เปิดปี 2566 มาไม่ทันไร วงการปั๊มน้ำมันเมืองไทย ก็ลุกเป็นไฟทีเดียว เมื่อมีข่าวการซื้อกิจการ 2 กรณีติด เริ่มด้วย 12 ม.ค. ปั๊มบางจาก ซื้อกิจการปั๊มเอสโซ่ แล้วก็ตามมาติด ๆ วันที่ 31 ม.ค. 2566 กับข่าว SPRC ซื้อคาลเท็กซ์ โดยที่ประชุมผู้ถือหุ้น บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) อนุมัติตามมติบอร์ดให้เข้าไปซื้อหุ้น 100% ในบริษัทเป้าหมายที่ดูแลธุรกิจปั๊มคาลเท็กซ์
อ่านเพิ่ม
ทำไม SPRC ต้องเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทที่ดูแลปั๊มคาลเท็กซ์ และธุรกิจปั๊มน้ำมันในไทย ตอนนี้แต่ละเจ้ายึดครองพื้นที่ในตลาดกันเยอะแค่ไหน วันนี้พี่ทุยจะมาวิเคราห์ให้ฟัง
สรุปดีล SPRC ซื้อคาลเท็กซ์
31 ม.ค. 2566 ผู้ถือหุ้น SPRC อนุมัติเข้าซื้อ
- ธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด
- สัดส่วนการถือครองหุ้น 9.91% ในบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด
- สัดส่วนการถือครองหุ้น 2.51% ในบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
- ที่ดินแปลงที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม รวมถึงสัดส่วนการใช้ประโยชน์ในคลังน้ำมันเชื้อเพลิง จ.สงขลา และจ.สุราษฎร์ธานี
การลงทุนครั้งนี้ใช้งบ 5.56 พันล้านบาท คาดว่าการควบรวมกิจการจะทำใน 10-12 เดือนข้างหน้า ธุรกรรมต่างๆ น่าจะดำเนินการเสร็จในไตรมาสแรก ปี 2567
การลงทุนครั้งนี้ ทำเพื่อรวมสินทรัพย์ในทำเลที่ตั้งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ ได้แก่ คลังน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานีบริการน้ำมัน 427 แห่ง ทั่วประเทศ ที่ดำเนินการโดยพันธมิตรทางธุรกิจ
นอกจากดีลนี้แล้ว ในเวลาเดียวกัน SPRC ก็ยังซื้อหุ้นสามัญ 2.87 ล้านหุ้น และหุ้นบุริมสิทธิ 5.52 ล้านหุ้น ของบริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (Thappline) ซึ่งทำธุรกิจให้บริการขนส่งและจัดจำหน่ายน้ำมันทางระบบท่อส่ง คิดเป็นสัดส่วน 9.91% ของหุ้นทั้งหมด จาก CAPHL
รวมทั้ง ซื้อหุ้นและให้กู้ยืมเงินกับบริษัทจำกัดที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ 2 บริษัท เพื่อเข้าซื้อที่ดิน 19 แปลง ซึ่งใช้ประกอบธุรกิจปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ จากบริษัท สตาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (SHC)
ถ้าจะให้สรุปง่าย ๆ สำหรับดีล SPRC ที่เกิดขึ้นนี้ก็คือ เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการถือหุ้นใหม่เฉย ๆ เปรียบเสมือนอยู่บ้านหลังเดิม แต่แค่จัดพื้นที่ในบ้านใหม่ ซึ่งพี่ทุยได้นำภายการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมาให้ดูด้วย
Before : โครงสร้างการถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจ
After : โครงสร้างการถือหุ้นหลังการปรับโครงสร้างหน่วยธุรกิจ
ถ้าดูเผิน ๆ จากทั้ง 2 รูปนี้ บางคนก็อาจจะดูไม่ออกว่า เปลี่ยนแปลงโครงสร้างตรงไหน แต่ถ้าดูกันชัด ๆ ที่ลูกศรซึ่งบ่งบอกว่า บริษัทไหนไปดูแลธุรกิจไหน ก็จะพบว่า เปลี่ยนแปลงไป โดยในส่วนของหน่วยธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งก็คือกิจการปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ จากเดิมบริษัท เชฟรอน (ไทย) จำกัด ดูแลธุรกิจนี้อยู่ ก็เปลี่ยนมาให้ บริษัท เชฟรอน ลูบริแคนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่ดูแลแทน
และถ้าดูภาพข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นหลังทำธุรกรรม ก็ตอกย้ำชัดเลยว่า การซื้อหุ้นครั้งนี้ ไม่ได้มีผลสั่นสะเทือนอาณาจักรเชฟรอนเลย โดยทุกธุรกิจก็ยังอยู่ภายใต้ร่มใหญ่ของเชฟรอนอยู่ดี
ทำไม SPRC ซื้อคาลเท็กซ์
มาถึงตรงนี้ อาจจะมีบางคนที่สงสัยว่า ทำไม SPRC ต้องซื้อหุ้นคาลเท็กซ์ด้วย ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะ 3 เหตุผลหลักคือ
1. ต้องการครอบครองและรักษาฐานลูกค้าปลายทางในธุรกิจโรงกลั่น
2. อยากขยายธุรกิจปั๊มน้ำมันไปพร้อมกับหาโอกาสขยายธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับปั๊มน้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารบริการด่วน ธุรกิจบริการเกี่ยวกับรถยนต์ และธุรกิจบริการเชิงพาณิชย์อื่น
3. จะได้รับรู้รายได้และกำไรจากธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้วก็ธุรกิจบริการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ทันที
มุมมองนักวิเคราะห์ต่อดีล SPRC ซื้อคาลเท็กซ์
ถ้ามองต่อไปว่าการทำดีลของ SPRC กับคาลเท็กซ์รอบนี้ คุ้มรึเปล่า จะเกิดประโยชน์อะไร พี่ทุยลองไปอ่านความเห็นของที่ปรึกษาการเงินอิสระเกี่ยวกับรายการที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งถูกใช้ประกอบการพิจารณาซื้อหุ้นครั้งนี้ ก็พบว่า ประเด็นน่าสนใจ ดังนี้
- การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยอาจจะไม่รวดเร็ว ดังนั้นรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันยังมีความสำคัญกับชีวิตประจำวันอยู่ และคนทั่วไปก็เคยชินกับการใช้งานรูปแบบเดิม ๆ ดังนั้น ผลกระทบที่จะมีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในไทย อาจไม่รวดเร็ว
- บริษัทยังมีความเสี่ยงจากการแข่งขันกับกลุ่มสถานีบริการน้ำมันในละแวกเดียวกัน ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างฐานลูกค้าที่ภักดีต่อแบรนด์
ขณะที่นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ต่างๆ ก็ออกมาวิเคราะห์ดีลรอบนี้เอาไว้
บล. พาย : การที่ SPRC เข้าซื้อกิจการคาลเท็กซ์ ภายในไตรมาส 1/2567 จะทำให้กำไรของบริษัทมีโอกาสปรับขึ้นได้
บล.ภัทร : มีมุมมองค่อนข้างบวกกับดีลนี้ เพราะว่า กาารที่บริษัทมีธุรกิจขายปลีกน้ำมันซึ่งมีความผันผวนน้อยกว่าธุรกิจกลั่นน้ำมัน ก็จะทำให้ความผันผวนของรายได้และความเสี่ยงทางธุรกิจลดลงไป นอกจากนี้ก็จะทำให้ควบคุมการกระจายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการกลั่นได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
บล.ทิสโก้ : หลังจาก SPRC เข้าซื้อกิจการบริษัทที่ดูแลคาลเท็กซ์ จะสามารถเพิ่มรายได้ได้ทันทีที่ดำเนินการเสร็จ ซึ่งก็คาดว่าอาจจะได้เห็นผลการดำเนินงานในปี 2024 ทั้งปี ปรับเพิ่มขึ้นได้ 7%
สำรวจธุรกิจปั๊มน้ำมันในไทย
มาถึงตรงนี้ พี่ทุยจะพาไปดูภาพรวมกันบ้างว่า ธุรกิจปั๊มน้ำมันในไทย มีใครเด่น ๆ ในตลาดบ้าง โดยจากข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่า ณ สิ้นปี 2565 ประเทศไทยมีปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิง รวม 27,993 แห่ง
จำนวนปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงในไทย
อันดับ 1 ปตท. 2,391 แห่ง
อันดับ 2 พีทีจี 2,229 แห่ง
อันดับที่ 3 บางจาก 1,343 แห่ง
อันดับ 4 เอสโซ่ 802 แห่ง
อันดับที่ 5 เชลล์ 697 แห่ง
อันดับ 6 เชฟรอน (คาลเท็กซ์) 443 แห่ง
จะเห็นได้ว่า เวลานี้ คาลเท็กซ์ ยังตามหลังคู่แข่งหลักๆ อยู่ ขณะที่ บางจาก เมื่อซื้อกิจการเอสโซ่ไปแล้ว ก็คงจะทำให้จำนวนสาขาเพิ่มขึ้นไปสูสีกับพีทีจี
ปัจจัยที่ทำให้ปั๊มน้ำมันยังไปต่อได้
- ถึงแม้ภาครัฐออกมาตรการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า และมาตรการเงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า แต่ก็ยังไม่ออกกฎหมายบังคับยกเลิกการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน
- รัฐบาลตรึงราคาน้ำมันดีเซล ช่วยผู้ประกอบการและภาคขนส่ง
- ต้นทุนการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้ายังสูง ทั้งราคาแบตเตอรี่ และเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า
- สถานีชาร์จไฟฟ้ายังมีไม่เพียงพอและกระจุกตัวในพื้นที่เขตเมืองเป็นหลัก
- ถ้าติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าในที่พักอาศัยเองก็ต้องมีกำลังกระแสไฟรองรับ
- แบตเตอรี่ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า ยังมีปัญหาไฟไหม้ได้ง่าย
- วัตถุดิบผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้ามีไม่เพียงพอ มีปัญหาสิ่งแวดล้อม การใช้แรงงานเด็ก และกำลังไฟฟ้าแบตเตอรี่ต่อน้ำหนักยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- รถและเครื่องบินยังจำเป็นต้องใช้น้ำมัน เพราะยังไม่มีรถยนต์หรือเครื่องบินที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
พี่ทุยมองว่า แม้รถยนต์ไฟฟ้าอาจจะยังไม่เติบโตเร็วในไทย ทำให้ธุรกิจปั๊มน้ำมันมีโอกาสเติบโตอยู่ แต่ท่ามกลางโอกาสนี้ การแข่งขันทางธุรกิจก็สูงเช่นกัน
เราจะเห็นได้ว่า ปั๊มน้ำมันยักษ์ใหญ่ทั้งหลายพยายามปลุกปั้นปั๊มน้ำมันของตัวเองให้มีความน่าสนใจ ดึงดูดลูกค้าเข้ามาใช้บริการได้มากขึ้น
โดยเฉพาะการเน้นไปที่ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน เช่น ร้านสะดวกซื้อ บริการสำหร้บรถยนต์ ที่อยู่ในพื้นที่ปั๊มน้ำมัน รวมถึงการทำตลาดเพื่อเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ด้วย
เอาเป็นว่า พี่ทุยขอชวนเพื่อน ๆ มารอติดตามดีกว่าว่า หลัง SPRC ซื้อหุ้นบริษัทที่ดูแลธุรกิจคาลเท็กซ์เรียบร้อยดีแล้ว จะกระตุ้นกำไรให้เพิ่มขึ้นได้ทันทีจริงอย่างที่หวังหรือไม่
อ่านเพิ่ม