บทลงโทษที่ต้องรู้ ถ้าผิด "เงื่อนไข LTF RMF"

บทลงโทษที่ต้องรู้ ถ้าผิด “เงื่อนไข LTF RMF”

 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“เงื่อนไข LTF RMF” เป็นเรื่องที่ยากถ้าคนไม่สนใจจะศึกษา แต่มันเป็นเรื่องง่ายมากถ้าเข้าใจ และเราสามารถใช้มันได้ไปตลอดชีวิต พี่ทุยมั่นใจว่ามนุษย์เงินเดือนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเกือบทุกคนต้องมีซื้อ “LTF” หรือ “RMF” ติดมือเอาไว้ลดหย่อนภาษีอย่างแน่นอน และเราก็ต่างรู้ดีว่าการซื้อ LTF หรือ RMF เพื่อลดหย่อนภาษีนั้นเราจะต้องทำตามเงื่อนไขที่กำหนดบางอย่าง ไม่อย่างงั้นก็จะมีบทลงโทษตามมาแน่นอน

แล้วบทลงโทษที่เราต้องโดน เมื่อเราทำผิดการถือ “เงื่อนไข LTF RMF” มีอะไรบ้างล่ะ ?

พี่ทุยขอเริ่มจาก “LTF” ก่อนละกันนะ สิ่งที่จะทำให้เราผิดเงื่อนไขการซื้อ LTF ได้นั้น มี 2 กรณี คือ

1. ขายกอง LTF ออกก่อนกำหนดระยะเวลา 7 ปีปฏิทิน

อย่างที่เรารู้ว่าถ้าเราใช้ LTF ลดหย่อนภาษีเราจะต้องถืออย่างน้อย 7 ปีปฏิทิน เช่น พี่ทุยมีรายได้ 1,000,000 บาทต่อปี ซื้อ LTF ในเดือนธันวาคม 2560 จำนวน 150,000 บาท ทำให้พี่ทุยประหยัดภาษีไปได้ 30,000 บาท (เพราะอยู่ฐานภาษี 20% ซื้อ 150,000 บาทก็จะประหยัดได้ภาษีที่ต้องจ่ายได้ 30,000 บาท [150,000 x 20]) ต่อมาเดือนสิงหาคม 2562 พี่ทุยก็ขาย LTF กองเดิมนั้นไปทั้งหมดเลย

บทลงโทษสำหรับกรณีนี้ อย่างแรก พี่ทุยจะต้องคืนเงินภาษีที่พี่ทุยได้รับการยกเว้นในปี 2560 คืนสรรพากรไป ซึ่งก็คือเงิน 30,000 บาท พร้อมกับค่าปรับ 1.5% ต่อเดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายนของปี 2561 จนถึงเดือนสิงหาคม 2562 รวมเป็นระยะเวลา 16 เดือนนั่นคือพี่ทุยต้องจ่ายค่าปรับ 30,000 x 1.5% x 16 = 7,200 บาท แต่ถ้าเรายิ่งนำภาษีไปคืนช้าเราก็จะยิ่งโดนค่าปรับมากขึ้น ดังนั้นถ้ารู้ว่าทำผิดเงื่อนไขก็ให้รีบคืนภาษีเลยทันที

บทลงโทษต่อมา คือ ส่วนของกำไรที่ได้จากการขายกองทุน LTF ต้องนำไปเสียภาษี โดยเอากำไรจาก LTF ไปรวมกับเงินได้ในปีนั้นแล้วเสียภาษีตามปกติ แต่ถ้าขาย LTF แล้วเกิดขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้

2. ซื้อ LTF เกินสิทธิที่เราสามารถลดหย่อนภาษีได้ ก็คือ เกิน 15% ของรายได้หรือ 500,000 บาท

จากตัวอย่างเดิม พี่ทุยมีรายได้ 1,000,000 บาท พี่ทุยมีสิทธิซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ก็คือ 150,000 บาท แต่ถ้าพี่ทุยดันไปซื้อ LTF ไว้ 200,000 บาท แสดงว่าพี่ทุยซื้อเกินสิทธิไป 50,000 บาท

บทลงโทษกรณีที่ 2 นี้จะมี 1 อย่างเท่านั้น คือ เมื่อพี่ทุยขาย LTF ส่วนที่เกินสิทธิ 50,000 บาทนี้ไป พี่ทุยจะต้องนำกำไรที่ได้จากการขายไปเสียภาษี โดยเอากำไรไปรวมกับเงินได้ทั้งปีและเสียภาษีตามปกติ ในกรณีนี้ไม่ว่าพี่จะขายก่อนกำหนดหรือตามกำหนด พี่ทุยจะไม่โดนค่าปรับ เพราะพี่ทุยไม่ได้นำส่วนที่ซื้อเกินไปลดหย่อนภาษีนั่นเอง

ต่อมา มาดูบทลงโทษของการทำผิดเงื่อนไขในการซื้อ “RMF” กันดีกว่า แต่มาดูก่อนดีกว่าว่าแบบไหนเรียกว่าผิดเงื่อนไข RMF

  1. หยุดซื้อกอง RMF มากกว่า 1 ปีติดต่อกัน ทั้งๆที่ยังมีรายได้อยู่
  2. ลงทุนต่ำกว่าเกณฑ์ 3% ของรายได้หรือ 5,000 บาท
  3. ขายคืนหน่วยลงทุนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  4. ขายคืนหน่วยลงทุนก่อน 5 ปี (นับแบบวันชนวัน)

พอเรารู้ว่าอะไรคือการผิดเงื่อนไขแล้ว ก็มาดูบทลงโทษกัน ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 กรณีใหญ่ๆ คือ

1. กรณีลงทุนไม่ถึง 5 ปี และ/หรือมีการทำผิดเงื่อนไขด้านบน

กรณีนี้จะต้องคืนภาษีย้อนหลัง 5 ปีนับตามปีวันชนวันให้กับสรรพากรภายในเดือนมีนาคม ปีถัดจากที่ทำผิดเงื่อนไข ถ้าคืนช้ากว่านี้โดนค่าปรับเพิ่มนะ และเสียภาษีกำไรที่ได้จากการขาย RMF โดยเอากำไรที่ได้ไปรวมกับเงินได้ทั้งปีและเสียภาษีตามปกติ แต่ถ้าขาย RMF แล้วขาดทุน ก็ไม่ต้องเสียภาษี

2. กรณีลงทุนเกิน 5 ปี แต่มีการทำผิดเงื่อนไขด้านบน

กรณีนี้ ทำแค่คืนภาษีย้อนหลัง 5 ปีนับตามปีปฏิทินให้กับสรรพากรภายในเดือนมีนาคม ปีถัดจากที่ทำผิดเงื่อนไข ถ้าคืนช้ากว่านี้ก็จะโดนค่าปรับเพิ่ม

แต่จริงๆแล้วมีอีกกรณีนึงที่เป็นการผิดเงื่อนไขเช่นกัน คือ กรณีซื้อเกินสิทธิที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ คือ เมื่อนำ RMF รวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ กบข./ประกันบำนาญ แล้วเกิน 15% ของรายได้หรือ 500,000 บาท

กรณีนี้บทลงโทษก็จะเหมือนกับการซื้อเกินสิทธิของ LTF นั่นก็คือ ต้องนำกำไรที่ได้จากการขายส่วนที่เกินสิทธิไปเสียภาษี โดยเอากำไรไปรวมกับเงินได้ทั้งปีและเสียภาษีตามปกติ ถ้าขายแล้วขาดทุนก็ไม่ต้องเสียภาษีนะ

นี่ก็เป็นบทลงโทษทั้งหมดที่เราควรรู้ไว้ เมื่อทำผิดเงื่อนไขการถือ LTF RMF แต่ยังไง พี่ทุยก็แนะนำว่าอย่าทำผิดเงื่อนไขเลย ก่อนที่เราจะซื้อ LTF หรือ RMF ก็ควรศึกษาเงื่อนไขให้ละเอียดก่อน และประเมินความสามารถของตัวเองว่าเราจะทำได้ตามเงื่อนไขนั้นได้รึปล่าว ถ้าทำได้แน่นอนก็ซื้อได้ตามสบายเล้ยยย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย