ตุรกี เงินเฟ้อพุ่ง 73.5% ตัวอย่างประเทศพังเพราะผู้นำผิดพลาด

ตุรกี เงินเฟ้อพุ่ง 73.5% ตัวอย่างประเทศพังเพราะผู้นำผิดพลาด

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ตุรกีเผชิญกับเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. สูงถึง 73.5% ต่อเนื่องจากเดือน มี.ค. และ เม.ย. ซึ่งอยู่ที่ 61.14% และ 69.97% ตามลำดับ โดยสาเหตุหลักเกิดจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น
  • ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan เป็นผู้นำเผด็จการ แทรกแซงการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางจนต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 15% มาที่ 14% ทั้งที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 17-18% และยังไม่มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อแต่อย่างใด
  • เงินเดือน เงินออม หรือกระทั่งเงินเกษียณของประชาชนที่เก็บมาทั้งชีวิตก็สูญเสียมูลค่าไปกับเงินเฟ้อรุนแรง เป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับทุกประเทศว่าการตัดสินใจผิดตลาดของผู้นำสามารถสร้างปัญหาถึงขั้นเปลี่ยนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ได้เลยทีเดียว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ทั่วโลกและไทยกำลังเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อสูงอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางแนวโน้มราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ยังไม่มีท่าทีจะลดลง และอีกประเทศที่ประสบปัญหาเงินเฟ้ออย่างหนักเข้าขั้นวิกฤติ นั่นคือ “ตุรกี” ซึ่งตัวเลขเงินเฟ้อ เดือน พ.ค. สูงถึง 73.5% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ค. ปีก่อน นับเป็นอัตรา “เงินเฟ้อ” ที่สูงที่สุดในรอบ 23 ปี

ราคาอาหารและพลังงานเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง โดยราคาอาหารเพิ่มขึ้นถึง 91.6% จากปีที่แล้ว เป็นผลจากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน และต้นทุนแฝงที่มาจากต้นทุนด้านพลังงาน ขณะเดียวกันหันไปดูค่าเงินลีร่าพบว่าตั้งแต่ปี 2021 อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ไปแล้ว 57% สะท้อนว่าค่าเงินของตุรกีได้สูญเสียความเชื่อมั่นไปเรียบร้อยแล้ว

แล้วอะไรถึงส่งให้ตุรกีที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก ต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่หลวงเช่นนี้ พี่ทุยขอพาไปเจาะลึกเหตุการณ์ในตุรกี หรือ ตุรเคีย (Türkiye) ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อประเทศไปหมาด ๆ ไปฟังกัน

ทำไม “ตุรกี” เผชิญ “เงินเฟ้อ” ครั้งนี้ จึงเกิดปัญหา

ราคาพลังงานและวัตถุดิบในตลาดโลกซึ่งตุรกีต้องนำเข้าปรับตัวขึ้นสูงอย่างรวดเร็วหลังเกิดสงครามที่ยูเครน อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงไปทั่วโลกซึ่งตุรกีก็รับผลกระทบเช่นกัน แต่เกือบ 19 ปี ของการทำงานบริหารประเทศของประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan ได้มีแนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์สวนทางทฤษฎีมาโดยตลอด

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางของทุกประเทศก็คงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อชะลอเงินเฟ้อ แต่ธนาคารกลางตุรกีกลับโดนอำนาจทางการเมืองแทรกแซงจนกลับต้องปรับลดดอกเบี้ยด้วยซ้ำ

แม้ตัวเลข GDP ของตุรกียังเติบโต แต่ก็เป็นเพราะการกู้ยืมเงินเพื่อบรรเทาปัญหา COVID-19 และมาตรการควบคุมที่ผ่อนคลายขึ้น ทางด้านสกุลเงินลีร่าที่อ่อนค่าต่อเนื่องก็กระทบต่อต้นทุนสินค้านำเข้า ประชาชนใช้จ่ายน้อยลง ประกอบกับเศรษฐกิจปี 2022 มีแนวโน้มซบเซา ยิ่งซ้ำเติมให้เงินลีร่าอ่อนค่าไปอีก

ผลกระทบเชิงลบมีลักษณะเป็นลูป ด้วยตัวเลข GDP ตลอดช่วงที่ COVID-19 ระบาดไม่ได้หดตัวเลย สะท้อนว่าปัญหาหลักเกิดจากการที่นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหาการเงินของรัฐบาลที่ผิดพลาด

จุดเริ่มต้นของปัญหา

เมื่อปี 2003 นายเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน (Recep Tayyip Erdoğan) เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งตุรกี พร้อมนโยบายลดการขาดดุลภาครัฐ หนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยดำเนินนโยบายการคลังอย่างเข้มงวดจนอัตราเงินเฟ้อลดลงชัดเจน อีกทั้งสนับสนุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานมูลค่าสูง ดึงดูดเงินจากนักลงทุนต่างชาติ และส่งเสริมให้ภาคเอกชนกู้ยืมเงินเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งแน่นอนว่าช่วงนั้นเศรษฐกิจเติบโตอย่างโดดเด่น อัตราการเติบโตมากเพียงพอจะแบกรับภาระหนี้ได้

ขณะที่เศรษฐกิจยังเติบโตดีและน่าสนใจกว่าเศรษฐกิจทั่วโลก ภาคเอกชนในตุรกีก็ใช้โอกาสนี้กู้ยืมเงินจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งด้านนักลงทุนต่างชาติก็ยินยอมปล่อยกู้เพราะอัตราดอกเบี้ยในตุรกีสูงกว่าทั่วโลกมาก หนี้ที่ก่อส่วนใหญ่อยู่ในรูปสกุลดอลลาร์และยูโร

ภาพที่เห็นนั่นคือ เศรษฐกิจตุรกีเติบโตด้วยเงินลงทุนต่างชาติเป็นหลัก อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นหนี้สินในสกุลเงินต่างประเทศอีกด้วย นับเป็นสัญญาณของการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน แต่ปัญหายังไม่แสดงตัวจนกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจะไม่พอต่อการแบกภาระหนี้ หรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่นทำให้ไม่มีเงินลงทุนไหลเข้ามาต่อยอดการเติบโตของเศรษฐกิจ นับเป็นระเบิดที่รอวันปะทุ

ตุรกี เผชิญ “เงินเฟ้อ” มาสักพักแล้ว

ต้องบอกเลยว่าวิกฤติครั้งนี้เข้าขั้นภัยพิบัติสำหรับประชาชนตุรกี ด้วยเงินเฟ้อระดับ 73.5% ซึ่งไม่ได้เพิ่งขึ้นมาระดับนี้ เงินเฟ้อของเดือน มี.ค และ เม.ย ก็อยู่ที่ 61.14% และ 69.97% ตามลำดับ เงินเดือนที่ได้รับมาแทบจะหายไปทันทีกับภาระค่าใช้จ่ายประจำวัน

ด้วยการก่อหนี้เพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจมาตลอด ส่งให้สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP เพิ่มจาก 38.3% ในปี 2011 มาที่ 60.44% ในปี 2020 โดยที่ขาดดุลการคลังแทบจะทุกปี ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขาดดุลเป็นส่วนใหญ่ การขาดดุลการคลังและดุลบัญชีเดินสะพัดพร้อมกัน เรียกว่า Twin Deficit สะท้อนความเปราะบางของเศรษฐกิจไม่แพ้ภาระหนี้ที่แบกไว้อยู่

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 2016 มีความพยายามรัฐประหารทำให้นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นลดลง ต่อมาปี 2018 ตุรกีบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรียไม่ดีพอ จึงเกิดความขัดแย้งกับมหาอำนาจโดยเฉพาะสหรัฐฯ อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จึงเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมีเนียมจากตุรกี ซึ่งสินค้าทั้งสองรายการนี้เป็นสินค้าส่งออกหลักของตุรกี ตลอดปี 2018 ค่าเงินลีร่าอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ไปถึง 30% เงินเฟ้อที่สูงอยู่แล้วก็เริ่มเพิ่มขึ้น

แก้ปัญหาสวนกระแส ต้นตอวิกฤติครั้งนี้

เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ธนาคารกลางก็ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น แต่ประธานาธิบดี Recep Tayyip Erdoğan เป็นผู้นำเผด็จการ จัดการแทรกแซงการใช้นโยบายการเงินของธนาคารกลางจนต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 15% มาที่ 14% ทั้งที่เงินเฟ้ออยู่ที่ 17-18%

เพราะประธานาธิบดีเออร์โดแกนเชื่อว่าดอกเบี้ยที่สูงทำให้เกิดเงินเฟ้อ ดอกเบี้ยต่ำจะกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่าย ภาคธุรกิจกู้ยืมมาขยายกิจการ และนโยบายค่าเงินอ่อนจะส่งเสริมการส่งออกสร้างรายได้เข้าประเทศ แนวความคิดนี้มีส่วนที่ถูกอยู่บ้าง แต่ในทางกลับกันก็ส่งผลให้ต้นทุนสินค้านำเข้าซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลจากความเชื่อนี้ก็สะท้อนว่ามีส่วนผิดมากกว่าถูก

เมื่อประธานาธิบดีทำให้นักลงทุนต่างชาติยิ่งมีความเชื่อมั่นลดลงไปอีก เม็ดเงินลงทุนจึงเป็นขาออก กดดันเงินลีร่าอ่อนค่าต่อเนื่อง

ทุนสำรองลดลง ภาระหนี้มหาศาล เสี่ยงล้มละลาย

ธนาคารกลางตุรกีต้องขายดอลลาร์ในทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อพยุงค่าเงินลีร่า ส่งให้ทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงต่อเนื่องลงมาที่ 61,460 ล้านดอลลาร์ ส่วนภาระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมาก็มีมากถึง 441,064 ล้านดอลลาร์ คิดเป็น 54.3% ของ GDP รายงานจากธนาคารกลางตุรกีเมื่อเดือน มี.ค. ปี 2022 ระบุว่ามีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นที่ 132,300 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.9% จากปลายปี 2021 ก็จะเห็นว่าทุนสำรองระหว่างประเทศมีไม่พอจ่ายหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

ด้านค่าเงินลีร่าที่อ่อนอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลต่อเงินเฟ้อแล้วยังเป็นการเพิ่มภาระหนี้ต่างประเทศโดยอัตโนมัติ เช่น กู้เงิน 1 ดอลลาร์ ที่อัตราแลกเปลี่ยน 1 ลีร่าต่อ 1 ดอลลาร์ แต่เงินลีร่าอ่อนค่าไปที่ 2 ลีร่าต่อ 1 ดอลลาร์ เท่ากับว่าตุรกีต้องแบกหนี้เพิ่มอีกเท่าตัวในสกุลเงินลีร่า ยิ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงไปอีก เงินทุนก็ยิ่งไหลออก เงินลีร่าก็ยิ่งอ่อนค่า เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ภาระหนี้เพิ่มขึ้น ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากจะกู้ยืมเพิ่มเติมก็ถูกเรียกสูงกว่าเดิม เป็นผลกระทบแบบวนลูป

Credit Default Swaps (CDS) ซึ่งเป็นเครื่องมือการเงินที่ใช้เพื่อป้องกันการเปลี่ยนแปลงอันดับความน่าเชื่อถือและผิดชำระดอกเบี้ยของตราสารหนี้ที่นักลงทุนถืออยู่ สามารถใช้สะท้อนความกังวลของนักลงทุนต่อประเทศนั้นได้ โดยยิ่งปรับตัวขึ้นมากแสดงว่านักลงทุนยิ่งกังวล ล่าสุด CDS อายุ 5 ปี ของประเทศตุรกี ปรับตัวขึ้นมาแตะระดับเดียวกับเมื่อครั้งเกิดวิกฤติปี 2008

“เงินเฟ้อ” ส่งผลกระทบต่อประชาชน “ตุรกี”

เงินเดือน เงินออม หรือกระทั่งเงินเกษียณของประชาชนที่เก็บมาทั้งชีวิตก็สูญเสียมูลค่าไปกับเงินเฟ้อรุนแรง ระยะสั้นคงเห็นชัดว่าภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้นจนแทบไม่เหลือเงินออม ในระยะยาวหากยังไม่มีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง สถานะทางการเงินของประชาชนแย่ลงชัดเจน ประเทศพลาดโอกาสที่จะได้รับการลงทุนจากต่างชาติ การเติบโตของเศรษฐกิจลดลงหรืออาจหดตัว คุณภาพชีวิตประชาชนไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของผู้นำเพียงคนเดียว

แนวทางแก้ปัญหา

ต้องกลับมาใช้นโยบายการเงินที่ถูกต้อง โดยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันทีเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติช่วยชะลอการอ่อนค่าของสกุลเงินลีร่า แต่หากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ นั่นแสดงว่าการบริหารงานของคณะผู้บริหารประเทศไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากต่างชาติ ดังนั้นต้องเปลี่ยนผู้นำและคณะผู้บริหารที่ใช้นโยบายการเงินอย่างถูกต้องเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกลับมา เมื่อนั้นสถานการณ์ด้านค่าเงินและเงินเฟ้อจะดีขึ้น จากนั้นต้องหันกลับมาลดภาระหนี้สิน เดินหน้าแก้ปัญหาสภาพการเงินที่ย่ำแย่มานาน

แม้ตุรกีจะไม่ได้มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่มากพอจะสร้างวิกฤติระดับโลกได้ แต่ก็เป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับทุกประเทศว่าการตัดสินใจผิดตลาดของผู้นำสามารถสร้างปัญหาถึงขั้นเปลี่ยนคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ได้เลยทีเดียว และยังไม่รวมผลกระทบที่กำลังตามมาอีกในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นตัวอย่างที่ดีของความไม่แน่นอน ดังนั้นทุกคนจึงควรมีการวางแผนการเงินที่ดี กระจายความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลา

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย