ทำไมเราควรมี "ทองคำ" ในพอร์ตลงทุน

ทำไมเราควรมี “ทองคำ” ในพอร์ตลงทุน ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ราคาทองคำเริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นอย่างเต็มตัวหลังจากปี 1971 ซึ่ง ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ประกาศยุติการยึดค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ ทำให้ยุคของ Gold Standard สิ้นสุดลง
  • ในเวลานี้ ทองคำกลายเป็นสินทรัพย์ที่หลายคนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น หลังจากราคาทองคำพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่
  • จุดเด่นของทองคำ คือ การเป็นสินทรัพย์ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเป็นเครื่องประดับ สินทรัพย์เพื่อการลงทุน สินทรัพย์เพื่อป้องกันความเสี่ยง รวมถึงเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในบางเทคโนโลยี
  • ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนที่ดีขึ้นให้กับพอร์ตลงทุนในระยะยาวและยังเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยงในเวลาที่ตลาดมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงการเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ในระยะยาว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนปี 1971 “ทองคำ” เป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบการเงินของโลกค่อนข้างมาก ด้วยสิ่งที่เรียกว่า ระบบมาตรฐานทองคำ หรือ Gold Standard ซึ่งกำหนดให้แต่ละประเทศที่จะพิมพ์เงินออกมาเพิ่มจำเป็นจะต้องมีทองคำสำรองอยู่ด้วย โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ออนซ์ เท่ากับ 35 ดอลลาร์สหรัฐฯ  แต่หลังจากที่ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศยุติการยึดค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำในปี 1971 ทำให้ยุคของ Gold Standard เป็นอันสิ้นสุดลงนับตั้งแต่นั้น

การประกาศยกเลิกการผูกดอลลาร์กับทองคำก็เป็นผลจากการที่สหรัฐเข้าร่วมสงครามเวียดนาม ในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขาดดุลการค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ จนหลายประเทศเริ่มกังวลต่อการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ จึงได้นำเงินดอลลาร์มาแลกคืนเป็นทองคำ แต่สหรัฐฯ ไม่สามารถหาทองคำมาให้แลกคืนได้พอ เพราะมีการพิมพ์เงินออกมามากกว่าทองคำที่มีอยู่

เมื่อ “ทองคำ” หลุดพ้นจากการควบคุมโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ ราคาทองคำก็เริ่มเข้าสู่วัฏจักรขาขึ้นอย่างเต็มตัว จนขึ้นไปแตะระดับ 800 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นครั้งแรก ในปี 1980 และกลายมาเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ถูกใช้ในการลงทุน

40 ปีผ่านไป ราคาทองคำยังมีแนวโน้มจะวิ่งขึ้นได้ต่อ หลังจากที่ราคาพุ่งขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ที่ราว 1,970 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าทองคำจะไม่ได้ทำหน้าที่ในการเป็น Back up เหมือนในอดีต แต่ปัจจุบันประเทศต่างๆ ยังคงเลือกที่จะถือครองทองคำไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

ปัจจุบันมีรายงานว่าธนาคารกลางของประเทศที่ถือครองทองคำมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก คือ

1. สหรัฐฯ จำนวน 8,134 ตัน
2. เยอรมัน 3,364 ตัน
3. อิตาลี 2,452 ตัน
4. ฝรั่งเศส 2,436 ตัน
5. รัสเซีย 2,299 ตัน

สำหรับนักลงทุนทั่วไป ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการเลือกเข้าพอร์ต ด้วยผลตอบแทนเฉลี่ย 10.6% นับแต่ปี 1971 ในขณะที่ผลตอบแทนจากดัชนี S&P500 ใกล้เคียงกันที่ระดับ 10.9%

จุดเด่นของทองคำอีกอย่างนึงที่พี่ทุยเคยเล่าให้ฟังไปก่อนหน้านี้ คือ การเป็น Safe Haven โดยเฉพาะในยามที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจและมีความไม่แน่นอนสูง ทองคำมักจะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างโดดเด่น อย่าง วิกฤตปี 2008, วิกฤติ Great Depression, วิกฤติ Black Monday รวมถึงวิกฤติ โควิด-19 ในครั้งนี้

จากประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ของทองคำ อย่างการเป็นเครื่องประดับ หรือการเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตในบางอุตสาหกรรมก็เป็นการเพิ่ม Demand ในทองคำให้เพิ่มสูงขึ้นไปอีก

ด้วยมูลค่าของทองคำที่เพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ยิ่งทำให้คนทั่วไปมีมุมมองต่อทองคำว่าเป็นเครื่องประดับหรือสินทรัพย์ที่ราคามีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้นหรืออย่างน้อยที่สุดคือ ราคาจะไม่ลดลง

นอกจากนี้การอ่อนค่าของสกุลเงินต่าง ๆ ที่รวดเร็วกว่าปกติ จากผลของการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างหนัก ทำให้ทองคำกลายมาเป็นสินทรัพย์ที่สามารถรักษามูลค่าของตัวเองไว้ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่มูลค่าของเงินในสกุลต่าง ๆ กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ช่วงเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมา พี่ทุยมองว่า “ทองคำ” นั้นได้แสดงบทบาทว่ามีส่วนสำคัญในการเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยรักษาความมั่งคั่งเอาไว้ในระยะยาวได้ ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับประเทศ แต่ยังรวมถึงในระดับบุคคลทั่วไป ทำให้ทองคำเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ทุกคนควรจะถือครองติดไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจชะลอตัวแบบนี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply