หลายปีมานี้มีหลายประเทศที่ประกาศ “สงคราม” กันฮึ่ม ๆ ไปหมด ทั้งสงครามน้ำมัน สงครามการค้า หรือ การปะทะกันระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” ที่สร้างความกดดันไปทั่วโลก และไหนจะวิกฤตโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
นอกจากเป็นห่วงความปลอดภัยตัวเองแล้ว สิ่งที่พี่ทุยเป็นห่วงตามมาก็คือความปลอดภัยของพอร์ตด้วย ถ้ามีสงครามระเบิดจะลงพอร์ตหุ้นเราด้วยหรือเปล่า พี่ทุยเลยรีบไปหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในโลกของเราและปฏิกริยาตอบสนองของตลาดหุ้นมาเล่าให้ได้อ่านกัน
คำถามแรกที่ผลุดขึ้นมาในหัวทุกคนแน่ ๆ เมื่อพูดถึง “สงคราม” คือ
ย้อนดูสถิติในอดีต ถ้า “สงคราม” เกิดขึ้นมา เราควรรีบล้างพอร์ตมั้ย?
จากสถิติผลตอบแทนของดาวโจนส์ในช่วงที่เกิดวิกฤติต่าง ๆ ระหว่างปี 1900-2014 พบว่า หลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ 1 เดือน ดัชนีดาวโจนส์จะให้ผลตอบแทน -3% และหลังจากที่เหตุการณ์ผ่านไป 3 เดือน ดาวโจนส์ให้ผลตอบแทน -2% แต่หลังจากผ่านไป 6 และ 12 เดือน ดัชนีก็ดีดกลับมาให้ผลตอบแทนที่ 2% และ 6% ตามลำดับ
เพราะฉะนั้นการรีบล้างพอร์ตในช่วงที่เกิดสงครามก็เหมือนกับการรีบเลหลังขายของลดราคา เพื่อซื้อกลับคืนในช่วงไฮซีซั่น ซึ่งไม่น่าจะส่งผลดีต่อสุขภาพการเงินเราเลย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่ย้ำให้เราแน่ใจถึง “ฟ้าหลังฝน” ของตลาดหุ้น หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 เมื่อมีผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินเข้าพุ่งชนตึก World Trade Center
ในครั้งนั้นตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กปิดทำการเป็นเวลา 4 วัน (ซึ่งนับว่าเป็นการปิดทำการที่ยาวนานที่สุด นับตั้งแต่ปี 1933) และเปิดทำการอีกทีในวันที่ 17 ก.ย. พร้อมกับปิดตลาดไปด้วยดัชนีที่ลดลงจากวันก่อนหน้าถึง 684.81 จุด (คิดเป็น 17.5%) แต่ในระยะเวลาเพียงแค่ 2 เดือน ดัชนีดาวโจนส์ก็กลับไปเทรดที่จุดสูงกว่าก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ด้วยซ้ำ
หลายคนคงเคยดูหนังเรื่อง “Pearl Harbor” ที่สร้างจากเรื่องจริงในปี 1941 มีรายงานว่าคนที่ซื้อและถือหุ้นกลุ่มบลูชิพเอาไว้ เมื่อสิ้นปี 1945 จะได้ผลตอบแทนสูงถึง 25% ต่อปีเลยทีเดียว
แล้วถ้าเราวางเงินไว้ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า เช่น ตราสารหนี้ ฝากธนาคาร หรือเอาเงินใส่โอ่งฝังดินเอาไว้ช่วงสงครามล่ะ ?
สินทรัพย์ชนิดอื่นที่ดูปลอดภัยกว่าก็คงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองเอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่เดี๋ยวก่อน พี่ทุยมีข้อมูลที่น่าสนใจ
ขณะที่อยู่ในช่วงสงคราม “ความผันผวน” ของการถือหุ้นจะต่ำลง แต่ผลตอบแทนของตราสารหนี้กลับน้อยกว่าช่วงเวลาปรกติมาก เพราะสงครามมักมาพร้อมกับ “ภาวะเงินเฟ้อ” หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ข้าวยากหมากแพง” นั่นเอง
ในช่วงเวลาปกติ การถือหุ้นจะให้ผลตอบแทน 10% แต่ในยามสงครามจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 11.4% และเหลือเชื่อที่ผลตอบแทนจากการถือตราสารหนี้คิดเป็น 2.2% ลดลงจากผลตอบแทนในภาวะปกติที่ 5.6% กว่าสองเท่า!
เงินฝากเองก็ให้ผลตอบแทนแย่ลงในช่วงสงครามด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นเลิกคิดที่จะเอาเงินใส่โอ่งฝังดิน แล้วไปหาที่วางเงินที่อื่นเถอะ เจอเงินด้อยค่าแล้วจะหาว่าพี่ทุยไม่เตือนนะ
คงเป็นไปได้ยากที่เราจะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย แต่เป็นไปได้ที่เราจะลดผลกระทบหรือกระทั่ง “มองหาโอกาส” ในวิกฤติต่าง ๆ ได้ ในยามสงครามที่ทุกอย่างดูซบเซาไปหมด แต่…
หุ้นกลุ่มหนึ่งกลับได้ประโยชน์และสร้างผลตอบแทนได้มาก ได้แก่
1. หุ้นกลุ่มไบโอเทคที่ผลิตพวกวัคซีนต่าง ๆ
2. หุ้นกลุ่มที่ผลิตอาวุธ “สงคราม”
3. หุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
หุ้นกลุ่มนี้หลายตัวให้ผลตอบแทนเกิน 100% หรือเป็นเด้งเลยนะ
เอาเป็นว่าไม่ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะเป็นยังไงต่อไปก็ตาม เราควรหาวิธีรับมือและปรับตัวให้พร้อมที่สุด ที่สำคัญคือต้องมี “สติ” สติมาเมื่อไหร่ เดี๋ยว “สตางค์” ก็จะมาเอง ในวิกฤตมีโอกาสเสมอนะ
ยังไง ๆ พี่ทุยไม่เห็นด้วยกับความรุนแรงหรือการก่อสงครามใด ๆ ทุกรูปแบบ บทความนี้ต้องการให้เห็นถึงผลกระทบต่อตลาดเงินเมื่อเกิดวิกฤตต่าง ๆ เท่านั้น
หมายเหตุ : อัตราผลตอบแทนขึ้นอยู่กับสภาวะเงินเฟ้อ ณ ขณะนั้นด้วย
อ่านเพิ่ม
Evohyh
Hpjeje
Houlgu
Mjgyys
Hchrfy
Fqkavy
Bflcxn
Ifrjlo
Vipwzj
Jpkzcc
Senulg
Ukbqpv
Uxwsii
Pziyik
Zopidg
Spodcg