"ลาว" จ่อถังแตก "หนี้" ต่างชาติสูง จะไปต่อได้หรือไม่ ?

ลาวจ่อถังแตก หนี้ต่างชาติสูง จะไปต่อได้หรือไม่ ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ลาวมีหนี้ต่างประเทศ 12,435 ล้านดอลลาร์ และหนี้ในประเทศ 912 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งหมด 13,347 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 71% ของ GDP ตั้งแต่ปี 2021-2025 ลาวมีหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระอยู่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีอยู่ที่ 1,262 ล้านดอลลาร์
  • ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2021 เงินกีบอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์มาแล้วถึง 40% พร้อมแนวโน้มทั่วโลกปรับขึ้นดอกเบี้ย สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากทั้งเงินกีบที่อ่อนค่าและภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
  • ทางเลือกแรกประเทศลาวต้องลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ทางเลือกต่อมาก็คือการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งลาวมีจีนเป็นเจ้าหนี้ถึง 47% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงที่ผ่านมาข่าววิกฤติหนี้ศรีลังกาแพร่สะพัดในหน้าข่าวต่างประเทศต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายประเทศที่กำลังเดินหน้าสู่วิกฤติ หนึ่งในนั้นก็มี “ลาว” ที่เผชิญกับภาระหนี้สินอันมหาศาล พี่ทุยขอพาไปเจาะลึกวิกฤติของลาวกันหน่อยว่าเป็นเพราะอะไร ร้ายแรงมากแค่ไหน และจะแก้ปัญหา “หนี้” นี้อย่างไร?

สาเหตุที่ “ลาว” มี “หนี้” สูงมาก

ระหว่างปี 2010-2016 อัตราการเติบโต GDP ของลาวอยู่ที่ 7-8% ต่อปี ก่อนจะลดลงต่อเนื่องจนปี 2020 ที่เผชิญกับ COVID-19 จะเติบโตราว 3.2% ก่อนจะฟื้นเล็กน้อยในปี 2021 ที่ 3.4%

แต่เศรษฐกิจที่เติบโตมากถึง 7% ลาวต้องพึ่งพาการกู้ยืมหนี้จากต่างประเทศเพื่อลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโครงการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งอาศัยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่ราบสูง ตามด้วยโครงการรถไฟความเร็วสูงที่ร่วมมือกับทางการจีน

ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ลาวมีหนี้สินสาธารณะประมาณ 13,300 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 72% ต่อ GDP ซึ่งจากการประเมินของ IMF และธนาคารโลกนับว่าถึงจุดที่น่าเป็นห่วง และส่งผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันประเทศลาวยังพึ่งพาสินค้าการเกษตร ไฟฟ้า และทรัพยากรธรรมชาติเป็นสินค้าส่งออกหลัก แต่เมื่อหักลบกับการนำเข้าแล้ว ลาวเป็นประเทศนำเข้าสุทธิ

ดังนั้นทั้งการก่อหนี้เพื่อหนุนเศรษฐกิจและการเป็นประเทศนำเข้าสุทธิ ส่งให้เศรษฐกิจเผชิญกับ Twin Deficits เป็นภาวะที่ประเทศขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (การค้า) และขาดดุลการคลัง (รัฐมีรายจ่ายมากกว่ารายได้) ซึ่งมักเกิดกับประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วเกินไปจากการบริโภคและการลงทุนที่สูง

หากไม่มี COVID-19 แพร่ระบาด การเติบโตของเศรษฐกิจก็ยังพอจะทำให้ลาวสามารถแบกรับภาระหนี้ต่อไปได้ แต่เมื่อต้องเจอกับการแพร่ระบาด บาดแผลที่ซุกซ่อนไว้ก็เปิดออก

เงินกีบอ่อนค่า ทุนสำรองต่ำ หนี้ต่างชาติสูง

ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปี 2021 เงินกีบอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์มาแล้วถึง 40% สะท้อนว่ามีเม็ดเงินไหลออกจากเงินกีบไปสู่สกุลเงินต่างชาติ แม้ไตรมาส 4 ปี 2021 ลาวกลับมาเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจากการส่งออกที่ดีขึ้นและได้รับเงินโอนจากผู้มีถิ่นฐานนอกประเทศ แต่รายได้จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นกลับไม่ได้เข้าสู่ระบบการเงินในประเทศเลย แต่กลับพบการเปลี่ยนไปถือสกุลเงินต่างประเทศมากขึ้นสะท้อนว่าคนในประเทศไม่มีความเชื่อมั่นสกุลเงินของตนเอง

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะตามเกณฑ์สำหรับประเทศรายได้ต่ำของ IMF ระบุว่าควรครอบคลุมการนำเข้า 4-6 เดือน แต่ทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือเพียงพอนำเข้าสินค้าเพียง 2.9 เดือน และคิดเป็น 11% ของปริมาณเงินในระบบ

อีกปัจจัยเกิดจากลาวมีหนี้ต่างประเทศ 12,435 ล้านดอลลาร์ และหนี้ในประเทศ 912 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งหมด 13,347 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 71% ของ GDP ตั้งแต่ปี 2021-2025 ลาวมีหนี้ต่างประเทศที่ครบกำหนดชำระอยู่ประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศมีอยู่ที่ 1,262 ล้านดอลลาร์ และยังไม่รวมรายจ่ายสินค้านำเข้าอีก เรียกได้ว่าเข้าใกล้ภาวะถังแตกเต็มที

สถานการณ์นี้มีอะไรต้องกังวล?

ด้วยเสถียรภาพทางการเงินที่เข้าขั้นย่ำแย่ส่งผลให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่อย่าง Moody’s และ Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลาวจาก B3 และ B- ลงสู่ Caa2 และ CCC ตามลำดับ ส่งผลให้ในอนาคตหากประเทศลาวต้องรีไฟแนนซ์หนี้อาจทำได้ยากและต้องเสียอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

สำหรับหนี้สาธารณะที่เป็นหนี้ต่างประเทศ ลาวต้องแลกเปลี่ยนจากเงินกีบไปเป็นเงินต่างชาติเมื่อต้องชำระหนี้ ปัญหาจะเกิดขี้นเมื่อสกุลเงินกีบอ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินต่างประเทศ เพราะลาวจะต้องใช้หารายได้มาเป็นเงินกีบให้มากขึ้นเพื่อแลกเป็นเงินต่างชาติ มองในอีกแง่ก็คือเมื่อใดที่เงินกีบอ่อนค่า ลาวก็จะมีหนี้เพิ่มขึ้นโดยไม่ได้กู้ยืมเพิ่ม

มากกว่านั้นด้วยการที่หนี้สาธารณะมากกว่า 90% เป็นหนี้ต่างประเทศ ประกอบกับทั่วโลกเดินหน้าใช้นโยบายการเงินตึงตัวด้วยการขึ้นดอกเบี้ย จึงเป็นอีกผลกระทบให้หนี้ต่างประเทศที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัวราว 17.4% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ต้องได้รับผลกระทบให้ต้องจ่ายคอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีก

สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นจากทั้งเงินกีบที่อ่อนค่าและภาระดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ส่วนการรีไฟแนนซ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตจะเป็นอีกปัจจัยที่เพิ่มภาระหนี้สิน

ส่วนการส่งออกที่แม้จะฟื้นตัวแต่ด้วยการส่งออกสินค้าเกษตรและโภคภัณฑ์เป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าที่แม้คู่ค้าจะได้ราคาที่ลดลงเนื่องจากเงินกีบอ่อนค่า แต่ความต้องการซื้อก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันประเทศลาวเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง พร้อมการค้าเงินตราต่างประเทศแบบผิดกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สกุลเงินของประเทศอ่อนแอ นับเป็นช่วงเวลาที่มีปัญหาซ้ำเติมมาให้ธนาคารกลางลาวต้องเร่งแก้ให้ได้ เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดเงิน

“ลาว” มีโอกาสแก้ปัญหา “หนี้” อย่างไรบ้าง?

หากเปิดหนังสือ A Template for understanding BIG DEBT CRISES โดย Ray Dalio อดีตผู้บริหาร Hedge Fund ชื่อดัง จะมีส่วนที่บอกวิธีแก้ปัญหาหนี้ ทางเลือกแรกลาวต้องลดรายจ่าย ซึ่งก็เริ่มขึ้นแล้วโดยเริ่มไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้รถหลวงหลังพ้นตำแหน่ง และประกาศลดสัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP ให้ไม่เกิน 55.4% ภายในปี 2023 พร้อมเริ่มขึ้นภาษีบางรายการเพื่อเพิ่มรายได้ หากปัญหาเพิ่มมากขึ้น ลาวอาจเลือกขอความช่วยเหลือจาก IMF

ทางเลือกต่อมาก็คือการปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ซึ่งลาวมีจีนเป็นเจ้าหนี้ถึง 47% ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด เมื่อปี 2020 Electricite du Laos รัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าของรัฐบาลลาวร่วมมือกับ China Southern Power Grid Company รัฐวิสาหกิจจีน ก่อตั้ง Electricite du Laos Transmission Company Ltd. โดยมี China Southern Power Grid Company เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

โดยจะควบคุมระบบการจ่ายไฟฟ้าแรงสูง และมีสิทธิซื้อและขายไฟฟ้าในประเทศลาว ซึ่งบริษัทนี้แท้จริงแล้วเกิดขึ้นเพื่อชดใช้หนี้รัฐบาลจีน ไม่แน่ว่าในอนาคตอาจต้องแปรรูปโครงสร้างพื้นฐานอีกเพื่อใช้หนี้ต่างประเทศ

ส่วนการค้าก็มีโอกาสจากกรอบความร่วมมือ RCEP และการค้ากับจีน และโครงการรถไฟความเร็วสูงอาจช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติและการค้าระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามด้วยบาดแผลทางเศรษฐกิจจาก COVID-19 ยังไม่มีใครตอบได้ว่าการค้าและเม็ดเงินลงทุนจะเพียงพอช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้หรือไม่

อ่านเพิ่ม

วินัยการคลังช่วยไทยไม่เจอปัญหาเช่นนี้

ไทยได้รับบทเรียนอันล้ำค่าจากวิกฤติต้มยำกุ้ง นับแต่นั้นมาก็กำหนดนโยบายภายใต้วินัยการคลังที่เข้มงวด ส่งให้มีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 228,574.51 ล้านดอลลาร์ ครอบคลุมการนำเข้า 8-9 เดือน ขณะที่หนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ 58.3% มากกว่านั้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ในสกุลเงินบาท ทำให้ไม้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของต่างชาติ

แต่หลัง COVID-19 ระบาดเป็นต้นมา รัฐบาลต้องอัดฉีดมาตรการกระตุ้นพยุงเศรษฐกิจส่งให้ขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันก็พลิกกลับมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัด หมายความว่าหลังการแพร่ระบาด ไทยก็เข้าสู่ภาวะ Twin Deficits เช่นกัน แม้จะไม่ก่อเกิดปัญหาในระยะนี้เนื่องด้วยสถานภาพการเงินที่แกร่ง แต่ก็ไม่ควรอยู่ในภาวะนี้นานเกินไป ยิ่งในขณะที่หนี้ครัวเรือนพุ่งสูงรุนแรง เหตุการณ์เลวร้ายอาจเกิดขึ้นได้ตลอด

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย