ญี่ปุ่นจัด "Tokyo Olympics 2020" ใช้เงินเท่าไหร่ ?

ญี่ปุ่นจัด “Tokyo Olympics 2020” ใช้เงินเท่าไหร่ ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • จากการประมาณการณ์ ญี่ปุ่นใช้เงินในการจัด Tokyo Olympics 2020 สูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์
  • การจัดโอลิมปิกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวที่ทำให้การใช้จ่ายสะพัดในประเทศ
  • ถึงแม้ญี่ปุ่นตัดสินใจเลื่อนมาจัดในปี 2021 แต่ก็ยังไม่มีผู้ชมในสนามได้อย่างที่ตั้งใจไว้  โดยต้องการจัดเพื่อให้เป็นตัวแทนสปิริตของโอลิมปิกและพาราลิมปิก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เชื่อว่าช่วงนี้หลายคนคงจะพอคลายเครียดจากสถานการณ์โควิดไปได้บ้าง เมื่อได้ดูการแข่งขันกีฬา “Tokyo Olympics 2020” ครั้งล่าสุด ที่จัดขึ้นที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกที่ไม่มีผู้เข้าร่วมชมในสนาม เพราะเป็นมาตรการที่เกิดขึ้นนั่นเอง

หลายคนก็น่าจะสงสัยเหมือนพี่ทุย ว่าแล้วโอลิมปิกครั้งนี้จะเอากำไรมาจากไหนกัน ในเมื่อผู้ชมก็แทบจะไม่มี ญี่ปุ่นลงทุนในครั้งนี้จะคุ้มค่ามั้ย วันนี้พี่ทุยจะมาคลายข้อสงสัยให้ฟังกัน

“Tokyo Olympics 2020” ญี่ปุ่นใช้งบจัดเท่าไหร่ ?

จากข้อมูลในเว็บไซต์ olympics.com พบว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ มีการปรับปรุงแล้วถึง 5 ครั้ง โดยในครั้งล่าสุดจะเป็นการนับรวมงบประมาณของทั้งโอลิมปิกและพาราลิมปิกเข้าไปด้วยกัน (ปกติแล้วใครที่เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจะเป็นเจ้าภาพพาราลิมปิกต่อเนื่องด้วยเลย) จะอยู่ที่ 15,400 ล้านดอลลาร์

งบ 15,400 ล้านดอลลาร์ ใครเป็นคนจ่าย ?

  • 6,700 ล้านดอลลาร์ มาจากคณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกเกมส์
  • 8,600 ล้านดอลลาร์ มาจากหน่วยงานอื่น ๆ

ในงบประมาณครั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นต้องควักเงินลงทุนเองถึง 2,100 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินก้อนนี้ถือว่าเกินกว่างบประมาณถึง 400 ล้านดอลลาร์

งบ 15,400 ล้านดอลลาร์ แบ่งออกเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ?

พี่ทุยลองเข้าไปดูรายการแต่ละประเภทจะเห็นว่า

  • 7,500 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าสถานที่จัดการแข่งขัน แบ่งออกเป็น
    (1) 3,200 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าสิ่งปลูกสร้างถาวร
    (2) 3,600 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าสิ่งปลูกสร้างชั่วคราว
    (3) 700 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าพลังงาน
  • 6,800 ล้านดอลลาร์ เป็นงบด้านการบริการ
    เช่น ค่าขนส่ง ความปลอดภัย เทคโนโลยี การดำเนินการจัดการแข่งขัน ค่ากิจการทั่วไป การสื่อสารการตลาดและอื่น ๆ
  • 900 ล้านดอลลาร์ เป็นงบการรับมือการโควิด-19
  • 100 ล้านดอลลาร์ เป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามดุลยพินิจ (อันนี้เหมือนเป็นการสำรองเงินเอาไว้เผื่อไม่พอใช้)

หมายเหตุ: งบประมาณรวมที่เกิดขึ้นอาจมีข้อมูลไม่ตรงกันเนื่องจากการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ Olympics.com มีการปัดเศษขึ้น

ทำไมหลาย ๆ ประเทศถึงอยากเป็นผู้จัดงานโอลิมปิก ?

ไม่มีการลงทุนใดที่ไม่คาดหวังผลตอบแทน การลงทุนจัดโอลิมปิกก็เช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19 ญี่ปุ่นคาดหวังเอาไว้ว่า การจัดงานครั้งนี้จะมีผู้เข้าชมการแข่งขันไม่ต่ำกว่าวันละ 920,000 คน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ก็จะช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นในหลากหลายช่องทาง เรียกง่าย ๆ ก็คือ สิ่งที่ญี่ปุ่นคาดหวังจากกีฬาโอลิมปิก ก็คือ กระตุ้นให้คนต่างชาติเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น เพิ่มรายได้ด้านการท่องเที่ยว

เมื่อ “จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ” เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายต่อหัวก็จะเพิ่มขึ้น โดยเดิมรัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ว่าปี 2020 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาญี่ปุ่น 20 ล้านคน แต่พอมีการผ่อนคลายการขอวีซ่าเข้าญี่ปุ่น Bank Of Japan ก็คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ต่ำกว่า 33 ล้านคน

อย่างที่ทุกคนรู้ พอมีโควิด-19 ก็ทำให้ “Tokyo Olympics 2020” ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 แน่นอนว่านักท่องเที่ยวก็ไม่เป็นอย่างที่คาดฝันไว้ และ Yoshihide Suga (นายกฯ ของญี่ปุ่น) ก็ประกาศไว้แล้วว่าจะไม่มีผู้เข้าชมเพราะผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มขึ้น

พอความจริงไม่เป็นอย่างฝัน ญี่ปุ่นสูญเสียอะไรไปบ้าง ?

บริษัทวิจัยข้อมูลอย่าง GlobalData บอกว่าทำให้ธุรกิจค้าปลีกในญี่ปุ่น เติบโตไม่ได้ตามเป้าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 2.9%

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมค้าปลีกมีการลงทุนอย่างหนัก เหมือนกับภาคการท่องเที่ยว ภาคบริการ และอื่น ๆ เพื่อ “Tokyo Olympics 2020” แต่สุดท้ายก็ได้ผลตอบแทนกลับมานิดเดียว และก็น่าจะต้องลำบากต่อไปแบบนี้อีกเรื่อย ๆ

ส่วนกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บอกว่า งบดั้งเดิมของโอลิมปิกครั้งนี้ที่ตั้งไว้คือ 7,300 ล้านดอลลาร์ แต่ตัวเลขทางการที่ออกมา คือ 15,400 ล้านดอลลาร์ ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีงบงอกเพิ่มขึ้นมา

แต่ก็มีการคาดการณ์กันอีกว่า ถ้ารวมตัวเลขแบบไม่เป็นทางการเข้าไปด้วยแล้ว น่าจะสูงถึง 25,000 ล้านดอลลาร์เลยก็เป็นไปได้

เพราะแค่ค่าก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ที่ต้องการทำให้แฟนกีฬาชมได้แบบใกล้ชิดขึ้น ก็ใช้งบไปแล้ว 1,400 ล้านดอลลาร์ (มากกว่าค่าใช้จ่ายการจัดแข่งขันกีฬาฤดูร้อนในปี 1984 ที่ลอสแองเจลิสอีก) ส่วนพิธีเปิดและปิดนั้น ถึงแม้จะลดขนาดลงมาแล้ว แต่ก็คาดการณ์ว่าจะมีต้นทุนสูงถึง 118 ล้านดอลลาร์ รวมถึงมาตรการป้องกันโควิดอีก 3,000 ล้านดอลลาร์

สรุปแล้วญี่ปุ่นจะได้อะไรจากโอลิมปิก ?

อ่านมาถึงตรงนี้ ทุกคนอาจจะเริ่มมีคำถามในใจว่า จัดไปก็มีแต่เสียกับเสีย แล้วญี่ปุ่นจะจัดทำไม จัดไปแล้วจะได้อะไร

Motegi Toshimitsu (รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ) บอกว่าจัดเพื่อเป็นตัวแทนสปิริตของโอลิมปิกและพาราลิมปิก สะท้อนให้ทุกประเทศเห็นถึงความมีน้ำใจนักกีฬา พร้อมเดินหน้าต่อ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่เจอ แม้จะรู้ว่าจัดไปก็ขาดทุน แต่เพื่อรักษาคำมั่นที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้นั่นเอง

ส่วนตัวพี่ทุยคิดว่า ในเมื่อลงทุนไปแล้ว ถึงแม้ว่าผลตอบแทนที่คาดหวังจะไม่เป็นไปตามเป้า จะปล่อยทิ้งไปเลยก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดี จัดงานไปแล้วอย่างน้อยได้อะไรกลับมาบ้างก็ยังดี

ก่อนหน้านี้ คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นมากแค่ไหน ?

ข้อมูลจาก Statista.com ในปี 2019 ที่ยังไม่มีโควิด-19 คนไทยเองก็ไปเที่ยวญี่ปุ่นถึง 1,318,977 คน (คิดเป็น 4.13% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 31,882,049 คน) ถือว่าเป็นชาติที่เข้าไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นอันดับ 6 รองจาก จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสหรัฐฯ

การขาดทุนในวันนี้ของญี่ปุ่น จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไม่ได้ และภาคค้าปลีกที่ไม่มีรายได้เข้ามา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เป็นประโยชน์อะไรกับญี่ปุ่นเลย เพราะอย่างน้อยเมื่อผู้คนที่ดูการถ่ายทอดสดแล้วเห็นวิวทิวทัศน์ในญี่ปุ่น ก็อาจจะเกิดความอยากไปเที่ยว และพอโควิด-19 จบลง ก็จะเดินทางไปก็เป็นไปได้

อ่านเพิ่มเติม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย