หนี้นอกระบบไทย 3.48 ล้านล้านบาท ทำไมเรื้อรัง แก้ไม่หาย?

หนี้นอกระบบไทย 3.48 ล้านล้านบาท ทำไมเรื้อรัง แก้ไม่หาย?

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ประเทศไทยมีหนี้นอกระบบ 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.52% ของ GDP หรือมีปริมาณขนาดประมาณ 1 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือน โดยอาชีพที่มีสัดส่วนเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุด คือ อาชีพค้าขายที่ 52.4% ติดหนี้เฉลี่ย 33,000 บาท และอาชีพอิสระ 49.8% ติดหนี้เฉลี่ย 19,000 บาท
  • ล่าสุดรัฐบาลเศรษฐาประกาศให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเปิดลงทะเบียนลูกหนี้และเจรจาไกล่เกลี่ย จากนั้นกระทรวงการคลังโดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้มีสินเชื่อให้ลูกหนี้นอกระบบเพื่อดึงเข้าสู่ระบบ
  • ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีแนวนโยบายไปในเชิงพักหนี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นกันชัดว่าเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า รัฐบาลต้องมีแนวทางนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การบรรจุวิชาการเงินส่วนบุคคลเข้าในระบบการศึกษา

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่อยู่คู่กับประเทศไทยอย่างยาวนาน และยิ่งในระยะหลังที่เศรษฐกิจซบเซา ภาคท่องเที่ยวฟื้นไม่เต็มที่ แถมการส่งออกหดตัว ปัญหานี้ยิ่งมีความรุนแรงมากขึ้น พี่ทุยก็รู้สึกกังวลเหมือนกัน เลยหาข้อมูลและพาทุกคนไปเจาะลึก หนี้นอกระบบไทย ที่เป็นปัญหาใหญ่ไม่แพ้หนี้ครัวเรือน

สภาพหนี้ครัวเรือนและ หนี้นอกระบบไทย หนักขนาดไหน?

หนี้ครัวเรือนไทยส่งสัญญาณเป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยและมีทีท่าจะเรื้อรังต่อไปในระยะยาว โดยข้อมูลไตรมาส 4/2566 ชี้ว่าหนี้ครัวเรือนไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากไตรมาส 4/2565 ด้วยปริมาณระดับนี้ส่งให้หนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 90.9% เพิ่มจากไตรมาส 4/2565 ที่ 86.9%

แต่นอกจากหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาสำหรับสภาพเศรษฐกิจไทย หนี้นอกระบบเป็นอีกปัญหาที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน และใกล้ชิดกับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า

ประเทศไทยมีหนี้นอกระบบ 3.48 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.52% ของ GDP หรือมีปริมาณขนาดประมาณ 1 ใน 5 ของหนี้ครัวเรือน

จากงานวิจัย Informal Loans in Thailand: Stylized Facts and Empirical Analysis เมื่อปี 2565 เผยว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 42.3% จาก 4,628 คน มีหนี้นอกระบบเฉลี่ยคนละ 54,300 บาท โดยถ้าเป็นหนี้นอกระบบที่มีเจ้าหนี้เป็นนายทุนในหรือนอกพื้นที่จะมีดอกเบี้ยเฉลี่ยที่ 10-11% ต่อเดือน และถ้าเป็นแก๊งหมวกกันน๊อคจะมีดอกเบี้ยเฉลี่ย 20% ต่อเดือน ย้ำว่าดอกเบี้ยคิดเป็นต่อเดือนนะ!!! ไม่ใช่ต่อปี ถือว่าสูงมากและสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 15% ต่อปี

อาชีพที่มีสัดส่วนเป็นหนี้นอกระบบมากที่สุด คือ อาชีพค้าขายที่ 52.4% ติดหนี้เฉลี่ย 33,000 บาท และอาชีพอิสระ 49.8% ติดหนี้เฉลี่ย 19,000 บาท ส่วนอาชีพที่มีสัดส่วนเป็นหนี้นอกระบบน้อยที่สุด คือ ข้าราชการ 29.4% พนักงานรัฐวิสาหกิจ 31.9% แต่กลับติดหนี้เฉลี่ยสูงถึง 158,000 บาท และ 118,000 บาท ตามลำดับ

แนวทางแก้ปัญหา หนี้นอกระบบไทย แต่ละรัฐบาลที่ผ่านมา

หนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่หลายรัฐบาลหยิบมาแก้ไขอย่างยาวนานมาแล้วตลอด 20 ปี โดยที่ผ่านมามี 3 รัฐบาล ที่ประกาศนโยบายแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างชัดเจน

ย้อนไปในยุครัฐบาลทักษิณได้มีการจัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ มีแนวทางแก้ปัญหา คือ ลงทะเบียนผู้ประสบปัญหา, เจรจาและยุติเรื่อง และโอนหนี้นอกระบบเข้าระบบ

ต่อมาในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ด้วยการรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่มียอดคงค้างไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. คัดกรองและจัดประเภทลูกหนี้ แล้วเจรจาเพื่อนำเข้าสู่ระบบ

กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศ 5 แนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ ออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา เพิ่มโทษเจ้าหนี้นอกระบบ, ตั้งจุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบที่ธนาคารออมสินและ ธ.ก.ส., สนับสนุนสินเชื่อ PICO Finance จัดหาแหล่งเงินในระบบ, ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้, พัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ

ล่าสุดกับรัฐบาลเศรษฐาได้ประกาศให้ปัญหานี้เป็นวาระแห่งชาติ หวังกำจัดปัญหานี้จากประเทศไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเปิดลงทะเบียนลูกหนี้และเจรจาไกล่เกลี่ย จากนั้นกระทรวงการคลังโดยธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. ได้มีสินเชื่อให้ลูกหนี้นอกระบบเพื่อดึงเข้าสู่ระบบ

แต่ไม่ว่าจะผ่านมากี่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างแท้จริง ซึ่งจะเห็นว่าทุกรัฐบาลมีแนวทางแก้ไขที่คล้ายกัน ดังนั้นอาจมีความเป็นไปได้ว่าการแก้ปัญหานี้ขาดความเข้าใจปัญหาที่แท้จริง จึงไม่สามารถออกนโยบายที่แก้ปัญหาอย่างถูกจุดได้เสียที

เหตุผลที่หนี้นอกระบบเป็นปัญหาของประเทศไทย

งานวิจัย Informal Loans in Thailand: Stylized Facts and Empirical Analysis ได้แบ่งสาเหตุการเป็นหนี้นอกระบบเป็น 4 กลุ่ม คือ ค่าใช้จ่ายจำเป็น 46.8%, ลงทุนประกอบอาชีพ 41.5%, จ่ายหนี้อื่น 9.4% และค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น 2.3%

จะเห็นว่าการเป็นหนี้นอกระบบส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งดูจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากขนาดนี้ ถ้าไม่จำเป็นคงไม่มีใครอยากเป็นหนี้ และน่าจะใช้พยายามใช้วิธีอื่นแล้ว เช่น ลดค่าใช้จ่าย จำนำทรัพย์สิน กู้ยืมจากญาติพี่น้อง

สาเหตุหลักของปัญหานี้เกิดจากรายได้บุคคลหรือครัวเรือนไม่เพียงพอ ข้อมูลปี 2566 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ย 29,030 บาท และค่าใช้จ่าย 23,695 บาท หักลบแล้วมีเงินเหลือเพียง 5,335 บาท ซึ่งแทบไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพหารายได้เพิ่มท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ และนี่ยังไม่รวมที่ต้องเอาไปใช้หนี้ หรือมีค่าใช้จ่ายฉุกเฉินเช้ามาอีก

พอเงินเหลือแต่ละเดือนแทบไม่พอก็ต้องกู้ยืม พาไปให้เห็นอีกสาเหตุ คือ ประชาชนเข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบ เนื่องจากขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน ขาดบุคคลค้ำประกัน รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ปล่อยเงินกู้ ทำให้ประชาชนถูกผลักให้หันหาแหล่งเงินจากหนี้นอกระบบ

สุดท้ายแล้วต้นตอลึกๆ ของปัญหานี้มาจากประชาชนขาดความรู้การวางแผนการเงินและวินัยทางการเงิน เช่น ไม่มีการออมอย่างสม่ำเสมอ ไม่กันเงินออมก่อนใช้ และขาดการเก็บเงินสำรองฉุกเฉิน จึงไม่มีเงินทุนมากพอต่อยอดประกอบอาชีพ หรือไม่พอกับเหตุฉุกเฉิน

ถ้าจะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ต้องจัดการอย่างไร?

ทุกรัฐบาลที่ผ่านมามีแนวนโยบายไปในเชิงพักหนี้ ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นกันชัดว่าเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ใช่การแก้ที่ต้นตอ

ในระยะสั้นต้องนำลูกหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ ล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ใช้หลักเกณฑ์ Risk- based pricing สำหรับสินเชื่อไม่มีหลักประกันเพื่อช่วยดูแลกลุ่มลูกหนี้นอกระบบ ด้วยการลดภาระดอกเบี้ยทำให้ภาพรวมหนี้ลดลงและปลดหนี้ได้เร็วขึ้น

รัฐบาลต้องมีแนวทางนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสเข้าถึงงานที่มีรายได้สูงให้ประชาชน ซึ่งคงต้องควบคู่ไปกับนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมให้สามารถผลิตสินค้าที่เพิ่มมูลค่า และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การบรรจุวิชาการเงินส่วนบุคคลเข้าในระบบการศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลานานอย่างแน่นอน แต่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

พี่ทุยมองว่าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะต้มกบเต็มตัวแล้ว และถ้ายังไม่เร่งแก้ปัญหาทั้งหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบด้วยแนวทางที่ยั่งยืน จะยิ่งสร้างปัญหาซ้ำเติม ซึ่งผลสุดท้ายเศรษฐกิจไทยก็จะกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย แทบไม่มีทางฟื้นตัวกลับมาได้อีกเลย

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile