ทำไม ราคาน้ำมันของไทย ไม่ลดลงตามตลาดโลก

ทำไม ราคาน้ำมันของไทย ไม่ลดลงตามตลาดโลก

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ราคาน้ำมันหน้าปั๊มประเทศไทย ประกอบด้วย ราคาหน้าโรงกลั่น (ราคาน้ำมันดิบ+ค่าการกลั่น) ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินเข้ากองทุนน้ำมัน เงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าการตลาด ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าการตลาด
  • หลายครั้งที่เห็นว่าทำไมราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลงแล้ว ราคาหน้าปั๊มไม่ลงสักที เพราะแม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะลดลง แต่น้ำมันดิบที่นำเข้ามาก่อนหน้าซึ่งเป็นต้นทุนน้ำมันหน้าปั๊มยังเป็นราคาก่อนที่ราคาตลาดโลกจะลดลง ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจึงไม่ลงตามราคาน้ำมันดิบทันที
  • กรณีราคาน้ำมันหน้าปั๊มลงไม่เท่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลก เพราะอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่นอยู่คนละตลาด ถ้าช่วงไหนที่ราคาน้ำมันดิบลดลง แล้วความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปลดลงไม่มาก ราคาน้ำมันสำเร็จรูปก็ลดน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เป็นสิ่งที่ผู้ใช้รถใช้ถนนต่างสงสัยกันมานานว่าทำไมหลายครั้งเห็นข่าวราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลง แต่ ราคาน้ำมันของไทย ตรงหน้าปั๊มกลับไม่ค่อยลงเลย หรือลงทีก็ลงน้อยจัง

วันนี้พี่ทุยไปเจาะลึกทั้งโครงสร้างราคาน้ำมันของประเทศไทย และองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการปรับราคาน้ำมัน เพื่อหาคำตอบให้กับข้อสงสัยนี้กัน รับรองว่าจะเข้าใจว่าเกิดจากอะไรอย่างแน่นอน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!!!

ราคาน้ำมันดิบ กับ ราคาน้ำมันของไทย ไม่เหมือนกัน

ก่อนอื่นเลยจริง ๆ แล้ว เราต้องแยกก่อนระหว่าง “ราคาน้ำมันดิบ” กับ ”ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ” ไม่เหมือนกัน น้ำมันดิบก็เปรียบเสมือนวัตถุดิบขั้นต้น คือเราต้องนำเข้ามาแล้วเอาเข้าโรงกลั่น กลั่นต่อออกมาเป็นน้ำมันที่เราเติม ๆ กัน ก็จะเป็นราคาขายปลีกในประเทศซึ่งเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย

ดังนั้นกว่าจะถึงขั้นสุดท้ายมันย่อมมีค่าดำเนินการอะไรต่าง ๆ นานา อยู่แล้ว จึงไม่แปลกอะไรที่จะต้องอาศัยเวลาสักระยะหนึ่งกว่าที่ราคาน้ำมันในประเทศจะเปลี่ยนตามราคาน้ำมันดิบโลกเพราะลองจินตนาการง่าย ๆ ว่าราคาที่ปรับไปนั้น คือราคาของวัตถุดิบขั้นต้น การที่ราคาวัตถุดิบปรับลง แต่น้ำมันที่เราใช้เติมต้นทุนที่ซื้อมากลั่นตอนแรก ยังเป็นต้นทุนที่แพงอยู่ ทำให้หน้าปั๊มที่เราเติมยังไม่ปรับลงตามเท่ากับราคาน้ำมันดิบ

หลาย ๆ คนที่เริ่มมาติดตาม “ราคาน้ำมันดิบ” จะรู้ว่าราคาน้ำมันดิบมีหลายราคาให้ติดตามมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็น Brent WTI หรือ Dubai อะไรก็ตาม จริง ๆ แล้วพี่ทุยอยากให้เข้าใจง่าย ๆ ว่าคือราคาอ้างอิงของแต่ละตลาด ซึ่งมันอาจจะแตกต่างกันได้ตามที่ตลาดนั้น ๆ

แต่ยังไงก็ตามแนวโน้มราคาก็มักจะวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสุดท้ายสิ่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดราคาน้ำมันดิบของโลกเป็นตัวเดียวกัน มีตั้งแต่ปัจจัยพื้นฐานเลย โดยเป็นการเปรียบเทียบกันระหว่าง Demand กับ Supply  หรือเปรียบเทียบความต้องการใช้กับความสามารถในการผลิต หรือการเกร็งกำไรในตลาดล่วงหน้า ก็มีผลกระทบต่อราคาแต่ละตลาดเช่นกัน

ก่อนอื่นเลยพี่ทุยอยากเข้าแจกแจงโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในบ้านเราซะหน่อย “ราคาน้ำมันดิบ” ในตลาดที่ได้กล่าวไป เป็นแค่ส่วนหนึ่งในต้นทุนเท่านั้น

ส่องโครงสร้าง ราคาน้ำมันของไทย ตรงหน้าปั๊มที่ไม่ได้มีแค่ราคาน้ำมันดิบ

ราคาน้ำมันหน้าปั๊มแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันตามโครงสร้างราคาที่ภาครัฐกำหนด ซึ่งประเทศไทยมีโครงสร้าง ดังนี้

  1. ราคาหน้าโรงกลั่น (EX-REFIN) เป็นราคาน้ำมันสำเร็จรูปคิดจากน้ำมันดิบที่รวมต้นทุนการกลั่น ซึ่งราคาหน้าโรงกลั่นของประเทศไทยจะอ้างอิงตามราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ในการกำหนดราคาหน้าโรงกลั่นของไทย โดยส่วนที่เป็นราคาน้ำมันดิบจะอ้างอิงตามตลาด Dubai ปัจจัยนี้สะท้อนว่าราคาน้ำมันดิบและราคาน้ำมันสำเร็จรูปเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันหน้าปั๊ม
  2. ภาษีสรรพสามิต (EXCISE TAX) เนื่องจากน้ำมันส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามแนวปฏิบัตสากล
  3. ภาษีเทศบาล (M.TAX) เพื่อบำรุงพื้นที่ที่โรงกลั่นตั้งอยู่
  4. เงินเข้ากองทุนน้ำมัน (OIL FUND) กองทุนที่มีหน้าที่พยุงราคาน้ำมันให้ไม่ผันผวนเกินไป ถ้าน้ำมันแพงก็จะนำเงินจากกองทุนไปอุดหนุนไม่ให้ราคาสูงเกิน ถ้าน้ำมันราคาถูกลงก็จะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน จะเห็นว่าเงินเข้ากองทุนน้ำมันอาจมีผลต่อความเคลื่อนไหวของราคาขายปลีกน้ำมันหน้าปั๊ม
  5. เงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน (CONSV.FUND) เพื่อใช้รักษาสิ่งแวดล้อม
  6. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (VAT) ภาษีที่ต้องเสียเช่นเดียวกับสินค้าอื่น
  7. ค่าการตลาด (MARKETING MARGIN) ค่าโฆษณา ค่าจ้างพนักงาน ค่าจัดการคลังน้ำมัน ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายดำเนินธุรกิจทั้งหมด
  8. ภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าการตลาด (VAT OF MM)

รวมแล้วถ้าอ้างอิงราคาขายหน้าปั๊มของน้ำมันเบนซิน 95 แบ่งสัดส่วนใหญ่ได้เป็น ราคาหน้าโรงกลั่นประมาณ 52% ภาษีและเงินเข้ากองทุนประมาณ 42% และค่าการตลาดประมาณ 6%

เมื่อเราเห็นโครงสร้างของราคาน้ำมันแล้ว เมื่อดูคร่าว ๆ ก็จะพบว่าตัวที่น่าจะคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลงมากนักก็คงจะเป็นพวกภาษีต่าง ๆ ที่มีอัตราการเก็บคงที่ ดังนั้นหากราคาในตลาดโลกเปลี่ยนเราคงต้องมาดูกันที่ 2 ตัวหลัก ๆ ได้แก่ ราคาหน้าโรงกลั่น กับ เงินเข้ากองทุน

พี่ทุยเลยไปส่องราคาน้ำมันของวันที่ 30 ม.ค. 2567 กับโครงสร้างราคาวันที่ 5 ก.พ. 2565 มาให้ดูกัน

ส่องโครงสร้าง ราคาน้ำมันของไทย ตรงหน้าปั๊มที่ไม่ได้มีแค่ราคาน้ำมันดิบ

จะเห็นว่าราคาหน้าโรงกลั่นของน้ำมันเบนซินก็ลดลง 1.33 บาท แต่ราคาขายปลีกลดลงแค่ 0.3 บาท/ลิตร

ถ้าเปรียบเทียบราคาหน้าโรงกลั่นกับราคาน้ำมันโลก วันที่ 5 ก.พ. 2567 ราคาประมาณ 72.28 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่ง 1 บาร์เรลเท่ากับประมาณ 160 ลิตรด้วยกัน ก็จะเท่ากับ 2,529.8 บาท ต่อ 160 ลิตร (ใช้ค่าเงินคร่าว ๆ เพื่อง่ายต่อการคำนวณที่ 35 บาทต่อดอลลาร์) ก็จะเท่ากับลิตรละ 15.81 บาท ถ้าเราดูในตารางจะเห็นว่า ราคาน้ำมันโลกถูกกว่าราคาหน้าโรงกลั่นที่ 22.43 บาท

แต่จริง ๆ แล้ว ในตารางรวมค่ากลั่น ค่าขนส่งข้ามประเทศมาอีก จึงไม่แปลกอะไรที่ราคาหน้าโรงกลั่นจะสูงกว่าราคาน้ำมันดิบที่ 15.81 บาท

ซึ่งเปรียบเทียบราคาน้ำมันโลกในวันที่ 30 ม.ค. 2567 อยู่ที่ 77.82 ดอลลาร์/บาร์เรล หรือ 17.02 บาท/ลิตร ซึ่งส่วนต่างราคาน้ำมันโลกวันที่ 5 ก.พ. 2567 ประมาณ 1.21 บาท ส่วนราคาหน้าโรงกลั่นต่างกัน 1.33 บาท/ลิตร

ก็ต้องถือราคาหน้าโรงกลั่นว่าปรับตัวลงตามราคาตลาดโลก แถมลดมากกว่านิดหน่อยด้วย แต่เป็นราคาที่ค่อนข้างใกล้กัน

หากมาดูกันต่อจะเห็นว่า กองทุนน้ำมันมีการเก็บเพิ่ม ทำให้สุดท้ายราคาขายปลีกจึงลดลงไม่มากนัก ส่วนบางตัวอย่างดีเซล กองทุนมีค่าเป็นลบหมายความว่าตอนนี้ กองทุนช่วยอุดหนุนเพิ่มเข้ามาทำให้ราคาถูกลงกว่าความเป็นจริง

และอีกส่วนที่ทำให้ราคาขายปลีกต่างจากราคาน้ำมันโลก ก็คือ ต้นทุนค่าการตลาด (Marketing Margin)

อันนี้พี่ทุยก็ไม่มีที่มาแน่ชัดเป็นตัวเลขเหมือนกัน แต่ด้วยหลักการแล้วน่าจะเป็นการถัวเฉลี่ยต้นทุนกับน้ำมันในสต๊อกก่อนหน้าที่ซื้อมาในราคาก่อนที่จะเกิดการปรับตัวลงของน้ำมันดิบ เราเลยเห็นว่าการปรับราคาขายปลีกลงปกติแล้วมันจะค่อย ๆ ปรับ ซึ่งเพราะถ้ามองว่าเราเป็นคนขายน้ำมันเราก็อยากลดความเสี่ยงตรงนี้เหมือนกัน ก็ต้องบอกว่าผู้บริโภคเราก็รับความเสี่ยงตรงนี้ไปแทน ซึ่งถ้าใครอยากรอให้ราคาลงก่อน โดยสถิติแล้วก็รอประมาณ 2-3 วัน ราคาก็ปรับตามตลาดโลกทันเหมือนกัน

ไขข้อข้องใจ ทำไมราคาหน้าปั๊มไม่ค่อยลงตามตลาดโลก

ผู้ใช้รถหลายคนคงสงสัยว่าทำไมหลายครั้งเมื่อราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลงแล้ว ราคาน้ำมันหน้าปั๊มยังไม่ลงสักที หรือบางครั้งก็ลงไม่เท่าราคาน้ำมันในตลาดโลก วันนี้พี่ทุยจะมาแบ่งเป็น 3 ประเด็น

ประเด็นที่ 1 ทำไมราคาน้ำมันดิบตลาดโลกลงแล้ว ราคาน้ำมันหน้าปั๊มไม่ลงสักที

เพราะน้ำมันที่ขายในประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศช่วงเวลาหนึ่งก่อนที่น้ำมันดิบตลาดโลกจะปรับลดลง ผ่านการขนส่งและกระบวนการกลั่น แล้วค่อยส่งไปขายหน้าปั๊ม

ดังนั้นแม้ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะลดลง แต่น้ำมันดิบที่นำเข้ามาก่อนหน้าซึ่งเป็นต้นทุนน้ำมันหน้าปั๊มยังเป็นราคาก่อนที่ราคาตลาดโลกจะลดลง ราคาน้ำมันหน้าปั๊มจึงไม่ลงตามราคาน้ำมันดิบทันที

ประเด็นที่ 2 ทำไมราคาน้ำมันหน้าปั๊มลงไม่เท่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลก

อย่างแรกที่พี่ทุยอยากชี้ให้เห็นก่อนเลย คือ ราคาหน้าโรงกลั่นจะสูงกว่าราคาน้ำมันดิบ เรื่องนี้ไม่แปลกอะไร เพราะราคาหน้าโรงกลั่นจะรวมทั้งต้นทุนราคาน้ำมันดิบ ค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าใช้จ่ายการปรับคุณภาพน้ำมัน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ

คำถามคือ ในเมื่อค่าใช้จ่ายไม่น่าขยับเพิ่มและบ่อยมากหรือบางครั้งอาจคงที่ ราคาหน้าโรงกลั่นและหน้าปั๊มน่าจะเคลื่อนไหวในระดับเดียวกับราคาน้ำมันดิบ แต่ทำไมหลายครั้งกลับพบว่าเมื่อราคาน้ำมันดิบโลกปรับลงประมาณ 2 บาทต่อลิตร จากนั้นราคาหน้าโรงกลั่นและหน้าปั๊มก็ปรับลงตาม แต่ลดน้อยกว่า 2 บาทต่อลิตร

เพราะอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ออกจากโรงกลั่นอยู่คนละตลาด แม้ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจะมีทิศทางเดียวกัน แต่ถ้าช่วงไหนที่ราคาน้ำมันดิบลดลง แล้วความต้องการน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ลดลงไม่มาก ราคาน้ำมันสำเร็จรูปทั้งที่สิงคโปร์และไทยก็ลดน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบ (ราคาน้ำมันสำเร็จรูปของไทยอ้างอิงตลาดสิงคโปร์) ส่งผลให้ราคาหน้าปั๊มที่คิดจากราคาหน้าโรงกลั่นบวกกับเงินเข้ากองทุนและภาษีลดน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบ

นอกจากนั้นถ้าช่วงไหนค่าเงินบาทอ่อนลง ก็จะทำให้ต้นทุนนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น แม้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะลดลง ราคาหน้าปั๊มอาจลดไม่เท่าราคาน้ำมันดิบได้เช่นกัน

ประเด็น 3 ราคาหน้าปั๊มปรับขึ้น ทั้งที่ราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ขึ้น เกิดจากอะไรได้บ้าง?

เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ถ้าเกิดขึ้นอาจมาจากเงินเข้ากองทุนน้ำมัน เช่น ย้อนไปช่วงเดือน ก.ค. ปี 66 ราคาแก๊สโซฮอล์ปรับขึ้น 50 สตางค์ ไม่ได้มาจากต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้น แต่มาจากการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มลิตรละ 50 สตางค์ เพื่อบริหารสภาพคล่องกองทุนน้ำมันที่ติดลบ

ล่าสุดคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตัดสินใจปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 67 ด้วยเหตุผลเดิม คือ กองทุนน้ำมันติดลบ

บางครั้งราคาหน้าปั๊มปรับขึ้นอาจเป็นผลจากการปรับขึ้นค่าการตลาด ซึ่งเห็นชัดในช่วงปี 65-66 ที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง

ทิศทาง ราคาน้ำมันของไทย ต่อจากนี้เป็นยังไงต่อ?

ทิศทาง ราคาน้ำมันของไทย ต่อจากนี้เป็นยังไงต่อ?

EIA คาดว่าในไตรมาส 2 กำลังการผลิตน้ำมันจะลดลงต่ำกว่าความต้องการ จากนั้นไตรมาส 3 กำลังการผลิตกลับมาใกล้เคียงกับความต้องการ ทำให้คาดว่าในไตรมาส 2 ราคาน้ำมันดิบจะเพิ่มจากประมาณ 82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ไปที่ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากนั้นทรงตัวตลอดทั้งปี 2024

เรียกว่าราคาน้ำมันดิบจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ ไม่มีแนวโน้มขึ้นหรือลงชัดเจน ยกเว้นกรณีเกิดความขัดแย้งที่ไม่คาดคิดในบริเวณพื้นที่ผลิตน้ำมันดิบของโลก

ด้วยราคาน้ำมันดิบที่เป็นต้นทุนหลักถูกคาดว่าจะทรงตัว พี่ทุยก็คาดว่าราคาน้ำมันหน้าปั๊มน่าจะทรงตัวเช่นกัน อาจมีขยับขึ้นบ้างเล็กน้อยจากเงินบาทที่อ่อน และมีราคาน้ำมันสำเร็จรูปบางชนิดที่ปรับขึ้นจากการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล

พี่ทุยสรุปว่าราคาน้ำมันหน้าปั๊มเคลื่อนไหวจากหลายองค์ประกอบทั้งราคาน้ำมันดิบ ค่าเงินบาท ช่วงเวลาที่นำเข้าน้ำมันดิบ ราคาหน้าโรงกลั่น เงินเข้ากองทุนและภาษี ซึ่งทำให้ราคาหน้าปั๊มปรับลดไม่เท่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply