เกาะกูด พื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา แหล่งน้ำมัน 10 ล้านล้านบาท

เกาะกูด พื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา แหล่งน้ำมัน 10 ล้านล้านบาท

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • สมัยยุคล่าอาณานิคมได้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) ระบุไว้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม
  • ปี 2544 ยุคนายก ทักษิณ ชินวัตร มีการประชุมจนได้บันทึกความเข้าใจร่วม (MOU44) โดยใช้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน พื้นที่ด้านบนเส้นละติจูดให้เจรจาแบ่งเขตให้เด็ดขาด พื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) แบ่งปันผลประโยชน์
  • เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา Bloomberg รายงานว่าทางการไทยจะเริ่มเจรจากับกัมพูชาเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดกันว่าในพื้นที่พิพาท 26,000 ตารางกิโลเมตร มีก๊าซธรรมชาติอยู่ประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบประมาณ 300 ล้านบาร์เรล รวมแล้วมีมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์ (10 ล้านล้านบาท)

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เกาะกูด เกาะเล็ก ๆ แหล่งท่องเที่ยวอันสวยงามวิวทะเลอ่าวไทย กลับมีกระแสข่าวข้อพิพาทดินแดนกับกัมพูชาเหนือเกาะแห่งนี้อีกครั้ง มันเกิดอะไรขึ้น? เพราะความสงสัยนี้ พี่ทุยเลยไปหาข้อมูลแล้วจะพาไปดูกันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันว่าเพราะอะไรไทยและกัมพูชาถึงแย่งเกาะแห่งนี้ ความขัดแย้งนี้มีที่มาที่ไปยังไง?

พลังประชารัฐจี้ยกเลิก MOU44 เกรงไทยเสียประโยชน์

ความเคลื่อนไหวประเด็น MOU44 กับเกาะกูดกลับมาได้รับความสนใจอยู่บนหน้าสื่ออีกครั้งในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา 

เมื่อนายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรค พปชร. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่ากรณีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกระทรวงการต่างประเทศ ทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (MOU44) โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เป็นการละเมิดสิทธิ์ของตนตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้วินิจฉัยยกเลิก

ล่าสุดวันที่ 4 ก.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องขอวินิจฉัย จากนั้นวันที่ 30 ต.ค. ประธานวิชาการพรรค พปชร. เปิดแถลงที่รัฐสภาว่าข้อความในเอกสาร MOU44 และแผนที่แนบท้ายขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 จึงมองว่า MOU44 ผิดกฎหมายและอาจทำให้สูญเสียดินแดน

ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เผยว่าพรรค พปชร. เสนอให้ยกเลิก MOU44 เพราะเป็นอุปสรรคต่อการเจรจาที่จะบรรลุข้อตกลงเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

ที่มาที่ไปกรณีพิพาท เกาะกูด

มาถึงตรงนี้เชื่อว่าเกือบทุกคนคงสงสัยว่าแล้ว MOU44 คืออะไร? ข้อพิพาทเกาะกูดมาที่มาที่ไปยังไง? เดี๋ยวพี่ทุยจะพาไปย้อนดูกันหน่อย รับรองว่าเข้าใจครบจบที่นี่ที่เดียว

ย้อนไปสมัยยุคล่าอาณานิคมได้มีการทำสนธิสัญญาระหว่างสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 (พ.ศ. 2450) ระบุไว้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสยอมยกดินแดนเมืองด่านซ้าย และเมืองตราด กับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม

มาถึงปี 2515 กัมพูชาประกาศเส้นเขตแดนทางทะเล จากนั้นปี 2516 ไทยประกาศเส้นเขตแดนเช่นกัน แต่ลากกันคนละเส้น จึงเกิดพื้นที่ทับซ้อนขนาดที่เรียกว่า พื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน” Overlapping Claims Area (OCA) ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร

มาถึงปี 2535 ไทยย้ำจุดยืนว่าการกำหนดเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาไม่น่าถูกต้องตามสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907 ฝั่งกัมพูชาเสนอให้กำหนดเขตที่อ้างสิทธิทับซ้อนเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) หลังจากนั้นมีการประชุมร่วมหลายครั้ง แต่ยังหาไม่สามารถหาข้อตกลงได้

เกาะกูด พื้นที่พิพาทไทย-กัมพูชา แหล่งน้ำมัน 10 ล้านล้านบาท

ปี 2544 ยุคนายก ทักษิณ ชินวัตร มีการประชุมจนได้บันทึกความเข้าใจร่วม (MOU44) โดยใช้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน พื้นที่ด้านบนเส้นละติจูดให้เจรจาแบ่งเขตให้เด็ดขาด พื้นที่ด้านล่างเป็นพื้นที่พัฒนาร่วม (JDA) แบ่งปันผลประโยชน์

แต่ยังกำกับเอาไว้ว่าบันทึกความเข้าใจนี้จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา แปลว่าถ้ามีการยกเลิก MOU นี้ไป การอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายยังอยู่เหมือนเดิม

เกาะกูด ผลประโยชน์ที่มากกว่าแค่ดินแดน

ในยุคสมัยนี้ที่แต่ละประเทศต่างเปลี่ยนจากแย่งชิงดินแดนมาสู่การแย่งชิงผลประโยชน์ทางทรัพยากรและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลนี้ก็คงพอจะสรุปได้ข้อพิพาทประเด็นเกาะกูดเป็นมากกว่าการแย่งพื้นที่เกาะเล็กๆ แต่เป็นผลประโยชน์ใต้ทะเลที่อยู่ในพื้นที่พิพาท

เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา Bloomberg รายงานว่าทางการไทยจะเริ่มเจรจากับกัมพูชาเพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดกันว่าในพื้นที่พิพาท 26,000 ตารางกิโลเมตร มีก๊าซธรรมชาติอยู่ประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และน้ำมันดิบประมาณ 300 ล้านบาร์เรล รวมแล้วมีมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์ (10 ล้านล้านบาท)

การเจรจาครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติ ซึ่งบางส่วนจะถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมราคาไฟฟ้า และลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตามในพื้นที่พิพาทขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งไทยและกัมพูชาได้ให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับบริษัทพลังงานไปแล้ว ซึ่งต้องดำเนินการเจรจาแบ่งผลประโยชน์ร่วมต่อไปหลังแบ่งพื้นที่และผลประโยชน์เรียบร้อยแล้ว

ในฝั่งไทยได้ให้สัมปทานไปตั้งแต่ปี 2511 แบ่งเป็น 6 ส่วน มีบริษัทพลังงานที่ได้รับสัมปทาน เช่น Chevron Thailand, Chevron E&P, Mitsui Oil Exploration, บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, Petroleum Resources เป็นต้น

ทางฝั่งกัมพูชาได้ให้สัมปทานไปเมื่อปี 2540 แบ่งเป็น 3 ส่วน มีบริษัทพลังงานที่ได้รับสัมปทาน เช่น Conoco Inc, Total EP Cambodge, Idemitsu, Resourceful Petroleum

ความตึงเครียดกระทบภาคท่องเที่ยวเกาะกูดแล้ว?

ด้วยกระแสข้อพิพาทที่ตึงเครียดขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง อีกทั้งยังมีการนัดรวมพลก่อม๊อบในพื้นที่เกาะกูด ซึ่งมีรายงานข่าวว่าเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการในพื้นที่ มีนักท่องเที่ยวโทรสอบถามสถานการณ์ บางรายยกเลิกการเดินทาง ผู้ประกอบการจึงเริ่มกังวลต่อผลกระทบในช่วงต่อจากนี้ซึ่งเป็นฤดูไฮซีซั่น

ด้านผู้ประกอบการเรือโดยสารเผยว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาลงเรือโดยสารเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งไม่รู้สึกกังวล ขณะที่นักท่องเที่ยวไทยมีความกังวลและโทรมาสอบถามสถานการณ์

ขณะที่โฆษกรัฐบาลกล่าวว่าขออย่าหลงเชื่อข่าวลือที่ว่ามีการเปิดฉากสู้รบบนเกาะกูด โดยยืนยันว่าการท่องเที่ยวยังแน่นตามปกติ คาดช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค. จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น สอดคคล้องกับ ผอ.ททท.ตราด ที่ออกมาเผยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวเดือน พ.ย.-ม.ค. จะเพิ่มขึ้น 1%

โดยสรุปคือ ยังไม่มีสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ ภาพรวมจำนวนนักท่องเที่ยวยังปกติ มีอัตราการจองที่พักโรงแรมอยู่เป็นจำนวนมาก

ไทยมีโอกาสเสียดินแดนอีกหรือไม่?

แล้วจาก MOU44 จะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเสียดินแดนอีกหรือไม่? คำถามนี้ทางอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายยืนยันว่าจะไม่ทำให้เสียดินแดนเกาะกูด เนื่องจากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุชัดว่ากรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูดเป็นของไทย

แถมเงื่อนไขใน MOU44 ที่ระบุว่าการดำเนินการตาม MOU44 จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละภาคีผู้ทำสัญญา เป็นเครื่องยืนยันว่าการอ้างสิทธิของแต่ละฝ่ายยังอยู่เหมือนเดิม และ MOU44 จะไม่ทำให้ไทยเสียดินแดน

คำถามที่น่าสนใจ คือ ถ้ายกเลิก MOU44 ตามที่เรียกร้อง แล้วจะจัดการกับพื้นที่กันอย่างไรต่อได้บ้าง?

อาจเริ่มจากเจรจากับกัมพูชา โดยใช้การกำหนดเขตไหล่ทวีปในแบบที่ฝั่งไทยใช้ ซึ่งแทบไม่มีโอกาสจะสำเร็จได้โดยไม่มีข้อแลกเปลี่ยน สุดท้ายก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับกัมพูชาซึ่งไม่ต่างจากการแลกเปลี่ยนใน MOU44

หรือต้องไปใช้องค์กรระหว่างประเทศไม่ว่าจะเป็นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (ITLOS) หรืออนุญาโตตุลาการตาม Annex VII ของ UNCLOS ซึ่งไทยและกัมพูชาเคยใช้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินกรณีปราสาทพระวิหาร และเป็นฝั่งกัมพูชาได้ประโยชน์

กรณีนี้พิพาทนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงแบบไหน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการหาสมดุลระหว่างกระแสเรียกร้องจากภายในประเทศและผลประโยชน์ระหว่างประเทศ

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile