ติดดอย ไม่ใช่การไปเที่ยวทางภาคเหนือ แต่เป็นสิ่งที่นักลงทุนทุกคนต่างเคยประสบพบเจอกันมาก่อน บางส่วนก็ใช้การไม่ขายไม่ขาดทุนแก้ขัดกับปัญหานี้ แต่ต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่เปิดดูพอร์ตก็ไม่สบายใจทุกครั้ง วันนี้พี่ทุยขอช่วยแก้ปัญหาติดดอยให้ทุกคนด้วย 4 วิธีแก้ปัญหา หุ้นติดดอย และวิธีป้องกันการติดดอยซ้ำแล้วซ้ำอีก
ติดดอย คืออะไร ?
พี่ทุยขออธิบายให้เข้าใจกันง่าย ๆ คือ การที่เราซื้อหุ้นในราคาหนึ่ง แล้วหุ้นตัวนั้นกลับไม่ขึ้นไปต่อตามที่ใจปรารถนา แต่ราคากลับวิ่งลงมาแทนเสียอีก !
เช่น พี่ทุยซื้อหุ้นมา 10 บาท แต่ราคาหุ้นดันลงไปเหลือ 9 8 7 6 5 …. บาท ภายในเวลาไม่นาน !! มือใหม่มักจะทำใจกันไม่ได้ เมื่อซื้อหุ้นมาแล้ว ไม่ทันไรเลย ราคาหุ้นก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว มือใหม่มักชอบคิดเอาเองว่า ราคาหุ้นจะกลับไปที่จุดเดิมได้ จนเป็นที่มาของคำว่า ติดดอยกันไปยาว ๆ T_T
ดูเป็นตัวเลขกลม ๆ อาจเหมือนไม่เยอะเท่าไหร่ แต่พอมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ปรับลดลง 10%, 20%, 30%, 40%, 50% กันเลยทีเดียว หรือเห็นภาพกว่านั้น คือลงทุนไป 1 ล้านบาท แต่มูลค่าพอร์ตเหลือ 5 แสนบาท ! (ราคาหุ้นจาก 10 บาท ลงไปเป็น 5 บาท)
อาการติดดอยหุ้น พี่ทุยเชื่อว่าต้องเคยเจอกันมาแทบทุกคนแหละ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งจะมีโอกาสได้พบเจอกันบ่อย ๆ
ลองมาดูพฤติกรรมเหล่านี้ ว่าเรากำลังเข้าข่ายแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า ? และนี่คืออาการติดดอยหุ้นยอดฮิตที่หลาย ๆ คนเคยเจอมา
ทำไมเราถึงติดดอย ?
มาทำความเข้าใจถึง 4 สาเหตุกันก่อนว่าทำไมเราถึงซื้อหุ้น แล้วติดดอย จะช่วยให้เราสามารถหาต้นเหตุ และไม่กลับไปทำซ้ำได้
1. ซื้อหุ้นที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจหุ้นให้ดีก่อน
หุ้นในตลาดมีมากกว่า 700 บริษัท มีทั้งบริษัทใหญ่ กลาง เล็ก แน่นอนว่ามือใหม่ คงไม่มีทางเลยที่จะรู้จักหุ้นได้ครบทุกตัว หรือแม้แต่โบรกเกอร์หุ้นเองก็ยังไม่สามารถทำได้
มือใหม่มักจะคิดซื้อหุ้น ที่ไม่เคยได้ยินชื่อหุ้นมาก่อนด้วยซ้ำ แต่กลับซื้อ เพราะ ได้รับข้อมูลอะไรบางอย่างมาจากคนใกล้ชิด เช่น กลุ่มไลน์ กลุ่มข่าวต่าง ๆ ที่จะมีรายชื่อหุ้นรายวันมาให้ทุกวัน
แต่เชื่อหรือไม่ว่า มือใหม่กลับกล้าซื้อหุ้นตัวนั้น ทั้งที่ยังไม่รู้มาก่อนเลยว่า หุ้นตัวนั้นทำธุรกิจอะไร ? มีผลประกอบการเป็นยังไงบ้าง บริษัทในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และราคาหุ้นมีมูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็นอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ ?
2. ซื้อหุ้นซิ่ง วิ่งพุ่งแรง !
มือใหม่มักจะเลือกหุ้นที่มีราคาหุ้นขึ้นมาแล้วมาก ๆ หรือชอบซื้อหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูง ๆ (หรือมี Volume นั่นเอง)
หุ้นแบบนี้มักจะมีราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแล้วหลายสิบหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ (หลายเด้ง) ภายในเวลาไม่กี่เดือน แล้วทำให้มือใหม่ชอบคิดกันว่า หุ้นจะวิ่งขึ้นแบบนี้ไปเหมือนเดิมอีก
แต่ในความเป็นจริง ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นมามากแล้ว จะมีโอกาสขึ้นต่อได้น้อย หรือนักวิเคราะห์หุ้นมักเรียกว่ามี Upside จำกัดแล้ว บางตัวราคาวิ่งเกินมูลค่าหุ้นไปแล้วด้วยซ้ำ แต่มือใหม่มักจะหลงบินเข้าไปในกองไฟ จึงเกิดคำที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่า “แมงเม่าน้อย” บินเข้ากองไฟ !!
3. ซื้อหุ้นที่มี P/E แพง ๆ (Price/Earning Ratio)
ค่าพีอี (P/E) มักใช้วัดความถูกแพงของหุ้น พี่ทุยขอบอกที่มาของวิธีคิดไว้หน่อยนะ ตัว P คือ ราคาหุ้นปัจจุบัน หารด้วยตัว E คือกำไรต่อหุ้น แล้วค่าที่ออกมาจะมีหน่วยเป็นเท่า เช่น หุ้นราคา 10 บาท กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 2 บาท จะได้เท่ากับ 10 / 2 = 5 เท่า แสดงว่า (หากภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้) หุ้นตัวนี้ใช้เวลา 5 ปี จะคืนทุนกลับมาแก่ผู้ถือหุ้น
ส่วนมากมือใหม่ มักจะไม่ได้ดูความถูกแพงที่ค่า P/E แต่มักจะไปดูที่ราคาหุ้นตรง ๆ เลยมากกว่า เช่น หุ้น ก. ราคา 10 บาท ค่า P/E อยู่ที่ 5 เท่า กับหุ้น ข. ราคา 5 บาท แต่ค่า P/E อยู่ที่ 20 เท่า เป็นต้น มือใหม่มักจะคิดว่าหุ้น ข ถูกกว่าหุ้น ก แต่ความเป็นจริงแล้วหุ้น ก ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบจาก P/E
นอกจากนั้น มือใหม่จะชอบซื้อหุ้นที่มีค่า P/E สูง ๆ เนื่องจากราคาหุ้นกำลังวิ่งแรง จากการเก็งกำไรของเทรดเดอร์จำนวนมาก และทำให้มือใหม่เข้าไปเล่นตามจนออกไม่ทัน ติดดอยกันแบบไม่ทันตั้งตัว !
4. ซื้อหุ้นเมื่อทะลุแนวต้าน (Breakout)
พี่ทุยขอเล่าในทางสายกราฟเทคนิคนิดหน่อย เนื่องจาก แนวรับ-แนวต้าน เป็นคำศัพท์พื้นฐานที่มือใหม่มักจะได้ยินได้อยู่บ่อย ๆ อยู่แล้ว ว่าหุ้นตัวนี้แนวรับ-แนวต้านเท่าไหร่ ในสายกราฟจะมีแนวคิดที่นิยมใช้กันอยู่หลากหลาย
หนึ่งในนั้นคือ ซื้อหุ้นเมื่อทะลุแนวต้าน แล้วซื้อตาม แต่ในทางปฎิบัติการตีแนวรับหรือแนวต้าน จะขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ตีกราฟเองมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าตีกราฟไม่ถูกต้อง อาจมีความเสี่ยงที่เราจะซื้อขายหุ้นผิดจังหวะได้ หรือที่มือใหม่มักจะพลาด กลายเป็นซื้อหุ้นตอนทะลุแนวต้าน (Breakout) หรือในอีกมุมหนึ่ง การซื้อหุ้นตอนราคาสูง ๆ แล้วติดดอยไปตามระเบียบนั่นเอง
หุ้นติดดอย ทำไงดี ?
แล้วถ้าติดดอยขึ้นมาจริง ๆ ควรทำไงดี พี่ทุยแนะนำวิธีแก้ 4 แบบ ต่อไปนี้เลย
1. ตัดขาดทุน (Cut Loss)
เป็นวิธีที่เด็ดขาดที่สุดแต่ก็ทำยากที่สุด ใช้วิธีนี้ก็ต่อเมื่อทิศทางอุตสาหกรรมไม่เหมือนเดิม พื้นฐานบริษัทเปลี่ยนไป พี่ทุยเข้าใจว่าถ้าเป็นนักลงทุนมือใหม่อาจมองอนาคตไม่เด็ดขาด
ขอยกตัวอย่างที่ชัดเจน นั่นก็คือ อุตสาหกรรมสื่อทั้งทีวีและสิ่งพิมพ์ ถ้าใครมีหุ้นกลุ่มนี้ที่ราคาเมื่อ 10 ปี คงต้องบอกว่ามีโอกาสน้อยมากที่ราคาจะกลับขึ้นไปที่ระดับนั้น เพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไปแล้ว
หรือจะเป็นหุ้นที่เคยโด่งดังด้านถ่านหินอย่าง Banpu ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องบอกว่าพื้นฐานบริษัทเปลี่ยนไปด้วยแนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น แต่ปัจจุบันอาจต้องติดตามข่าวกันใหม่เพราะบริษัทก็หันมาทำธุรกิจพลังงานสะอาดมากขึ้น
ถ้าขอยืมหลักการของนักลงทุนสายเทคนิคมาก็จะมีการตั้งลิมิตขาดทุนไว้ เช่น หากราคาหุ้นลดลงไปจากราคาที่ซื้อ 20% จะตัดขาดทุนทันที วิธีนี้ช่วยให้ได้นำเงินไปลงทุนอย่างอื่นที่มีแนวโน้มดีกว่า หาเงินมาทดแทนส่วนที่ขาดทุนไป
2. ถัวเฉลี่ยราคา
วิธีนี้ใช้เมื่อเห็นแนวโน้มอุตสาหกรรมยังสดใส พื้นฐานบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง อาจมีปัจจัยกดดันระยะสั้นซึ่งมีทั้งปัจจัยที่กระทบทั้งตลาด เช่น การขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือปัจจัยกดดันเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้น
แต่ต้องติดตามข่าวว่าปัจจัยที่กดดันหายไปหรือยัง ซึ่งก็เป็นจุดที่ควรถัวเฉลี่ยมากที่สุด วิธีนี้มีความเสี่ยงถ้าหากคาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมหรือพื้นฐานบริษัทผิด ยิ่งทำให้เอาเงินไปติดดอยมากขึ้น และมีโอกาสขาดทุนเพิ่มไปอีก ดังนั้นนักลงทุนต้องศึกษาข้อมูลมาอย่างละเอียด
3. Short Against Port ขายหุ้นออกบางส่วน
เป็นวิธีขายหุ้นออกบางส่วน แล้วเอาเงินที่ได้กลับมาซื้อหุ้นในราคาต่ำกว่าที่ขาย เพื่อให้ต้นทุนโดยรวมลดลง อีกทั้งไม่ต้องเพิ่มเงินเข้าพอร์ต วิธีนี้เหมาะกับกรณีที่หุ้นยังพื้นฐานดีไม่เปลี่ยนแปลง ใกล้ถึงจุดที่ปัจจัยกดดันหายไป
วิธีนี้เป็นส่วนผสมระหว่างตัดขาดทุนและถัวเฉลี่ยราคา เพราะนักลงทุนต้องยอมเห็นการขาดทุนได้ และต้องศึกษาข้อมูลมากจนมั่นใจว่าพื้นฐานหุ้นไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งวิธีนี้มีความยากอยู่ตรงที่นักลงทุนต้องคาดการณ์จุดที่หุ้นใกล้ฟื้นตัวอย่างแม่นยำ ซึ่งพี่ทุยขอบอกเลยว่าการจับจังหวะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดแล้วในการลงทุน หากผิดพลาดก็จะกลายเป็นการยอมขาดทุนแถมถัวเฉลี่ยขาลงในหุ้นที่พื้นฐานเปลี่ยนแปลง
4. เพิ่มเงินลงทุนในหุ้นดี มีอนาคต ชดเชยการขาดทุน หุ้นติดดอย
ไม่ใช่ทุกคนที่จะใจแข็งพอตัดขาดทุน บางคนอาจยังไม่อยากกลับไปหาข้อมูลบริษัทที่ขาดทุนอยู่ในพอร์ต บางคนอาจไม่แน่ใจกับการจับจังหวะเพื่อทำ Short Against Port
แต่บางครั้งก็มีโอกาสเข้ามา เช่น เจอหุ้นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีความเฉพาะทางที่ตลาดยังไม่รู้จัก ซึ่งตนเองมีความเชี่ยวชาญด้านนี้และคาดว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว
หรือกรณีที่ใกล้ตัวก็คงหนีไม่พ้นประเทศจีนประกาศลดมาตรการควบคุม COVID-19 เร็วกว่าที่คาดไว้ หุ้นด้านท่องเที่ยวและบริโภคภายในต่างปรับตัวขึ้นรับรายได้ที่ฟื้นตัว ถ้าเจอเหตุการณ์เช่นนี้พี่ทุยแนะนำว่าให้เพิ่มเงินลงทุนในหุ้นเหล่านี้ และเมื่อได้กำไรก็นำไปหักล้างกับผลขาดทุนจากการติดดอย
วิธีนี้ช่วยบรรเทาผลกระทบทางจิตใจจากการตัดขาดทุนได้ดีที่สุด แต่ก็ต้องมีการเพิ่มเงินลงทุนเข้าพอร์ตและนักลงทุนก็ยังต้องศึกษาข้อมูลไม่แพ้วิธีอื่นเพื่อหาหุ้นพื้นฐานดีมีปัจจัยหนุน ไม่งั้นแล้วโอกาสจะกลับกลายเป็นขาดทุนเพิ่มไปอีก
วิธีแก้ หุ้นติดดอย ไม่ให้กลับมาเกิดซ้ำอีก ?
เมื่อรู้วิธีแก้ไขการติดดอยแล้ว พี่ทุยอยากบอกวิธีเล่นหุ้น ที่จะทำให้เราสามรถหลีกเลี่ยงการติดดอยครั้งต่อไปได้ เพราะ การติดดอยนั้นเกิดจากซื้อหุ้นที่ราคาสูง แต่หุ้นดันถูกโดนเทขาย ทำให้ราคาลดลงไป แล้วอะไรเป็นปัจจัยที่กำหนดราคาหุ้นให้บวก หรือลบ
ปัจจัยกำหนดราคาหุ้นมี 2 แบบ ประกอบด้วย 1. ปัจจัยเชิงพื้นฐาน 2. ปัจจัยเชิงเทคนิค
เข้าใจปัจจัยที่กำหนดราคาหุ้น ป้องกันการซื้อ หุ้นติดดอย
1. ปัจจัยเชิงพื้นฐาน
ปัจจัยเชิงพื้นฐาน คือ ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อ “ผลประกอบการ” ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางของราคาหุ้นในระยะยาว ซึ่งโดยทั่วไปเเล้วปัจจัยพื้นฐานนิยมพิจารณาจาก 3 ระดับ ดังนี้
๐ ระดับบริษัท
ปัจจัยที่ส่งผลต่อกำไรบริษัทไม่ว่าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง เช่น การเพิ่มผลิตภัณฑ์ ธุรกิจคืนทุน ลดค่าใช้จ่าย ในระยะหลังจะเห็นเทรนด์การจับมือเป็นพันธมิตร่วมกันขยายฐานลูกค้า การติดตามข่าวระดับนี้ต้องใช้ความพยายามและเวลามาก พี่ทุยเคยได้รับคำแนะนำจากนักวิเคราะห์ที่มีประสบการณ์ว่าควรคาดเดาสถานการณ์ล่วงหน้าเพียง 1 ปี เพราะแม้แต่ผู้บริหารเองก็คาดเดาทิศทางบริษัทชัดเจนแค่ 1-2 ปี
๐ ระดับอุตสาหกรรม
ปัจจัยที่ส่งผลต่อทุกบริษัทในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากแนวโน้มเศรษฐกิจ วิถีชีวิต จึงมักส่งผลในระยะกลางถึงยาว คาดเดาได้ง่ายกว่าปัจจับระดับบริษัท เช่น กระแสรถยนต์ไฟฟ้าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมพลังงานสะอาด โลกยุคดิจิตอลหนุนการใช้ Cloud Computer เเละ e-Commerce
๐ ระดับเศรษฐกิจ
มีอิทธิพลระยะกลางถึงยาวต่อตลาดหุ้น การเปลี่ยนแปลงทุกปัจจัยที่มีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจ เช่น การนำเข้าส่งออก การใช้จ่ายในประเทศ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ทั้งการปรับดอกเบี้ยและมาตรการ QE ปัจจัยประเภทนี้ส่งผลในภาพรวมซึ่งแต่ละบริษัทจะได้รับผลที่ต่างกันขึ้นอยู่กับศักยภาพ
พี่ทุยแนะนำว่า ปัจจัยทั้ง 3 ระดับนี้ควรประเมินควบคู่ไปด้วยกัน เริ่มจากระดับใหญ่คือเศรษฐกิจก่อน จากนั้นค่อย ๆ ไล่ระดับการพิจารณาสู่ระดับเล็กอย่างระดับบริษัท
วิธีหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้น
หลังจากเมื่อเราประเมินครบทั้ง 3 ปัจจัยหลักแล้ว ก็จะทำข้อมูลทั้งหมดมาประเมินมูลค่า (Valuation) เพื่อหา ”มูลค่าที่แท้จริง” ของกิจการนั้น ๆ เพื่อนำมาเทียบกับ “ราคาในตลาด” ว่าเป็นอย่างไร
ซึ่งพี่ทุยบอกก่อนว่าการประเมินมูลค่าถือว่าเป็นงานศิลปะอย่างหนึ่ง เพราะให้นักวิเคระาห์ 10 คนมาประเมินเชื่อได้เลยว่าได้ตัวเลขออกมาไม่เท่ากันอย่างแน่นอน เพราะแต่ละคนจะให้น้ำหนัก ความสำคัญกับแต่ละปัจจัยไม่เท่ากัน
หากปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลง ค่าที่ใส่สำหรับการประเมินมูลค่าหุ้นก็เปลี่ยนไปด้วย ดังนั้นมูลค่าที่แท้จริงจึงเปลี่ยนไปตามปัจจัย ขณะเดียวกันนักลงทุนในตลาดก็รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงหรือสามารถคาดเดาได้ ซึ่งเป็นการคาดเดาอย่างคร่าว ๆ การประเมินมูลค่าแท้จริงจึงจะตามมาทีหลังและอาจแตกต่างกันมากก็ได้
แต่สิ่งนี้ส่งผลให้เกิด “ราคาในตลาด” ที่เคลื่อนไหวทันทีที่มีข่าวออกมา เช่น หุ้นบริษัทน้ำมันร่วงทันทีที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวลง
เพื่อป้องกันการลงทุนแล้วติดดอย หรือถ้าจะติดดอยก็ติดดอยในต่ำลงหน่อย พี่ทุยแนะนำว่าเราจะต้องประเมินมูลค่าหุ้นให้เรียบร้อย จากนั้นให้นำมาเทียบกับราคาในตลาด และเข้าซื้อเมื่อมูลค่าอยู่สูงกว่าราคาในตลาดเท่านั้น ยิ่งซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าได้มากเท่าไหร่ โอกาสติดดอยเราก็จะยิ่งน้อยลงเท่านั้น
สำหรับใครที่สนใจเรื่องการประเมินมูลค่าหุ้น (Valuation)
สามารถเข้าอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “ประเมินมูลค่าหุ้น” แบบง่าย ๆ ฉบับนักลงทุนมือใหม่ | ลงทุนหุ้นเป็นใน 30 วัน EP13
2. ปัจจัยเชิงเทคนิค
ปัจจัยเชิงเทคนิค คือ การใช้การเคลื่อนไหวของราคาในอดีตเพื่อทำนายทิศทางของราคาในอนาคต โดยราคาหุ้นเคลื่อนไหวทุกวินาทีที่ตลาดเปิดแต่ปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาก่อนหน้านี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกวินาที ความเคลื่อนไหวทั้งหมดนี้เกิดจากแรงซื้อและแรงขาย
บางครั้งก็เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วทันทีที่มีข่าวเปิดเผยออกมา ในบางครั้งก็เป็นเรื่องทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว เช่น ราคาปรับตัวทะลุแนวรับหรือแนวต้าน
๐ ทิศทางราคากับปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป
การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ เป็นสิ่งสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของราคา เมื่อตลาดรับรู้การเปลี่ยนแปลงช่วงแรกจะตอบสนองด้วยอารมณ์ ต่อมาการใช้เหตุและผลเข้ามามีอิทธิพลเหนืออารมณ์ซึ่งอาจมาจากการประเมินมูลค่า การพูดคุยในหมู่นักลงทุน หรือนักวิเคราะห์ออกมาให้ความเห็น ราคาก็จะปรับไปหามูลค่าที่ควรจะเป็นอีกรอบ
พี่ทุยแนะนำว่ากลยุทธ์ที่ดีที่สุดสำหรับมือใหม่หัดลงทุน คือถ้าต้องการลงทุนระยะสั้นต้องไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจ ควรใช้กราฟวิเคราะห์ทางเทคนิคและซื้อขายรวดเร็ว ส่วนระยะยาวต้องคาดเดาการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ทำให้รายได้และกำไรเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ตัวอย่าง กรณีการควบรวมกิจการระหว่าง True กับ Dtac ซึ่งทันทีที่ข่าวถูกเปิดเผยออกมาราคาหุ้น True และ Dtac ก็พุ่งขึ้นทันทีตามอารมณ์และการประเมินผลดีอย่างคร่าว ๆ เวลาผ่านไปประมาณ 1 วัน กลับกลายเป็นราคาหุ้น Advance ที่พุ่งขึ้นตามมาทั้งที่ไม่ได้มีส่วนร่วมกับข้อตกลง นั่นเป็นเพราะตลาดมองว่าระหว่างที่ True และ Dtac กำลังยุ่งกับการจัดการข้อตกลง Advance ก็ใช้เวลานี้จัดโปรโมชันดึงลูกค้า
๐ Sell on fact กับความคาดหวัง
พี่ทุยสามารถบอกได้อย่างมั่นใจว่า “ตลาดหุ้นคือสถานที่แห่งความคาดหวัง” แม้พี่ทุยจะบอกว่าราคาเคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ แต่บางครั้งก็อาจเกิดการเคลื่อนไหวของราคาที่สวนทางกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัย อย่างเหตุการณ์แบบนี้เรียกว่า “Sell on fact”
แท้จริงแล้วต้องเรียกว่า Buy on rumor, Sell on fact ซึ่งอธิบายชัดเจนมากว่า นักลงทุนจะซื้อหุ้นจากข่าวลือและมักขายหุ้นตามข่าวจริง บางครั้งเมื่อปัจจัยเปลี่ยนแปลงตามข่าวหรือความคาดหวังราคาก็ยังปรับตัวขึ้นได้อีก แต่หลายครั้งราคาก็ร่วงราวกับบริษัทจะล้มละลาย เพราะปัจจัยก็เปลี่ยนแปลงไปตามที่คาดแล้วก็ไม่มีข่าวใหม่ที่น่าสนใจออกมา ซึ่งพี่ทุยบอกเลยว่าก่อนจะเกิดการ Sell on fact นักลงทุนมักจะไล่ซื้อหุ้นกันซึ่งใครที่ขายออกไม่ทันก็จะติดดอย
ในระยะหลังมักเกิดเหตุการณ์นี้กับปัจจัยระดับเศรษฐกิจโดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศนโยบายการเงินตามที่ตลาดคาดไว้ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย (ตลาดคาดการณ์จากสภาพเศรษฐกิจได้ง่ายมาก)
ส่วนตัวอย่างหุ้นที่ใกล้เคียงพี่ทุยขอนำ Netflix ผู้ให้บริการสตรีมมิงที่เติบโตระหว่างการล็อกดาวน์ทั่วโลก จนงบไตรมาสที่ 1 ปี 2021 เผยว่ารายได้อยู่ที่ 7,160 ล้านดอลลาร์ ดีกว่าคาดการณ์ที่ 7,130 ล้านดอลลาร์ แต่กำไรและจำนวนผู้ใช้รายใหม่ต่ำกว่าคาด เพราะทั่วโลกเริ่มเปิดเมืองผู้คนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น
ราคาหุ้นที่ขึ้นโดดเด่นช่วงโควิด-19 ร่วงในวันเดียวกว่า 9% หลังเผชิญความจริงทั้งที่คาดไว้แล้วและไม่คาดหวัง จึงเกิดการติดดอย “ชั่วคราว” เพราะว่าหลังจากนั้น Netflix ยังมีการเติบโตอยู่ ราคาจึงฟื้นกลับมา
ซึ่งพี่ทุยแนะนำว่าสำหรับใครที่เน้นลงทุน “เชิงเทคนิค” ก่อนเข้าซื้อควรมีแผนการลงทุนเสมอ รู้ว่าถ้าเข้าซื้อตรงนี้ จะ “ขายทำกำไร (Take Profit)” และ “ตัดขาดทุน (Cut Loss)” เมื่อไหร่ เพื่อให้เมื่ออยู่ในตลาดจริงเราจะได้รู้ก่อนเลยว่าเราจะซื้อหรือขายดีกว่ากัน
พี่ทุยขอบอกเลยว่าเป็นธรรมชาติที่ตลาดหุ้นจะใช้อารมณ์ก่อนเหตุผล ถ้านักลงทุนมือใหม่เข้าใจจุดนี้ก็สามารถลดโอกาส ‘ติดดอย’ ไปได้เยอะ หากเป็นการลงทุนระยะสั้นก็หันไปใช้การวิเคราะห์ทางเทคนิค ส่วนระยะยาวต้องคาดการณ์ปัจจัยต่าง ๆ และที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนมือใหม่หรือมีประสบการณ์ต้องวางแผนและจัดสัดส่วนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้
ไม่อยากติดดอย ต้องทำยังไง ?
ในบางครั้งเราอาจจะต้องถอยมาตั้งหลัก และปรับเปลี่ยนทัศนคติการลงทุนใหม่ เพื่อไม่ให้การติดดอยเกิดซ้ำอีก พี่ทุยได้สรุปมาให้แล้ว ดังนี้
1. ต้องรู้จักหุ้นที่กำลังเลือกก่อนลงทุน
หลักการซื้อหุ้นที่ดี ควรเริ่มต้นจากการเข้าใจการลงทุนให้ดีพอ (ติดตามอ่านที่เว็บไซต์ของ Money Buffalo ของพี่ทุยนี้ก็ได้ อิอิ) รู้จักสไตล์การลงทุนของตนเอง ว่าเป็นคนรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด และรู้จักหุ้นที่ตนเองสนใจลงทุนให้มากเพียงพอ ไม่ใช่เพียงแค่ว่า หุ้นตัวนี้ คือ ชื่อบริษัทอะไร ทำธุรกิจอะไร แต่ต้องดูทั้งโมเดลธุรกิจ ผลประกอบการ กำไรขาดทุน ความสามารถและคุณธรรมของคณะผู้บริหาร
ต้องรู้ถึงวิธีการหารายได้และทำกำไรจากบริษัท รวมถึงความเสี่ยง หนี้สิน และประวัติย้อนหลังและผลงานของผู้บริหารที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น ถ้าไม่รู้เขา ไม่รู้เรา ลบ 100 ครั้ง ก็แพ้ 100 ครั้งนะ แถมติดดอยให้เจ็บใจเล่น คนที่บอกชื่อหุ้นมา ก็ไม่มารับผิดชอบกับเราด้วย
2. ห้ามซื้อหุ้นซิ่ง
เป็นธรรมดาที่หลายคนจะอยากได้เงินไวซึ่งก็ต้องนึกถึงหุ้นซิ่ง หุ้นลักษณะนี้มักเป็นบริษัทที่พื้นฐานไม่ดี มีรายได้และกำไรไม่สม่ำเสมอ มีเจ้ามือคอยลากราคา สร้างกับดักล่อแมงเม่า และแน่นอนก็จบลงด้วยการไปติดดอย
3. ควรรู้มูลค่า และ ราคาหุ้น ว่าอยู่จุดไหนแล้ว
อย่างที่ได้พูดไปหลายครั้ง ถ้าลงทุนแล้วไม่รู้มูลค่าก็เหมือนปิดไฟหาสิ่งของในบ้าน ส่วนไม่รู้ว่าราคาหุ้นอยู่จุดไหนแล้วก็เหมือนไม่รู้ว่าตัวเองเดินไปอยู่ที่ไหนในบ้าน ซึ่งก็คงเดาได้ไม่ยากเลยว่าไม่มีทางหาสิ่งของเจอแถมยังเดินหลงด้วย สำหรับการลงทุนก็คงติดดอย
ฉะนั้น ต้องพยายามซื้อหุ้นที่ ค่า P/E ไม่สูงมากจนเกินไป ปกติค่า P/E มักจะมีตัวไว้ดูเทียบเคียง เช่น เทียบ P/E กับอุตสาหกรรมเดียวกัน เทียบกับตลาดหุ้น (SET) เป็นต้น หรือเราสามารถเทียบ P/E เฉลี่ยในหุ้นที่สนใจย้อนหลัง 5-10 ปีก็ได้ แล้วหาหุ้นที่ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและหาหุ้นที่ราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เป็นต้น
4. ควรวิเคราะห์ว่า ซื้อเพราะอะไร และต้องยอมขายเมื่อสิ่งนั้นไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้
นักลงทุนอาจซื้อหุ้นเพราะจะได้รับปัจจัยหนุนจากการส่งออกที่เติบโต แต่ถ้าการส่งออกกลับไม่เติบโตอย่างที่คาด ก็ควรขายหุ้นทิ้ง หากไม่ขายก็มักจะเป็นต้นเหตุติดดอย
เช่นเดียวกับการซื้อตามปัจจัยทางเทคนิคแล้วไม่ขายตามปัจจัยทางเทคนิค ก็นำไปสู่การติดดอยเช่นกัน นี่เป็นสาเหตุหลักที่หลายคนติดดอย
สุดท้ายนี้พี่ทุยขอบอกว่าทุกคนต้องเคยติดดอยมาก่อน แต่เชื่อว่าวิธีการทั้งหมดที่พี่ทุยแชร์กันไปจะช่วยแก้ปัญหาติดดอยให้ทุกคนได้ และถ้าทบทวนพฤติกรรมการลงทุนที่ผิดพลาดแล้วจะยิ่งช่วยป้องกันไม่ให้ติดดอยหนักอย่างที่เป็นมา โชคดีในการลงทุนนะฮะ