เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2020 ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ “Fed” ประกาศยกเว้นการนำพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (U.S. Treasuries, USTs) และเงินฝากที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ในการคำนวณความเพียงพอของส่วนของทุนของสถาบันการเงิน ที่เรียกว่า Supplementary Leverage Ratio หรือ SLR ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวจะหมดอายุลงในวันที่ 31 มีนาคม 2021
นอกจากอัตราเงินเฟ้อที่ส่งให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Bond Yield) ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ประเด็นการต่ออายุข้อยกเว้น SLR ที่จะตัดสินใจกันในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งก็สร้างความกังวลจนตลาดเงินและพันธบัตรปั่นป่วนเหมือนกัน
Supplementary Leverage Ratio หรือ SLR คืออะไร ?
เนื่องจากวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 ทำให้หน่วยงานกำกับดูแลต้องตั้งกฎเกณฑ์ขึ้น เพื่อควบคุมความเสี่ยงในระบบการเงิน Supplementary Leverage Ratio หรือ SLR ถูกพูดถึงในที่ประชุม Basel Committee เมื่อปี 2010 และนำมาใช้ในระดับนานาชาติในปี 2014 โดยเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความสามารถของสถาบันการเงินในการรับความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสินทรัพย์หรือธุรกิจ ซึ่งโดยคำนวณจาก
SLR = Tier 1 Capital หารด้วย Total Leverage Exposure
Tier 1 capital คืออะไร ?
ส่วนของทุนที่สามารถใช้ได้ทันที ซึ่งมีคุณสมบัติรองรับความเสียหายได้ โดยประกอบไปด้วย
- ส่วนของผู้ถือหุ้น (Common Stock)
- กำไรสะสม (Retained Earnings)
- หุ้นบุริมสิทธิ์ (Preferred Stock) และ
- ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย (Non-Controlling Interest)
Total leverage exposure คืออะไร ?
ประกอบไปด้วยสินทรัพย์ (ส่วนของทุนและหนี้สิน) ทั้งในงบดุล (on-balance sheet) และนอกงบดุล (off-balance sheet) ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (U.S. Treasuries, USTs) และเงินฝากที่สถาบันการเงินฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ต้องนำมาคำนวณใน Total Leverage Exposure หรือสินทรัพย์ทั้งหมด ส่งผลให้สินทรัพย์ทั้งหมดซึ่งก็คือตัวหารในสูตรคำนวณ SLR ลดลง
SLR มีข้อกำหนดอย่างไรบ้าง ?
หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดให้สถาบันการเงินต้องรักษาระดับ SLR ให้ไม่ต่ำกว่าระดับ 3% อย่างไรก็ตามหากสถาบันการเงินดังกล่าวถูกพิจารณา ว่ามีความสำคัญต่อระบบการเงินโลกจะต้องรักษาระดับ SLR ให้ไม่ต่ำกว่าระดับ 5%
การปรับเกณฑ์การคำนวณ SLR ของ “FED” มีผลอย่างไร ?
ต้องย้อนกลับไปในช่วงเวลานั้นที่สภาพเศรษฐกิจและการเงินยังไม่น่าไว้วางใจ ประชาชนต่างพากันนำเงินสดจำนวนมากเข้ามาฝากไว้กับสถาบันการเงิน สถาบันการเงินสามารถนำเงินของประชาชนไปปล่อยสินเชื่อ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในเวลานั้น สถาบันการเงินคงไม่อยากปล่อยสินเชื่อมากเท่าไหร่ หรือทางเลือกที่มีความปลอดภัยกว่า นั่นคือนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ ซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ
ถ้าไม่มีข้อยกเว้น SLR การทำสิ่งทั้งหมดที่พี่ทุยบอกมา จะส่งผลให้ตัวหาร (สินทรัพย์ทั้งหมด) ในสูตรคำนวณ SLR เพิ่มขึ้น และทำให้ SLR ลดลง ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลกำหนดไว้ให้ไม่ต่ำกว่า 5%
ดังนั้นข้อยกเว้นเลยช่วยให้สถาบันการเงินมีความสามารถรับเงินฝากได้มากขึ้น นอกจากนั้น Fed ยังต้องการให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในเศรษฐกิจ และผลจากข้อยกเว้นยังช่วยเพิ่มแรงซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ จากสถาบันการเงิน
ทำไมการไม่ต่ออายุข้อยกเว้นการคำนวณ SLR จึงสำคัญมาก ?
พี่ทุยต้องบอกก่อนเลยว่า สถาบันการเงินจะมีการลงทุนในพันธบัตรสหรัฐฯ ด้วยการซื้อและนำไปขายต่อให้ Fed ภายใต้นโยบาย QE เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ด้วยข้อยกเว้นดังกล่าว พร้อม Bond Yield ที่พุ่งอย่างแรงในช่วงนั้น ประกอบกับการใช้นโยบาย Unlimited QE จาก Fed เรียกได้ว่าข้อจำกัดถูกปลดล็อกผลตอบแทนที่น่าสนใจ และมีคนรับซื้อในปริมาณไม่อั้น
ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปล่อยสินเชื่อ ทำให้สถาบันการเงินต่างซื้อทั้งพันธบัตรสหรัฐฯ (USTs) และ MBS และนำไปขายต่อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่หากสถาบันการเงินสามารถซื้อพันธบัตรหรือ MBS มาด้วยผลตอบแทนที่น่าสนใจ ก็อาจเลือกถือครองไว้เองในปริมาณมากขึ้นกว่าเดิมได้
ไม่ว่าสถาบันการเงินจะเลือกการซื้อและขายต่อให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือถือครองไว้เอง ต้องส่งผลให้ในช่วงแรกมีแรงซื้อพันธบัตรเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณพันธบัตรและ MBS ที่สถาบันการเงินถือครองไว้เองย่อมเพิ่มขึ้นตามมา
ดังนั้นหาก Fed เลือกที่จะไม่ต่ออายุข้อยกเว้น จะส่งผลให้ความต้องการหรือแรงซื้อในพันธบัตรและ MBS จากสถาบันการเงินลดลง อาจมีแรงเทขายพันธบัตรและ MBS ส่วนที่ถือครองอยู่ออกมา เพื่อรักษาระดับ SLR ให้ไม่ต่ำกว่าระดับ 5% หรืออีกสถาบันการเงินอาจเลือกใช้การเพิ่มทุน งดการซื้อหุ้นกลับแทนก็ได้ แต่คงเป็นไปได้น้อยมาก
จากแต่ละสถานการณ์ที่พี่ทุยเล่ามาประกอบกับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ สรุปได้ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร หรือ Bond Yield จะเพิ่มขึ้นต่อไป โอกาสที่จะทรงตัวในระดับ ณ ปัจจุบัน เป็นไปได้ค่อนข้างน้อยมากเลยทีเดียว..
Source: