ข่าวที่ “อาคเนย์ประกันภัย” ฟ้อง คปภ. ต่อเนื่องด้วยการ ประกาศเลิกกิจการ แต่ฝั่ง คปภ. ยันกลับว่ายังไม่ได้อนุมัติให้เลิก เป็นมหากาพย์ข่าวหลายภาค ที่พี่ทุยเชื่อว่าทุกคนต้องได้ยินมาบ้างแล้ว ข่าวธุรกิจประกันกำลังประสบปัญหาหนักจากการขายประกันชนิด “เจอ จ่าย จบ” โดยผู้ทำประกันสามารถเคลมสินไหมกับทางบริษัทประกันได้ หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19
ด้วยเบี้ยที่ถูกแสนถูกในหลักร้อยถึงพันนิด ๆ เเต่การจ่ายที่มีมูลค่าหลักเเสน ทำให้บริษัทประกันที่ประเมินความเสี่ยงผิดพลาดในช่วงโควิด-19 กำลังประสบปัญหาอย่างหนักหน่วง
และดูเหมือนปัญหานั้นจะลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลางเดือน ม.ค. 2565 บริษัทประกันภัย “อาคเนย์ประกันภัย ฟ้อง คปภ.” เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยจะเกิดขึ้น เพราะโดยปกติเเล้วมักจะตรงข้ามกัน แล้วล่าสุด 26 ม.ค. 2565 ทาง อาคเนย์ประกันภัย ยื่นหนังสือแจ้ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเลิกกิจการ พี่ทุยเลยสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไปฟังกัน
[อัปเดต 26 ม.ค.] อาคเนย์ประกันภัย ประกาศเลิกกิจการ
จากเนื้อหาที่ทางอาคเนย์ส่งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พี่ทุยขอสรุปให้ดังนี้
เนื่องจากมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือ กลุ่ม TCC ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้จ่ายสินไหมทดแทนประกันภัยโควิด-19 แก่ลูกค้าผู้ถือกรมธรรม์ของอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย แล้วกว่า 9,900 ล้านบาท ซึ่งนำมาชำระเป็นค่าสินไหมทดแทนจากการเคลม ประกันโควิด-19 ประมาณ 8,060 ล้านบาท
ทำให้อาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน และสามารถประกอบกิจการต่อเนื่องมาได้ในช่วงที่ผ่านมา โดย วันที่ 1 ม.ค. 2565 มีสินทรัพย์สุทธิคงเหลือกว่า 1,800 ล้านบาท และยังสามารถคงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ 170%
โดยสถานะทางการเงินของอาคเนย์ประกันภัยในขณะนี้ยังสามารถที่จะจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกันภัยได้ครบถ้วนทุกราย และยังมีเงินเหลือพอที่จะชำระหนี้ให้คู่ค้าทั้งหมด รวมถึงพนักงานและลูกจ้างทุกคน ซึ่งหากตัดสินใจดำเนินเรื่องล่าช้ากว่านี้ อาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
หากดำเนินกิจการต่อไป พร้อมปัญหาการกลายพันธุ์และการแพรร่ะบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินและการคงอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุน ให้ลดต่ำลงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดในระยะเวลาอันใกล้นี้
จึงมี “มติเห็นชอบในการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ”
แต่ไม่เห็นชอบข้อเสนอที่โอนกิจการของอาคเนย์ประกันภัยให้ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) แต่จะให้ “กองทุนประกันวินาศภัย” เป็นผู้เข้ามาดำเนินการจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของอาคเนย์ประกันภัยตามหลักเกณฑ์ และแนวทางที่กองทุนประกันวินาศภัยมีอยู่ โดยจะมีอำนาจในการดำเนินการในเรื่องการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่อาคเนย์ประกันภัยยังมีภาระผูกพันอยู่นั่นเอง
ลูกค้าประกันภัยต้องทำยังไง หลัง อาคเนย์ประกันภัย ประกาศเลิกกิจการ ?
พี่ทุยขอสรุปเฉพาะส่วนของลูกค้าประกันภัย หากทางอาคเนย์สามารถเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจได้ จะมีเเนวทาง ดังนี้
1. ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยที่ไม่เกี่ยวกับโควิดของอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 8,629,036 ราย
- ผู้ถือกรมธรรม์จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น
2. ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด 19 ของอาคเนย์ประกันภัย จำนวน 1,851,921 ราย
- ผู้ถือกรมธรรม์ จะได้รับการคืนเบี้ยประกันตามสัดส่วน หรือได้รับการคุ้มครองต่อเนื่อง หากย้ายกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น
3. คู่ค้า เช่น อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ตัวแทน ของ อาคเนย์ประกันภัย 9,000 ราย
- ได้รับชำระอย่างครบถ้วนหากอาคเนย์ประกันภัยยังมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สิน
อย่างไรก็ตามในเย็นวันที่ 26 ม.ค. 2565 คปภ. ได้ออกมาให้ข่าวว่า หากบริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต้องยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการ คปภ.เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย
ดังนั้น บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยังไม่สามารถปิดหรือหยุดประกอบกิจการได้จนกว่าจะได้รับอนุญาตให้เลิกกิจการจากคณะกรรมการ คปภ.
โดยสำนักงาน คปภ. ได้ตั้งทีมงานประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สายกำกับธุรกิจและการลงทุน สายตรวจสอบ สายวิเคราะห์ธุรกิจประกันภัย สายกฎหมายและคดี และสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดแล้ว เพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย และผู้มีส่วนได้เสีย
สำหรับกองทุนประกันวินาศภัยที่อาคเนย์ประกันภัยกล่าวถึง ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย และเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีความมั่นคงและเสถียรภาพเท่านั้น
ทำไมอาคเนย์ประกันภัยฟ้อง คปภ. ?
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ศาลปกครองกลาง โดยระบุว่า คำสั่งที่ 38/2564 ของคปภ. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำสั่งนั้น คือ คำสั่งที่ห้ามไม่ให้ธุรกิจประกันยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 ซึ่งทำก่อนวันที่ 16 ก.ค. 2564 ยกเว้นแต่มีหลักฐานชัดเจนว่าคนที่ทำประกันนั้นทุจริต เช่น จงใจรับเชื้อโควิด-19 เพื่อเอาประกัน เป็นต้น
หากใครยังจำกันได้ดี คำสั่งของทาง คปภ. ออกมาหลังจากที่ทาง “สินมั่งคงประกันภัย” ได้ร่อนจดหมายขอยกเลิกกรมธรรม์โควิด -19 เมื่อเดือน ก.ค. 2564 จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้างเลยทีเดียว
ทางศาลได้นัดไต่สวนนัดแรกในวันที่ 14 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมานี้โดยทาง คุณสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.ที่โดนฟ้องนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า จะสู้คดีให้ถึงที่สุด มิเช่นนั้นจะกระทบกับผู้บริโภคมากกว่า 10 ล้านคนที่ทำประกันโควิด-19 แบบ “เจอ จ่าย จบ”
“ลองถามกลับไปว่า ถ้าบริษัทประกันรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จากความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป แต่ละบริษัทก็จะสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ ผมขอถามว่า เราจะทำประกันกันไปเพื่ออะไร เพราะไม่ได้ประโยชน์ ระบบประกันจะถูกทำลายความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถืออย่างสิ้นเชิง” คุณสิทธิพลกล่าวก่อนเข้าศาล
ต้องมารอดูต่อไปว่า การฟ้องร้องของอาคเนย์ประกันภัยกับ คปภ. จะเป็นอย่างไรต่อไป
ประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” วิกฤตวงการประกันภัย
หาก “เดลต้า” ทำให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเกือบ 20,000 คนในแต่ละวันเมื่อปี 2564 แล้วสายพันธุ์ “โอมิครอน” มีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้มากกว่าเดลต้าถึง 3-4 เท่าเลยทีเดียว
พี่ทุยลองคิดเล่น ๆ ดู ถ้านับตัวเลขสูงสุดราว 20,000 คนเมื่อการระบาดระลอกที่แล้ว เท่ากับว่า โอมิครอนสามารถทำให้คนติดได้มากสูงสุดถึง 80,000 คนในแต่ละวัน (ซึ่งพี่ทุยว่าเราอาจไม่ได้เห็นตัวเลขนี้ เพราะด้วยข้อจำกัดด้านการตรวจและการฉีดวัคซีนที่เริ่มแพร่หลายในประเทศ)
แม้โอมิครอนมีข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า จะมีอาการน้อยกว่าโควิด-19 สายพันธุ์อื่น แต่ประกันแบบ “เจอ จ่าย จบ” นั้นยังต้องจ่ายอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ไหน
สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดการณ์เอาไว้ว่า จนถึงสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา ธุรกิจประกันภัยต้องจ่ายค่าสินไหมประกันโควิดไปราว 40,000 ล้านบาท โดยจากจำนวนดังกล่าว เป็นประกันเภท “เจอ จ่าย จบ” สูงถึง 34,000 ล้านบาท
จากประมาณการณ์ของบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE คาดการณ์ว่า ค่าสินไหมประกันโควิดอาจสูงถึง 110,000-180,0000 ล้านบาทเลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากประกันประเภท “เจอ จ่าย จบ” เป็นหลัก
อาคเนย์ประกันภัยกับการยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ”
เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2565 ก่อนหน้าข่าวการฟ้องร้อง ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง 2 ฉบับของทาง คปภ. โดยฉบับหนึ่งคือ ฉบับที่เป็นประเด็นฟ้องร้อง ซึ่งห้ามไม่ให้ยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 กับอีกฉบับที่ให้คำว่า “สถานพยาบาล” ในกรมธรรม์โควิดครอบคลุมทุกที่ที่รักษาโควิด-19 อย่างโรงพยาบาลสนามและ Hospitel
ทางสมาคมประกันระบุว่า คำสั่งแรกที่ห้ามยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 ครอบคลุมถึงกรมธรรม์ที่ขายให้ประชาชนไปแล้วก่อนหน้าจะมีคำสั่งห้ามยกเลิก ซึ่งหากทางบริษัทประกันภัยรู้ว่า จะมีคำสั่งนี้ ก็อาจจะไม่ออกประกันโควิด-19 ตั้งแต่ต้นก็เป็นได้ โดยคำสั่งนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันอย่างชัดเจนและทำธุรกิจประกันต้องปิดตัวไปถึง 2 เจ้า
ส่วนคำสั่งที่สอง ทางสมาคมเห็นว่า ทำให้ธุรกิจประกันต้องรับผิดชอบเพิ่มเติมไปจากทีแรก ขัดกับการประเมินของบริษัทเมื่อยามที่ออกผลิตภัณฑ์ และยังไม่ให้สิทธิประกันกำหนดเบี้ยประใหม่ด้วย
ส่วนการฟ้องร้องครั้งนี้ของทางอาคเนย์ประกันภัย ทางบริษัทได้อ้างว่า ในสัญญาระบุข้อความที่ให้คู่สัญญาทั้งบริษัทประกันและผู้ทำประกัน สามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ โดยต้องบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ทางอาคเนย์ประกันภัยยื่นฟ้องต่อคปภ.
แต่ทาง คปภ.ได้งัด “พระราชบัญญัติว่าด้วยสัญญาไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540” มาเข้าสู้ โดยตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ทางบริษัทประกันไม่สามารถยกเลิกประกันที่ทำให้เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ เนื่องจากผู้ที่ทำประกันไม่ได้กระทำผิดสัญญาใด ๆ
ที่ผ่านมามีการนำ พ.ร.บ. นี้ขึ้นสู่ชั้นศาลหลายครั้งและมีหลายครั้งที่ทางศาลวินิจฉัยว่าไม่เข้าเค้าสัญญาไม่เป็นธรรม เช่น สัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ที่มีข้อกำหนดให้บริษัทรถยนต์ยกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ โดยต้องมีหนังสือบอกล่วงหน้า 90 วัน ซึ่งกรณีนี้คล้ายกับกรณีของบริษัทประกัน และศาลระบุว่า “ไม่ได้เป็นสัญญาไม่เป็นธรรม”
พี่ทุยว่า เรื่องนี้กับเรื่องนั้นต่างกันอยู่พอสมควร และต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลปกครองกลางอยู่ดี โดยทาง คปภ. ก็เเจ้งว่า ยังมีข้อกฎหมายอื่น ๆ อีกที่ช่วยให้ทาง คปภ.ชนะคดี แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากกลัวเสียรูปคดี
ต้องมาลุ้นกันว่าคนทำประกันเจอ จ่าย จบ ถึง 10 ล้านคนจะโดนลอยแพหรือไม่