มีข่าวล่าสุดออกมาว่า รัฐบาลลาวไม่มีเงินจ่ายหนี้ ต้องเลื่อนชำระหนี้ต่างประเทศก้อนใหญ่ 670 ล้านดอลลาร์ออกไป สั่นคลอนความน่าเชื่อถือของประเทศมากพอสมควร วันนี้ พี่ทุยจะพาทุกคนมาติดตามสถานการณ์ วิกฤตหนี้ลาว ปัจจุบันอยู่ในจุดไหน เรื่องนี้กำลังส่งผลกระทบกับลาวยังไงบ้าง และ อนาคตของลาวจะจบลงอย่างไร
วิกฤตหนี้ลาว เกิดขึ้นเพราะอะไร?
พี่ทุยขอสรุปอีกครั้งว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ สาเหตุหลักเลย ที่ทำให้ลาวติดอยู่ในวังวนหนี้สาธารณะก้อนใหญ่นานนับสิบปี มาจากการกู้ยืมเงินไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟจีน-ลาว ทั้งที่รัฐบาลมีความสามารถใช้คืนหนี้จำกัด แถมยังโดนซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาอีก
ทั้งนี้ พี่ทุยขอพามาอัปเดตสถานการณ์เศรษฐกิจ รวมถึงสถานการณ์หนี้ของลาวล่าสุดกันหน่อยว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยในส่วนของเศรษฐกิจนั้น เป็นข้อมูลที่สถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียน +3 หรือ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) จัดทำขึ้น ดังนี้
สรุปสถานการณ์ วิกฤตหนี้ลาว เศรษฐกิจ การเงิน การคลังเป็นยังไง
คาดการณ์เศรษฐกิจลาว ปี 2024 ขยายตัว 4.5% เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ขยายตัว 4.2%
ความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจลาว ได้แก่
- เงินกีบอ่อนค่า
- เงินเฟ้อสูงต่อเนื่องคาดว่าปี 2024 เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 25% จากปี 2023 ที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 31% จากราคาอาหารที่สูงขึ้นรวดเร็ว
- หนี้สาธารณะสูง เป็นยังประเด็นที่สร้างความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นให้เศรษฐกิจลาว
ด้านนโยบายการเงิน
- ธนาคารกลางลาว (BOL) ใช้นโยบายแบบเข้มงวด
- มีความพยายามดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินเข้ามาระบบ ผ่านการออกตั๋วเงินระยะสั้น
- พยายามรักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน โดยเพิ่มอุปทานเงินตราต่างประเทศในตลาด รวมทั้งมีการใช้กฎระเบียบใหม่ควบคุมเงินที่ส่งกลับประเทศ กำหนดอัตราขั้นต่ำในการแปลงรายได้จากการส่งออกเป็นสกุลเงินท้องถิ่น
ด้านนโยบายการคลัง
- ปี 2023 ลาวมีงบประมาณเกินดุล รายได้มากกว่ารายจ่าย
- ปี 2024 คาดว่าลาวจะกลับมาขาดดุล เพราะการใช้จ่ายและดอกเบี้ยต่างประเทศที่ต้องจ่าย มีมากกว่า รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% เป็น 10%
ความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ลาวกำลังเจอภาวะเอลนีโญ่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบสุดขั้ว ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งภาคไฟฟ้าพลังน้ำ และเกษตรกรรม รวมถึงยังเพิ่มแรงกดดันเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้น
แนวทางแก้ปัญหาของลาวที่ AMRO แนะนำ
- BOL ต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป
- ลาวยังต้องออกตั๋วเงินระยะสั้น เพื่อดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน
- ลาวต้องพยายามลดเงินเฟ้อคาดหวัง และเพิ่มเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน
- รัฐบาลควรปรับปรุงโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ เพื่อลดภาระการชำระหนี้รายปีในระยะปานกลางให้สอดคล้องกับดุลการชำระเงินระยะปานกลาง
- รัฐบาลต้องเร่งปฏิรูปรัฐวิสาหกิจในภาคไฟฟ้า ป้องกันการก่อภาระผูกพันของรัฐบาล โดยเฉพาะการเพิ่มค่าไฟฟ้าเฉลี่ยให้อยู่ในระดับที่ครอบคลุมต้นทุนได้
- รัฐบาลต้องส่งเสริมการเติบโตที่ครอบคลุมและยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างในหลายกลุ่ม เช่น เพิ่มความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการเชื่อมต่อ สร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อธุรกิจ เร่งกระบวนการจัดการผลกระทบจาก Climate Change เพื่อดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ (FDI) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและโอกาสในการเติบโต
ข้อมูลหนี้สาธารณะของลาว ปี 2023 เทียบกับปี 2022
สิ่งที่รัฐบาลลาวพยายามทำอยู่เพื่อลดหนี้สาธารณะ
- จำกัดการกู้ยืมใหม่สำหรับโครงการและการเบิกจ่ายเงินกู้ที่มีอยู่
- ใช้แหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่หนี้ เช่น รายได้ส่วนเพิ่ม การชำระคืนเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ และการแปรรูปสินทรัพย์
สำหรับภาพรวมหนี้สาธารณะของลาว ส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินดอลลาร์ ขณะที่เจ้าหนี้รายสำคัญคือ เจ้าหนี้ที่สนับสนุนเงินทุนตามข้อตกลงแบบทวิภาคี (bilateral creditors) อย่างจีน และคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้แบบคงที่
ความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับหนี้สาธารณะของลาว
- ส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งกำลังเผชิญความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
- ความเสี่ยงในการกู้ยืมมาชำระหนี้เดิม และความเสี่ยงด้านดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ สำหรับหนี้ที่จะครบกำหนดชำระใน 1 ปี ซึ่งคิดเป็น 14% ของหนี้สาธารณะทั้งหมด
แนวโน้มหนี้สาธารณะในอนาคตของลาว
- หนี้สาธาราณะที่เป็นภาระผูกพัน คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงใน 5 ปีข้างหน้า โดยอยู่ที่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ ต่อปี ระหว่างปี 2024-2028 ขณะที่ การชำระหนี้ในประเทศยังคงสูง แตะระดับ 5.3 ล้านล้านกีบต่อปี ในช่วงเดียวกัน
- รัฐบาลมีแผนบริหารหนี้อย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าหมายลดหนี้สาธารณะต่อ GDP 5% ภายในปี 2025
- รัฐบาลมีแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง และลดแรงกดดันจากหนี้ด้านบริการ
ที่มา : กระทรวงการคลัง สปป.ลาว
พี่ทุยต้องบอกว่า ด้วยปัญหาเงินกีบที่อ่อนค่า ทำให้หนี้สาธารณะที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศสูงขึ้น เมื่อคิดเป็นเงินกีบ ถือเป็นปัญหาสำคัญของลาว ถ้านึกภาพไม่ออก ก็ลองนึกภาพสมัยบ้านเราเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งที่มีการลดค่าเงินบาท แล้วทำให้หนี้สกุลเงินต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จนธุรกิจหลายรายต้องล้มละลาย ปิดตัว ปรับโครงสร้างหนี้ หรือใช้เวลานานในการกลับมาลืมตาอ้าปาก ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ลาวกำลังเผชิญอยู่
สิ่งที่ลาวพยายามทำคือ การพยายามเลื่อนการชำระหนี้สาธารณะต่างประเทศออกไป โดยในปี 2023 ลาวมีหนี้สาธารณะต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระสูงถึง 950 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเกือบเท่าตัวจากปี 2022 อยู่ที่ 507 ล้านดอลลาร์ ซึ่งลาวก็พยายามขยายระยะเวลาในการชำระหนี้ก้อนนี้อยู่ เพราะถ้าดูจากแนวโน้มรายได้ล่าสุด ก็อาจจะไม่เพียงพอกับการจ่ายหนี้
อันดับเครดิตล่าสุดของ สปป.ลาว
ลองมาดูกันบ้างว่า ตอนนี้ อันดับความน่าเชื่อถือของลาวเป็นยังไง เพราะสิ่งนี้มีความสำคัญทีเดียว เป็นการบ่งบอกว่าสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ มีมุมมองกับลาวยังไง คิดว่ารัฐบาลลาวจะมีความสามารถชำระคืนหนี้ได้มั้ย
TRIS Rating (จัดอันดับล่าสุด 19 พ.ค.2023)
- อันดับเครดิตประเทศ BBB-
- แนวโน้ม Negative (ลบ)
- อันดับเครดิตพันธบัตรรัฐบาล BBB-
S&P Global Ratings (จัดอันดับล่าสุด 25 ส.ค.2022)
- อันดับเครดิตประเทศ B-
- แนวโน้ม Stable (คงที่)
Fitch Ratings (จัดอันดับล่าสุด 25 ส.ค. 2022)
- อันดับเครดิตประเทศ B-
- แนวโน้ม Stable (คงที่)
พี่ทุยอธิบายเพิ่มเติมแบบนี้ว่า โดยปกติแล้วอันดับความน่าเชื่อถือ ที่จัดว่าอยู่ในระดับที่ลงทุนได้ คือต้องเป็นระดับ BBB- ขึ้นไป ถ้าได้ต่ำกว่านี้ ก็แปลว่า มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่าง S&P Global Ratings และ Fitch Ratings ให้อันดับไว้ที่ B- มานับตั้งแต่ปี 2022 นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับลาวเท่าไหร่ เพราะความน่าเชื่อถือระดับนี้ จัดอยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง
ซึ่งถ้าลาวคิดจะกู้ยืมเพิ่ม ก็ต้องแลกมาด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูง เพราะความเสี่ยงสูง ส่วน TRIS Rating แม้จะให้อันดับความน่าเชื่อถือประเทศไว้อยู่ในระดับ BBB- แต่ก็เป็นระดับสุดท้ายของกลุ่มที่อยู่ในระดับลงทุนได้ แถมมุมมองในอนาคตยังเป็น Negative ซึ่งก็เป็นการบ่งบอกกลาย ๆ ว่า ในอนาคตอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศและตราสารหนี้ที่ออกโดยประเทศนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นกลุ่มที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ลงทุนได้แล้ว
โดยรวมแล้ว ก็ถือว่าสถานการณ์วิกฤตหนี้ที่ลาวเผชิญอยู่ ท้าทายพอสมควร สุ่มเสี่ยงที่ประเทศจะเดินไปสู่ภาวะผิดนัดชำระหนี้ และล้มละลาย เหมือนกับที่ประเทศอื่นเคยเดินไปสู่จุดนี้มาก่อน ซึ่งผลที่จะตามมาจากสถานการณ์แบบนี้คือ เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบ ความเป็นอยู่ของคนในสังคมก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน
วิกฤตหนี้ลาว อาจก่อให้เกิดสถานการณ์เหล่านี้
- รัฐบาลลดการใช้จ่าย เมื่อต้องนำเงินไปชำระหนี้ ก็จะทำให้งบประมาณภาครัฐตึงตัวมากขึ้น รัฐบาลอาจต้องตัดงบประมาณบริการที่จำเป็น เช่น ด้านสาธารณสุข การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐาน
- เก็บภาษีสูงขึ้น รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มรายได้ภาษี เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ ซึ่งทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องรับภาระภาษีสูงขึ้น
- การลดค่าเงิน วิกฤตหนี้จะทำลายความเชื่อมั่นที่มีต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินลดลง หมายความว่า ต้องนำเข้าสินค้ามาในราคาที่แพงขึ้น ขณะที่ภาคส่งออกก็จะได้รับผลกระทบ
- เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย วิกฤตหนี้ จะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยตามมา เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่าย ส่วนภาคธุรกิจลดการลงทุน
- ความไม่สงบทางสังคม การตัดงบประมาณด้านสังคม และการว่างงานที่เพิ่มขึ้น จะนำไปสู่ความไม่สงบ และความไม่มั่นคงทางสังคม
มีข้อมูลที่น่าสนใจจาก องค์กรระหว่างประเทศ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNTAD) ที่เผยแพร่ไว้ล่าสุดเกี่ยวกับรายงานหนี้โลกประจำปี 2024
ในรายงานชี้ว่า ในปี 2023 หนี้สาธารณะโลกปรับขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ใหม่ที่ 97 ล้านล้านดอลลาร์ โดยกลุ่มประเทศที่มีสัดส่วนหนี้สาธารณะมากที่สุดคือ ประเทศพัฒนาแล้ว ตามด้วย ประเทศในแถบเอเชียและโอเชียเนีย ต่อมาก็คือ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน และแอฟริกา ตามลำดับ
ขณะที่ ประเด็นที่น่าสนใจคือ ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศกำลังพัฒนานั้นสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วมากทีเดียว โดยหากพิจารณาจากข้อมูลอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) ระหว่างปี 2020-2024 พบว่า เยอรมนี มีต้นทุนการกู้ยืมอยู่ที่ 0.8% เท่านั้น ส่วนสหรัฐฯ ต้นทุนอยู่ที่ 2.5% ในขณะที่ เอเชียและโอเชียเนีย มีต้นทุนสูงกว่าสหรัฐฯ เท่าตัว อยู่ที่ 5.3% ละตินอเมริกา และแคริบเบียน มีต้นทุน 6.8% และแอฟริกา มีต้นทุนสูงที่สุด 9.8%
ถ้าดูจากข้อมูลนี้จะเห็นว่า ถึงประเทศพัฒนาแล้วจะมีหนี้สาธารณะสัดส่วนเยอะมาก ๆ เทียบกับประเทศกลุ่มอื่นในโลก แต่ข้อได้เปรียบของประเทศเหล่านี้คือ กู้ยืมได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าเยอะ ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งก็รวมถึงลาวด้วยมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงพอสมควร ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกอะไรที่เราจะเห็นการเผชิญวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก่อน
ศรีลังกา ตัวอย่างของประเทศที่เผชิญวิกฤตหนี้ไปก่อนลาว
ก่อนที่ลาวจะเผชิญวิกฤตหนี้นั้น ก็มีประเทศอื่นในแถบเอเชียด้วยกัน ที่รับศึกหนักจากวิกฤตหนี้นำหน้าไปก่อนแล้ว อย่างเช่น ศรีลังกา พยายามเจรจากับเจ้าหนี้ให้ช่วยขยายระยะเวลาชำระหนี้ รวมถึงลดดอกเบี้ยเงินกู้ เพื่อช่วยลดภาระการชำระหนี้ลง
ขณะเดียวกันได้เข้าโครงการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยได้รับวงเงินกู้จาก IMF มา 3,000 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือน มี.ค. 2023 ภายใต้ข้อกำหนดที่ประเทศต้องมีการรวบงบประมาณ ควบคุมการใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณลง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังต้องมองหาช่องทางเพิ่มรายได้ ผ่านการปฏิรูปภาษีและแปรรูปสินทรัพย์ที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ เพื่อปรับปรุงสถานะการเงินของศรีลังกาในระยะยาว
จากข้อมูลล่าสุดในเดือน ก.ค. 2024 เกี่ยวกับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาของศรีลังกา ก็คือ ศรีลังกาประสบความสำเร็จในการทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้ในประเทศไปเรียบร้อยแล้วในเดือน ก.ย. 2023 ส่วนกับเจ้าหนี้ต่างประเทศ ก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจากันอยู่
ขณะเดียวกัน ศรีลังกาประสบความสำเร็จกับการร่วมโครงการกับ IMF โดยได้รับการพิจารณาปล่อยกู้ให้เมื่อเดือน มิ.ย. 2024 จำนวน 336 ล้านดอลลาร์ ช่วยให้สามารถปลดล็อคเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อไปได้ และการเข้าร่วมโครงการของ IMF อย่างต่อเนื่องนั้น ก็น่าจะเป็นความหวังที่จะทำให้เศรษฐกิจศรีลังกากลับมามีเสถียรภาพได้ในระยะยาว ขณะที่โดยรวม IMF สนับสนุนเงินกู้ให้ศรีลังกาออกไปแล้วรวมกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ เศรษฐกิจศรีลังกามีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี โดยเงินเฟ้อเริ่มลดลง การจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น เริ่มเห็นการเติบโตของ GDP
อ่านเพิ่ม
หลังจากยกตัวอย่างของศรีลังกาแล้ว พี่ทุยก็อยากจะเทียบให้เห็นภาพมากขึ้นว่า เรื่องราวของศรีลังกาและลาวแตกต่างกันยังไง
ความเหมือนและแตกต่างระหว่างวิกฤตหนี้ศรีลังกาและลาว
สิ่งที่เหมือนกัน
- มีปัญหาหนี้ต่างประเทศสูง จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
- การชำระหนี้ทำให้รัฐบาลมีงบประมาณตึงตัว ทำให้ต้องจำกัดการใช้จ่ายบริการเพื่อสังคม
สิ่งที่แตกต่างกัน :
- ลาว มีจีนเป็นเจ้าหนี้หลัก แต่ศรีลังกา มีเจ้าหนี้หลากหลายรายมากกว่า
- ลาว มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงกว่าเมื่อเทียบกับ ศรีลังกาที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนเงินกู้จาก IMF
- สถานการณ์หนี้ของศรีลังกาในตอนนี้มีความโปร่งใสมากกว่าในลาว
ลองมาดูเพิ่มเติมกันดีกว่าสำหรับกรณีของไทยในอดีตที่เคยเจอวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งมาก่อน ซี่งในช่วงเวลานั้นมีการลดค่าเงินอย่างรวดเร็ว และวิกฤตลุกลามไปทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราหลุดพ้นจากภาวะนั้นมาได้อย่างไร และใช้เวลานานแค่ไหน
Timeline การหลุดพ้นวิกฤตต้มยำกุ้งของไทย
- ปี 1997 : เกิดวิกฤตต้มยำกุ้งในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก การลดค่าเงินบาทของไทย ซึ่งนำไปสู่วิกฤตในภาคการเงินระดับภูมิภาค
- ปี 1997-1998 : เศรษฐกิจไทยหดตัว ธุรกิจจำนวนมากต้องปิดกิจการ คนจำนวนมากว่างงาน
- ในปี 1999-2001 : IMF เข้ามาช่วยเหลือเงินทุน ด้วยเงื่อนไขที่ไทยต้องปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็เริ่มกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น
- ปี 2002-2003 : เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวได้ โดยมีการส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนการฟื้นตัว
จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยใช้เวลารวม 3-5 ปี ในการฟื้นคืนกลับมาสู่ภาวะปกติ ซึ่งถ้ามานั่งดูเวลานี้ ก็อาจจะคิดว่า แป๊บเดียวเอง เราก็กลับมาได้ แต่ถ้าเป็นช่วงเวลานั้น ก็ต้องถือว่า เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากของใครหลาย ๆ คน คนที่เคยรวยต้องล้มละลาย คนที่ไม่มีอยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่มีหนักขึ้นไปอีก
ขณะที่เมื่อหันมาดูสถานการณ์ของลาวตอนนี้ สาระสำคัญของต้นตอปัญหาอาจจะแตกต่างกัน แต่ก้าวหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือเรื่อง ค่าเงิน ซึ่งการที่ค่าเงินกีบลดลงอย่างมาก ก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้ปัญหาหนี้สาธาณะที่เยอะอยู่แล้ว ยิ่งสาหัสขึ้นไปอีก เมื่อหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ต่างประเทศ
คราวนี้ ลองมาดูกันบ้างว่า ประเทศอื่นที่เคยเจอวิกฤตหนี้ ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง นอกเหนือจากไทย และศรีลังกา มีประเทศไหนบ้าง
ตัวอย่างประเทศที่เคยเผชิญวิกฤตหนี้
กรีซ (ปี 2009-2012) : กรีซได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ยูโรโซน โดยค่าเงินกรีซลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประมาณ 20-30% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักของโลก เช่น ดอลลาร์ ในช่วงเวลานั้น นักลงทุนถอนเงินลงทุนออกจากประเทศ ขณะที่ต้นทุนการนำเข้าสินค้าสูงขึ้น นำมาสู่ความยากลำบากทางเศรษฐกิจ
อาร์เจนตินา (ปี 1998-2002) : เงินเปโซของอาร์เจนตินาอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงในช่วงวิกฤต โดยอ่อนค่ามาก 90-99% เทียบกับดอลลาร์ นำมาซึ่งเงินเฟ้อสูงรุนแรง ซึ่งในช่วงที่เงินเฟ้อสูงผิดปกตินั้น ก็มีการระงับการถอนเงินฝากออกจากธนาคารด้วย
เวเนซุเอลา (ปี 2013-ปัจจุบัน) : ค่าเงินโบลิวาร์ของเวเนซุเอลาลดลงอย่างหนักจากวิกฤตหนี้ จนเรียกว่ามูลค่าอาจจะแทบไม่เหลือเลย และทำให้สกุลเงินนี้ ไม่ได้เป็นสกุลเงินหลักของประเทศอีกต่อไป ซึ่งผลของสถานการณ์ก็คือเงินเฟ้อสูงรุนแรง นำไปสู่ปัญหาขาดแคลสินค้าจำเป็นในประเทศ
มาถึงตรงนี้ จะเห็นว่า ประเทศไหนที่เดินไปสู่สถานการณ์ค่าเงินลดลงอย่างมาก ก็ถือว่าตกที่นั่งลำบากพอสมควร ยิ่งถ้ามีหนี้ต่างประเทศสูงด้วย ยิ่งสาหัสมากขึ้นไปอีก งานนี้ก็คงต้องมาลุ้นกันว่า ลาวจะผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ไปได้อย่างไร ซึ่งพี่ทุยมองว่า ตัวแปรสำคัญหนึ่งก็คือ “จีน” เจ้าหนี้รายสำคัญของลาว ว่าจะมีส่วนร่วมช่วยยืดอายุหนี้ ลดหนี้ กับลาวมากน้อยแค่ไหน
อ่านเพิ่ม