เก็บภาษีรถติด แก้ปัญหารถติดได้จริงมั้ย?

เก็บภาษีรถติด แก้ปัญหารถติดได้จริงมั้ย?

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ค่าธรรมเนียมรถติด หรือที่เรียกอย่างเป็นทางการว่า ค่าธรรมเนียมสภาพการจราจรคับคั่ง (Congestion Pricing) จะเรียกเก็บจากผู้ใช้รถที่ใช้ถนนในพื้นที่เมืองซึ่งมีการใช้งานสูง ในช่วงเวลาเร่งด่วน
  • สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในโลกที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ส่วนเมืองอื่น ๆ ที่คิดค่าธรรมเนียมนี้ ได้แก่ ลอนดอน สต็อกโฮล์ม มิลาน และ นิวยอร์ก 
  • มีการศึกษาพบว่า การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ช่วยลดการเดินทางในเขตพื้นที่กำหนด ในช่วงเวลาที่กำหนดได้ 13-30% และช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 15-20%

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

มีข่าวออกมาว่า กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง กำลังศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือที่มีชื่อทางการว่า ค่าธรรมเนียมสภาพการจราจรคับคั่ง (Congestion Charge) อยู่ เพื่อนำเงินที่ได้ไปสนับสนุนการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย พี่ทุยเลยอยากชวนทุกคนมาคิดกันว่า เก็บภาษีรถติด จะดีมั้ย จะแก้ปัญหาได้มั้ย และประเทศอื่น บนโลก มีที่ไหนเก็บค่าธรรมเนียมรถติดบ้าง 

สำหรับ Congestion Charge หรือ Congestion Pricing คือค่าธรรมเนียมสภาพการจราจรคับคั่ง เป็นการเรียกเก็บเงินเพิ่มจากผู้ใช้สินค้าสาธารณะในช่วงที่มีปัญหาการจราจรคับคั่ง เนื่องจากความต้องการใช้งานมากเกินไป เช่น เรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงจากการใช้บริการรถประจำทาง ไฟฟ้า รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟ โทรศัพท์ และค่าธรรมเนียมการใช้ถนน เป็นต้น ขณะที่ สายการบิน และบริษัทขนส่งทางเรือหลายราย ก็มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น สำหรับช่วงเวลาที่ช่องจอดเครื่องบินในสนามบิน และในท่าเรือ การจราจรหนาแน่น โดยผู้ที่สนับสนุนการใช้ระบบนี้ เชื่อว่า จะช่วยให้จัดการปัญหาการจราจรคับคั่งได้

ในส่วนของการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนในช่วงที่มีปัญหาการจราจรคับคั่งนั้น จะเรียกเก็บกับผู้ใช้รถยนต์ที่ขับรถเข้าไปในพื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดมาก ซึ่งประเทศไทย ไม่ได้เป็นประเทศแรกในโลกที่มีไอเดียนี้ แต่มีหลายประเทศเรียกเก็บค่าธรรมเนียมรถติดกันมานานแล้ว โดยไอเดียนี้ ถูกมองว่า นอกจากจะส่งเสริมให้คนใช้ระบบการขนส่งสาธารณะแล้ว ยังมีส่วนแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) ลดก๊าซคาร์บอนและมลพิษทางอากาศที่สูงขึ้นในช่วงที่มีปัญหาการจราจรติดขัดหนัก ๆ ได้ด้วย ซึ่งปัญหานี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เกิดปัญหาสุขภาพของคนในท้องถิ่น เช่น โรคหอบหืด และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ตัวอย่างเมืองทั่วโลกที่เรียก เก็บภาษีรถติด

ปีที่เริ่มเก็บ

  • สิงคโปร์ 1975
  • ลอนดอน อังกฤษ 2003
  • สต็อกโฮล์ม สวีเดน 2007
  • มิลาน อิตาลี 2008
  • นิวยอร์ก (สหรัฐฯ) 2019

ที่มา : climate-xchange.org

ทั้งนี้ จากรายงาน Congestion Charging : Challenges and Opportunities ที่จัดทำโดย The International Council On Clean Transportation (​ICCT) สรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผลที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดไว้ ดังนี้ 

  • 50% ของประชากรโลกอาศัยในเขตเมือง และคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มเป็น 70% ในปี 2050 ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้งานถนนสูงขึ้น ปัญหาการจราจรติดขัดก็จะมากขึ้น
  • ปัญหาการจราจรติดขัด ส่งผลให้เกิดต้นทุนทางเศรษฐกิจ จากความล่าช้าในการเดินทาง รวมถึงสร้างปัญหามลพิษทางอากาศ โดยตัวอย่างที่ศึกษาไว้ คือ สหรัฐฯ คาดว่า ต้นทุนจากการจราจรติดขัดในปี 2000 อยู่ที่ 63,100 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 87,200 ล้านดอลลาร์ ในปี 2007 และคาดว่ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 28 ล้านตัน
  • การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด กับผู้ขับขี่ที่เข้าไปใช้เขตพื้นที่ที่การจราจรติดขัด ในช่วงเวลาที่มีการใช้งานมาก ช่วยลดการเดินทางในเขตพื้นที่กำหนด ในช่วงเวลาที่กำหนดได้ 13-30% และช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ 15-20%
  • รายได้จากการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการลงทุนปรับปรุงระบบขนส่ง ปรับปรุงถนนสำหรับคนเดินถนน นักปั่นจักรยาน และผู้ขับขี่ยานยนต์ได้ 
  • ระบบการชำระเงินที่สะดวก ยืดหยุ่น มีส่วนสำคัญในการใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

ที่มา : theicct.org

หลัง เก็บภาษีรถติด แก้ปัญหาได้มั้ย

สิงคโปร์ 

  • เป็นเมืองแรกที่นำระบบหักค่าธรรมเนียมการใช้ถนนผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ และถือเป็นประเทศผู้นำการใช้เครื่องมือค่าธรรมเนียมรถติด 
    • ปี 1975 ที่เริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียม ด้วยระบบ ใบอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ หรือ Singapore Area Licensing Scheme จัดเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะในช่วงเวลาเร่งด่วนช่วงเช้า วันจันทร์-เสาร์ 7.30-9.30 น. โดยผู้ขับขี่ต้องมีใบอนุญาตพิเศษสำหรับเข้าไปในพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งซื้อได้ในราคา 3 ดอลลาร์ต่อวัน หรือ 60 ดอลลาร์ต่อเดือน ทั้งนี้ ประชาชนสามารถจอดรถไว้ในลานจอดโดยรอบเมืองในราคา 10 ดอลลาร์ต่อเดือน และต่อรถรับส่งเข้าใจกลางเมืองได้ในราคา 0.50 ดอลลาร์ตลอดสาย
    • ปี 1998 สิงคโปร์มีการปรบเปลี่ยนระบบค่าธรรมเนียมโดยใช้ระบบการกำหนดราคาถนนอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Road Pricing System) โดยการชำระค่าธรรมเนียมจะเป็นแบบอัตโนมัติ ทันทีที่เข้าพื้นที่ที่จัดเก็บ ส่วนค่าธรรมเนียมจะผันผวนตามช่วงเวลาที่มีการเดินทางสูง ซึ่งระบบนี้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน 
  • นอกจากเก็บค่าธรรมเนียมรถติด สิงคโปร์ได้ดำเนินการด้านอื่นๆ เพื่อลดการจราจรติดขัด ลดมลพิษทางอากาศด้วย โดยการขยายระบบขนส่งสาธารณะ ปรับใช้รถบัสไฟฟ้า พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเฉพาะสำหรับการเดิน การปั่นจักรยาน และการสร้างแรงจูงใจให้นำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้

ลอนดอน (อังกฤษ)

  • 1 ปี หลังเริ่มใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ปัญหาการเดินทางล่าช้า ลดลง 30% และความเร็วเฉลี่ยของยานยนต์ที่วิ่งในเขตพื้นที่ที่กำหนดเพิ่มขึ้น 10 ไมล์ต่อชั่วโมง จากที่ก่อนจัดเก็บอยู่ที่ 8.8 ไมล์ต่อชั่วโมง 
  • 10 ปีแรกที่เริ่มใช้ระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด สามารถจัดเก็บเงินได้ 2,600 ล้านปอนด์ ซึ่งครึ่งหนึ่งของเงินจำนวนนี้ ถูกนำไปลงทุนปรับปรุงระบบขนส่งมวลชน ถนน สะพาน ทางเดิน และทางปั่นจักรยาน ขณะที่คุณภาพอากาศดีขึ้น ลดก๊าซเรือนกระจกที่มาจากยานพาหนะได้ 12%  

สต็อกโฮล์ม (สวีเดน)

  • หลังจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ยอดผู้ป่วยโรคหอบหืดลดลง 50% ขณะที่ทศวรรษที่ผ่านมาการปล่อยก๊าซคาร์บอนในเมืองลดลงเกือบ 20%

มิลาน (อิตาลี)

  • รายได้ทั้งหมดที่ได้จากค่าธรรมเนียมรถติดถูกนำไปลงทุนเพื่อสนับสนุนการใช้ยานพาหนะที่ยั่งยืนและนโยบายการลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งรวมถึงการปรับปรุง ป้องกัน และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะด้วย

นิวยอร์ก (สหรัฐฯ) 

  • คาดการณ์ว่าจะจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมรถติดได้ประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และนำรายได้ส่วนนี้ไปลงทุนปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะในเมือง 

ทั้งนี้ แม้จะมีประเทศที่นำระบบค่าธรรมเนียมรถติดไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ แต่ก็มีประเทศที่พยายามจะนำระบบค่าธรรมเนียมรถติดไปใช้ แล้วไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยในปี 2001 พรรคการเมืองในเนเธอร์แลนด์ได้มีการหยิบยกแนวทางการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้ถนนมาโต้วาทีกัน

จากนั้นในปี 2009 ก็มีการเผยแพร่แผนการนำระบบค่าธรรมเนียมการใช้ถนนมาใช้ ซึ่งระบุว่า จะคิดค่าธรรมเนียมสำหรับการเดินทางในทุก ๆ กิโลเมตร กับรถยนต์ ซึ่งการคิดจะแพงขึ้นในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน และในพื้นที่ที่การจราจรคับคั่ง โดยพิจารณาจากข้อมูลที่ถูกบันทึกโดยเทคโนโลยีดาวเทียม  ส่วนรายได้ที่มาจากค่าธรรมเนียมรถติดจะะถูกนำไปใช้ปรับปรุงและก่อสร้างถนน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งสาธารณะ 

อย่างไรก็ตามแนวคิดนี้ได้รับแรงต่อต้านจากประชาชนอย่างรุนแรง ในเรื่องความซับซ้อนและต้นทุนที่มากเกินไป ทำให้แนวคิดนี้ไม่ถูกนำมาใช้ แต่ว่าในปี 2019 ได้มีการทำสำรวจเกี่ยวกับแนวคิดนี้อีกครั้ง พบว่า ได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นเกี่ยวกับการจ่ายค่าธรรมเนียมในการใช้ถนน โดยคนขับรถพร้อมจ่ายกับทุกกิโลเมตรที่พวกเขาขับขี่

แนวทางการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดของไทย 

วางแผนจัดเก็บใน 6 เส้นทาง ซึ่งเก็บสถิติจากปี 2023 ช่วง 7.00-19.00 น. ได้แก่

  • แยกเพชรบุรี-ทองหล่อ
  • แยกสีลม-นราธิวาส
  • แยกสาทร-นราธิวาส
  • แยกปทุมวัน
  • แยกราชประสงค์
  • แยกประตูน้ำ

จัดเก็บเฉพาะรถเก๋ง 5 ปีแรก จัดเก็บ 40-50 บาท และทยอยเพิ่มค่าธรรมเนียมระยะถัดไป คาดว่าจะจัดเก็บได้วันละ 700,000 คัน หรือประมาณ 35 ล้านบาทต่อวัน 12,000 ล้านบาทต่อปี จะนำเงินที่ได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นส่วนหนึ่งสำหรับการซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อกำหนดค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย

มาถึงตรงนี้ พี่ทุยขอสรุปข้อดี และข้อเสีย ของค่าธรรมเนียมรถติด ที่มีอยู่แล้วในหลายประเทศมาให้ลองพิจารณากัน ดังนี้ 

สรุป 7 ข้อดี-ข้อเสีย การเก็บค่าธรรมเนียมรถติด

ข้อดี

  • ลดความแออัดในพื้นที่การจราจรติดขัด
  • ช่วยให้คุณภาพอากาศดีขึ้น ลดมลพิษทางอากาศ เป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชน
  • สนับสนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ หรือการเดินทางไปด้วยกัน
  • ช่วยจัดหารายได้มาสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ
  • ส่งเสริมการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
  • ส่งเสริมให้มีการจัดตารางเวลาเข้าออกในการทำงานที่ยืดหยุ่นขึ้น 
  • สนับสนุนการทำนวัตกรรมมาใช้ในด้านคมนาคม

ข้อเสีย

  • กระทบผู้ขับขี่ที่มีรายได้น้อย ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมในการเข้าถึงเส้นทาง
  • กระทบด้านต้นทุนการขนส่งของภาคธุรกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะรายย่อย
  • กระทบต่อการจราจรพื้นที่โดยรอบของพื้นที่ที่จัดเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ใหม่
  • มีต้นทุนการเตรียมการสูง 
  • มีโอกาสเผชิญการต่อต้านทางการเมืองและจากประชาชน 
  • ทำให้เกิดความแออัดในระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น และอาจทำให้คุณภาพการให้บริการลดลง
  • มีความท้าทายด้านเทคโนโลยีและระบบการจัดการที่จะนำมาใช้จัดเก็บ 

โดยรวมแล้ว พี่ทุยมองว่า ถ้าประเทศไทยเราจะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด ก็คงไม่ได้เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ เพราะยังต้องใช้เวลาศึกษาข้อดี ข้อเสีย ลงทุนระบบต่าง ๆ อีก ส่วนจะเกิดขึ้นได้จริงมั้ย อันนี้ เราคงต้องมารอติดตามกัน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile