รู้จักกับ “Lying flat” ทำไมวัยรุ่น “จีน” ถึงเลือกใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์

รู้จักกับ “Lying flat” ทำไมวัยรุ่น “จีน” ถึงเลือกใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์

3 min read  

ฉบับย่อ

  • Lying flat หรือในภาษาจีนเรียกว่า tǎng píng หมายถึงภาวะที่คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตไร้ความทะเยอทะยาน มีความต้องการต่ำเพียงแค่ให้พออยู่รอด เลิกล้มแนวคิดเรียนจบการศึกษาระดับสูง ทำงานหนักเก็บออมซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งสร้างครอบครัว
  • ความใฝ่ฝันในการยกสถานะทางสังคมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนรุ่นใหม่พังทลายไปเมื่อเจอกับวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ซึ่งคือการเริ่มงานตอน 9 โมงเช้า (9 A.M.) เลิกงาน 3 ทุ่ม (9 P.M.) 6 วันต่อสัปดาห์ จนแทบไม่ต้องถามหา Work-Life Balance ด้านผลตอบแทนกลับไม่เพียงพอกับการมีที่อยู่อาศัยหรือยกสถานะทางสังคม
  • พฤติกรรมนี้จะทำให้ในระยะยาว เงินออมของคนรุ่นใหม่น้อยลงซึ่งส่งผลให้การบริโภคเติบโตช้าลง และกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนั้้นยังทำให้อัตราการเกิดลดลง และในอนาคตประเทศจีนก็จะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ท่ามกลางเศรษฐกิจ “จีน” ที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่ก็เริ่มชะลอตัวเพราะ วัยรุ่น Gen Y และ Gen Z เริ่มปล่อยวางความกระตือรือร้นในการทำงาน และหันมาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ ด้วยชั่วโมงทำงานที่แสนหนักหน่วงแต่ผลตอบแทนไม่เพียงพอที่จะขยับสถานะทางสังคม คำว่า “Lying Flat” จึงเกิดขึ้นเป็นกระแสสังคมในโลกออนไลน์

“Lying Flat” สะท้อนปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นกับสังคมจีน อันเป็นสังคมที่เคยขึ้นชื่อเรื่องความขยันและความทะเยอทะยาน รวมไปถึงผลกระทบเชิงลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว

พี่ทุยขอพาไปรู้จักกับกระแสชีวิตสโลว์ไลฟ์ของวัยรุ่นจีนที่เรียกว่า Lying Flat ทำไมถึงเกิดสิ่งนี้ รวมไปถึงผลต่อเศรษฐกิจและสังคม และส่งผลกระทบต่อจีนอย่างไรบ้าง

Lying Flat คืออะไร

Lying Flat หรือในภาษาจีนเรียกว่า tǎng píng หมายถึงภาวะที่คนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตไร้ความทะเยอทยาน มีความต้องการต่ำเพียงแค่ให้พออยู่รอด

เป็นความคิดที่คนรุ่นใหม่เลิกล้มแนวคิดเรียนจบการศึกษาระดับสูง ทำงานหนักเก็บออมซื้อบ้าน หรือแม้กระทั่งสร้างครอบครัว บางส่วนก็มองว่ากระแสนี้เป็นความพยายามต่อต้านแนวคิดวัตถุนิยม บางส่วนก็มองว่าเป็นแค่ความขี้เกียจ

แต่อีกส่วนก็เสนอสาเหตุที่น่าสนใจว่าเกิดจากแนวคิดที่คนรุ่นใหม่ทำงานอย่างหนักหน่วงแต่ไม่ได้รับผลตอบแทนกลับไม่คุ้มค่าเลย จึงเกิดความเหนื่อยหน่ายและในที่สุดก็เลือกที่จะยอมแพ้ไป

เกิดขึ้นเมื่อไร

ไวรัลออนไลน์นี้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนเม.ย. 2021 จากโพสบนแพลตฟอร์ม Baidu Tieba ของคนรุ่นใหม่วัยยี่สิบกลาง ๆ ที่ชื่อว่า Luo Huazhong อันมีหัวเรื่องว่า Lying Flat is justice (การนอนนิ่ง ๆ  เฉยๆ คือความยุติธรรม)

เขาอธิบายว่าชีวิตของเขามีความต้องการต่ำ ไม่มีความกดดันแม้ไม่มีงานที่มั่นคง โดยเขาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ในมณฑลเจ้อเจียง (Zhejiang) หากวันไหนที่เขาต้องการทำงาน เขาก็จะเดินไปเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ไปยังเขตตงหยาง (Dongyang) ซึ่งเป็นแหล่งถ่ายภาพยนตร์ขนาดใหญ่ โดยเขาเล่นเป็นผู้เสียชีวิต นั่นหมายความว่างานคือการไปนอนเฉย ๆ

เขาอธิบายต่อว่า ตอนที่เขานอนเฉย ๆ ไม่ได้หมายความว่าเขาไปนอนแล้วไม่ทำอะไรเลย การนอนราบนี้เป็นสภาวะทางจิตใจที่ซึ่งเขารู้สึกว่าหลายสิ่งหลายอย่างไม่มีค่าคู่ควรกับความสนใจและการเสียพลังงาน

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นที่เมืองเซินเจิ้นกับกลุ่มแรงงานวัยรุ่นต่างด้าวที่เรียกตัวเองว่า Sanhe Gods (เหล่าเทพเจ้าแห่งซานเหอ) ก็มีคติประจำกลุ่มว่า “ค่าจ้างวันเดียว ใช้ชีวิตสนุกได้อีก 3 วัน” ด้วยการนอนในสวนสาธารณะ กินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ใช้ชีวิตในร้านอินเตอร์เน็ตจนเงินจากการทำงานรับจ้างหมดจึงกลับไปทำงาน

สาเหตุของกระแสนี้

ท่ามกลางโลกยุคอินเตอร์เน็ตที่หลากหลายคอนเทนต์เบื่อหน่ายโลก การที่กระแส Lying Flat ได้รับความนิยมเป็นเพราะกระแสนี้ไม่ใช้การกระทำหรือการลงมือทำ แต่เป็นการไม่ลงมือทำ

สภาพเศรษฐกิจชะลอตัว ความขัดแย้งทางการค้ากับชาติตะวันตก และปัญหา COVID-19 ระบาด ต่างเป็นปัจจัยที่ทำให้กระแสสโลว์ไลฟ์ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจยุคนี้ไม่ได้ขยายตัวเหมือนสมัยก่อน การทำงานเพื่อเติมเต็มความใฝ่ฝันในการยกสถานะทางสังคมเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของคนรุ่นใหม่พังทลายไปเมื่อเจอกับวัฒนธรรมการทำงานแบบ 996 ซึ่งคือการเริ่มงานตอน 9 โมงเช้า (9 A.M.) เลิกงาน 3 ทุ่ม (9 P.M.) 6 วันต่อสัปดาห์ จนแทบไม่ต้องถามหา Work-Life Balance ด้านผลตอบแทนกลับไม่เพียงพอกับการมีที่อยู่อาศัยหรือยกสถานะทางสังคมแต่อย่างใด

มีประเทศไหนเคยเผชิญปัญหานี้แล้วบ้าง

ช่วงนี้เกิดกระแสคนลาออกหรือเปลี่ยนงานอย่างรวดเร็วภายหลัง COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตการทำงาน ในสหรัฐฯ มีผู้ลาออกจากงานตั้งแต่เดือน เม.ย. – ธ.ค.  ปี 2021 กว่า 37 ล้านคน ซึ่งการลาออกหรือเปลี่ยนงานอย่างรวดเร็วช่วงหลัง COVID-19 แพร่ระบาด เป็นกระแสยอดนิยมในหมู่คนทำงานทั่วโลกเช่นกัน

ส่วนกระแสคนรุ่นใหม่หมดไฟในลักษณะ Lying Flat เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศฝั่งตะวันตกซึ่งมีลักษณะบางอย่างที่เหมือนกัน เช่น รายได้เริ่มไม่เพิ่มขึ้น แต่ค่าครองชีพพุ่งอย่างรวดเร็ว ซึ่งดูเหมือนว่าประเทศจีนก็กำลังเป็นไปในลักษณะนี้เช่นกัน

สหรัฐฯ เคยเผชิญกับปัญหานี้ในยุค 1950 เมื่อคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นต่อต้านวิถีชีวิตดั้งเดิม ส่วนสหราชอาณาจักรก็เจอปัญหานี้ในทศวรรษที่ 90 โดยการเพิ่มขึ้นของกลุ่มคนที่ไม่สนใจการศึกษาและไม่มองหางาน และช่วงปี 2010 เจอกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการทางวัตถุน้อยลงและไม่ต้องการทำงานอีกต่อไป

ปัญหานี้ลุกลามเข้าสู่ประเทศเกาหลีใต้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้คนไม่สนใจความสัมพันธ์อันแสนโรแมนติก การแต่งงานและการมีลูกไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต และยังรวมไปถึงความสนใจหางาน การมีที่อยู่อาศัย ความสัมพันธ์กับผู้คน หรือแม้กระทั่งความหวังในการมีชีวิตที่ดีขึ้น

Lying Flat กระทบต่อ “จีน” อย่างไร

ปัญหานี้ที่กำลังเกิดในจีนมีความน่าเป็นห่วงที่สุด เพราะระดับเศรษฐกิจจีนยังไม่ถูกจัดว่าเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งวัดจากรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและภาษีต่อหัวประชากร (Disposable income per capita) หรือพูดง่าย ๆ ก็คือปัญหาเกิดขึ้นตอนที่ประเทศยังไม่ร่ำรวยแตกต่างจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่นที่เผชิญปัญหาตอนที่เศรษฐกิจขยับเป็นประเทศพัฒนาแล้วไปเรียบร้อย

รู้จักกับ “Lying flat” ทำไมวัยรุ่น “จีน” ถึงเลือกใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์

ด้วยพฤติกรรมนี้จะทำให้ในระยะยาวเงินออมของคนรุ่นใหม่น้อยลงซึ่งส่งผลให้การบริโภคเติบโตช้าลง และกระทบต่อตัวเลขเศรษฐกิจอีกด้วย นอกจากนั้นยังทำให้อัตราการเกิดลดลงและในอนาคตจีนก็จะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุ ภาครัฐก็จะมีภาระด้านสวัสดิการที่ต้องดูแลประชากรผู้สูงอายุมากขึ้น

นักจิตวิทยาและแพทย์เตือนว่าการอยู่ในภาวะ Lying Flat เป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคซึมเศร้า

ทางการ “จีน” แก้ปัญหา Lying Flat อย่างไร

หลายบริษัทเริ่มลดชั่วโมงการทำงานลง เช่น ByteDance บริษัทผู้พัฒนาแอพพลิเคชัน TikTok ภายหลังจากพนักงานของบริษัทเข้าร่วมแคมเปญในโลกออนไลน์ที่มีชื่อว่า Work Lives Matter ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมจะนำข้อมูลเวลาการทำงานมาเปิดเผยให้รับรู้กันอย่างทั่วถึง

ด้านทางการจีนพยายามหยุดยั้งกระแส Lying Flat ด้วยการใช้ Great Firewall ป้องกันไม่ให้ประชาชนค้นหาคำว่า Lying Flat แต่อาจไม่ได้ผลมากนักเพราะกระแสนี้เป็นคล้ายกับการต่อต้านสังคมแบบเงียบ เพราะการจัดการกับปัญหาที่คนรุ่นใหม่ตัดสินใจอยู่เฉย ๆ ยากกว่าการประท้วงบนท้องถนน แต่สร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศโดยรวมในระยะยาวอย่างเด่นชัด

ปัญหา Lying Flat นับเป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เพราะจีนกำลังอยู่ในช่วงก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูง ดังนั้นหากยังมีปัญหานี้อยู่ จีนก็อาจเป็นอีกประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง

หลายประเทศทั่วโลกรวมไปถึงไทยก็กำลังเผชิญปัญหา Lying Flat อยู่เช่นกัน เมื่อคนรุ่นใหม่ต่างไม่เห็นหนทางอนาคตที่เติบโตก้าวหน้าคุ้มค่ากับความทุ่มเท เพียงแต่ปัญหาของประเทศอื่นอาจยังไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจหนักเหมือนที่จีนกำลังเผชิญอยู่

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย