เมื่อไม่นานมานี้ มีข่าวออกมาว่า ปี 2024 นี้ กรุงเทพมหานคร จะเก็บค่าธรรมเนียมเก็บขยะ หรือที่มีชื่อเต็มว่า การจัดการสิ่งปฏิกูลและมูลฝอย ในอัตราใหม่ 60 บาทต่อเดือน จากเดิมที่เก็บ 20 บาทต่อเดือน แต่ถ้าบ้านไหนคัดแยกขยะตามเงื่อนไข จะคิดเท่าเดิมคือ ค่าเก็บขยะ 20 บาท วันนี้พี่ทุยก็เลยอยากจะชวนทุกคน มาสำรวจการคิดค่าธรรมเนียมจัดเก็บขยะรอบโลกกันบ้างว่า แต่ละที่คิดกันยังไง แล้วของไทย ใช้หลักการไหนในการคำนวณค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ
จากรายงาน Beyond an age of waste ที่จัดทำโดย โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ระบุว่า ทุก ๆ ปี โลกของเรามีการสร้างขยะมูลฝอยเกินกว่า 2,000 ล้านตัน ซึ่งถ้าเอามาบรรจุรวมกันในตู้คอนเทนเนอร์ขนาดมาตรฐาน แล้วเอาตู้คอนเทนเนอร์วางต่อ ๆ กัน ขยะทั้งหมดนี้ก็สามารถพันรอบเส้นศูนย์สูตรของโลกได้ถึง 25 รอบ และยังมีระยะทางไกลกว่าที่เราจะเดินทางไป-กลับดวงจันทร์ซะอีก
สรุปสถานการณ์ขยะมูลฝอยบนโลก
- ปี 2020 ปริมาณขยะมูลฝอยบนโลกอยู่ที่ 2,126 ล้านตันต่อปี 62% เป็นขยะควบคุมได้ เช่น นำไปฝังกลบดิน เปลี่ยนเป็นพลังงาน และเข้าสู่กระบวนการนำกลับมาใช้ใหม่ ส่วนอีก 38% เป็นขยะที่ควบคุมไม่ได้
- ปี 2050 คาดการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยบนโลก เพิ่มเป็น 3,782 ล้านตันต่อปี โดยปริมาณขยะที่มาจากประเทศรายได้ต่ำ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า จากปี 2020
- แต่ละคนบนโลก สร้างขยะมูลฝอย เฉลี่ย 0.74 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน (อยู่ในช่วงระหว่าง0.11-4.54 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน) โดยคนในประเทสรายได้สูง สร้างขยะมูลฝอยต่อคนต่อวัน สัดส่วนมากที่สุดในโลกที่ 34%
- 33% ของขยะมูลฝอยบนโลก ไม่ได้รับการจัดการในลักษณะที่ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
- ภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก สร้างปริมาณขยะมูลฝอยถึง 23% สัดส่วนมากที่สุดในโลก
สิ่งที่น่าสนใจก็คือขยะนั้นมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ยิ่งมนุษย์เราสร้างขยะมากเท่าไหร่ มลพิษและก๊าซเรือนกระจกก็จะยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยสิ่งที่น่าห่วงก็คือ ในปริมาณขยะที่ก่อขึ้นมาบนโลกนั้น ยังมีคนหลายพันล้านคนที่ยังไม่ได้จัดเก็บขยะที่ตัวเองสร้างขึ้น
ขณะที่ ต้นทุนการจัดการขยะทั่วโลกนั้น ค่อนข้างสูงทีเดียว โดยในปี 2020 อยู่ที่ 252,300 ล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมการจัดเก็บ ซึ่งประกอบด้วยค่าแรงคนจัดเก็บ ค่าเชื้อเพลิงยานพาหนะที่ใช้ ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน และค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่น ๆ
ทั้งนี้ ในรายงานของ UNEP คาดการณ์ว่า ในปี 2050 ต้นทุนการจัดการขยะจะเพิ่มขึ้นเป็น 417,300 ล้านดอลลาร์ โดยที่ต้นทุนส่วนใหญ่ก็ยังคงมาจากการจัดเก็บ ตามาด้วย การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน การนำขยะไปฝังกลบ และการรีไซเคิล อย่างไรก็ตาม หากสามารถหยุดวงจรการกำจัดขยะที่ไม่สามารถควบคุมได้ แล้วเปลี่ยนขยะเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการจัดเก็บและบำบัดได้ ต้นทุนก็จะลดเหลือ 394,000 ล้านดอลลาร์ และถ้าสามารถลดขยะลงได้อีก พร้อม ๆ กับเพิ่มการรีไซเคิล ต้นทุนการจัดการขยะก็จะลดเหลือ 254,600 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นน้อยมาก ๆ จากปี 2020
เมื่อต้นทุนส่วนใหญ่ในการจัดการขยะ ก็คือการจัดเก็บ คราวนี้ พี่ทุย ก็เลยลองไปดูคร่าว ๆ ว่ามีปัจจัยอะไรบ้าง ที่ประเทศ หรือเมืองต่าง ๆ ใช้กำหนดค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะ ก็พบว่า หลัก ๆ จะแบ่งเป็น ปัจจัยคงที่ กับปัจจัยแปรผัน
ปัจจัยที่ประเทศต่าง ๆ ใช้ในการคิดค่าธรรมเนียม ค่าเก็บขยะ
ปัจจัยคงที่
- ต้นทุนการจัดการสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะในพื้นที่นั้น เช่น รถเก็บขยะ ถังขยะ
ปัจจัยแปรผัน
- ความถี่ คือพิจารณาจากจำนวนครั้งที่บุคคล หรือครัวเรือน ทิ้งขยะ
- ปริมาณขยะที่ทิ้ง
- การคัดแยกขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ กับขยะมูลฝอย
ถ้าย้อนกลับมาดูประเทศไทย ก็จะพบว่า
มาดูตัวอย่างแนวทางการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะในประเทศต่าง ๆ กันดีกว่า
สิงคโปร์
ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2024 สิงคโปร์ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการเก็บขยะในครัวเรือน โดยมีเป้าหมายเพื่อระบบการดำเนินการด้านการจัดการขยะที่ยั่งยืน และเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนการจัดการรวมถึงค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
- คอนโดมิเนียมทั่วไป และบ้านพักส่วนตัวแบบที่ไม่ได้มีที่ดิน จาก 0.39 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 10.20 ดอลลาร์ต่อเดือน
- บ้านพักพร้อมที่ดิน จาก 1.33 ดอลลาร์ต่อเดือน เป็น 34 ดอลลาร์ต่อเดือน
แม้จะดูว่าค่าธรรมเนียมปรับขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่สิงคโปร์ได้มีการชดเชยค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้นด้วยการให้ GST Voucher ซึ่งเป็นบัตรกำนัลสินค้าและบริการ ในปีงบประมาณ 2024 สำหรับใช้เป็นส่วนลดค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภค รวมถึงค่าธรรมเนียมการเก็บขยะ โดยที่บัตรกำนัลนี้จะถูกโอนเข้าไปยังบัญชีค่าสาธารณูปโภคของครัวเรือนที่มีสิทธิโดยตรง
อินโดนีเซีย
เมืองจาการ์ตา จะจัดเก็บภาษีขยะในครัวเรือน จากผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2025 เป็นต้นไป โดยถือเป็นหนึ่งในความพยายามจัดการขยะ โดยค่าธรรมเนียมบริการกำจัดขยะจะอ้างอิงตามการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน ดังนี้
- ใช้ไฟฟ้า 450-900 โวลต์-แอมป์ ได้รับยกเว้นภาษีนี้
- ใช้ไฟฟ้า 1,300-2,200 โวลต์-แอมป์ เสียภาษี 10,000 รูเปียห์ต่อเดือน
- ซึ่งใช้ไฟฟ้า 3,500-5,500 โวลต์-แอมป์ เสียภาษี 30,000 รูเปียห์ต่อเดือน
- ใช้ไฟฟ้า มากกว่า 6,600 โวลต์-แอมป์ เสียภาษี 77,000 รูเปียห์ต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม ก็มีการสนับสนุนครัวเรือนที่จัดการขยะ โดยจะให้ส่วนลดค่าธรรมเนียมกับผู้อยู่อาศัยที่มีส่วนร่วมในธนาคารขยะ โดยการคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ไปฝากไว้กับธนาคาร
เกาหลีใต้
ใช้ระบบการคิดค่าธรรมเนียมการจัดการขยะ ตามปริมาณขยะของครัวเรือน หรือ Volume Based Waste Fee (VBWF) มาตั้งแต่ปี 1995 โดยหากคัดแยกเก็บขยะรีไซเคิล ก็จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมส่วนนี้
สำหรับแนวทางในการทิ้งขยะของที่นี่คือ ประชาชนจะต้องซื้อถุงที่กำหนดเพื่อมาใส่ขยะ และเสียค่าธรรมเนียมจากปริมาณขยะที่พวกเขาทิ้ง โดยระบบนี้ จะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมกับขยะรีไซเคิลที่ถูกคัดแยกออกมาให้
ทั้งนี้ จะมีการสอดส่องพฤติกรรมของพลเมืองด้วย โดยผู้เชี่ยวชาญที่ถูกมอบหมายหน้าที่ให้มาติดตามเรื่องนี้โดยเฉพาะ ในกรณีที่มีการละเมิด ทิ้งขยะโดยไม่ได้ใส่ในถุงที่กำหนด หรือเผาขยะอย่างผิดกฎหมาย จะมีโทษปรับสูงสุด 1 ล้านวอน
ข้อดีของการใช้ระบบนี้ คือ ช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยได้ โดยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่มากเกินไป ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์แบบเติมซ้ำได้แทน ทั้งยังสามารถเพิ่มอัตราการรีไซเคิลขยะได้อีกด้วย นอกจากนี้ ก็ทำให้ประชาชนมีความตระหนักในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการปรับปรุงเทคโนโลยีด้านการรีไซเคิลให้ทันสมัย
เมื่อพิจารณาในแง่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง จากการค้นหาข้อมูลในอดีต พบว่า ในปี 1995 ที่เกาหลีใต้เพิ่งเริ่มใช้ระบบ VBWF ครั้งแรก พบว่า มียอดขายถุงขยะที่กำหนดไปทั้งหมด 1,059 ล้านถุง หลังจากนั้นยอดขายถุงขยะก็ลดลงมาต่อเนื่องจนกระทั่งปี 1998 อยู่ที่ 913.34 ล้านถุง ขณะที่ในช่วงปี 1998-2014 ยอดขายถุงขยะก็ปรับขึ้นลงแบบไม่ได้มีนัยสำคัญ โดยเฉลี่ย อยู่ที่ปีละ 939.18 ล้านถุง
จากตัวอย่างที่พี่ทุยหยิบมาให้ดู ก็จะเห็นได้ว่า รูปแบบการคิดค่าธรรมเนียมเก็บขยะของแต่ละประเทศนั้นก็แตกต่างกันไป แต่โดยรวมแล้วทุกประเทศมีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการให้ครัวเรือนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่จะต้องนำไปฝังกลบ
กทม. ปรับขึ้น ค่าเก็บขยะ สำหรับบ้านที่ไม่คัดแยกขยะ
ในส่วนของประเทศไทยนั้น ล่าสุด กรุงเทพมหานคร ก็มีการอัปเดตค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะมูลฝอยใหม่ออกมาแพงขึ้น โดยมีข้อจูงใจว่า หากคัดแยกขยะ ก็จะยังสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมอัตราเดิมที่ถูกกว่าได้
อัตราค่าธรรมเนียมการจัดการขยะมูลฝอย (ค่าเก็บขยะ) ที่ปรับปรุงใหม่ ของกรุงเทพมหานคร มีผลบังคับใช้ใน 180 วัน นับจากวันที่ประกาศ
- ปริมาณไม่เกิน 20 ลิตรต่อวัน
- ค่าเก็บขน 30 บาท ค่ากำจัด 30 บาท ต่อเดือน รวมเป็น 60 บาทต่อเดือน (จากเดิม 20 บาท) กรณีคัดแยกขยะ เก็บ 20 บาทเท่าเดิม
- ปริมาณเกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน
- ค่าเก็บขน 60 บาทต่อ 20 ลิตร ค่ากำจัด 60 บาทต่อ 20 ลิตร รวม 120 บาท/20 ลิตร (จากเดิม เกิน 20 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 500 ลิตรต่อวัน 40 บาทต่อ 20 ลิตร และ เกิน 500 ลิตรต่อวัน แต่ไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร 2,000 บาท
- ปริมารเกิน 1 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ค่าเก็บขน 3,250 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ค่ากำจัด 4,750 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร (จากเดิม 2,000 บาทต่อ 1 ลูกบาศก์เมตร)
หลังจากนี้ก็คงต้องรอดูว่า การเก็บค่าธรรมเนียมกับผู้ที่คัดแยกขยะถูกกว่าผู้ที่ไม่ได้คัดแยกขยะก่อนทิ้ง จะช่วยส่งเสริมให้คนคัดแยกขยะมากขึ้นได้จริงหรือไม่ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัจจุบัน คนจำนวนมากก็ยังติดภาพกับคำกล่าวที่ว่า คัดแยกขยะให้แล้วก็เอาไปเทรวมอยู่ดี พี่ทุยว่า ถ้าแก้จุดบอดเรื่องนี้ได้ ก็อาจจะทำให้คนพร้อมแยกขยะมากขึ้นก็ได้
อ่านเพิ่ม