ย้อนรอย “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ครั้งใหญ่ที่โลกเคยเผชิญ

ย้อนรอย “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ครั้งใหญ่ที่โลกเคยเผชิญ

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่สอง หรือกว่า 7 ทศวรรษที่ผ่านมา โลกของเราต้องเผชิญกับ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก (Global recession) มาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง เมื่อปี 1975, 1982, 1991 และ 2009 โดย 3 ใน 4 ครั้งนี้ ล้วนแต่มีประเด็นเรื่องราคาน้ำมันดิบเข้ามาเกี่ยวข้อง
  • ผลกระทบที่เกิดขึ้นจาก Global recession ในแต่ละครั้ง คือ ในจำนวนคน 100 คน มี 7-10 คน ที่มีโอกาสจะตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และช่วงเวลาของความยากลำบากก็อาจจะกินระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

นับแต่ที่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดเมื่อปี 1945 ธนาคารโลก (World bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้นิยามเอาไว้ว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” (Global recession) ที่โลกเราต้องเผชิญ เกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 4 ครั้ง เมื่อปี 1975, 1982, 1991 และ 2009 พี่ทุยจะมาเล่าย้อนรอยของ 4 เหตุการณ์นี้ให้ฟังกัน ว่าเป็นอย่างไร และเกิดผลกระทบมากมายขนาดไหน

1. การถดถอยในปี 1973 – 1975

เป็นวิกฤตที่กินเวลายาวนานถึง 16 เดือน และส่งผลให้ GDP ของโลก ลดลง 3.2% ซึ่งในช่วงพีคของวิกฤตในครั้งนั้น ก็คืออัตราการว่างงานทั่วโลกพุ่งขึ้นไปสูงถึง 9% โดยมีจุดเริ่มต้นของภาวะถดถอยตอนนั้น เกิดจากวิกฤตน้ำมัน ในปี 1973 ซึ่งราคาน้ำมันดีดตัวขึ้นถึง 4 เท่า หลังการอุบัติขึ้นของสงครามยมคิปปูร์ ระหว่างแนวร่วมรัฐอาหรับ นำโดยอียิปต์และซีเรีย โจมตีที่ตั้งของอิสราเอลในดินแดนยมคิปปูร์ ซึ่งอิสราเอลยึดครองไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ supply ของน้ำมันดิบหยุดชะงักไปในทันที

ข้ามไปที่ฝั่งสหรัฐฯ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันซึ่งราคาน้ำมันเริ่มดีดตัวสูงขึ้นอย่างมาก สภาพการเงินทั่วโลกต้องปั่นป่วน หลังการยุติบทบาทลงของระบบเบรตตัน วูดส์ (Bretton Woods) ในสหรัฐฯ เนื่องจากค่าของเงินตราสกุลต่าง ๆ ซึ่งในอดีตเคยถูกตรึงไว้กับทองคำสำรอง และเมื่อสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเลิกใช้ระบบนี้ ทำให้เงินดอลลาร์ลอยตัวในทันที ตามมาด้วยอังกฤษที่ทำเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนั้น ประเทศต่างๆ จึงพยายามสำรองเงินของประเทศตัวเองไว้มากกว่าปกติ

2. การถดถอยในปี 1982

จุดพีคของวิกฤตในครั้งนั้นอยู่ในช่วงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 1982 ซึ่งอัตราการว่างงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นเป็น 10.8% สูงที่สุดนับแต่ Great Depression ในปี 1929 โดยจุดเริ่มต้นของวิกฤตก็มีต้นตอจากราคาน้ำมันดิบอีกเช่นเคย

เหตุการณ์ Oil shock ในปี 1979 ซึ่งราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นจนทุกคนไม่ทันตั้งตัว ทำให้เงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้นทั่วโลก โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดในครั้งนั้น ดูเหมือนจะเป็นกลุ่มประเทศลาตินอเมริกา ลาตินอเมริกาในเวลานั้น ถือเป็นลูกหนี้รายใหญ่ของสหรัฐฯ และได้รับดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากสหรัฐฯ ต้องการที่จะให้เงินดอลลาร์เป็นที่ต้องการไปทั่วโลก เมื่อกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาเห็นว่าเงินกู้จากต่างประเทศทำได้ง่ายภายใต้การเปิดเสรีการเงิน ทั้งภาครัฐและเอกชนจึงแห่กันเข้ามาหาเงินทุนจนหนี้พุ่งสูงขึ้นจาก 29,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1970 เป็น 327,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 1982

ภาวะ Oil shock ทำให้กลุ่มประเทศลาตินอเมริกาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรง เพราะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมัน ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นถึงกว่า 10% และนั่นเองทำให้ลูกหนี้ของสหรัฐฯ ต้องขาดความสามารถในการชำระหนี้ไปโดยปริยาย

3. การถดถอยในปี 1991

อีกครั้งที่ราคาน้ำมันกลับมามีส่วนร่วมกับการเป็นชนวนเหตุสำคัญของ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ทั่วโลก หลังจากสงครามอ่าว (Gulf Wars) เริ่มต้นขึ้นในปี 1990 หนุนให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก จนทำให้อุตสาหกรรมการผลิตหยุดชะงัก และการค้าขายทั่วโลกหดตัวลง ขณะเดียวกันภาคการเงินในสหรัฐและประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียนก็กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สิน โดยภาพรวม GDP ทั่วโลกปรับตัวลง 1.5% ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้นเป็น 6.8%

ในช่วงต้นของทศวรรษที่ 1990 ดูเหมือนว่าปัญหาหนี้สินของในหลายพื้นที่ทั่วโลกจะเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน อย่างกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียซึ่งต้องเผชิญกับปัญหาฟองสบู่แตกของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่นเดียวกับในญี่ปุ่นที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศหยุดชะงักไปนานถึง 10 ปี

4. การถดถอยในปี 2009

เป็น “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย” ทั่วโลกจาก 1 ใน 4 ครั้ง ซึ่งไม่ได้มีประเด็นของราคาน้ำมันมาเกี่ยวข้อง แต่ก็นับเป็นวิกฤตการเงินที่รุนแรงที่สุดนับแต่วิกฤต Great Depression

ต้นตอที่สำคัญของเหตุการณ์ในครั้งนั้น คือ ความหละหลวมของระบบตรวจสอบและควบคุมดูแลตลาดการเงิน ทำให้สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมประเภทใหม่ ๆ ได้มากขึ้น ซึ่งก็รวมถึงการนำเอาสินเชื่อจำนองบ้าน มาผ่านกระบวนการแปลงเป็นหุ้นกู้จำพวก Mortgage-Backed Security (MBS) และ Collateralized debt obligations (CDOs) ทำให้สถาบันการเงิน หรือก็คือ ธนาคารต่าง ๆ เปลี่ยนบทบาทจากเจ้าหนี้ มาเป็น ‘ตัวกลางหรือนายหน้า’ ขณะที่นักลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนสถาบัน ก็กลายมาเป็น ‘เจ้าหนี้’ แทน

และเมื่อฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์แตกในที่สุด การผิดนัดชำระหนี้จึงลุกลามอย่างหนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่หลายราย อาทิ BNP Paribas สถาบันการเงินใหญ่สุดของฝรั่งเศส ไม่สามารถไถ่ถอนชำระหนี้ในกองทุน 3 กองได้ จนต้องขอความช่วยเหลือทางการเงิน

Bear Stearns ขาดทุนอย่างหนักจากกองทุน Structured credit 2 กอง จนต้องขายกิจการให้ JP Morgan Chase ขณะที่ Lehman Brothers วาณิชธนกิจรายใหญ่อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ต้องล้มละลายในที่สุด โดยรวมแล้ววิกฤตในครั้งนั้นกินระยะเวลายาวนานถึง 18 เดือน ตัวเลข GDP โลก ลดลงถึง 5.1% ขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งเป็น 10%

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply