จริง ๆ แล้วเรื่องราวทั้งหมดอาจจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อ คริปโต ทำ All time high ตอนปี 2021 อุตสาหกรรมคริปโตเติบโตอย่างฉุดรั้งไม่อยู่ ผู้เล่นรายย่อย สถาบันการเงิน ศิลปิน เกมเมอร์ ต่างลงมาเล่นในตลาดนี้ ทำให้ คริปโต ปี 2022 เป็นตลาดเนื้อหอม แต่ก็มีจุดอ่อนที่เราทุกคนต่างคาดกันไม่ถึง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของพังทลายทุกอย่าง วันนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่ามันเริ่มจากตรงไหน และใครที่จะเป็นรายต่อไป
ลำดับเหตุการณ์ของ คริปโต ปี 2022
1. LUNA
9 พฤษภาคม
เริ่มต้นที่คนที่โจมตี LUNA เห็นจุดอ่อน และได้เทขาย เหรียญ UST มูลค่า 285 ล้านดอลลาร์ บนกระดานเทรด ทำให้เกิด Panic Sell ลุกลามไปถึงการเทขายเหรียญ LUNA และ UST จนราคา UST หลุด Peg และในที่สุด UST ก็ไม่สามารถกลับมามีมูลค่า 1 ดอลลาร์ได้ ซึ่งเกิดจากการ Short เหรีญ Bitcoin เพื่อโจมตีจุดอ่อนของ Luna Foundation Guard ที่มีไว้ป้องกัน แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์
13 พฤษภาคม
LUNA และ UST ราคาร่วง -99.99% แตะที่ระดับ 0.000001 ดอลลาร์ LUNA Coin Cryptocurrency ตัดสินใจปิดการทำงานของ Blockchain Terra
จากนั้น ผู้พัฒนาเหรียญ LUNA พยายามแก้ไขสถานการณ์ด้วยการสร้าง Terra 2.0 ขึ้นมาใหม่ด้วยการ Hard Fork ทำให้เกิดเหรียญ LUNA 2.0 ตามมา ส่วนเหรียญ LUNA เก่า ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น LUNAC แต่ก็ยังไม่สามารถกู้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนให้กลับมาเหมือนเดิมได้
อ่านเพิ่ม
2. 3AC
1 กรกฎาคม
3AC ยื่นขอล้มละลาย เพราะ
- มูลค่าสินทรัพย์ที่หายไป จากราคาคริปโตที่ดิ่งลงอย่างหนัก
- ลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ใน LUNA โดยถือสถานะเหรียญ UST ขนาดใหญ่มากอยู่ในโปรโตคอล Anchor แต่ไม่ป้องกันความเสี่ยงใด ๆ
- กลยุทธ์การเทรดในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูง ทำให้สินทรัพย์กองทุนหายเกลี้ยง จนไม่สามารถจ่ายคืนให้กับนักลงทุนและเจ้าหนี้ได้
ทำให้กระทบไปยังเจ้าหนี้หลายรายของกองทุน รวมถึง Celsius, FTX, BlockFi, BitMEX และ Nexo
3. Voyager Digital
5 กรกฎาคม
Voyager Digital กระดานเทรดคริปโต ยื่นขอล้มละลาย เพราะ 3AC ผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งประกอบด้วย Bitcoin จำนวน 15,250 BTC และ USD Coin อีกจำนวน 350 ล้าน USDC โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 660 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทประสบปัญหาทางการเงินและขาดสภาพคล่องอย่างร้ายแรง
19 ธันวาคม
Binance ได้ประกาศเข้าซื้อกิจการ Voyager Digital ด้วยมูลค่า 1.022 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งการขายสินทรัพย์นี้ มีเป้าหมายเพื่อคืนคริปโตให้กับลูกค้าตามคำสั่งศาล โดย Binance.US จะเข้าฝากเงินจำนวน 10 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้บริษัทจะให้เงินสำหรับค่าใช้จ่ายบนแพลตฟอร์มสูงสุด 15 ล้านดอลลาร์ กับ Voyager Digital ด้วย
4. Celsius
14 กรกฎาคม
Celsius แพลตฟอร์มให้กู้ยืมคริปโต ได้ยื่นขอล้มละลาย หลังจาก ก่อนหน้านี้เพียงวันเดียว ทาง Celsius เพิ่งจะปลดหนี้ก้อนสุดท้ายที่ได้กู้ยืมจากแพลตฟอร์ม DeFi ให้กับ Compound, Aave, และ Maker ส่งผลให้หนี้สินจำนวน 820 ล้านดอลลาร์ลดลงมาเหลือเพียง 0.013 ดอลลาร์ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือนเท่านั้น ในทางกลับกันลูกค้าของ Celsius ยังไม่สามารถถอนสินทรัพย์ที่อยู่ในแพลตฟอร์มออกมาได้
อย่างไรก็ตาม กรมกำกับดูแลระบบการเงิน (Department of Financial Regulation-DFR) ของรัฐเวอร์มอนต์แจ้งข้อมูลต่อผู้บริโภคว่า บริษัทฯ ไม่ได้ยื่นจดทะเบียนเพื่อให้บริการด้านการเงินในรัฐเวอร์มอนต์ DFR ยังเชื่อด้วยว่าบริษัท Celsius อยู่ในภาวะ “หนี้สินล้นพ้นตัว” และขาดแคลนทั้ง “สินทรัพย์และสภาพคล่อง” จนไม่สามารถชดเชยเงินที่ติดค้างให้กับทางลูกค้าได้
5. Zipmex Thailand
20 กรกฎาคม
Zipmex Thailand ระงับการถอนเงินบาทและคริปโตชั่วคราว ในแอพพลิเคชัน ZipUp+ ซึ่งจะฝากสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้าที่ไทย ไปยัง Zipmex ที่สิงคโปร์ รวมไปถึง Zipmex ที่สิงคโปร์ ยังได้นำสินทรัพย์ดิจิทัลไปลงทุนกับ Babel Finance และ Celsius Network ที่กำลังประสบปัญหาสภาพคล่องด้วย
หลังจากการเจรจาที่เป็นลบ Zipmex ที่สิงคโปร์ ได้เริ่มกระบวนการฟ้องร้อง Babel Finance แล้ว และจะดำเนินคดีความทางกฎหมายต่อต่อไป นำไปสู่ “แพลตฟอร์มแตก” และ เผชิญกับปัญหาสภาพคล่อง จากนั้น Zipmex สิงคโปร์ ได้ยื่นขอพักชำระหนี้ หรือ Moratoriums Relief ไปจนถึงปลายปีนี้
3 พฤษจิกายน
จากนั้นไม่นาน ก็มีข่าวออกมาว่า Zipmex สิงคโปร์ ได้บรรลุข้อตกลงกับ V Ventures ซึ่งเป็น VC ในเครือ TTA และทำให้ TTA ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 โดยจะใส่เงินก้อนใหม่แก้ปัญหาปัญหาทั้งหมด รวมถึงนำเหรียญโทเคนที่กำลังเป็นปัญหากลับมาคืนให้กับลูกค้าทุกราย ซึ่งในตอนนี้ Zipmex อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ หลังจากเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องอย่างหนักจากการที่ตลาดคริปโตดิ่งลงรุนแรงก่อนหน้านี้
6. SCBX ล้มดีล BitKUB
25 สิงหาคม
SCBX ยกเลิกการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นใน บิทคับ ออนไลน์ ส่งผลให้หลุดตำแหน่ง “ยูนิคอร์น” ตัวที่ 3 ของเมืองไทยทันที เพราะ
- ปริมาณการซื้อขายคริปโตในไทย ลดลงอย่างชัดเจน
- กลต. สงสัยว่า พนักงานของบิทคับ จงใจทำการปั่นเหรียญบางตัวให้มีปริมาณการซื้อขายจำนวนมาก เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาเล่นเหรียญนั้น ๆ ที่ปั่นเอาไว้
7 กันยายน
SCBS ประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น INNOVEST X เตรียมเปิดศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล รองรับถึง 25 เหรียญ ตั้งแต่ วันที่ 12 กันยายน 2565 กลายเป็นมหากาพย์เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหดที่ร้ายที่สุดของปี เพราะ ในวันที่ประกาศซื้อ บิทคับ ออนไลน์ ราคาเหรียญ KUB พุ่งขึ้นเกือบ 200% จาก 30 บาทนิด ๆ โดนลากขึ้นไปเกือบ 100 บาทต่อเหรียญ เช่นเดียวกับหุ้น SCB ที่บวกจาก 123 บาท มาทำจุดสูงสุดที่ 137 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 11%
ส่วนในวันที่ที่ประกาศล้มดีล แม้ Bitkub จะออกมาบอกว่าไม่ได้ส่งผลกับการดำเนินงานระยะยาว เพราะ ได้ทำแผนสำรองไว้แล้ว แต่ราคาเหรียญ KUB ก็ร่วงทันที 22% จากแถว 75 บาท หล่นลงมาเหลือ 43 บาทต่อเหรียญ ซึ่งสวนทางกับหุ้น SCB ที่บวกขึ้นมา 6 บาท หรือเพิ่มขึ้น 5.74% จากวันก่อนหน้า ด้วยปริมาณการซื้อขาย 6.5 พันล้านบาท สูงที่สุดในตลาด
7. FTX
6 พฤศจิกายน
CEO ของ Binance ประกาศผ่าน Twitter ว่าจะขายโทเคน FTT ซึ่งเป็นโทเคนของเว็บเทรด FTX ทั้งหมดในบัญชี เพราะ ตรวจพบพฤติกรรมบางอย่างของ FTX ที่ได้นำเงินของลูกค้าไปให้ Alamenda Research กู้เพื่อลงทุนจำนวนมาก
ภายหลังเว็บไซต์ข่าว CoinDesk ได้ออกมาเปิดเผยว่า สินทรัพย์ภายใต้การดูแลของ Alameda Research กว่า 80% นั้นเป็นเหรีญ FTT โดย Sam Bankman-fried ผู้ก่อตั้ง FTX และ Alameda Research ได้นำ FTT หรือ เหรียญที่ออกโดยตัวเองไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินจาก FTX ออกมาใช้ในการลงทุนต่าง ๆ โดยไม่ได้รับการขออนุญาตจากนักลงทุน
ราคาเหรียญก็ดิ่งลงทันทีกว่า 10% จากนั้นก็เกิดความหวาดกลัวในตลาด ทำให้นักลงทุนแห่ถอนเหรียญออกจากแพลตฟอร์ม จนทาง FTX ต้องประกาศหยุดการถอนเหรียญชั่วคราว
8 พฤศจิกายน
Binance ประกาศเข้าซื้อ FTX และได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงที่ไม่มีผลผูกพัน โดยสามารถยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ และจะมีการประเมินธุรกิจต่อไป ตลาดคริปโตยังปรับตัวขึ้นจากข่าวนี้ แต่ก็เจอแรงเทขายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา จนราคา Bitcoin แตะระดับ 17,166 USDT
9 พฤศจิกายน
Binance ยกเลิกการเข้าซื้อ FTX เพราะ
- สถานะของบริษัท FTX มีข้อผิดพลาดที่เกี่ยวกับกองทุนลูกค้า
- ข้อกล่าวหาจากหน่วยงานสอบสวนในสหรัฐฯ ทำให้ราคาเหรียญ FTT อยู่ที่ 2.458 ดอลลาร์ ลดลงราว 54% ในรอบ 24 ชั่วโมง
11 พฤศจิกายน
FTX ซึ่งรวมถึง Alameda Research และ FTX.US ได้ยื่นขอล้มละลาย
ส่วน SOL ของเครือข่าย SOLANA ซึ่งเป็นเหรียญที่ Sam Bankman-fried CEO ของ FTX ให้การสนับสนุน ก็มีราคาร่วงแรงเช่นกัน โดยทำราคาต่ำสุดในรอบ 24 ชั่วโมงที่ 12.37 ดอลลาร์ ลดลงกว่า 25%
มีข่าว Serum เป็น Decentralized Exchange บน Solana ที่ได้รับการสนับสนุนจาก Alameda Research และ FTX ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดย Solana เปิดเผยว่ามีการถือครอง Serum (SRM) มูลค่า 134.54 ล้านดอลลาร์บน FTX และการเปิดเผยดังกล่าวก็ทำให้ชุมชน Serum แยกโปรเจกต์ออกเพื่อป้องกันตัวเองจากการที่ FTX ถูกแฮ็ก จนส่งผลให้ราคาของ Serum เพิ่มขึ้นกว่า 80%
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์นี้ทำให้นักพัฒนา DeFi จำนวนมากเลือกที่จะตัดความสัมพันธ์กับ Serum หลังจากมีข่าวลือว่าการแฮ็ก FTX เกิดจากคนภายใน และทำให้ราคาของ Serum ลดลงอีกครั้ง
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ทาง Binance ได้ประกาศว่าจะถอนคู่ซื้อขาย SRM 3 คู่ (SRM/ BNB, SRM/BTC และ SRM/ USDT) เพราะ ผลกระทบจากการล่มของ FTX
แต่มีการเปิดเผยข้อมูลว่า หลายโครงการใน Solana ใช้สินทรัพย์ที่เรียกว่า “Sollet Assets” เพื่อทดแทน Bitcoin, Ether และเหรียญ Crypto อื่น ๆ ที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า FTX เป็นผู้ออกสินทรัพย์เหล่านี้ โดยมี Alameda Research ในการสนับสนุน ดังนั้นการล่มสลายของ FTX จึงทำให้ Solana มีโปรโตคอลจำนวนหนึ่งที่มีหนี้สูญ (Bad Debt)
อ่านเพิ่ม
8. BlockFi และข่าว Serum
11 พฤศจิกายน
BlockFi ประกาศระงับถอนเงินของลูกค้า
28 พฤศจิกายน
BlockFi ยื่นขอล้มละลาย ซึ่งมีเจ้าหนี้มากกว่า 100,000 ราย ซึ่งมีหนี้สินและทรัพย์สินรวมราว 1,000 – 10,000 ล้านดอลลาร์
มูลค่าที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็วของตลาดคริปโตทำให้บริษัทที่เคยมีมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. 2021 มีมูลค่าลดลง ไปเหลือ 2 พันล้านดอลลาร์ ในเดือน มิ.ย. 2022
จากนั้นการกระทำผิดกฏหมาย โดยนำเงินของลูกค้าไปปล่อยกู้เพิ่มเติมก็ทำให้โดนตรวจสอบจากหน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินเกี่ยวกับบัญชีดอกเบี้ย และจ่ายเงิน 100 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าปรับให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ
ฉะนั้น การที่ FTX เข้ามาอุ้มช่วงกลางปี ช่วยทำให้สภาพคล่องของ BlockFi กลับมาเพียงระยะสั้น แต่โดมิโนที่ล้มกันหลายเจ้า โดยเฉพาะคู่แข่งและเจ้าหนี้รายใหญ่ของ BlockFi ก็ทำให้ BlockFi รอดไม่พ้นจากเหตุการณ์โดยรวมทั้งหมด เพราะ ปัญหาด้านสภาพคล่อง และปัญหาที่สะสมมาตั้งแต่ต้นปี
อ่านเพิ่ม
9. Genesis
6 กรกฎาคม
Genesis ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของกองทุน 3AC เพราะ 3AC ไม่สามารถหาเงินมาชำระ Margin Call ให้กับทาง Genesis ได้
17 พฤศจิกายน
ได้ระงับการถอนชั่วคราว เนื่องจากได้รับผลกระจากการล่มสลายของ FTX เพราะ บริษัทลงทุนเกือบ 175 ล้านดอลลาร์ในบัญชีซื้อขาย FTX และมีการลงทุนใน 3AC ไปก่อนหน้านี้
Digital Currency Group อัดฉีดเงิน 140 ล้านดอลลาร์เข้าสู่ธุรกิจ แต่ยังไม่เพียงพอ
22 พฤศจิกายน
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า Genesis กำลังประสบปัญหาในการระดมทุนสำหรับหน่วยธุรกิจสินเชื่อ และถ้าหากไม่สามารถหาเงินทุนเพื่อกู้ฉุกเฉิน 1 พันล้านดอลลาร์ ได้อาจต้องยื่นล้มละลาย
Genesis เป็นส่วนหนึ่งของ Digital Currency Group ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Grayscale บริษัทจัดการกองทุนสินทรัพย์ดิจิทัลรายใหญ่ของโลก
บริษัทได้ให้บริการกู้ยืมคริปโตมูลค่ามหาศาลระดับหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งการล่มสลายของ Terra เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้บริษัทอยู่ในสถานะที่ไม่ดี เนื่องจาก Genesis เป็นเจ้าหนี้ของ 3AC ที่ล้มละลาย และ Babel Finance ที่ขาดทุนหนักกว่า 1 หมื่นล้านบาท จากการนำเงินของลูกค้าไปเทรด
จากเหตุการณ์งบดุลหลุดของ Alameda Research ลามมาถึงขั้นบริษัทแม่อย่าง FTX ล้มละลายและอาจทำให้อุตสาหกรรม Crytocurrency ได้รับผลกระทบถึงความมั่นใจและเชื่อใจในระบบรวมศูนย์อย่าง Centralized Exchange (CEX) ผลักดันให้ทำ Proof of Reserve ซึ่งเป็น “หลักฐานการสำรองเงิน” เพื่อโชว์ความโปร่งใสของบริษัท
กลไกพิสูจน์เงินทุนสำรอง เป็นกระบวนการที่ใช้เทคนิคความรู้การเข้ารหัสลับ (Encrypt) พิสูจน์ให้เห็นว่าทางศูนย์ซื้อขายฯ มีสภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอที่จะรองรับคำสั่งถอนสินทรัพย์ของลูกค้าทั้งหมดและยังเป็นช่องทางให้กับลูกค้าของแพลตฟอร์มใช้เพื่อตรวจสอบว่าเงินของตนเองได้รับการเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันเหมาะสมหรือไม่
โดยผู้ตรวจสอบจะเป็นบุคคลภายนอกหรือบริษัทตรวจสอบที่ไว้ใจได้และมีความน่าเชื่อถือ จะเป็นผู้บันทึกยอดคงเหลือของลูกค้าทั้งหมดและแปลงเป็น Cryptographic Merkle Tree ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยสูงต่อผู้เทรด แต่อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถ รู้ได้ว่ากระดานนั้น ๆ มี มีหนี้สินเท่า ไหร่ ซึ่งนี่ยังเป็นข้อบกพร่องของระบบนี้
แล้วคริปโตตัวไหนจะถูกเชือดเป็นรายต่อไป To be continued
ในตอนนี้เราไม่รู้เลยว่า คริปโต ปี 2022 จะปิดตลาดป้ายปีนี้แบบไหน ใคร หรือ บริษัทไหนจะเป็นรายต่อไป หรือ คริปโตจะหายไปในความมืดอีกรอบ เพราะ ในตอนนี้อุตสาหกรรมคริปโตได้เข้าสู่ ”ฤดูหนาว” เป็นที่เรียบร้อย และไม่มีใครรู้เลยว่าฤดูหนาว หรือ ก้นหลุมที่ราคาของสินทรัพย์ร่วงหล่นลงมานี้ จะ “สิ้นสุดที่ตรงไหน” อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุการณ์ FUD บนกระดานแลกเปลี่ยนคริปโตใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Binance ขึ้น เพราะ ข้อมูลจากบริษัทตรวจสอบบัญชี Mazars ที่ยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพของการควบคุมภายในและวิธีชำระบัญชีสินทรัพย์เพื่อให้ครอบคลุมเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์บน Binance ซึ่งทำให้เงินไหลออกจากกระดานและ USDC หลุด Peg ในระยะเวลาหนึ่ง
ซึ่งเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้เอง เราไม่รู้เลยว่าจะเป็นตาของสินทรัพย์เราตอนไหน ทางที่ดีพี่ทุยแนะนำว่าควรจับตา และติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ของเราให้ดี เพราะ เราจะได้รับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีนั่นเอง หากไม่มั่นใจก็ควรย้าย หรือปรับเปลี่ยนแผนการณ์ตามความเสี่ยงที่ตันเองจะรับมือไหวด้วยนะ