรือราคาสินค้าและบริการที่ชาวอเมริกันจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นตัวแปรหลักสำคัญที่ทาง Fed ติดตามเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยทาง Fed คาดว่าในปี 2564 นี้ อัตราเงินเฟ้อดังกล่าวจะพุ่งสูงขึ้นถึง 3.4% และปี 2565 และ 2566 จะเพิ่มอีกที่ 2.1% และ 2.2% ตามลำดับ เท่ากับว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในช่วง 3 ปีนี้จะอยู่ที่ 2.6% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ Fed ตั้งไว้ที่ 2% 

เมื่ออัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น คณะกรรมการและผู้แทน Fed จำนวน 13 จาก 18 ท่าน ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างน้อย 2 ครั้งในปี 2566 จาก 0.00-0.25% ในปัจจุบันเป็น 0.50%-0.75% ซึ่งนับว่าเร็วกว่าที่นักลงทุนในตลาดการเงินโลกคาดการณ์กันไว้ว่าน่าปรับขึ้นในช่วงสักปี 2567

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ทาง Fed มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดกันไว้ เพราะการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ มีความคืบหน้าอย่างมาก โดยปัจจุบันมีชาวอเมริกันเกินครึ่งหนึ่งได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว และอีกเกือบครึ่งของประชากรสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนครบสองเข็มแล้ว ทำให้ผู้คนมีความเชื่อมั่นในการออกมาซื้อสินค้าและบริการมากขึ้น ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ดีขึ้น คนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับเม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐให้นำไปซื้อของได้อย่างเต็มที่ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นมาจน Fed ส่งสัญญาณถึงการปรับดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์กันไว้

หลังจาก Fed ส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เป็นผลให้เงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น รวมทั้งคริปโทเข้าสู่สินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำกว่าอย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ โดยดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P500 และ Dow Jones ปรับตัวลดลงทันทีประมาณ 1-2% ขณะที่ “ราคา Bitcoin” ปรับตัวลดลงถึงเกือบ 20% ซึ่งทิศทางของดอกเบี้ยในอนาคตก็สร้างความเป็นไปได้ว่าราคาของ Bitcoin จะวิ่งลงมาได้อีก

ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้มีโอกาสที่เงินลงทุนจากไหลจากสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่ต่ำลงอย่างเช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ชุดใหม่ ๆ ที่กำลังจะออกมา แล้วให้ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสำหรับ Bitcoin ที่ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้ให้ดอกผลระหว่างทางก็จะมีแรงเทขายเพื่อไปเข้าสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม

2. เหตุผลเชิงเทคนิค (Technical) เกิดสัญญาณขาลง

แม้ว่า Bitcoin จะเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความผันผวนและมีความเสี่ยงสูงกว่าสินทรัพย์ทางการเงินอีกหลายประเภท แต่ทุกสินทรัพย์ก็จะมีวัฏจักรขึ้น-ลงตามกาลเวลา เช่นเดียวกับ Bitcoin ที่มีวัฏจักรการขึ้นลงเหมือนกับวัฏจักรเศรษฐกิจที่มีทั้งช่วงเริ่มร่วง ช่วงขาลง ช่วงเริ่มนิ่ง จนถึงช่วงกลับมาเติบโตใหม่

พี่ทุยอยากจะพาย้อนดูวัฏจักรของสินทรัพย์ทางการเงิน อย่างเช่น ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones ที่มีวัฏจักรขาขึ้นในช่วง 3-4 ปีก่อนเกิดวิกฤตดอทคอมปี 2543 โดยเริ่มพุ่งสูงขึ้นจากประมาณ 1,000 จุดในช่วงปี 2540 ขึ้นมาแตะระดับสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคม 2543 ที่ประมาณ 4,600 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 360% ก่อนจะปรับตัวลงมา เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้น S&P500 ที่มีวัฏจักรขาขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2546 ที่ประมาณ 1,200 จุด และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลา 4 ปี จนขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ประมาณ 2,000 จุดในเดือนตุลาคม 2550 หรือเพิ่มขึ้น 70% ก่อนจะปรับตัวเข้าสู่วัฏจักรขาลงจนไปแตะระดับต่ำสุดในช่วงปลายวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ประมาณ 930 จุด

นอกจากนี้ ถ้าลองเทียบเคียงกับสินทรัพย์ที่ได้ชื่อว่าเป็น Safe Haven อย่างทองคำก็จะพบว่ามีความสัมพันธ์ที่ตรงกันข้ามกัน นั่นคือ หากเริ่มจากจุดที่ราคา Bitcoin เป็นช่วงขาขึ้นในเดือนกันยายน 2560 จนถึงธันวาคม 2560 ราคา Bitcoin ปรับตัวสูงขึ้นจาก 3,900 ดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 19,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 400%

ขณะที่ราคาทองคำในช่วงเวลาเดียวกันกลับลดลงจาก 1,340 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ มาอยู่ที่ 1,240 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ หรือลดลงมาประมาณ 7% ขณะที่ในปัจจุบันช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาที่ราคา Bitcoin ลดลงมากว่า 90% แต่ราคาทองคำกลับมีทิศทางเพิ่มขึ้นประมาณ 6%

ซึ่งถ้าใครได้ติดตามกราฟราคาของ Bitcoin จะเห็นได้ว่าเกิดสัญญาณ Dead Cross คือเส้น EMA 50 วันตัดลงมาต่ำกว่าเส้น EMA 200 วัน ซึ่งถือว่าเป็นการคอนเฟิร์มว่า Bitcoin กำลังเข้าสู่ในช่วงขาลงอย่างเต็มตัวแล้ว

แม้ว่าตัวเลขระดับการเพิ่มขึ้น-ลดลงของทั้งสองสินทรัพย์มีความแตกต่างกัน แต่เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่ต่างชนิดต่างความเสี่ยงกันอย่างสิ้นเชิง การปรับตัวของราคาสินทรัพย์ชนิดหนึ่งจะแสดงถึงการปรับตัวในทางตรงกันข้ามกับสินทรัพย์อีกชนิดหนึ่ง ขณะที่ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่เติบโตบนความไม่แน่นอนของวัคซีนในบางกลุ่มประเทศ รวมกับทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็ยิ่งทำให้เงินทุนมีแนวโน้มไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงอย่าง Bitcoin ปรับตัวลดลงได้ในระยะข้างหน้า

3. การแบน Bitcoin ในหลายประเทศ

แน่นอนว่าสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin จะได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนเป็นอย่างมาก แต่สำหรับระดับประเทศยังเป็นสิ่งใหม่และยังต้องใช้เวลาที่จะยอมรับเงินสกุลดิจิทัลเข้ามาทำธุรกรรมในประเทศ ทำให้มีมาตรการควบคุมการซื้อขายต่อเนื่อง ซึ่งกระทบกับราคา Bitcoin อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ก่อนหน้านี้ทางธนาคารกลางจีน (PBOC) มีการเรียกตัวผู้บริหารบริษัทชำระเงินออนไลน์อย่าง Alipay รวมถึงผู้บริหารธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของจีนหลายแห่ง เช่น Industrial and Commercial Bank of China (ICBC) และ Agricultural Bank of China เป็นต้น

ธนาคารกลางจีน (PBOC) สั่งห้ามทำธุรกรรมการซื้อขายและบริการทางการเงินใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสกุลเงินดิจิทัลโดยเด็ดขาด ซึ่งให้เหตุผลว่าการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลเป็นการบิดเบือน (Disrupt) กฎระเบียบและรูปแบบทางการเงินปกติ และเพื่อป้องกันผู้บริโภคและนักลงทุนชาวจีน เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนและความเสี่ยงสูง รวมทั้งเพื่อป้องกันการฟอกเงินและการเกิดอาชญากรรมทางการเงินได้ ซึ่งทุกองค์กรต่างให้คำยืนยีนและตอบสนองมาตรการเหล่านี้อย่างเข้มงวด

ขณะที่ประธานาธิบดี Hassan Rouhani ของอิหร่าน ได้สั่งแบนเหมืองขุด Bitcoin รวมถึงคริปโทอื่นด้วย เนื่องจากเป็นสาเหตุที่ทำให้ไฟฟ้าภายในประเทศดับอยู่บ่อยครั้ง จนพลังงานไฟฟ้าในประเทศเกิดภาวะขาดแคลน โดยทางการอิหร่านยังได้มอบหมายให้ตำรวจปราบปรามและจับกุมเหล่านักขุดคริปโททั้งรายเล็กรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีการยึดเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ขุด Bitcoin ไปแล้วกว่า 7,000 เครื่องในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน แม้ว่าการขุด Bitcoin ในอิหร่านคิดเป็นเพียง 4% ของการขุดทั่วโลก แต่นับเป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงการไม่สนับสนุนใช้เงินสกุลดิจิทัลของประเทศมหาอำนาจในตะวันออกกลาง

ส่วนประเทศในบริเวณแถบอเมริกากลาง อย่างเอลซัลวาดอร์ โดยประธานาธิบดี Nayip Bukele ที่เพิ่งจะให้ผ่านร่างกฎหมายใช้ Bitcoin สำหรับการเป็นสกุลเงินหนึ่งในการทำธุรกรรมทางการเงิน การชำระภาษีควบคู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้กลายเป็นชาติแรกของโลกที่ยอมรับการทำธุรกรรมและชำระเงินด้วยเงินสกุลดิจิทัล

โดยทางเอลซัลวาดอร์ได้ขอความช่วยเหลือจากธนาคารโลก (World Bank) ในเรื่องเชิงเทคนิคของการทำธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ แต่ทางธนาคารโลกกลับปฏิเสธให้ความช่วยเหลือพร้อมเหตุผลที่ว่า Bitcoin ก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมโลก รวมถึงความกังวลเรื่องของความโปร่งใส และการกำกับดูแล ซึ่งยังต้องวิเคราะห์วิจัยกันต่อไปถึงความจำเป็นในการนำ Bitcoin เข้ามาใช้ในด้านการเงิน

แม้ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนในเงินสกุลดิจิทัลอย่าง Bitcoin จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนราคาพุ่งสูงขึ้นหลายร้อยหลายพันเท่า แต่ในอีกฝากหนึ่งของโลกก็ยังมีบางประเทศที่ไม่สนับสนุนสกุลเงินดิจิทัล รวมทั้งปัจจัยทางเศรษฐกิจและธุรกิจอีกมากมายที่ทำให้ราคา Bitcoin หรือคริปโทเคอร์เรนซีอื่นสามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วและยากแก่การคาดการณ์

ดังนั้น การทำความรู้จักและเข้าใจในสินทรัพย์ที่เราอยากลงทุนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่พี่ทุยอยากฝากเอาไว้ให้กับนักลงทุนทุกคน

ดูคลิป Youtube เพิ่มเติม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย