การเสียชีวิตบนท้องถนนไทย

ทำไม “การเสียชีวิตบนท้องถนนไทย” อันตรายไม่ต่างจากสงคราม ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ข้อมูลจาก WHO ชี้ว่าปี 2019 ไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 32.2 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่มาเลเซียมีตัวเลขอยู่ที่ 22.5 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนอินโดนิเซียตัวเลขอยู่ที่ 11.3 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีซึ่งมี AutoBahn ถนนที่ไม่จำกัดความเร็ว กลับมีผู้เสียชีวิตเพียง 3.8 ราย ต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น
  • ปัจจัยที่ทำให้ไทยยังมีอุบัติเหตุบนท้องถนนในอัตราที่สูง ประกอบด้วยความไม่เท่าเทียม การใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวดและการคอร์รัปชั่น พื้นฐานนิสัยติดความสบาย และขาดการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ
  • ปี 2018 ธนาคารโลกคาดว่าไทยอาจสามารถเพิ่ม GDP ได้มากถึง 22% หากสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงได้ครึ่งหนึ่ง ด้าน WHO ประมาณการไว้เมื่อปี 2019 ว่าอุบัติเหตุทางถนนสร้างต้นทุนให้กับไทยถึง 500,000 ล้านบาท หรือ 3% ของ GDP

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ข่าวคราวที่ผ่านตาทุกวันของเราทุกคนคงหนีไม่พ้น “อุบัติเหตุทางถนน” ซึ่งทำให้มีทั้งผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ซึ่งข้อมูลจาก WHO ชี้ว่าปี 2019  การเสียชีวิตบนท้องถนนไทย มีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 32.2 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่มาเลเซียมีตัวเลขอยู่ที่ 22.5 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนอินโดนิเซียตัวเลขอยู่ที่ 11.3 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเยอรมนีซึ่งมี AutoBahn ถนนที่ไม่จำกัดความเร็ว กลับมีผู้เสียชีวิตเพียง 3.8 ราย ต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น

ตัวเลขของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพใกล้เคียงกัน และห่างไกลจากประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก ซึ่งต้องมีสาเหตุอย่างแน่นอน วันนี้พี่ทุยขอพาไปดูว่าทำไมอุบัติเหตุบนท้องถนนไทยถึงยังสูง

ความไม่เท่าเทียมทุกหย่อมหญ้า ทำให้เกิด การเสียชีวิตบนท้องถนนไทย

ไทยมีโครงข่ายถนนราดยางสภาพดีเหมาะกับการขับขี่ความเร็วสูงด้วยพาหนะซึ่งมีสมรรถนะสูงของผู้มีฐานะและชนชั้นกลาง แต่ภาพรวมทั้งประเทศยังค่อนข้างยากจน ชาวบ้านทั่วไปอาจมีเพียงรถยนต์ธรรมดาที่มีอายุการใช้งานมานานหรือมีเพียงรถจักรยานยนต์ หมวกนิรภัยที่ผ่านมาตรฐานตามกฎหมายเป็นสิ่งของไม่จำเป็นสำหรับประชาชนผู้ใช้ท้องถนนส่วนมาก ทำให้แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้ต้องสวมใส่หมวกนิรภัยระหว่างขับขี่ก็ตาม แต่ก็ยังละเลยที่จะสวมใส่

รายงานความปลอดภัยบนถนนทั่วโลกจาก WHO ปี 2018 ชี้ว่าผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถยนต์หรือยานพาหนะเบาคิดเป็น 12% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดบนท้องถนน ส่วนใหญ่ผู้เสียชีวิตจะเป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์หรือคนเดินเท้า

ความเหลื่อมล้ำของไทยที่อยู่ในลำดับต้นๆ ของโลก นอกจากจะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้ประชาชนมองว่าอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องไกลตัว

การใช้กฎหมายที่ไม่เข้มงวด และการคอร์รัปชั่น ส่งผลให้เกิด การเสียชีวิตบนท้องถนนไทย

ตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายไม่ทำหน้าที่จับปรับผู้ขับขี่จักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย ซึ่งจะเห็นการกวดขันก็ต่อเมื่อมีนโยบายซึ่งมีเป็นครั้งคราวหรือต้องเก็บค่าปรับให้ได้ตามเกณฑ์ นอกจากนั้นยังมีการคอร์รัปชั่นที่สร้างปัญหาเรื้อรัง ผู้มีฐานะดี มีอิทธิพล มีเส้นสายพอจะติดสินบนช่วยให้รอดจากการถูกบังคับใช้กฎหมาย ทำให้เกิดค่านิยมขับขี่โดยประมาท หากพิจารณาอย่างละเอียดในเชิงโครงสร้างสังคมจะเห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการคอร์รัปชั่น ซึ่งสร้างปัญหาให้ทุกภาคส่วนรวมถึงท้องถนนด้วย

พื้นฐานนิสัยติดความสบายของคนไทย

ทำอะไรตามใจ คือ ไทยแท้ สะท้อนรากเหง้าพื้นฐานนิสัยติดสบายของคนไทย ซึ่งเป็นทัศนคติที่ไม่ดีสำหรับเรื่องที่ต้องใช้ความเข้มงวด หนึ่งในนั้นก็คือความปลอดภัยบนท้องถนน

การไม่สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่รถจักรยานยนต์ การเลี้ยวในบริเวณที่ห้ามเลี้ยวหรือเปลี่ยนช่องทางจราจร การขับพาหนะย้อนศร ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งยืนยันลักษณะนิสัยทำอะไรตามใจได้เป็นอย่างดี

ไทยมีกฎหมายที่ดีและมากเพียงพอ แต่ขาดการบังคับใช้จากเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวดและยุติธรรม เพียงแค่เจ้าหน้าที่ตำรวจเขียนใบสั่งหรือจับปรับอย่างจริงจัง เชื่อเลยว่าจะช่วยให้มีการใส่หมวกนิรภัยมากขึ้น

รัฐบาลไทยควรให้ความรู้เพิ่มเติมแก่ประชาชนทั้งในแง่กฎหมายและเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น การเลือกหมวกนิรภัยให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน แม้กระทั่งการสวมใส่หมวกนิรภัยอย่างถูกวิธี เพราะหากใส่หมวกนิรภัยโดยไม่คาดสายรัดใต้คาง แทบทำให้การสวมใส่ไม่มีประโยชน์เลย มากกว่านั้นข้อมูลจาก WHO ชี้ว่ามีเพียง 58% ของผู้ขับขี่รถยนต์ที่คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งเหล่านี้พบเห็นได้บ่อยครั้ง แสดงว่าคนไทยยังขาดความรู้หรีอความใส่ใจด้านความปลอดภัย

ขาดการแก้ปัญหาที่เป็นระบบ

รัฐบาลไทยได้ให้คำปฏิญาณที่องค์การสหประชาชาติเมื่อปี 2015 ที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2020 โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าปี 2015 มีอัตราการเสียชีวิต 30.69 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ส่วนปี 2020 มีอัตราการเสียชีวิต 27.20 ราย ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้ และการลดลงส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปิดเมืองในปีดังกล่าวด้วย

การเสียชีวิตบนท้องถนนไทย

ที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานใดรับเป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหาดังกล่าว และถึงแม้จะมีหน่วยงานรับผิดชอบก็ต้องอาศัยการแก้ปัญหาจากทุกฝ่าย เช่น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะกวดขันวินัยจราจรอย่างเต็มที่ แต่หากหน่วยงานที่ออกแบบและสร้างถนนรวมไปถึงระบบขนส่งมวลชนไม่ทำงานร่วมกัน อุบัติเหตุก็ยังเกิดขึ้นได้

เป้าหมายที่ต่างกันของแต่ละหน่วยงาน ทำให้เลือกใช้ชุดข้อมูลที่แตกต่าง ซึ่งปัญหาคือไม่มีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างหน่วยงาน แม้ประเทศจะมีข้อมูลที่ระบุว่าสาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากการไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยตามกฎหมาย รวมไปถึงพื้นผิวถนนและสภาพอากาศที่แย่เป็นอีกปัจจัยที่เสริมให้อุบัติเหตุร้ายแรงขึ้น แต่ข้อมูลยังค่อนข้างจำกัดโดยเฉพาะส่วนพฤติกรรมผู้ขับขี่

ในแง่การวางแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนก็ไม่ได้รับความใส่ใจในการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ เช่น การออกแบบถนนและการสร้างระบบขนส่งมวลชนแบบราง ซึ่งการออกแบบที่ดี เพิ่มวิสัยทัศน์ รูปแบบถนนรับกับความเร็วของพาหนะ จะช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด

ประเด็นความปลอดภัยบนท้องถนนที่ไม่ได้รับการให้ความสำคัญ ไร้หน่วยงานรับผิดชอบโดยตรง ประกอบกับพื้นฐานนิสัยของคนไทย ส่งให้อัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนไม่ลดลงเลย และที่สำคัญกลับกลายเป็นว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีมากกว่าจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ภาครัฐให้ความสำคัญมากกว่าด้วยซ้ำ

ความสูญเสียต่อเศรษฐกิจ

จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2019 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 19,904 ราย ปี 2020 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 17,831 ราย ทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งมีค่าที่สุดของประเทศ แต่กลับเกิดการสูญเสียปีละราว 10,000-20,000 คน ซึ่งไม่ได้รับการใส่ใจดูแลอย่างเข้มงวด สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ปี 2018 ธนาคารโลกคาดว่าไทยอาจสามารถเพิ่ม GDP ได้มากถึง 22% หากสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนนลงได้ครึ่งหนึ่ง ด้าน WHO ประมาณการไว้เมื่อปี 2019 ว่าอุบัติเหตุทางถนนสร้างต้นทุนให้กับไทยถึง 500,000 ล้านบาท หรือ 3% ของ GDP

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย