"เงินเดือน" เพิ่มขึ้น แต่ทำไมรู้สึกจนลง ?

“เงินเดือน” เพิ่มขึ้น แต่ทำไมรู้สึกจนลง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ในช่วงเริ่มต้นทำงานหรือทำงานไปได้สักระยะ เรามักจะเห็นความสำคัญของการลงทุน แต่มักถูกเบรกด้วยคำว่า ไว้รอรายได้เยอะกว่านี้ก่อน เสมอ ทั้งที่จริงเราก็ไม่รู้ว่าควรจะให้รายได้ถึงเท่าไหร่จึงจะค่อยเริ่มลงทุน
  • เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น 5,000 บาท ไม่ได้หมายความว่าเรามีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 5,000 บาท เพราะปัจจัยเรื่องของเงินเฟ้อที่เราต้องเจอ โดยปกติแล้วประเทศไทยมีเงินเฟ้อเฉลี่ย 2-3 % ต่อปี
  • การออมเงินและการลงทุน ถือเป็นวิธีการช่วยเพิ่มความมั่งคั่ง เพราะดอกเบี้ยทบต้นจะช่วยเราสู้กับเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่งด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ทำงานมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น “เงินเดือน” ก็ย่อมมากขึ้นตามภาระหน้าที่และความสามารถใช่มั้ยล่ะ หลายคนจึงมีความคาดหวังที่จะมีเงินเก็บเยอะๆ หรือเริ่มเก็บเงินในช่วงที่หน้าที่การงานมั่นคง มีรายได้มากพอแล้ว แต่สำหรับบางคนเงินเดือนก็เพิ่มขึ้นทุกปี แต่กลับมีเงินเก็บน้อยลง รู้สึกเหมือนจะจนลงไปเรื่อยๆ

ไม่ว่าใครก็ตาม เมื่อโตขึ้น ความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ก็ย่อมเพิ่มมากขึ้นตามอายุตัวเลย

ช่วงเริ่มทำงาน ภาระหน้าที่อาจจะมีแค่ค่าที่พัก ค่าอาหาร แล้วก็ค่าความบันเทิงนิดๆหน่อยๆ ด้วยรายได้ที่น้อยอยู่ การออมเงินหรือการลงทุนจึงถูกเบรกด้วยคำว่า ไว้รอรายได้เยอะกว่านี้ก่อน” เสมอ แต่เมื่อเราถึงช่วงที่รายได้เราเริ่มเพิ่มขึ้น เงินเก็บก็ยังไม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่เลย นั่นก็เป็นเพราะว่าภาระค่าใช้จ่ายของเรา มันก็เพิ่มขึ้นตามมาด้วยยังไงล่ะ

พี่ทุยขอแบ่งรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นออกเป็น 2 ปัจจัย ก็คือ ปัจจัยทางด้านสังคม และปัจจัยทางด้านเงินเฟ้อ

ปัจจัยทางด้านสังคม

ถ้าใครคิดจะสร้างครอบครัว ก็ต้องเริ่มผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ถ้ามีลูก เรื่องเงินเก็บก็คงเป็นแค่ฝันเลยล่ะ เพราะค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันก็ค่อนข้างสูงขึ้นมาก และเมื่อพ่อแม่เริ่มแก่ลง เงินส่วนหนึ่งก็จะถูกแบ่งไว้ใช้ดูแลท่าน

นี่ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการเข้าสังคมอีกนะ เมื่อโตเราก็มักจะไปนัดเจอเพื่อนๆ ในร้านอาหารที่หรูขึ้นแพงขึ้นเป็นธรรมดา ถ้าใครเป็นบ้านคนจีน จากที่เคยได้รับอั่งเปา ตอนนี้ก็กลายเป็นคนแจกซะเองแล้ว

ปัจจัยทางด้านเงินเฟ้อ

อย่างที่รู้กันดีว่า “เงินเฟ้อ” เป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นทุกปี เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ก็หมายความว่ามูลค่าของเงินก็จะลดลง จากที่เงิน 5 บาทซื้อขนมได้ถุงใหญ่ ตอนนี้ก็เหลือห่อนิดเดียว

โดยเฉลี่ยแล้ว เงินเฟ้อในประเทศไทยก็ประมาณ ปีละ 2-3% นั่นหมายความว่า ถ้าเรามีเงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% หักลบกับเงินเฟ้อ 3% ก็เท่ากับว่าเรามีรายได้ที่แท้จริง หรือมูลค่าของเงินที่จะเอาไปซื้อของจริงๆได้เพิ่มขึ้นแค่ปีละ 2% เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น

ปีนี้มีรายได้ที่ 20,000 บาทต่อเดือน
รายจ่ายที่ 18,000 บาทต่อเดือน
ทำให้มีเงินเหลือเก็บ 2,000 บาทต่อเดือน

ปีต่อมา มีรายได้เพิ่มขึ้น 5% เท่ากับว่าจะได้เงินเดือนที่ 21,000 บาทต่อเดือน
รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อ 3% เท่ากับ 18,540 บาท
ทำให้มีเงินเหลือเก็บ 2,460 บาท เพิ่มขึ้น 460 บาท

เห็นมั้ยว่า เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นมา 1,000 บาท
ไม่ได้หมายความว่าจะได้เงินเก็บเพิ่มขึ้นเท่านั้นเสมอไป
ถ้าเวลาผ่านไป เราต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ส่งเงินให้ครอบครัว

เท่ากับว่า เงินเก็บในแต่ละเดือนเราอาจจะลดลงด้วยซ้ำ

แค่คิดก็ท้อแท้แล้วใช่มั้ยล่ะ ทำไมโลกนี้มันถึงโหดร้ายอย่างนี้ แต่ก็อย่างพึ่งหมดหวังกันไปล่ะ ถ้าใครยังอยู่ในช่วงวัยรุ่นที่มีภาระค่าใช้จ่ายทางสังคมไม่เยอะ พี่ทุยแนะนำว่าให้รีบออมเงินตั้งแต่ตอนนี้เลย หมั่นออมเงินและนำไปลงทุนอย่างต่อเนื่อง ดอกเบี้ยทบต้นจะช่วยเราสู้กับเงินเฟ้อได้อีกทางหนึ่งด้วย

ส่วนใครที่เริ่มมีภาระค่าใช้จ่ายทางสังคมเยอะแล้ว พี่ทุยแนะนำให้ลองหารายได้เสริมเพิ่มเติมกันดูนะ เพราะถ้ารายรับเราไม่พอ การจะมีเงินเก็บให้รวยก็คงจะเป็นไปได้ยาก

สิ่งที่ควรทำเมื่อถึงเวลาที่เราปรับฐานเงินเดือน

1. เทียบเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นกับเงินเฟ้อเพื่อหารายได้ที่แท้จริง

ตามที่พี่ทุยคำนวนให้ดูในตัวอย่างข้างบน เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราจะมีเงินใช้มากขึ้นเสมอไป เงินเฟ้อทำให้ข้าวของต่างๆแพงขึ้น เพื่อการวางแผนการเงินที่ถูกต้อง ก็ต้องห้ามลืมคำนวนเงินเฟ้อตรงนี้ด้วย

2. วางแผนการเงินระยะยาวว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น จะพอใช้ในอนาคตมั้ย

ถ้าอยากผ่อนรถเดือนละ 8,000 บาท หรือผ่อนคอนโด เดือนละ 10,000 บาท เราต้องมีรายได้ต่อเดือนเท่าไหร่ เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น หลังจากคำนวนเงินเฟ้อแล้ว เราจะสามารถไปถึงเป้าหมายได้ตอนอายุเท่าไหร่ หลังจากวางแผนเสร็จแล้ว เป้าหมายที่วาดฝันไว้ยังดูห่างไกล ก็ต้องเริ่มหารายได้เพิ่มกันแล้ว

3. เทียบเงินเดือนกับบริษัทอื่น

การย้ายงานเป็นอีกทางหนึ่งของการอัพเงินเดือนขึ้นได้ ลองเทียบเงินเดือนจากบริษัทอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในการต่อรองกับบริษัทเดิมที่ทำงานอยู่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นความสามารถของเรา ถ้าเราเป็นคนเก่ง ที่ไหนก็ต้องการตัว แต่ละบริษัทอาจจะให้เงินเพิ่มขึ้นเพื่อแย่งตัวเราก็ได้

4. หารายได้เสริม

นอกจากเงินเดือนที่จะเป็นรายได้หลักของมนุษย์เงินเดือนอย่างเราๆแล้ว การหารายได้เสริมก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้ พี่ทุยว่าใครๆก็หารายได้เสริมได้ เริ่มจากลองดูตัวเองเราเองก่อนว่า พอจะมีความสามารถอะไรบ้าง แล้วมองดูตลาดว่า ความสามารถของเรานี้เป็นที่ต้องการมั้ย และก็เริ่มต้นเลย อย่ารีรอ ลุยยยย !

5. รู้จักการลงทุน

เพื่อให้เงินเก็บงอกเงยได้เอง ก็ต้องรู้จักการลงทุนใช่มั้ยหล่ะ ความรู้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุน รักษาสมดุลของผลตอบแทนและความเสี่ยงให้ดี เลือกลงทุนตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แค่นี้เงินที่เก็บออมไว้ก็เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณได้ไม่ยากเลยแหละ เริ่มต้นศึกษาจาก Money Buffalo นี่แหละ

อย่างเพิ่งเอาเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นไปฉลองกันเสียหมด แท้จริงแล้วเงินเดือนของเราที่เพิ่มขึ้นนั้นมันก็ไม่ได้จะเพิ่มขึ้นจริงๆ เสมอไป ถ้าใครมีโอกาสได้ปรับฐานเงิน ก็อย่าลืมวางทางแผนการเงินควบคู่กันไปด้วยนะ 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย