ทำไม "Climate Change" เป็นธีมลงทุนที่ทั่วโลกสนใจ ?

ทำไม “Climate Change” เป็นธีมลงทุนที่ทั่วโลกสนใจ ?

5 min read  

ฉบับย่อ

  • ไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ฝนตกจนน้ำท่วมหนัก ขณะที่ฤดูร้อนยาวนานขึ้นและฤดูหนาวสั้นลง
  • อุณหภูมิโลกปัจจุบันเพิ่มขึ้น 1.2 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงปี 1850 – 1900 และเป็นช่วงที่โลกร้อนที่สุดในรอบ 100,000 ปี
  • ออสเตรเลียเกิดวิกฤตไฟป่าครั้งรุนแรงในรัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) พื้นที่ความเสียหายเทียบเท่าเกาหลีเหนือ และมีสัตว์ป่าเสียชีวิตกว่า 1,000 ล้านตัว จากอากาศที่ร้อนและแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์ ในขณะที่เมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) มณฑลเหอหนาน (Henan) ของจีนเกิดวิกฤตน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 1,000 ปี 
  • เมืองนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) รัฐลุยเซียนา (Louisiana) ประสบกับพายุเฮอริเคนไอดา สร้างความเสียหายที่มีผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมน้ำมัน และทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกผันผวนมากขึ้น
  • การตัดสินใจเลือกลงทุนในธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและการรักษ์โลก จะเป็นอีกรูปแบบการลงทุนแห่งอนาคตที่สามารถช่วยโลกให้พ้นจากปัญหาโลกร้อนที่เป็นเรื่องใกล้ตัวนักลงทุนได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) จากปัญหาโลกที่ร้อนขึ้น ส่งผลกับไทยอย่างเห็นได้ชัดจากสถานการณ์ฝนตกหนักตลอดทั้งวันจนทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของไทย โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมบางปู จ.สมุทรสาคร ที่น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 15 ปี และยังเป็นที่ตั้งของ Delta หรือบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน บริษัทที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของตลาดหุ้นไทยในปี 2020 และอันดับ 2 ในปัจจุบัน ที่จำเป็นต้องปิดโรงงานไปชั่วคราว ขณะเดียวกันในฤดูร้อนก็ยาวนานขึ้นและมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นในแต่ละปี รวมถึงฤดูหนาวก็มีเวลาที่สั้นลง 

โดยข้อมูลของ The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) พบว่า ปัจจุบันอุณหภูมิโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 14.9 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นถึง 1.2 องศาเซลเซียส เทียบกับช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรมเมื่อปี 1850 – 1900 และถือเป็นช่วงที่ “โลกร้อนที่สุด” ในรอบกว่า 100,000 ปี เท่าที่สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติและเอกสารทางวิทยาศาสตร์มาได้

ก่อนหน้านี้ในปี 2015 มี 195 ประเทศทั่วโลกได้ทำข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้ขึ้นไปแตะระดับเพดานที่ 1.5 องศาเซลเซียส แต่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและพฤติกรรมมนุษย์ทำให้มีแนวโน้มว่าอุณหภูมิโลกจะขึ้นไปแตะเพดานนี้ภายในปี 2040 และมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปอีก 3 – 5 องศาเซลเซียส หากยังไม่ “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” อย่างจริงจัง ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้โลกร้อนขึ้นเท่านั้น แต่ยังทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น เกาะกำลังจะจมน้ำเพิ่ม สัตว์มาเกยตื้นบนฝั่งมากขึ้น รวมทั้งยังส่งผลมาสู่เศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุนด้วยเช่นกัน

“Climate Change” ในออสเตรเลียทำให้เกิดวิกฤตไฟป่าครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์

ทำไม Climate Change เป็นธีมลงทุนที่ทั่วโลกสนใจ ?

ที่มา:bloomberg

ออสเตรเลียเป็นประเทศและทวีปที่เกิดไฟป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะพื้นที่ในแถบตะวันออกเฉียงใต้ที่มีภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีเมืองสำคัญที่มีประชากรอยู่อย่างหนาแน่น เช่น ซิดนีย์ เมลเบิร์น และบริสเบน

โดยช่วงปลายปี 2019 ถึงต้นปี 2020 ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ทางตะวันออกเฉียงใต้เกิดวิกฤตไฟป่าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย สร้างความเสียหายกินพื้นที่รวมกว่า 48,000 ตารางกิโลเมตร มากกว่าสองจังหวัดที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของไทยรวมกันอย่างเชียงใหม่และกาญจนบุรี แต่หากรวมทั้งประเทศก็เสียหายไปกว่า 100,000 ตารางกิโลเมตร หรือพอ ๆ กับขนาดของประเทศเกาหลีเหนือ บ้านเรือนเสียหายและผู้คนต้องอพยพกว่าหลายพันคน มีผู้เสียชีวิตรวมกันกว่า 30 คน และสัตว์ป่ากว่า 1,000 ล้านตัว

สาเหตุสำคัญเกิดจากสภาพอากาศในช่วงนั้นร้อนและแล้งที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่มีการจดบันทึกข้อมูลอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปี 1910 ด้วยอากาศที่ร้อนเกินกว่า 40 องศาเซลเซียส อีกทั้งยังเกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Indian Ocean Dipole (IOD) หรือ Indian Niño นั่นคือ อุณหภูมิของมหาสมุทรแต่ละฝั่งของออสเตรเลียไม่เท่ากัน

ออสเตรเลียฝั่งตะวันตกติดกับมหาสมุทรอินเดีย ส่วนฝั่งตะวันออกติดกับมหาสมุทรแปซิฟิก ส่งผลให้กระแสน้ำเคลื่อนไหวไม่เท่ากัน เกิดน้ำอุ่นในฝั่งตะวันตกและน้ำเย็นในฝั่งตะวันออก จนกลายเป็นความชื้นและเกิดฝนตกในฝั่งตะวันออกหรือแถบแอฟริกา แต่เกิดอากาศร้อนและแล้งในฝั่งออสเตรเลียจนเกิดเป็นไฟป่าครอบคลุมเมืองท่องเที่ยวสำคัญอย่างซิดนีย์และเมลเบิร์น

มีการประเมินความเสียหายจากวิกฤตไฟป่าครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี ในเดือน ต.ค. 2019 ขณะที่รายได้ท่องเที่ยวในปี 2019 ลดลงจากปีก่อนถึง 20.5% จากการยกเลิกทริปเพราะกังวลเรื่องความปลอดภัยและคุณภาพอากาศที่แย่ และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ GDP ใน Q1/2020 หดตัว 0.3% (QoQ) เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2011

นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมมากที่สุดสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่าง Great Barrier Reef หรือแนวปะการังที่ได้รับมรดกโลกมาตั้งแต่ปี 1981 และเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของโลก รวมทั้งมีความสำคัญในเชิงวิทยาศาสตร์ทางทะเล เพราะเป็นตัวชี้วัดไว้คอยเตือนภัยวิกฤตโลกร้อน กลับเกิดปัญหาฟอกขาวตามแนวปะการังที่มีความยาวกว่า 2,300 กิโลเมตรจากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น จนทำให้สาหร่ายที่อยู่ตามแนวปะการังต้องย้ายถิ่นไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ จนปะการังเสียแหล่งอาหารเหลือเพียงโครงสร้างหินปูนสีขาวเท่านั้น ทัศนียภาพใต้ท้องทะเลที่หายไปซ้ำเติมรายได้ภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ รวมถึงดัชนีตลาดหุ้นออสเตรเลียที่ผันผวนอยู่ร่วมครึ่งปี

น้ำท่วมจีนหนักที่สุดในรอบ 1,000 ปี ผลกระทบจาก “Climate Change”

เมื่อช่วงเดือน ก.ค. 2021 ที่ผ่านมาเกิดฝนตกหนักจนน้ำท่วมเมืองเจิ้งโจว (Zhengzhou) เมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุด รวมถึงเป็นเมืองอุตสาหกรรมสำคัญของจีนที่อยู่ในภาคกลางมณฑลเหอหนาน (Henan) มณฑลที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 17 แต่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ

นักวิทยาศาสตร์บอกว่า น้ำท่วมจีนครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณเตือนภัยว่าสภาพอากาศทั่วโลกกำลังแปรปรวนอย่างหนักจากโลกที่ร้อนขึ้น จนชั้นบรรยากาศเกิดความอุ่นและกักเก็บความชื้นมากจนฝนตกหนัก ขณะที่ประชาชนในท้องถิ่นเรียกเหตุการณ์นี้ว่าเป็นวิกฤตน้ำท่วมหนักสุดในรอบ 1,000 ปีเลยทีเดียว

มีการประเมินกันว่า ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาติดต่อกัน 3 วัน เทียบเท่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีของปีก่อน จนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างกระทบประชาชนกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิตและสูญหายหลายร้อยคน รวมถึงต้องอพยพย้ายถิ่นอีกเกือบ 4 แสนคน

ระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมได้รับความเสียหายจากการหยุดให้บริการทั้งรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน พืชผลทางการเกษตรเสียหายกว่า 1.3 ล้านไร่ มูลค่าเกือบ 200 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนขยายตัวต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ยอดขายสินค้าในประเทศต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี ดัชนีตลาดหุ้นจีนอย่าง Shanghai Composite Index ก็ปรับลดลงมากกว่า 5% ในเดือน ก.ค. 2021

วิกฤตน้ำท่วมครั้งประวัติศาสตร์นี้ไม่เพียงกระทบชีวิตการเดินทาง เศรษฐกิจและภาคการเงินของจีนเท่านั้น แต่ในฐานะแหล่งผลิตสินค้าของโลกย่อมกระทบต่อ Supply Chain การขนส่งและการส่งออกสินค้าจากจีนไปทั่วโลกด้วย

โดยการส่งออกของจีนในเดือน ก.ค. 2021 ขยายตัวต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี ทำให้ประเทศที่อยู่ใน Supply Chain ของจีนอย่างญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มีการส่งออกต่ำที่สุดในรอบหลายเดือนตามไปด้วย กลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมต้นทุนการขนส่งที่สูงอยู่แล้ว สะท้อนจากดัชนีค่าระวางเรือคอนเทนเนอร์ (Shanghai Containerized Freight Index) ที่ทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง ทั้งเส้นทางขนส่งไปยุโรป ตะวันออกกลาง และอเมริกา จากปัญหาโควิด-19 และการขาดแคลนวัตถุดิบในตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างยานยนต์ เชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร จนล่าสุดทาง Goldman Sachs ออกมาปรับลดคาดการณ์ GDP จีนลงจาก 8.6% เหลือ 8.3% ในปี 2021 นี้

สิ่งเหล่านี้กำลังสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาภัยธรรมชาติและสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะโลกร้อนซึ่งยากจะรับมือ ไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจและการเงินของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ยังกระทบไปยังทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

พายุเฮอริเคนไอดาในสหรัฐฯ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

ทำไม Climate Change เป็นธีมลงทุนที่ทั่วโลกสนใจ ?

ที่มา:Reuters

รัฐลุยเซียนา (Louisiana) อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 26 จาก 50 รัฐ มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มอยู่ในเขตร้อนชื้นและตั้งอยู่บนราบชายฝั่งของอ่าวเม็กซิโก นับเป็นรัฐที่มักจะเกิดฝนตกอยู่บ่อยครั้งและมีความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุด

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค. 2005 เกิดพายุเฮอริเคนแคทรีนา (Hurricane Katrina) ที่มีความรุนแรงสูงสุดระดับ 5 ในเมืองนิวออร์ลีนส์ (New Orleans) รัฐลุยเซียนา โดยพื้นที่ 80% ถูกน้ำท่วมทั้งหมด กระทบประชาชนรวมกว่า 2 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตราว 1,800 คน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 125,000 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดครั้งประวัติการณ์ของสหรัฐฯ

เวลาผ่านไป 16 ปี ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือน ส.ค. 2021 เกิดพายุเฮอริเคนไอดา (Hurricane Ida) ที่เมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนาอีกครั้ง วัดความรุนแรงสูงสุดได้ระดับ 4 มีผู้เสียชีวิตราว 60 คน ประชาชนนับล้านคนไม่มีไฟฟ้าใช้และบางส่วนต้องไปต่อแถวปั๊มน้ำมันเพื่อเติมเชื้อเพลิงกลับมาปั่นไฟที่อยู่อาศัยของตน รวมถึงเกิดน้ำท่วมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินและตามถนนทางหลวงทำให้การเดินทางต้องหยุดชะงักลง

เฮอริเคนไอดายังสร้างความเสียหายต่ออุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐฯ ไม่น้อย โดยเฉพาะโรงกลั่นน้ำมันในรัฐลุยเซียนามีทั้งหมด 17 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกันราว 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั้งประเทศ แต่เกือบครึ่งหนึ่งต้องหยุดการผลิตไป

ขณะที่บริษัทแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวเม็กซิโกกว่า 200 แห่ง ต้องหยุดการผลิตกว่า 90% ของกำลังการผลิตทั้งหมดในบริเวณนี้ ส่วนก๊าซธรรมชาติ 83% ก็ต้องหยุดการผลิตเช่นกัน แม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเริ่มได้รับการปรับปรุงและทยอยเปิดดำเนินการบ้างแล้วก็ตาม

ส่วนบริเวณท่าเรือน้ำมันนอกชายฝั่งหรือ The Louisiana Offshore Oil Port (LOOP) เกิดน้ำท่วมจนต้องปิดท่าเรือ Fourchon ซึ่งเป็นท่าเรือที่มีรถบรรทุกน้ำมันกว่า 1,200 คัน เรือขนส่งน้ำมันขนาดใหญ่กว่า 270 ลำ ที่คอยผ่านเข้าออกกันอย่างหนาแน่นในช่วงปกติ ไม่สามารถวิ่งเข้าสู่ฝั่งได้และต้องจอดไว้ชั่วคราวในบริเวณอ่าวเม็กซิโก ทำให้การขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้องหยุดชะงักไปโดยปริยาย

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณสต๊อกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขาดแคลน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดซื้อขายล่วงหน้า (NYMEX Futures) ขึ้นไปแตะที่ 5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู สูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์ปี 2010 เป็นต้นมา ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ก็ปรับตัวเป็นขาขึ้นมาต่อเนื่องกว่า 12% นับตั้งแต่เกิดพายุเฮอริเคนไอดา และขึ้นไปแตะระดับจุดสูงสุดในรอบเดือนที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะมีบางช่วงที่ราคาน้ำมันปรับลดลงมาในระยะสั้นบ้างก็ตาม 

ยังไม่นับเรื่องภูเขาน้ำแข็งที่ขั้วโลกเหนือละลายกลายเป็นน้ำทะเลครั้งใหญ่สุดในรอบ 10 ปี การเกิดไฟป่าหลายประเทศในยุโรปอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

การลงทุนธีม “ESG” กำลังมาแรงและทำผลตอบแทนได้ดีอย่างต่อเนื่อง 

จากทั้งหมดนี้ พี่ทุยว่าเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่อง “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change) โดยเฉพาะปัญหาโลกร้อน เป็นเรื่องที่  “ใกล้ตัวนักลงทุน” กว่าที่คิด เพราะไม่เพียงแต่กระทบชีวิตความเป็นอยู่และเศรษฐกิจโดยรวมเท่านั้น แต่ยังสร้างความตื่นตระหนกมาสู่ภาคการเงินการลงทุน และการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์ด้วย

ดังนั้นในฐานะนักลงทุน การตัดสินใจเลือกลงทุนในธุรกิจและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่  “ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม” เชื่อมโยงกับการรักษ์โลก และมีการสร้างผลตอบแทนที่ยั่งยืน จะเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการลงทุนแห่งอนาคตนอกเหนือจากสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบัน

ยิ่งในยุควิกฤตแบบนี้การให้ความสำคัญในเรื่องสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) หรือ ESG ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดไว้สำหรับบริษัทในการทำธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของบริษัทและนักลงทุน ในการตัดสินใจเลือกลงทุนเพื่อให้ได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว

ซึ่งกระแส ESG นับว่าได้รับความสนใจในแวดวงตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลก โดยมีดัชนีชี้วัดด้านความยั่งยืนของโลกอย่าง Dow Jones Sustainability Index (DJSI) ที่หลายบริษัททั่วโลกอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดัชนี DJSI นี้ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ สร้างมาตรฐานการดำเนินงานที่ดีให้กับธุรกิจและความน่าเชื่อถือแก่นักลงทุน

โดยในปี 2020 มีบริษัททั่วโลกเข้าร่วมการประเมินเพื่อคัดเลือกดัชนี DJSI ของโลก (DJSI World) จำนวน 1,386 บริษัท เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเทียบกับ 5 ปีที่แล้วที่มีเพียง 864 บริษัทเท่านั้น ในส่วนของไทย จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า ในปี 2020 บริษัทไทยได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในดัชนี DJSI World ถึง 11 บริษัท และอีก 21 บริษัท อยู่ใน DJSI Emerging Market มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งหากดูผลตอบแทนรวมก็จะพบว่า บริษัทที่อยู่ในดัชนีดังกล่าวนี้ของไทยสร้างผลตอบแทนรวมสะสมถึง 51% มากกว่าดัชนี SET 100 TRI ถึง 13% เลยทีเดียว ถึงตรงนี้พอจะแสดงให้เห็นแล้วว่า การลงทุนตามแนวทาง ESG นับเป็นอีกหนึ่งกระแสที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย