น่ากลัวแค่ไหน ? เมื่อ "GDP ไทย" เติบโตแย่สุดในอาเซียน

น่ากลัวแค่ไหน ? เมื่อ “GDP ไทย” เติบโตแย่สุดในอาเซียน

3 min read  

ฉบับย่อ

  • การที่ GDP เติบโตระดับต่ำอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายเสมอไป เพราะประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ก็เติบโตไม่สูงนัก และไทยกับเพื่อนบ้านในอาเซียนก็มีขนาดเศรษฐกิจต่างกัน ดังนั้นการวัดความก้าวหน้าด้วยอัตราการขยายตัวของ GDP เพียงอย่างเดียว จึงไม่ใช่มาตรวัดการพัฒนาที่ถูกต้องนัก 
  • แต่ถ้าหาก GDP ของไทยเติบโตต่ำ หรือถดถอยลงไปเรื่อย ๆ ก็เสี่ยงจะโดนประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าเอาได้เช่นกัน เพราะขนาดเศรษฐกิจเพื่อนบ้านจะเติบโตกว่าไทย 
  • ระดับการขยายตัว GDP ต่อปีที่เหมาะสมของไทยไม่ควรต่ำกว่า 5% เพราะต้องรักษาระดับการเติบโตให้ไปสู่เป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงในปี 2580 มิเช่นนั้นจะเสี่ยงติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap)
  • ปัญหาเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญที่ไทยเราต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ครึ่งปีหลังมานี้เราจะเห็นการปรับลดคาดการณ์ “GDP ไทย” จากหลายสำนัก ทั้งในไทยและองค์กรทางเศรษฐกิจชั้นนำทั่วโลกอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก (World Bank) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB)  

โดยแทบทุกครั้งที่มีการประกาศผลออกมาก็มักจะพบว่า ประเทศไทยมักจะถูกจัดอยู่ในลำดับรั้งท้าย หรือไม่ก็อยู่เกือบ ๆ สุดท้ายเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศเดียวกันในภูมิภาคอาเซียนอยู่เสมอ ๆ 

น่ากลัวแค่ไหน ? เมื่อ "GDP ไทย" เติบโตแย่สุดในอาเซียน

น่ากลัวแค่ไหน ? เมื่อ "GDP ไทย" เติบโตแย่สุดในอาเซียน

ทำให้หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า การที่เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ในระดับต่ำแบบนี้ต่อไปจะถือเป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่ และประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ จะพัฒนาแซงหน้าเราไปไหม พี่ทุยขอพาไปหาคำตอบกัน 

“GDP ไทย” เติบโตต่ำอาจจะไม่ไช่สัญญาณร้ายเสมอไป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การวัดการขยายตัวของ GDP หรือ Economic Growth ที่เรารู้จักกัน จริง ๆ แล้ว เป็นเพียงมาตรวัดที่บ่งบอกให้เรารู้แค่ว่ามูลค่าของสินค้าและบริการที่ประเทศนั้น ๆ ผลิตได้ในหนึ่งปี ว่ามีการผลิตเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้าเท่านั้น  

เช่นในปี 2561 มูลค่าสินค้าและบริการที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ณ ระดับราคาคงที่ (Constant price) ซึ่งเอาปี 2553 เป็นฐานเทียบ มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 442,926 ล้านดอลลาร์ แต่ปี 2560 ไทยผลิตสินค้าและบริการออกมาได้ 425,115 ล้านดอลลาร์ก็เท่ากับว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวประมาณ 4.2%

แม้การขยายตัวอย่างรวดเร็วของ GDP จะนับเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่ควรหลงใหลไปกับตัวเลขที่ปรากฏออกมามากเกินไปนัก เพราะบางครั้งอาจเป็นผลพวงมาจากตัวเลขที่นำไปเทียบกับปีฐานที่อยู่ต่ำกว่าความเป็นจริง เลยทำให้ตัวเลข GDP Growth ที่ออกมาดูสูงเกินจริง ทั้ง ๆ ที่ GDP ของประเทศนั้น ๆ ก็เติบโตได้ตามศักยภาพเท่าเดิม

เทียบได้กับกรณีหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของไทยเมื่อปี 2554 ส่งผลให้ “GDP ไทย” ของปี 2555 เติบโตสูงถึง 7.2% เลยทีเดียว 

เมื่อหันมามองดูอัตราการขยายตัวของ GDP ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Advanced economies) เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรโซน ก็มักจะพบว่ามีระดับการขยายตัวที่ไม่หวือหวานัก เฉลี่ย 2-3% เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets economies) ที่เติบโตสูงถึง 6-7% ขึ้นไป 

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีขนาดเศรษฐกิจ (Economic Size) ที่ใหญ่เป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว  ดังนั้นการเติบโตของ GDP ด้วยเปอร์เซ็นต์เพียงน้อยนิดก็ย่อมต้องมีมูลค่าของการขยายตัวที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาโดยเปรียบเทียบ 

เช่นการขยายตัวของ GDP ของสหรัฐฯ เพียง 2.9% ในปี 2561 มีมูลค่าเท่ากับ 17.961 ล้านล้านดอลลาร์ แต่การเติบโตที่ 7.07% ในปีเดียวกันของประเทศเวียดนาม กลับมีมูลค่าเพียงแค่ 187,687 ล้านดอลลาร์เท่านั้น เรียกได้ว่าต่างกันเกือบ 100 เท่าเลยทีเดียว

อีกทั้ง การขยายตัว GDP ในระดับที่สูงมากของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วจะเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีปัจจัยพิเศษเข้ามาแทรกซ้อน เช่น การค้นพบเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจโลกได้ ซึ่งเป็นไปได้ยาก หรือ อาจเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนัก

แปลว่าหากผลการขยายตัว GDP ของไทยจะเดินตามหลัง “บางประเทศ” ไปบ้างก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

ที่พี่ทุยบอกแบบนี้ก็เพราะว่าเรากำลังแข่งกันบนคนละขนาดเศรษฐกิจกันนั่นเอง และประเทศที่มีระดับการพัฒนาตามหลังก็ย่อมต้องเร่งสปีดตัวเองขึ้นมาเพื่อให้มีขนาดและรายได้เฉลี่ยต่อหัวทันกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว   

อย่างไรก็ดี ต้องเข้าใจก่อนว่าพี่ทุยไม่ได้หมายความว่าให้พวกเราไม่ควรสนใจเพื่อนบ้านหรือคนอื่น ๆ เลย แต่อยากจะมาสร้างความเข้าใจให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าว่า การดูแค่เฉพาะอัตราการขยายตัวของ GDP (Economic Growth) เพียงอย่างเดียวมันไม่พอ แต่ควรคำนึงถึงมิติของขนาด (Size) เศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ ประกอบกันไปด้วย จะได้เข้าใจถึงตัวเลขที่ดูอยู่ได้อย่างถ่องแท้มากยิ่งขึ้น

ไทยจะโดนเพื่อนบ้านพัฒนาแซงหน้ามั้ย ?

เป็นอีกหนึ่งคำถามที่พี่ทุยเชื่อว่าคงพูดถึงกันบ่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงอัตราการขยายตัวของ GDP 

เพราะแม้พี่ทุยจะบอกไปตอนต้นแล้วว่า เรากับเพื่อนบ้านแข่งกันบนขนาดเศรษฐกิจที่ต่างกันก็จริง  แต่หากว่าประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาตามหลังไทยยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโต GDP ที่รวดเร็วไว้ได้หลายปีต่อเนื่องกัน 

ในขณะที่ไทยยังคงเติบโตได้ต่ำ หรือถดถอยลงต่อไปเรื่อย ๆ พี่ทุยก็คิดว่า ก็มีความเป็นไปได้ที่ระดับการพัฒนาของไทยอาจโดนประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าเอาได้เช่นกัน เนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของประเทศเพื่อนบ้านก็จะใหญ่กว่าไทยนั่นเอง ดังนั้นการขยายตัว GDP ในอัตราที่รวดเร็วก็ยังคงจำเป็นอยู่สำหรับประเทศไทยอยู่ 

เพราะปัจจุบันไทยยังเป็นเพียงประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper-middle income) ที่ยังต้องการการลงทุนและการพัฒนาทั้งโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการกระจายโอกาสการพัฒนาให้ทั่วถึงอยู่อีกมาก เพื่อให้ประเทศของเรามีขนาด GDP ที่ใหญ่กว่านี้ และประชาชนมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวมากขึ้น จนกระทั่งสูงมากพอที่จะก้าวไปแตะสถานะการเป็นประเทศรายได้สูง

ซึ่งปัจจุบัน World bank ตั้งเกณฑ์ดังกล่าวเอาไว้ที่ 12,695 ดอลลาร์ (418,935 บาท) ต่อหัวต่อปีขึ้นไป ขณะที่เมื่อปี 2563 ไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวทั้งปีอยู่ที่ 7,189 ดอลลาร์ (237,237 บาท) และต่อให้เอารายได้เฉลี่ยต่อหัวปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 มาใช้ก็ทำได้แค่ 7,817 ดอลลาร์ (257,961 บาท) เท่านั้น

น่ากลัวแค่ไหน ? เมื่อ "GDP ไทย" เติบโตแย่สุดในอาเซียน

ระดับการเติบโตของ “GDP ไทย” ที่เหมาะสม ?

ที่ผ่านมาเหล่านักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจประเมินกันว่าระดับการขยายตัว GDP ต่อปีของไทยไม่ควรต่ำกว่า 5% เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงได้ภายในปี 2580 ตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (ปี 2561 – 2580) หากทำได้จริง ณ เวลานั้น นักวิเคราะห์ประเมินว่าคนไทยจะมีรายได้ต่อหัวที่ 15,000 ดอลลาร์ต่อปี (ราว 495,000 บาท)

ซึ่งดูเหมือนว่าเป้าหมายดังกล่าวดูจะ “เป็นไปได้ยาก” พอสมควร เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาระดับการขยายตัวของ “GDP ไทย” เติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 3-4% เท่านั้น  ซ้ำร้ายปี 2020 ที่ผ่านมาและลากยาวมาจนถึงปัจจุบันยังมาเจอกับวิกฤตจากการแพร่ระบาดโควิด-19 จนทำให้การขยายตัวถดถอยลง 

ไทยกำลังเผชิญปัญหา “โครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่ทำให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำลง

แต่สิ่งที่พี่ทุยกลัวยิ่งกว่านั้นก็คือ ไทยกำลังเผชิญกับ “ปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ” ที่เริ่มจะไม่สามารถแข่งขันได้เหมือนในอดีตแล้ว เนื่องจากการที่เรายังคงเป็นประเทศที่เน้นรับจ้างผลิตและส่งออกในกลุ่มสินค้าเดิม ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ไม่ได้มีการสร้างนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่เป็นแบรนด์ของตนเองออกมา ในขณะเดียวกันต้นทุนแรงงานในประเทศกลับสูงขึ้น จนนำไปสู่ปัญหาความเสี่ยงการติด “กับดักรายได้ปานกลาง” นั่นเอง  

เปรียบเสมือนว่า หากเราจะก้าวไปไกลกว่านี้ก็ไม่ได้ เพราะขาดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะดันก้าวไปต่อได้ แต่ในขณะเดียวกันจะให้ถอยหลังไปแข่งเรื่องความได้เปรียบค่าแรงและเน้นปริมาณก็ยากแล้ว เพราะประเทศก็พัฒนาเลยจุดนั้นมาไกลแล้ว ซ้ำร้ายสัดส่วนจำนวนประชากรของประเทศเราก็เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยมากขึ้นแล้ว จึงเสี่ยงเข้าสู่ภาวะแก่ก่อนรวยกันทั้งประเทศ 

ดังนั้น หนทางที่ประเทศไทยจะต้องทำต่อคือการหันมาเน้นเรื่อง “คุณภาพ”  ต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยลดต้นทุนและช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มในสิ่งที่ทำอยู่ให้มากขึ้น เช่น หากทำเกษตร ก็ต้องเป็นเกษตรแบบพรีเมียม สามารถขายต่อได้ในราคาที่สูง ไม่ใช่การเน้นไปที่ปริมาณแบบที่ผ่าน ๆ มา

จากที่พี่ทุยกล่าวมาทั้งหมดนั้นแค่อยากจะเน้นย้ำเพียงว่าการขยายตัว GDP ที่รวดเร็วเพียงอย่างเดียวไม่ได้บ่งบอกถึงการพัฒนาที่ก้าวล้ำกว่าประเทศอื่นเสมอไป แต่ไทยยังคงต้องการระดับการขยายตัวของ GDP ที่สูงเพื่อผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศรายได้สูงให้ทันในปี 2580 อยู่เช่นกัน 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย