[สรุปโพสต์เดียวจบ] “ราคา Bitcoin” เป็นยังไง ? ในมุมมอง ARK Invest

[สรุปโพสต์เดียวจบ] “ราคา Bitcoin” เป็นยังไง ? ในมุมมอง ARK Invest

6 min read  

ฉบับย่อ

  • กลไกการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมเป็นลักษณะสำคัญในการทำงานของ Bitcoin นักขุดที่สามารถบันทึกธุรกรรมนั้นเป็นบล็อกใหม่ได้ และจะได้รับรางวัลตอบแทนการที่ต้องใช้กำลังประมวลผลแก้สมการ เป็น Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่กับค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม
  • เครื่องมือประเมินมูลค่าแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย Layer 1 ใช้ข้อมูลบนระบบเพื่อประเมินสุขภาวะเครือข่าย Bitcoin, Layer 2 พฤติกรรมผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อหามาตรวัดความไม่มีประสิทธิผลของราคา และ Layer 3 นำข้อมูลจาก Layer 1 และ 2 มาประเมินเพื่อหามูลค่าสัมพัทธ์
  • จากข้อมูลปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมทำให้ประเมินได้ว่าราคา Bitcoin มีโอกาสปรับตัวลงได้ นักลงทุนรายใหญ่ที่ถือครองระยะยาวยังคงเพิ่มการถือครองแต่เพิ่มในอัตราที่ช้าลง ส่วนนักลงทุนระยะสั้นอยู่ในสถานะขาดทุนแล้ว

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ปลายปี 2021 คนที่ลงทุนใน Bitcoin คงดีใจกันยกใหญ่ เพราะ “ราคา Bitcoin” ไต่ขึ้นไปถึง 60,000 ดอลลาร์ ยังฝันหวานอยู่เลยว่าจะทะลุ 100,000 ดอลลาร์ แต่พอล่วงเข้าปี 2022 ไม่นานราคาก็ตกลงมาระดับ 33,000 ดอลลาร์ ดอยกันถ้วนหน้าเลย (พี่ทุยด้วย)

พี่ทุยว่าถ้าอยากจะลงทุน Bitcoin ต่อ ก็คงต้องศึกษาข้อมูลที่จะช่วยเข้าใจแนวโน้มราคาของ Bitcoin กันเสียหน่อยแล้ว

พอดีกับช่วงนี้พี่ทุยเจอข้อมูลหนึ่งเกี่ยวกับโลกคริปโต นั่นก็คือ Whitepaper On-Chain Data : A Framework to Evaluate Bitcoin จาก ARK Invest ซึ่งใช้ข้อมูลจาก Glassnode ที่พี่ทุยเห็นว่าน่าสนใจมาก ๆ สำหรับทุกคนที่กำลังเข้าสู่โลกคริปโต ดังนั้นพี่ทุยเลยสรุปมาให้อ่านในบทความนี้กัน ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย!!

จุดเริ่มต้นของ “ราคา Bitcoin”

Bitcoin ถูกสร้างโดยซาโตชิ นากาโมโตะ ด้วยการนำคุณสมบัติของเงินสดที่ไร้ตัวกลางและนโยบายการเงินที่แข็งแกร่งมาประยุกต์ใช้ ทำให้ Bitcoin ไม่ถูกควบคุมหรือแทรกแซง และไม่สามารถผลิตเพิ่มได้ตามต้องการ

ความแข็งแกร่งนี้เกิดจากการนำโครงข่ายกระจายศูนย์แบบบุคคลสู่บุคคล (P2P) ซึ่งไม่มีศูนย์กลางจึงกำจัดการพึ่งพาบุคคลที่สาม (ตัวกลาง) กลไกการตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมเป็นลักษณะสำคัญในการทำงานของ Bitcoin

เมื่อมีการทำธุรกรรม (โอน) ในระบบ สมาชิกในระบบจะแข่งกันเพื่อเป็นคนแรกที่ตรวจสอบธุรกรรมและยืนยันธุรกรรม และเพิ่มเติมข้อมูลธุรกรรมใหม่ลงบัญชี ซึ่งบันทึกธุรกรรมในลักษณะของบล็อกใหม่ต่อจากบล็อกเก่าก่อนหน้า ซึ่งการบันทึกนี้ต้องใช้การคำนวณสมการทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนและยาก มีเพียงสมาชิกคนแรกซึ่งแก้สมการถูกต้องที่สามารถบันทึกธุรกรรมนั้นเป็นบล็อกใหม่ได้ และจะได้รับรางวัลตอบแทนการที่ต้องใช้กำลังประมวลผลแก้สมการ เป็น Bitcoin ที่เกิดขึ้นใหม่กับค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม

กระบวนการนี้คล้ายกับการทำเหมืองแร่ในแง่ของการทุ่มเทกำลังเพื่อให้ได้ผลตอบแทน จึงเรียกว่า การขุด (Mining) และเรียกสมาชิกที่ทำการบันทึกธุรกรรมว่านักขุด (Miners)

Whitepaper แบ่งเครื่องมือประเมินเป็น 3 กลุ่ม

“ราคา Bitcoin” เป็นยังไง ? ในมุมมอง ARK Invest

  • Layer 1 Network Health
  • Layer 2 Buyer and Seller Behavior
  • และ Layer 3 Asset Valuation

Layer 1 และ 2 เป็นกลุ่มเครื่องมือพื้นฐาน ซึ่ง Layer 3 จะนำเอาทุกเครื่องมือใน Layer 1 และ 2 มาใช้รวมกันเพื่อวิเคราะห์ภาพรวมระบบ Bitcoin ประเมินมูลค่าและสามารถประเมินแนวโน้ม ”ราคา Bitcoin” ได้

Layer 1

ขั้นตอนนี้ใช้ข้อมูลบนระบบเพื่อประเมินสุขภาวะเครือข่าย Bitcoin (Health of the Network)

  • Monetary Integrity
    • การตรวจสอบว่านโยบายการเงินยังเป็นไปตามที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรกหรือไม่ (Rules-Based Monetary Policy) โดยตรวจสอบได้จากปริมาณ Bitcoin ที่อยู่ในระบบ ท้ายที่สุดจะถูกขุดออกมาสูงสุดที่ 21 ล้านเหรียญ และจำนวน Bitcoin ที่ถูกสร้างขึ้นต่อวัน ปัจจุบันมี Bitcoin เพิ่มขึ้น 800 เหรียญต่อวัน ซึ่งยังเป็นไปตามที่ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก ปัจจุบันมี Bitcoin ถูกขุดออกมาอยู่ในระบบแล้ว 18.8 ล้านเหรียญ
  • Security
    • Hash Rate

กำลังการประมวลผลทั้งระบบที่ใช้ตรวจสอบและยืนยันธุรกรรมทั้งหมดในระบบ หรือกำลังขุด หากเพิ่มขึ้นแสดงว่าระบบมีกำลังขุดสูงขึ้น ทำให้มีแนวโน้มที่ธุรกรรมจะปลอดภัยมากขึ้น

Layer 1 Hash Rate

Hash Rate ที่เพิ่มขึ้นอาจเกิดจากจำนวนนักขุดเพิ่มขึ้น หรือ Hardware มีความสามารถในการแก้สมการเร็วขึ้น ดังนั้น Hash Rate ที่เพิ่มขึ้นอาจสะท้อนว่ากลุ่มนักขุดเต็มใจที่จะลงทุน Hardware รุ่นใหม่ เพราะราคา Bitcoin ซึ่งได้รับมาเป็นผลตอบแทนจากการขุดมีแนวโน้มจะคุ้มค่ากับการลงทุนนี้

  • Miner Revenue

ผลรวมของ Bitcoin ซึ่งได้รับมาเป็นผลตอบแทนจากการขุดและค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม หาก Miner Revenue มากขึ้น ก็จะยิ่งจูงใจให้มีผู้เข้ามาร่วมขุดมากขึ้น

  • Usage
    • Active Addresses

เปรียบเสมือนจำนวนกระเป๋าตังค์ (เก็บ Bitcoin) ถ้าจำนวนเพิ่มขึ้นก็สะท้อนว่ามีผู้เข้ามาใช้งานระบบมากขึ้น และจำนวน Active Addresses ก็มีความสัมพันธ์ที่สูงกับราคา Bitcoin ดังนั้นถ้ามีผู้เข้ามาใช้งานระบบมากขึ้นก็อาจเป็นอีกปัจจัยที่หนุนราคา Bitcoin

มากไปกว่านั้นจำนวนที่มีปริมาณ Bitcoin น้อยกว่า 10 เหรียญ เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แสดงว่าการใช้ Bitcoin กระจายทั่วถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ

  • Transaction Volume

Transaction Volume

ตั้งแต่เริ่มใช้จนถึงปัจจุบันมีการทำธุรกรรมผ่าน Bitcoin ไปแล้ว 21 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อหารด้วยปริมาณ Bitcoin ที่มีอยู่ในระบบต่อปี ก็จะได้ Velocity ซึ่งคืออัตราการหมุนของ Bitcoin นี่เป็นวิธีวัดการเปลี่ยนมือหรือการหมุนของ Bitcoin ในระบบ หาก Velocity เพิ่มขึ้นก็แสดงว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากธุรกรรมของ Bitcoin เพิ่มขึ้น

Layer 2

พฤติกรรมผู้ซื้อและผู้ขายทำให้ราคาเคลื่อนไหว แต่หากราคาเคลื่อนไหวรวดเร็วและรุนแรงก็จะกลายเป็นความผันผวน เกิดความไม่มีประสิทธิผลของราคา (Price Inefficiencies) ดังนั้น Layer 2 จึงเป็นขั้นตอนการหามาตรวัดความไม่มีประสิทธิผลของราคา

  • Cointime Destroyed

มาตรวัดการเปลี่ยนมือของ Bitcoin มีหน่วยเป็นระยะเวลา คำนวณจากปริมาณ Bitcoin ที่ทำธุรกรรมในช่วงเวลานั้นและระยะเวลาถือครองก่อนทำธุรกรรม เช่น Bitcoin 2 เหรียญ ไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นก็ถูกโอน Cointime Destroyed จึงเท่ากับ 14 วัน ถ้า Cointime Destroyed มากขึ้น หมายความว่ามีการโอน Bitcoin ออกจากกระเป๋าที่เก็บมาอย่างยาวนานเพื่อทำกำไร 

Cointime Destroyed

จากรูปจะเห็นว่าข้อมูลย้อนหลัง 365 วัน ผลรวม Coinyears Destroyed อยู่ที่ 4,500 ล้าน ยังไม่แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 สวนทางราคา Bitcoin ที่พุ่งแตะระดับสูงสุดไปแล้วในปี 2021 สะท้อนว่าราคาที่เคลื่อนไหวตลอดช่วงที่ผ่านมา การเปลี่ยนมือยังไม่สูงเทียบเท่าปี 2018 และ Bitcoin ที่ถูกเก็บมายาวนานยังถูกถือครองอยู่ ดังนั้นช่วงที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของราคานับว่า Healthy

  • On-Chain Profits and Losses

เป็นการวัดผลรวมกำไรและขาดทุนของทุกธุรกรรม Bitcoin หาก Bitcoin ถูกโอนด้วยราคาสูงกว่าที่รับมาก็จะนับว่าเป็นการโอนที่มีกำไร

On-Chain Profits and Losses Bitcoin

จากรูปข้างบน เส้นสีเขียวคือจำนวนกระเป๋าที่มีกำไร ส่วนสีแดงคือจำนวนกระเป๋าที่ขาดทุน และข้อมูลวัดจากจำนวนกระเป๋าที่ถือครอง Bitcoin ระยะเวลา 7 วัน (ระยะสั้น) พบว่าเส้นสีเขียวลดลงมาต่ำกว่าเส้นสีแดง แสดงว่าจำนวนกระเป๋าที่มีกำไรน้อยกว่าจำนวนกระเป๋าที่ขาดทุน หรือแปลว่าผู้ถือครอง Bitcoin ระยะสั้นในระบบส่วนใหญ่ขาดทุน

Realized Capitalization

อีกมาตรวัดจากจำนวน Bitcoin ทั้งหมดในระบบเทียบกับราคาที่โอนครั้งล่าสุด เพื่อดูว่าทั้งระบบมีจำนวน Bitcoin ที่กำไรหรือขาดทุนกี่เหรียญ พบว่าทุกครั้งที่เส้นสีเขียว (จำนวน Bitcoin ที่มีกำไร) ชนกับเส้นสีแดง (จำนวน Bitcoin ที่ขาดทุน) ซึ่งหมายความว่าจำนวน Bitcoin ในระบบส่วนใหญ่ขาดทุน ก็จะเป็นจุดต่ำสุดของราคา Bitcoin ในช่วงนั้น

  • Realized Capitalization

Market Cap. คิดจากมูลค่า Bitcoin ทั้งหมดในระบบ ณ ราคาปัจจุบัน ส่วน Realized Cap. คิดมูลค่าจาก Bitcoin ทั้งหมดในระบบด้วยราคาต้นทุน ดังนั้น Realized Cap. ก็คือต้นทุนรวมเฉลี่ยทั้งระบบ เมื่อใดก็ตามที่ Market Cap. ต่ำกว่า Realized Cap. หมายความว่าผู้ที่ถือ Bitcoin โดยเฉลี่ยทั้งตลาดขาดทุน

  • Thermo Capitalization

คือมูลค่า Bitcoin ทั้งหมดที่จ่ายให้นักขุด หรือผลตอบแทนที่นักขุดได้จากการเข้ามาตรวจสอบและยืนยันธุรกรรม ถ้าเส้น Thermo Capitalization เพิ่มขึ้น แสดงว่านักขุดได้ Bitcoin ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่ถ้าต่ำลงแปลความได้ 2 ทางเลือก คือนักขุดได้ Bitcoin แต่ยังไม่ขายหรือได้ผลประโยชน์ต่ำลง จากรูปจะเห็นว่าเส้น Thermo Capitalization เพิ่มขึ้นด้วยความชันที่ลดลง ชี้ว่านักขุดยังจะเก็บ Bitcoin มากขึ้น (ไม่ขายทันที) แต่เพิ่มขึ้นด้วยอัตราที่ลดลง โดยรวมยังแสดงว่านักขุดมีมุมมองที่ดีต่อ Bitcoin มากขึ้น

  • HODL Waves

HODL Waves

จำแนกสัดส่วน Bitcoin ในระบบด้วยระยะเวลาที่ถูกถือครอง เช่น แถบสีเหลืองก็คือถือครองระยะเวลาระหว่าง 1-6 เดือน ปัจจุบันมีผู้ถือครองด้วยระยะเวลานาน (มากกว่า 7 ปี) มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Layer 3

นำข้อมูลจาก Layer 1 และ 2 มาประเมินเพื่อหามูลค่าสัมพัทธ์ แบ่งเป็น 2 มาตรวัด ประกอบด้วย 1. มาตรวัดจากต้นทุน (Cost Basis Metrics) 2. มาตรวัดจากกำไรและขาดทุน (Cost Basis Metrics)

1. มาตรวัดจากต้นทุน (Cost Basis Metrics)

  • Market-Value-to-Realized-Value Ratio

อัตราส่วนที่คำนวณจากการนำ Market Cap. หารด้วย Realized Cap. หากต่ำกว่า 1 แสดงว่าผู้ที่ถือ Bitcoin โดยรวมทั้งตลาดขาดทุน ถ้าสูงกว่า 1 แสดงว่าผู้ที่ถือ Bitcoin โดยรวมทั้งตลาดมีกำไร

  • Market-Value-to-Thermo-Value Ratio

อัตราส่วนที่คำนวณจากการนำ Market Cap. หารด้วย Thermo Cap. มองอีกมุมหนึ่งก็คือการนำมูลค่าตลาดเทียบกับผลประโยชน์ที่นักขุดได้รับ (Bitcoin) โดย ARK Invest ชี้ว่าอัตราส่วนนี้มีความคล้ายกับอัตราส่วน EV-to-EBITDA ที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้น

หากอัตราส่วนนี้มีค่าสูง แสดงว่านักขุดมีรายได้ดีมาก (ขาย BItcoin ที่ได้รับ) และดึงดูดให้มีคนเข้ามาเป็นนักขุดเพิ่มขึ้น แต่ถ้าอยู่ในระดับต่ำก็แสดงว่านักขุดมีรายได้ไม่มาก

  • Investor Capitalization

คำนวณจาก Realized Cap. ลบด้วย Thermo Cap. จะได้ต้นทุนของผู้ที่ถือ Bitcoin ทั้งระบบโดยไม่นับรวมต้นทุนของนักขุด ทำให้สามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริง (Fair Value) ของ Bitcoin ในระบบ

  • Short-to-Long-Term-Realized-Value Ratio

คำนวณด้วย HODL Waves ระยะเวลา 1 วัน หารด้วย HODL Waves ระยะเวลา 1-6 เดือน โดยที่ HODL Waves ระยะเวลา 1 วัน และ 1-6 เดือน ที่นำมาคำนวณถูกปรับด้วย Realized Cap. แล้ว สัดส่วนนี้เปรียบเสมือนการนำปริมาณ Bitcoin ที่ถูกขายหรือโอนในระยะสั้นเทียบกับที่ถูกขายหรือโอนในระยะกลาง

หากอัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นแสดงว่า Bitcoin ถูกขายหรือโอนในระยะสั้นเพิ่มขึ้นมากกว่าระยะกลาง หากต่ำลงแสดงว่า Bitcoin ถูกขายหรือโอนในระยะสั้นลดลงจนต่ำกว่าระยะกลาง จากอดีตที่ผ่านมา หากเส้นอัตราส่วนนี้เพิ่มขึ้นมักจะแปลว่าราคา Bitcoin กำลังจะเข้าสู่รอบขาขึ้น

2. มาตรวัดจากกำไรและขาดทุน (Cost basis metrics)

  • Realized Profits-to-Value Ratio

คำนวณจากกำไรที่รับรู้แล้ว (Realized Profits) ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละวันหารด้วย Realized Cap. สะท้อนผลกำไรเฉลี่ยในแต่ละวันต่อต้นทุนเฉลี่ยของผู้ถือ Bitcoin ในระบบ มีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 หากอยู่ที่ 1 แสดงว่า Bitcoin ทั้งหมดที่ถูกขุดออกมาถูกโอนหรือขายภายในวันเดียว

มาตรวัดจากกำไรและขาดทุน (Cost basis metrics)

หากเส้นสีเขียวขึ้นไปแตะแถบสีเทาบนในรูปแสดงว่า 2% ของ Bitcoin ที่ถูกขุดออกมาถูกโอนหรือขาย และมักจะเป็นจุดที่ราคา Bitcoin แตะระดับสูงสุดในช่วงดังกล่าว แต่ถ้าลงมาแตะแถบสีเทาล่างจะเป็นช่วงที่แทบไม่มี Bitcoin ถูกโอนหรือขายแล้ว

  • Short-Term-Holder Profit/Loss Ratio

อัตราส่วนระหว่างปริมาณ Bitcoin ที่ถือครองระยะสั้นและมีกำไรหารด้วยปริมาณ Bitcoin ที่ถือครองระยะสั้นและขาดทุน

Bitcoin Short-Term-Holder Profit/Loss Ratio

ในช่วงเวลาตลาดกระทิง (Bull Market) อัตราส่วนที่ 1 คือระดับต่ำสุดของอัตราส่วนนี้ เมื่อตลาดหมี (Bear Market) อัตราส่วนที่ 1 คือระดับสูงสุดของอัตราส่วนนี้ เมื่ออัตราส่วนนี้ต่ำกว่า 1 หมายความว่าผลรวมการโอนหรือขาย Bitcoin ในรอบ 155 วันที่ผ่านมา ‘ขาดทุน’ หากมากกว่า 1 หมายความว่าผลรวมการโอนหรือขาย Bitcoin ในรอบ 155 วันที่ผ่านมา ‘มีกำไร’

  • Seller Exhaustion Constant

สัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) ของ Bitcoin ที่อยู่ในระบบและมีกำไรคูณด้วยความผันผวนของราคาย้อนหลัง 30 วัน ใช้วัดค่ากำไรของผู้คนในตลาดและความผันผวนของราคา

Seller Exhaustion Constant

หากเส้นสีเขียวแต่แถบสีเทาล่างหมายความว่าช่วงนั้นคนในตลาดไม่ค่อยมีกำไรและตลาดไม่มีการเคลื่อนไหวมากนัก

“ราคา Bitcoin” จะเป็นอย่างไร

จากข้อมูลปลายเดือน ธ.ค. ถึงต้นเดือน ม.ค. ทำให้ประเมินได้ว่า “ราคา Bitcoin” มีโอกาสปรับตัวลงได้ นักลงทุนรายใหญ่ที่ถือครองระยะยาวยังคงเพิ่มการถือครองแต่เพิ่มในอัตราที่ช้าลง ส่วนนักลงทุนระยะสั้นอยู่ในสถานะขาดทุนแล้ว พี่ทุยแนะนำให้นักลงทุนนำแนวทางนี้ไปเป็นหนึ่งในวิธีประเมิน “ราคา Bitcoin” เพียงแต่ต้องคอยอัปเดตข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย