อายุเท่านี้ เงินเดือนเท่าไหร่

อายุเท่านี้ ต้องมี “เงินเดือน” เท่าไหร่แล้ว ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • เงินเดือนจะพอหรือไม่พอนั้น เราควรดูที่ว่ารายได้รวมของเราเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายหรือเปล่า
  • ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังต้องมีเงินไว้เพื่อความบันเทิง มีไว้สำหรับจ่ายหนี้ และ สำหรับลงทุนเพื่ออนาคต
  • ถ้าเรามีรายรับรวมเป็น 3 เท่า ของค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ก็จะมีเงินเหลือที่จะใช้จ่ายในส่วนอื่นๆได้อย่างไม่ขัดสน
  • ถ้าอยากมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะใช้จ่ายในส่วนต่างๆ ได้มากขึ้น ก็ต้องเพิ่มทักษะทั้งทักษะการทำงานและทักษะการลงทุน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

อายุเท่านี้แล้ว มีเงินเดือนเท่านี้ มันพอหรือยังนะ ?

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่พี่ทุยได้ยินบ่อยมาก แต่คำตอบมันช่างตอบยากเสียเหลือเกิน นั่นก็เพราะว่าปัจจัยในการที่เราจะคิดว่า “เงินเดือน” เท่าไหร่ถึงจะพอนั้น มันไม่ได้มีเพียงแค่อายุหน่ะสิ

จริงๆแล้วก็ปฎิเสธไม่ได้หรอกว่า ไม่ควรเอาอายุมาเทียบกับเงินเดือนซะทีเดียว เพราะเมื่อคนเราอายุมากขึ้น การก้าวออกมาจากบ้าน ห่างพ่อห่างแม่ออกมายืนด้วยตัวเอง ต้องสร้างครอบครัว มีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นก็ต้องย่อมมีความจำเป็นที่จะต้องมีเงินเดือนเพิ่มขึ้นเป็นธรรมดา

“เงินเดือน” เท่านี้เยอะหรือยัง ต้องดูยังไง ?

ถ้าอยากจะตอบคำถามนี้ให้ได้จริงๆก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น “ก็แค่ดูที่รายจ่ายไงล่ะ” ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เนื่องจาก ภาระค่าใช้จ่ายของแต่ละคนไม่เท่ากันนั่นเอง แต่สุดท้ายแล้วถ้ารายได้ของเราสามารถใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ขัดสน นั่นก็แสดงว่าเงินเดือนของเรานั้นเพียงพอแล้ว

“แต่การสร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคง แค่มีเงินพอใช้อย่างเดียวก็คงไม่พอ”

คิดดูว่าถ้าชีวิตของเราในหนึ่งวัน ตื่นขึ้นมา ไปทำงาน กินข้าว กลับมาห้อง แล้วก็นอน เป็นอย่างนี้ทุกๆ วันมันก็คงจะน่าเบื่อเหลือเกิน ใช่แล้ว เพราะชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่นั้น คนเราล้วนต้องการมีชีวิตที่ดี ชีวิตที่ได้ออกไปสังสรรค์ ออกไปสนุกสนานกับเพื่อน ได้ซื้อของที่อยากได้ มีเงินเหลือ เก็บออมเงินสำรองสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งการลงทุนเพื่อจะได้ไม่ต้องทำงานในวัยเกษียณ

ดังนั้นเงินเดือนที่พอดีกับค่าใช้จ่ายมันก็คงไม่พอแล้วใช่มั้ยล่ะ แต่อย่าเพิ่งกังวลกันมากไป พี่ทุยมีทริคเล็กๆน้อยๆ มาแนะนำสำหรับใครที่ต้องการจะวางแผนรายรับ-รายจ่าย นั่นก็คือ..

เงินเดือน + รายได้เสริม = ของค่าใช้จ่ายที่จำเป็น x 3

สำหรับใครที่มีรายรับเพียงแค่เงินเดือนอย่างเดียว หมายความว่า “เราควรมีเงินเดือนเป็น 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็น” นั่นเอง

เพราะชีวิตเราไม่ได้มีแค่ค่าใช้จ่ายส่วนเดียว นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว เราก็ควรจะเผื่อไว้สำหรับหนี้สินก้อนใหญ่ๆ เช่น การผ่อนบ้านผ่อนรถอีกไม่เกิน 30% ของเงินเดือน เผื่อไว้สำหรับความบันเทิง ดูหนัง ท่องเที่ยว ช้อปปิ้ง อีกไม่เกิน 20% ของเงินเดือน และสุดท้ายก็คือการเก็บออมและลงทุนเพื่ออนาคตอีกไม่เกิน 20% ของเงินเดือน ถ้าใครที่มีเงินเดือนน้อยกว่าสามเท่าของค่าใช้จ่ายจำเป็น ก็อาจจะทำให้เราสามารถแบ่งเงินเพื่อไปใช้ในส่วนอื่นๆ น้อยลงไปนั่นเอง

ลองคำนวณให้เห็นกันชัดเจน ว่าเรามีเงินเดือนที่เหมาะสมกับค่าใช้จ่ายหรือยังนะ ?

สมมติว่าพี่ทุยมีเงินเดือน 30,000 บาท และมีค่าใช้จ่ายคร่าวๆ เป็นค่าเดินทาง ค่าอาหาร วันนึงก็ประมาณ 300 บาท ค่าของใช้ในบ้านต่างๆ รวมแล้วเดือนนึงก็ประมาณ 2,000 บาท เท่ากับว่าพี่ทุยมีค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อเดือน 11,000 บาท

เมื่อนำมาคิดกับสูตรข้างต้น ผลปรากฎว่า.. พี่ทุยต้องมีเงินเดือน 33,000 บาท ถึงจะเหมาะสม

แต่ลืมไป !! พี่ทุยมีแหล่งรายได้อีกทางหนึ่งเป็นรายได้เสริมจากการไปร่วมหุ้นเปิดร้านกาแฟกับเพื่อนไว้ได้ผลตอบแทนไม่มากไม่มาย แค่เดือนละประมาณ 3,000 บาท

ทำให้รวมๆแล้ว พี่ทุยมีรายได้ประมาณ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายที่จำเป็นพอเล้ยยยย เย้

ส่วนของเงินที่เหลืออีกสองเท่าของรายจ่ายที่จำเป็น พี่ทุยก็แบ่งเอาไปใช้เป็น ส่วนของหนี้สิน 30% ของเงินเดือน ตอนนี้พี่ทุยมีค่าผ่อนบ้าน แล้วก็ค่าผ่อนคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ส่วนของความบันเทิงอีก 20% ของเงินเดือน ใช้กินข้าวมื้อหรู กินบุฟเฟ่ต์ ดูหนัง ไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงวัดหยุด นี่แหละ ความบันเทิงของพี่ทุย และสุดท้ายอีก 20% ของเงินเดือนก็แบ่งไว้เก็บออมเป็นเงินฉุกเฉินเดือนละ 5% และนำไปลงทุนอีก 15% เพื่อให้เงินงอกเงยเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ

ดูเหมือนชีวิตพี่ทุยจะลงตัวแล้วเนอะ แต่ในอนาคตพี่ทุยก็คงจะต้องหาเงินเพิ่มขึ้นอีก ถ้าอยากมีรถสักคัน เพราะส่วนของหนี้สินของพี่ทุยก็จะต้องเพิ่มขึ้น แล้วถ้าพี่ทุยอยากเกษียณไวขึ้น ก็ต้องลงทุนให้มากขึ้นอีกด้วย

ดังนั้นถ้าใครอยากมีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง หัวใจสำคัญของการเพิ่มรายได้นั่นก็คือ การเพิ่มความรู้นั่นเอง คนที่หาเงินได้มากก็คือคนที่มีทักษะมาก ทั้งทักษะในด้านการทำงาน และทักษะในด้านการลงทุน รายได้มากขึ้นชีวิตก็สบายขึ้น เมื่อรายได้ของเราเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายแล้ว ก็ลองตั้งเป้าหมายในแต่ละปีดู แล้วค่อยๆสร้างรายได้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ

แต่จริงๆแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องมีแผนการเงินเหมือนพี่ทุยนะ [อ่านบทความ สูตรวางแผนการเงินลับที่ไม่ต้องทำงานไปตลอดชีวิต คลิกที่นี่] บางคนอาจจะลดรายจ่ายจากค่าใช้จ่ายด้านความบันเทิงลง หรือบางคนไม่มีหนี้สินติดตัวแล้ว เงินเดือนที่เหมาะสมก็จะแตกต่างกันไป อันนี้เป็นตัวอย่างสมมติของพี่ทุยเพื่อจะได้เข้าใจง่ายๆกัน ลองเอาไปปรับใช้ให้เข้ากับของแต่ละคนกันดูน้า

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย