กรณีที่มีศัลยแพทย์ชื่อดังเมืองไทยถูกลักพาตัว ไปเรียกค่าไถ่ระหว่างที่ไปเที่ยวต่างประเทศ แต่โชคดีที่รอดกลับมาได้อย่างปลอดภัย สร้างความตกอกตกใจให้สังคมพอสมควร ซึ่งถ้าไปค้นข้อมูลดี ๆ บนโลกนี้ เคยมีเหตุการณ์ ลักพาตัว – เรียกค่าไถ่ แบบนี้เยอะมาก
พี่ทุยก็เลยอยากจะชวนทุกคนมาติดตามเรื่องราวกันว่า โลกใบนี้มีเหตุการณ์ลักพาตัวเพื่อเรียกค่าไถ่เยอะแค่ไหน แล้วแถบไหนบ้างที่ขึ้นชื่อมากที่สุด
พี่ทุยไปเจอข้อมูลจาก constellis ผู้ให้บริหารการจัดการความเสี่ยงด้านมนุษยธรรม ความฉลาดทางสังคม การฝึกอบรม และงานสนับสนุนบริการให้ภาครัฐและภาคธุรกิจ ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการลักพาตัวและเรียกค่าไถ่ อัปเดตเมื่อเดือน เม.ย. 2022
ในรายงานระบุว่า ไตรมาสแรกปี 2022 มีเหตุการณ์ลักพาตัวชาวต่างชาติเกิดขึ้น 376 คนทั่วโลก ส่วนไตรมาส 4 ปี 2021 มีเหตุการณ์ลักพาตัวชาวต่างชาติเกิดขึ้นทั่วโลก 474 คน โดยถ้าแบ่งสัดส่วนว่าเหตุการณ์เกิดที่ไหนมากที่สุด ก็จะพบ ดังนี้
Q1/2022 มีเหตุการณ์ ลักพาตัว ชาวต่างชาติเกิดขึ้นที่ไหนในโลกบ้าง
10 อันดับประเทศที่มีการลักพาตัวชาวต่างชาติมากที่สุด Q1/2022
ด้านเว็บไซต์ controlrisks.com รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2019 – 2021 ที่ผ่านมา อัตราการลักพาตัวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากปัญหาความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เพียงพอ งานด้านตุลาการที่อ่อนแอ ขณะที่การแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ทั้ง 3 ปัจจัยสนับสนุนนี้รุนแรงขึ้น และคาดว่าผลกระทบเรื่องการลักพาตัวนี้ คงจะไม่ลดลงในปี 2022
ความต้องการเรียกค่าไถ่ทั่วโลกปี 2021 เทียบปี 2019
โดยรวมแล้ว พบว่า เมื่อทั่วโลกเผชิญแรงกดดันเรื่องกำลังซื้อที่หายไป จากเงินเฟ้อสูงขึ้น ก็มีผลทำให้ความต้องการลักพาตัวเรียกค่าไถ่สูงขึ้น แต่ในฝั่งของเหยื่อกับครอบครัวที่เผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ก็อยู่ภายใต้ความตึงเครียดทางเศรษฐกิจเหมือนกัน
ดังนั้นจึงทำให้คนที่ลักพาตัว ต้องลักพาตัวเหยื่อมากขึ้น และคาดว่าจะทำให้อัตราการลักพาตัวมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไป
สำหรับแถบแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา เป็นพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อกับการลักพาตัว และมีสัดส่วนการลักพาตัวเกิดขึ้นสูงสุด 37% เมื่อเทียบกับการลักพาตัวที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปี 2021 โดยมีหลาย ๆ ประเทศในแถบนี้ที่ติดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการลักพาตัวสูง มีกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาเป็นผู้ลักพาตัว
ในส่วนของการเรียกค่าไถ่นั้น พบว่า มีแนวโน้มการใช้ช่องทางจ่ายค่าไถ่ผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นในช่วงปี 2022-2023 เพราะทั่วโลกใช้ระบบออนไลน์และโมบายแบงก์กิ้งกันมากขึ้น
มาถึงตรงนี้ เห็นตัวเลขแล้วบางคนอาจจะรู้สึกเฉย ๆ เพราะรู้สึกว่าไกลตัว ต้องโชคร้ายจริง ๆ แหละ ถึงจะเจอเข้ากับตัว
แต่บางคนก็คงรู้สึกกลัวความเสี่ยงจากเหตุการณ์แบบนี้ และถ้าจำเป็นต้องเดินทางไปในประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยงเรื่องแบบนี้ ก็อาจจะอยากหาตัวช่วยเพื่อลดความเสี่ยงนี้ลง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็อาจจะเป็นการติดต่อบริษัทนำเที่ยวที่เชื่อถือได้ หรือหาคนในพื้นที่ที่เชี่ยวชาญในการดูแลนักท่องเที่ยวเข้ามาช่วย
แต่อีกตัวเลือกที่บางคนอาจจะสนใจ ก็คือ การโอนความเสี่ยงให้บริษัทประกันภัย เพราะโลกใบนี้ มีการออกผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่า Kidnap and ransom insurance เรียกย่อ ๆ ว่า K&R Insurance หรือ การประกันภัยการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ด้วย ซึ่งเป็นการประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองการถูกลักพาตัวเรียกค่าไถ่ โดยผู้ประกันภัยจะเป็นผู้จ่ายค่าไถ่ให้ จัดอยู่ในกลุ่มประกันวินาศภัย
ประกันประเภทนี้ส่วนใหญ่จะออกแบบมาเพื่อปกป้องบุคคลและองค์กรที่ดำเนินงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงทั่วโลก โดยมักจะระบุตำแหน่งชัด ๆ ในนโยบายไปเลย เช่น เม็กซิโก เวเนซุเอลา เฮติ และไนจีเรีย รวมถึงบางส่วนของรัสเซีย และยุโรปตะวันออก โดยตัวอย่างของประเทศที่มีการขายประกันประเภทนี้อยู่ คือ สหรัฐฯ
โดยรวมแล้ว เหตุการณ์ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ไม่ใช่เรื่องดี และคงไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่เมื่อสถิติทั่วโลกก็ออกมาชี้ให้เห็นแล้วว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แย่ลง เอื้อให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มากขึ้น
ดังนั้นเราทุกคนก็ควรระมัดระวังตัวมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปต่างถิ่น เพราะเอาเข้าจริงแล้วสถิติที่ออกมา ก็อาจจะไม่ได้ครอบคลุมเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงบนโลกใบนี้ อาจจะมีเหตุการณ์ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ที่เกิดขึ้น แต่ไม่มีใครรับรู้ และไม่ถูกรวมอยู่ในสถิตินี้อีกมากก็ได้
อ่านเพิ่ม