ในช่วงเคอร์ฟิว "CPALL" ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ?

ในช่วงเคอร์ฟิว “CPALL” ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • “CPALL” เจ้าของธุรกิจร้าน 7-11 มี​จำนวน​ 11,700 สาขาทั่วประเทศ​ จากข้อมูลในปี 2562​ พบว่าในแต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการรวมทุกสาขาถึง 13 ล้านคน คิดเป็น 1,191 คนต่อสาขาต่อวัน และมีรายได้เฉลี่ยต่อบิลอยู่ที่ 69 บาท
  • มีการประกาศเคอร์ฟิว​ ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลา 4 ทุ่มถึงตี​ 4 ตั้งเเต่วันที่ 3 เมษายนถึง 30​ เมษายน​ การปิดสาขาในช่วงเวลาดังกล่าว มีผลให้ 7-11 สูญเสียรายได้เพียง 5% เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวมี​ผู้ใช้บริการ​ไม่มากอยู่เเล้ว
  • แต่​เนื่องจาก​สถานการณ์​ โควิด-19 ระบาด​ กำลังซื้อจึงลดลง ก็จะมีผลต่อรายได้และกำไรของ “CPALL” และที่ผ่านมาตั้งเเต่ไตรมาสที่​ 1 ปี 2556 ยอดขายต่อสาขาของ 7-11​ มักจะน้อยกว่า GDP​ อยู่​ 8% ในไตรมาสนี้ เลยมีการคาดการณ์ยอดขายต่อสาขาก็คงติดลบด้วยเช่นกัน
  • ก่อนหน้า​นี้​ “CPALL” ได้ชนะการประมูลซื้อ​ Tesco​ Lotus แต่การลงทุนดังกล่าวจะยังไม่ส่งผลถึงงบการเงินในปีนี้​ เพราะต้องผ่านการอนุมัติอีกหลายขั้นตอน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ถึงสถานการณ์บ้านเมืองจะมาคุ การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือย การท่องเที่ยว​จะลดลงจนผู้ประกอบการต้องปวดหัวกันแค่ไหน ธุรกิจหนึ่งที่อยู่รอดได้หายห่วงในสมรภูมินี้ก็คือ​ ธุรกิจค้าปลีกที่เน้นขายของอุปโภคบริโภคที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน และร้านแรกที่ทุกคนคงนึกถึงเพราะเข้าถึงแทบทุกพื้นที่ สินค้า เเละราคาก็มีมาตรฐานก็คือ ร้าน 7-11 ของ บริษั​ท​ ซีพีออล จำกัด (มหาชน) หรือที่จดทะเบียนในตลาด​หลักทรัพย์​ภายใต้ตัวย่อว่า “CPALL”​ และดำเนินกิจการในประเทศไทยมาตั้งเเต่​ปี​ พ.ศ.2532 แล้ว​

ปัจจุบันร้าน 7-11​ มี​จำนวน 11,700​ สาขาทั่วประเทศ​ ซึ่งจำนวนสาขาที่มากมายขนาดนี้เป็นถึงอันดับ​ 2 ของโลกเลยนะ​ เป็นรองเเค่ประเทศญี่ปุ่นที่มีอยู่กว่า 20,000​ สาขา​เท่านั้น​ ด้วยอัตราการขยายตัวปีละประมาณ 700-800​ สาขาในประเทศไทย​ก็น่าลุ้นเหมือนกันว่าจำนวนสาขาจะพุ่งเเซงหน้าเป็นอันดับ​ 1​ ของโลกได้มั้ย

ในปี 2562​ ที่ผ่านมา คนเข้า 7-11​ ทุกสาขารวมกัน​มากถึง 13​ ล้านคนต่อวัน หรือคิดเป็น 1,191.83 คนต่อสาขาต่อวัน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อสาขาต่อวันอยู่ที่ประมาณ 133,734 บาท​ มียอดซื้อต่อบิลเฉลี่ยอยู่ที่ 69.34 บาท อาจจะพอจินตนาการได้ว่าถึงแม้จะไม่ได้มีเป้าหมายจะซื้ออะไรก็ตาม​ แต่เมื่อเดินเข้าร้านไปแล้วก็หยิบอะไรติดไม้ติดมือออกมาด้วยกันทั้งนั้น เป็นกันมั้ย ? ใครไม่เป็นพี่ทุยเป็นนะ ฮ่า ๆ

แต่ล่าสุดก็มีการสะดุดกันบ้างเมื่อมีการประกาศเคอร์ฟิวออกมา โดยเคอร์ฟิวนี้ห้ามประชาชนไม่ให้ออกจากบ้านในเวลา 4 ทุ่มถึงตี 4 ของทุกวัน ในระหว่างวันที่ 3-30 เมษายน​ 2563 ยกเว้นอาชีพพิเศษบางอาชีพ ดังนั้นร้าน 7-11 จำนวนกว่า 11, 700 สาขาทั่วประเทศ​ ที่เคยเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ก็เลยต้องปิดให้บริการไปด้วย โดยที่จะปิดร้านตั้งเเต่เวลาประมาณ 3 ทุ่มเพื่อให้พนักงานมีเวลาเตรียมตัวกลับบ้านก่อนเคอร์ฟิว

ก่อนหน้านี้​พี่ทุยเคยได้ยินคำท้าบ่อย ๆ ทำนองที่ว่า “เจอกันหลังเซเว่นปิด” ตอนนี้​ ​7-11 เค้าปิดให้แล้วนะ แต่ถ้าออกมาก็มีหวังละเมิดเคอร์ฟิวอยู่ดี มีอะไรเคลียร์กันทางออนไลน์ Social-Distancing กันไว้ดีกว่า พอร้าน 7-11 กว่า​ 11,700​ แห่งทั่วประเทศ​ต้องปิดเพราะเคอร์ฟิวอย่างนี้ คำถามแรกของผู้ถือหุ้นและผู้ที่อยากจะเข้าถือหุ้นก็คือ จะกระทบรายได้และกำไรขนาดไหน ?

เคอร์ฟิว​ 4 ทุ่มถึงตี​ 4  ส่งผลกระทบต่อรายได้ 7-11 ประมาณ 5 %

ในฐานะที่เราเป็นผู้บริโภคลองถามตัวเองสิว่า เข้าไปใช้บริการร้าน 7-11 ในช่วงเวลา​ 4 ทุ่มถึงตี​ 4 บ่อยแค่ไหน ? ถ้าไม่ใช่ร้าน 7-11​ ที่อยู่ตรงละแวกที่อยู่อาศัยของเรา เช่น​ อยู่ใต้คอนโด อยู่ใกล้บ้านในระยะที่เดินถึง อยู่ใต้หอพักตอนสมัยเรียนมหาลัย การใช้บริการในเวลาดังกล่าวก็คงเป็นเรื่องสะดวกนักและจากสถิติคร่าว ๆ ที่ผ่านมาก็บอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยใช้บริการในช่วงเวลาดังกล่าวที่ผ่านมานักเมื่อเทียบกับช่วงเช้าและช่วงบ่าย ดังนั้นเมื่อต้องปิดร้านในช่วงเคอร์ฟิว​ จึงมีการคาดการณ์ ว่า​ 7-11 ​จะสูญเสียรายได้ไปประมาณ 5% เท่านั้น​

นอกจากนี้​ เมื่อผู้บริโภครู้เเล้วว่าร้านจะปิดช่วงเวลาไหน ก็อาจจะเกิดการซื้อเพื่อกักตุนเอาไว้​ก่อน​ เหมือนที่เราเคยเห็นมาแล้ว และบ่อยครั้งที่การกักตุนเหล่านั้นจะมากเกินจำเป็นและมากกว่าการค่อย ๆ ทยอย​ซื้อตามปกติเสียอีก​ อีกทั้งการที่ปิดร้านเร็วก็ยังมีข้อดีเรื่องการประหยัดค่าไฟด้วย

การบริโภคที่ลดลงส่งผลต่อ SSSG ของ CPALL โดยตรง

ก่อนที่จะคุยกันต่อ ขอแนะนำให้รู้จักกับคำศัพท์คำนึง คือ​ SSSG​ ที่ย่อมาจาก Same Store Sale Growth หรือการเติบโตของรายได้ต่อสาขา เวลาเราดูหุ้นที่ต้องมีการขยายสาขาเรื่อย ๆ การดูค่า SSSG เป็นอะไรที่สำคัญมาก ซึ่งจะเห็นภาพการเติบโตชัดว่าการเติบโตของรายได้โดด ๆ​ เพราะว่ารายได้ของกิจการที่เติบโตขึ้นอาจเกิดขึ้นได้​จาก​หลายสาเหตุ เช่น​ รายได้เติบโตขึ้นจริง ๆ กำไรพิเศษ หรือการขยายสาขา แต่การคิดอัตราการเติบโตต่อสาขา (SSSG) อย่างนี้จะบอกเราได้ว่า การเติบโตนี้เป็นของจริง ไม่ใช่การเติบโตแบบกลวง ๆ

เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-19 ในปีนี้ ภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่​ เป็นธุรกิจระดับชาติหรือชุมชนก็ล้วนเเล้วเเต่ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า เมื่อรายได้หดลงก็ต้องมีการรัดเข็มขัดโดยตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก ถึงแม้สินค้าใน 7-11 จะไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย​ แต่ลองนึกภาพว่าถ้าต้องรัดเข็มขัด​ ก็ต้องมีการตัดรายการบางอย่างที่มองว่าไม่จำเป็นออกบ้างแหละ เช่น​ ปกติชอบซื้อขนมทีละเยอะ ๆ พอเจอสถานการณ์อย่างนี้ก็จะซื้อในจำนวนที่น้อยลง​ และ​ตั้งเเต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน SSSG​ ของ​ “CPALL”​ มักโตน้อยกว่า GDP​ ประมาณ 0.8 % เพราะเกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคโดยตรง ปีนี้​มีการ​คาดการณ์​กันว่า​ GDP​ ประเทศจะติดลบ เพราะฉะนั้นก็เลี่ยงไม่ได้ที่​ SSSG ก็น่าจะลดลงไปด้วยตามระเบียบ

ประเด็นการเข้าซื้อ Tesco Lotus เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป

ก่อนหน้านี้​ “CPALL”​ ได้ประมูลซื้อ Tesco​ Lotus เป็นจำนวนเงิน​ 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ​หรือ 336,400 ล้านบาท โดยจะเข้าถือหุ้น 86.4% ใน​ Tesco Stores ประเทศไทย และ 100% ใน​ Tesco Stores ประเทศ​มาเลเซีย​ แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับงบการเงินในปีนี้ เพราะยังไม่ได้เกิดการจ่ายเงิน​ เนื่องจากต้องผ่านการอนุมัติและเจรจาอีกหลายขั้นตอน อีกทั้งอาจจะมีการออกหุ้นกู้มาเพิ่มเพื่อจ่ายเงินลงทุนในส่วนนี้ก็เป็นไปได้เช่นกัน เอาเป็นว่ารอถึงเวลาเเล้วมาดูกันอีกทีนะว่า เรื่องค่าเงินบาทและแนวโน้มรายได้ในช่วงนั้นของเค้าจะเป็นยังไง ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างมาก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply