อยู่ดีไม่ว่าดี ร้านไก่ทอดผู้พัน หรือ ธุรกิจ KFC ร้านแฟรนไชส์ระดับโลก ก็โดนหางเลขพิษสงครามตะวันออกกลางไปด้วย โดนแบนจากผู้บริโภค ทำให้ยอดขายลดลง แถมมีรายงสนว่าในมาเลเซียก็ปิดสาขาไปหลายแห่ง ซึ่งเป็นผลพ่วงจากการต้อต้านธุรกิจที่เกี่ยวโยงกับสงครามอิสราเอล
เปลวไฟสงครามระหว่างอิสราเอล กับ ปาเลสไตน์ ที่ยังร้อนระอุ ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เรื่องของราคาน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และทองคำอย่างที่เรา ๆ คุ้นเคยกันดี แต่ได้ลุกลามไปยังภาคเศรษฐกิจและธุรกิจในมิติที่ซับซ้อนกว่านั้นแล้ว นั่นคือกระแสการต่อต้าน “อิสราเอล” และพรรคพวก ในหมู่ชนที่สนับสนุนปาเลสไตน์ ทำไมธุรกิจของ KFC ถึงต้องเข้าไปพัวพันเรื่องนี้ และปัจจุบันธุรกิจขายไก่ทอดเจ้าดังเสียหายไปมากแค่ไหนแล้ว วันนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังกัน
ปมขัดแย้งลามสู่การบอยคอต ธุรกิจ KFC
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ไม่เพียงแต่เป็นการเผชิญหน้าทางการทหารเท่านั้น แต่ยังบานปลายไปถึงการสร้างแนวรบทางธุรกิจอีกด้วย
ล่าสุดธุรกิจ KFC ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือหุ้นโดยบริษัท QSR Brands ถึงขั้นต้องปิดตัวธุรกิจหลาย 100 สาขาลงชั่วคราว หลังจากเกิดกระแสการต่อต้านอิสราเอลลามหนักขึ้นในหมู่ชนชาวมาเลเซีย ซึ่งนำไปสู่การแบนสินค้าและบริการจาก KFC
เหตุเพราะว่าด้วยภาพลักษณ์ของ KFC ที่เชื่อมโยงกับชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ที่ออกตัวปกป้องอิสราเอลอย่างหนัก ทำให้ชาวมาเลเซีย โดยเฉพาะที่เป็นชาวมุสลิม มองว่า KFC ก็มีส่วนสนับสนุนอิสราเอลไปรังแกชาวปาเลสไตน์ไปด้วย
ดังนั้น การแสดงออกเพื่อต่อต้านอิสราเอลที่ดีที่สุดในหมู่ชาวมาเลเซียจึงเป็นการงดใช้สินค้าและสนับสนุนแบรนด์ตะวันตก โดยเฉพาะ KFC
ธุรกิจ KFC ที่ผ่านมาเสียหายไปแล้วเท่าไร
แม้บริษัทเจ้าของแฟรนไชส์ KFC ในมาเลเซีย จะอ้างเหตุผลว่าเรื่องต้นทุนทางธุรกิจที่สูงขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอารมณ์และความรู้สึกร่วมกันต่อชาติตะวันตก โดยเฉพาะที่มีส่วนเกื้อหนุนอิสราเอลได้ลุกลามบานปลายไปไกลมากแล้ว
ที่ผ่ามมายอดขายของ KFC ในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศมุสลิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลาง ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา
เฉพาะแค่ตะวันออกลางเพียงแห่งเดียวก็ลดลงถึง 5 % เลยทีเดียว
มีธุรกิจไหนที่โดนอีกบ้าง
แน่นอนว่า ไม่ได้มีแต่เพียง KFC เท่านั้น แต่สินค้าและบริการจากตะวันตกจำนวนมากต่างเริ่มประสบปัญหายอดขายลดลงอย่างหนัก หลังจากเกิดกรณีความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ อาทิ แมคโดนัล สตาร์บัค โคคาโคล่า และเบอร์เกอร์คิง
โดยบริษัท Berjaya เจ้าของแฟรนไชส์สตาร์บัคในมาเลเซียออกมายอมรับเลยว่าในไตรมาส 4 ของปีที่แล้วบริษัทสูญเสียผลกำไรไปกว่า 42.6 ล้านริงกิต (ราว 330 ล้านบาท) หรือลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้นเกือบถึง 40% เลยทีเดียว
ส่อเค้าบานปลายไปถึงขั้นแบนระดับประเทศ
ล่าสุดความขัดแย้งลุกลามไปถึงขั้นที่ตุรกีสั่งงดการส่งออกสินค้าบางรายไปยังอิสราเอลด้วยแล้ว โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพื่อตอบโต้กรณีที่กองทัพอิสราเอลใช้ความรุนแรงกับชาวมุสลิมในฉนวนกาซา
ท้ั้งนี้ อิสราเอลต้องพึ่งพาการนำเข้าวัสดุก่อสร้างจำพวกเหล็กจากต่างประเทศมากถึง 70% การใช้มาตรการดังกล่าวสร้างความหวั่นวิตกว่าประเทศมุสลิมอื่น ๆ อาจงัดมาตรการดังกล่าวขึ้นมาใช้ ซึ่งแน่นอนว่าจะสร้างความวุ่นวายต่อระบบการค้าและการลงทุนทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้น การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการค้าและการลงทุนย่อมทำให้ประเทศหรือบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณีของความขัดแย้งอิสราเอล – ปาเลสไตน์ โดนหางเลขไปด้วย
ดังนั้นจึงต้องจับตาดูสถานการณ์ความขัดแย้งดังกล่าวให้ดี เพราะไม่ใด้จำกัดแค่ความขัดแย้งทางทหารแล้ว แต่กำลังลุกลามไปยังเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบแล้ว
อัปเดตสถานการณ์สงครามในกาซ่า
วันที่ 9 พ.ค. 2567 แม้จะมีแรงห้ามปรามจากนานาชาติ แต่อิสราเอลก็ยังเดินหน้าส่งรถถังเข้าไปยังเมืองราฟาห์ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ในปฏิบัติการโจมตีแบบกำหนดเป้าหมายยังที่ตั้งกองพันสุดท้ายของกลุ่มฮามาส ที่รายล้อมด้วยพลเรือนพลัดถิ่นชาวปาเลสไตน์
ซึ่งก่อนหน้าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ขู่อิสราเอลว่า วอชิงตันจะหยุดส่งอาวุธให้กับอิสราเอล หากพวกเขายังคงดื้อดึงโจมตีภาคพื้นดินในเมืองราฟาห์ที่ถูกคุกคามมายาวนาน แต่อิสราเอลก็ไม่ได้รับฟัง และยังเดินหน้าโจมตีเมืองราฟาห์ต่อไป ท่ามกลางความพยายามของ สหรัฐอเมริกา อียิปต์ และกาตาร์ ที่ยังคงผลักดันการเจรจาทางอ้อมเพื่อทำข้อตกลงหยุดยิงระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอล
อ่านเเพิ่ม